Skip to main content
sharethis

วันที่ 11 กันยายน 2551 เวลา 14.00 น. คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักธุรกิจร่วมระดมความเห็นเสนอทางออกประชาธิปไตยไทย ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นร่วมกัน ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง และจินตนาการทางออกและระบอบประชาธิปไตยไทยอีกครั้ง


 


 


รองศาสตราจารย์ พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ ประธานสภาอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สังคมไทยมาถึงวิกฤตที่สุดแล้ว ทั้งนี้จากพื้นฐานที่สั่งสมมากการที่สังคมไทยเป็นสังคมที่บูชาเงินและคนมีเงิน เป็นสังคมที่บูชาอำนาจและคนมีอำนาจ ฉะนั้นเราจะเห็นว่าการที่เราเห็นคนธรรมดาลุกขึ้นมาต่อสู้ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้เห็นว่าการใช้อำนาจที่ไม่ดีก็ถูกต่อต้านได้


 


ประเด็นต่อมาคือสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเห็นแก่ส่วนรวมน้อยกว่าส่วนตัว คือเห็นแก่พรรคพวก จึงเกิดกรณีที่นักการเมืองขายสิทธิ และคอร์รัปชั่น ประการที่สาม สังคมไทยมีความเชื่อโดยไม่ใช้ข้อมูลอย่างครบถ้วนหรือไม่คิดไตร่ตรองให้ดี ซึ่งเป็นปัญหาหนักมาก แม้แต่ผู้มีการศึกษาก็มีความคิดเห็นอะไรกันแปลกๆ ที่ใช้ข้อมูลไม่ครบถ้วน


 


สำหรับภาวะของประชาธิปไตยไทยนั้น อยู่ในภาวะที่ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเรื่องในสถานการณ์ปกติ แต่เวลานี้ เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ


 


สำหรับสาเหตุและแนวทางที่จะเสนอแก้ไขมี 10 ข้อ คือ


 


1 การขาดจริยธรรมและคุณธรรมอย่างรุนแรงของผู้บริหาร เมื่อฟังคำพิพากษาแล้วก็จะเห็นว่า ประเทศไทยขาดผู้นำที่มีคุณสมบัติที่เป็นผู้นำของประเทศ และต้องรอเวลานานมากกว่าที่จะได้ตุลการภิวัฒน์มาแก้ไข


 


2 พรรคร่วมรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นคนเสนออดีตนายกฯ ขึ้นมา ดังนั้นต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ดึงดันขึงขังให้เข้ามาอีก ต้องยอมเสียสละบ้าง "ผมอยากเห็นนักการเมืองที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมารกกว่าส่วนตัว ต้องหานักการเมืองที่มีคุณธรรมเสียสละมารับใช้ประเทศชาติ"


 


3 ศาลควรจะเร่งดำเนินการ สะสางคดีนักการเมืองต่างๆ ให้รวดเร็ว ใช้ไม้กวาดด้ามใหญ่ๆ เอาไว้หวดนักการเมืองเลวๆ


 


4 อยากจะเห็น รัฐบาลแห่งชาติ หรือสภาซึ่งเป็นการปฏิรูป ปูทางไปสู่การปฏิรูปการเมืองต่อไป โดยมีตัวแทนต่างๆ เข้ามาร่วม ไม่เฉพาะส.ส. ที่ซื้อเสียงเข้ามา แต่ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลแห่งชาติต้องทำก็คือการรื้อสิ่งที่รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมทำทิ้งเอาไว้ ยกเลิก พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน และดำเนินการเลือกตั้ง


 


5 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ควรสนับสนุนการปฏิรูป โดยลดการเคลื่อนไหว แต่ก็ยังมีสิทธิปองกันตัว มีวิธีการอย่างไรให้ประชาชนยอมรับว่าตนเองสามารถขัดขืนกฎหมายแต่ไม่มีสิทธิทำร้ายหรือใช้ความรุนแรง พธม. ต้องมีการเสนอแนะความคิดที่พยายามนำไปสู่สันติ และนำไปสู่การเมืองที่ปราศจากความชั่วร้ายในอนาคต


 


6 ประชาชนควรรวมตัวกันตรวจสอบนักการเมืองที่ทำลายประเทศ ต้องผนึกกำลัง ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ควรเรียนรู้จากต่างประเทศเรื่องจริยธรรมและการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต่างๆ


 


7 ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในสิทธิของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง มีการมีส่วนร่วม มีอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เลือกตั้งมาแล้ว ส.ส. จะทำอะไรก็ได้ ไม่นึกถึงบุญคุณของคนที่มีอำนาจอธิปไตยที่ได้ให้โอกาส


 


8 ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เครื่องมือของนักการเมือง และส่งเสริมให้ทหารเป็นทหารอาชีพของประชาชน


 


9 คนที่มีการศึกษาในบ้านเมืองออกมาปกป้องไม่ให้มีสิ่งที่ไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมือง ต้องนึกถึงคนที่ได้เสียสละในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประเทศมาถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาประชาชน รวมถึงบุคคลอื่นๆ ในประเทศ


 


10 สถาบันการศึกษาต้องตรวจสอบบทบาทองตัวเองสม่ำเสมอ เป็นผู้นำในการสร้างคนดีมีคุณธรรม ต้องปรับตัว ให้สังคมไทยเราเริ่มกันใหม่ ให้เป็นสังคมที่ดีคุณธรรมธรรมภิบาลต่อไป


 


นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


วิกฤตของสังคมไทยขณะนี้สมารถมองได้ 2 ประการคือ การเมืองหรือประชาธิปไตยไทยตอนนี้กำลังก้าวหน้าอย่างมากคือ มีความขัดแย้งเรื่องความชอบธรรมสองชนิด ซึ่งถ้าเรามีคำตอบได้ ก็จะก้าวหน้าขึ้น


 


ฝ่ายหนึ่งคือ ความชอบธรรมของคนที่มาจากการเลือกตั้งผ่านฉันทานุมัติจากปวงชนชาวไทย ซึ่งถ้าผ่านมาก็จะน่าจะรักษาความชอบธรรมได้ตลอดไป แต่ที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามว่าความชอบธรรมเช่นนี้จริงหรือไม่


 


ประการที่ 2 คือ เราจะใช้อำนาจแบบไหน ใช้อำนาจเพื่อเป้าหมายอะไร สิ่งนี้คือสิ่งที่พันธมิตรตั้งคำถาม คือเป้าหมายในการใช้อำนาจนั้นชอบธรรมจริงหรือไม่ นี่เป็นสองมิติที่ผมคิดว่า จริงๆ ประชาธิปไตยควรมี 2 มิตินี้ คือไม่ใช่แค่ได้ฉันทานุมัติจากประชาชน แต่ต้องมีการใช้อำนาจและเป้าหมายในการใช้อำนาจที่เปิดให้ประชาชนตั้งคำถาม ตรวจสอบ ถ่วงดุล โต้แย้ง และคัดค้านได้ นี่เป็นผลพวงของการพยายามจะสร้างความชอบธรรม คือประชาชนควรมีบทบาทฐานะที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจได้ตลอดเวลา


 


"นี่พัฒนาไหม ผมคิดว่าพัฒนาขึ้น เราต้อสู้กันมาในระบอบเผด็จการมาตลอด นี่เป็นโจทย์ให้เราคิดต่อ"


 


ประเด็นต่อมาคือการต่อสู้ครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างขวาง ได้ระดมผู้คนทุกสาขาอาชีพเข้ามา อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมถึงลูกเด็กเล็กแดง และไม่เพียงเฉพาะในเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงในชนบท ทุกกลุ่มทุกฝ่ายสามารถเข้าสู่มิติทางการเมือบขนาดใหญ่ นี่เป็นคุณต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต เป็นด้านบวก ในอดีตเราไม่เคยมีการต่อสู้ขนานใหญ่ได้ขนาดนี้ มีการถกเถียงกันทุกระดับ เป็นการสร้างประชาธิปไตยที่ไม่ต้องไปเข้าโรงเรียน


 


แต่อย่างไรก็ตาม ด้านที่เรากำลังมีปัญหาก็คือ ปรากฏการณ์ขณะนี้ได้สร้างความฝักฝ่ายเลือกข้างอย่างขนานใหญ่ในสังคมไทย ลงรากลึกไปถึงระดับสังคม สถาบันการศึกษา ครอบครัว มีการขัดแย้ง เผชิญหน้าอย่างขนานใหญ่ แล้วถ้าเราจัดการกับความขัดแย้งไม่ดีพอ ความแตกร้าวนี้จะร้าวลึกและไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยใหม่ แต่ถ้าเราสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์ นี่คือห้องเรียนใหญ่ที่สร้างขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเราจะสามารถอยู่ร่วมกับความเห็นที่แตกต่างได้หรือไม่ จะหนีความขัดแย้งอย่างไรเพราะมิติการเมืองกำลังลงสู่ระดับครอบครัว ความสมเหตุสมผล ความอดกลั้น กำลังถูกท้าทาย เพราะในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทยจัดการความขัดแย้งโดยการกำจัดทิ้งคู่ต่อสู้ หรือคู่ขัดแย้ง แล้วการกำจัดทิ้งก็คือต้องสร้างเงื่อนไขความรุนแรง ต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้น วัฏจักรคือมีการชุมนุม มีความรุนแรง และมีรัฐประหาร และคำถามคือครั้งนี้จะผ่านไปได้ไหม เพราะมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน


 


เงื่อนไขความรุนแรง คือ การไม่ลดราวาศอกของทั้งสองฝ่าย รัฐบาลพร้อมจะเอาชนะ ท้าทาย ขณะเดียวกัน พธม. ก็ไม่เลิก นำไปสู่การเผชิญหน้า


 


ประเด็นต่อมาการต่อสู้ครั้งนี้ ประชาชนฆ่ากันเองเพื่อบรรลุเป้าหมายของผู้นำทั้งสองฝ่าย เกิดจากการสร้างความเกลียดชังในสังคมอย่างขนานใหญ่ ถ้าฟังวิทยุโทรทัศน์ แม้แต่วิทยุชุมชนก็มีสองฝ่าย ปลุกระดมความเกลียดชัง เห็นคู่ต่อสู้ไม่เป็นมนุษย์ พร้อมที่จะฆ่ากัน เหมือนวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา มนุษย์สองฝ่ายพร้อมที่จะฆ่ากัน เพราะการให้ข้อมูลความเกลียดชัง การสร้างวัฒนธรรมความเกลียดชังเช่นนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง นี่คือข้ออ่อนของการต่อสู้


 


"เราจะกำจัดความรุนแรงนี้ได้อย่างไร เราจะเปลี่ยนผ่านโดยสันติวิธีได้หรือไม่ เราในที่นี้หมายถึงสังคมไทย ไม่ใช่พันธมิตรฯ กับรัฐบาล ไม่ใช่สมัคร กับสนธิ เรากำลังพูดถึงสังคมไทยทั้งสังคม จะจัดการความขัดแย้งได้อย่างไร ถ้าจัดการได้ นี่คือพัฒนาการใหญ่ของสังคมไทยในด้านประชาธิปไตย แล้วเป็นการสั่งสมที่สำคัญมาก"


 


ข้อเรียกร้องมี 4 ประการคือ


 


1 ลดเงื่อนไขความรุนแรง อย่าใช้สื่อในการสร้างวามเกลียดชัง อย่าปลุกความเกลียดชัง อย่าให้สูญเสียชีวิตแบบวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งเรียกร้องการกำกับการใช้สื่อที่ปลุกเร้าความเกลียดชัง และเรียกร้องสื่อให้ระมัดระวังการสื่อสารให้มากที่จะไม่สร้างความเกลียดชัง


 


2 เรียกร้องต่อรัฐบาล และ 6 แกนนำของพรรครัฐบาล รับผิดชอบ 2 เรื่องคือ 1 รับผิดชอบต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ "ถ้าท่านเอานายกฯ คนเดิมกลับมาก็คือการสร้างเงื่อนไขของการเผชิญหน้า ท่านอยากให้เป็นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ใช่ไหม ก่อนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คุณบรรหาร คุณเสนาะและอีกหลายท่านที่มีบทบาทอยู่มนขณะนี้ก็โหวตให้พลอ.สุจินดา คราประยูรเป็นนายก และนำไปสู่ความรุนแรงเดือน พฤษภา  คุณจะอาอีกไหม คุณจะเป็นสถาบันนำได้ไหม คุณทั้งหลายที่มีบทบาทนำอยู่ตอนนี้ท่านต้องมีสำเหนียกให้มากว่าท่านรับผิดชอบคนในสังคม"


 


ในแง่ของ พธม. และกลุ่มเคลื่อนไหวทั้งหลาย ต้องลดราวาศอก พธม. ยืนยันเรื่อง สันติและอารยะขัดขืน หมายความว่า พธม.ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องต่อสู้ว่าไม่ใช่กบฏ และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองเพื่อร่วมแก้ปัญหาระยะยาว รวมทั้ง นปช. ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการอย่างนี้


 


ประเด็นที่ 3 เมื่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้ผล ก็ยกเลิกแล้วเข้าไปสู่ภาวะปกติเสีย แต่ทหารต้องกำกับความรุนรงที่จะเกิดขึ้น


 


ประเด็นที่ 4 สังคมไทยมีคำถามใหญ่ที่จะต้องไปสู่การปฏิรูปการเมือง นั่นคือ ลำพังการเป็นตัวแทน และการตรวจสอบไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ประมวลข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ภายในระยะเวลา 1 ปี ฟังความเห็น และสื่อสารประชาชนเป็นระยะๆ ประเด็นนี้เป็นข้อเรียกร้องต่อสถาบันรัฐสภาซึ่งที่ผ่านมาเคยทำมาแล้ว ทำได้ และนำมาสู่การปฏิรูปการเมือง 2540 จากนั้นจึงมาร่วมกันจินตนาการทางการเมืองต่อไปในอนาคตรวมถึงการเมืองภาคประชาชน และการเมืองท้องถิ่นด้วย


 


"ผมไม่อยากเห็นรัฐบาลแห่งชาติ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ และเมื่อทำเสร็จรัฐบาลที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็เลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีระยะเวลาที่จะต้องตกลงกัน ก็จะเดินต่อไปได้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าสู่การปรูปการเมือง"


 


ประเด็นสุดท้าย สังคมหรือสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ต้องมีบทบาท ต้องแสดงตัวออกมาว่า การเมืองไม่ใช่ของพันธมิตรและรัฐบาล แต่การเมืองเป็นของทุกคนที่จะร่วมกันคิด ทำอย่างไรให้เสียงของประชาสังคมต่างๆ องค์กร สถาบันทางเศรษฐกิจ ร่วมมือช่วยกันเดินหน้า เพื่อนำพาสังคมไทยให้ก้าวข้ามความรุนแรง และสันติวิธี ซึ่งถ้าเราผ่านไปได้ สังคมไทยเราจะมีการพัฒนาก้าวใหญ่


 


รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผมขอแสดงความเห็นในฐานะส่วนตัวว่า 76 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยถูกขนานนามจากนักศึกษาผู้รู้ผู้ปฏิบัติค่อนข้างมากว่าล้มลุกคลุกคลานจนกระทั่งกลับมายืนได้ใหม่ แต่วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาธิปไตยไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนผ่าน


 


ในทางทฤษฎีบอกว่าประชาชนเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองประเทศ แต่ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะรู้สึกว่าในทางปฏิบัติแล้ว ระบบการเมืองของไทย แม้แต่ในประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีรากฐานแน่นแฟ้น แข็งแรง ประชาชนเหล่านี้ก็ยังรู้สึกว่าผู้นำต่างหากที่เป็นผู้ปกครองเป็นผู้นำชะตากรรมของประเทศและก็ไม่ได้ต่างกับผู้นำเผด็จการในอดีตสักเท่าไหร่


 


ในปัจจุบัน สภาวะผู้นำของไทย ขณะนี้มีความสำคัญมากที่สุดในการนำพาประเทศไปสู่ทางออกที่ดีกว่า ในภาวะเปลี่ยนผ่าน ผู้นำในอดีต เช่น นโปเลียน ไอเซนเฮาร์ เมาเจ๋อตุง มีภาวะเป็นผู้นำที่ยากจะเกิดในปัจจุบัน แต่ประเทศที่ก้าวหน้ามากอย่างสวิสเซอร์แลนด์ หรือญี่ปุ่น ก็ยังหาผู้นำที่ดีไม่ได้ คำถามก็คือ เราจะหาผู้นำที่ดีได้หรือไม่


 


ในความคิดของไทย ผู้นำที่ดีและเหมาะสมอยู่ในภาวะเรือนลาง ไม่เข้าใจว่า ภาวะผู้นำที่ดีคืออะไร และก่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ตามอย่างพวกเราได้หรือไม่ ในภาวะวิกฤต ในภาวะเปลี่ยนผ่าน สภาวะความเป็นผู้นำสำคัญมาก


 


ประการที่ต่อมา ภาวะผู้นำที่ดีก็ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ดี อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ใช่กรอบของพวกตนเอง การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันก่อนก็ตัดสินไปแล้ว ผู้ที่เจอกับสภาวะกดดันต้องถูกคานอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ และต้องพึ่งสถาบันทางการเมือง มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีพลวัตรที่สามารถช่วยผู้นำในการบริหารประเทศในภาวะวิกฤต และต้องมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล คานอำนาจ ระหว่างสถาบันเหล่านี้


 


ในปัจจุบันสังคมมีที่เหลือน้อยมาก คนรุ่นเก่าที่อยู่ในการเมืองจะไม่มีที่อยู่ในสังคมใหม่ สังคมใหม่จะเรียกร้องให้ผู้นำมีความรับผิดชอบต่อประเทศ


 


"นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร นับตั้งแต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้มีความพยายามสร้างการเมืองใหม่ ตั้งคณะที่ปรึกษา ที่เรารู้จักกันต่อมาว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา มาคานอำนาจคณะรัฐมนตี สมเด็จเจ้าพระบามหาศรีสุริยวงศ์ ใช้เวลา 18 ปีในการปรับโครงสร้าง และตามมาอีก 50 ปี ในการวางกรอบใหม่ของผู้นำ และการวางกรอบใหม่ก็สิ้นสุดลงโดย การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 มีการจัดระเบียบรัฐใหม่ ทำให้รัฐไทยเผชิญกับวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น รัฐธรรมฯญ 2540 ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่ อย่างแท้จริง ผู้นำที่แท้จริงต้องไม่ใช่ผู้นำมวลชนแบบที่เล่นกับความหวังและความกลัวของคนจน ยึดอำนาจ และอ้างโองการแห่งสวรรค์ และผู้นำที่เรียกร้องให้มีการเมืองการปกครองเสียงข้างมาก ด้วยความกระหายอำนาจ ผู้นำเหล่านี้ไม่ใช่ผู้นำที่ดี แต่เป็นผู้นำที่มีความสามารถในการพูดสูงอย่างฮิตเลอร์ มุสโสลินี ซึ่งมีอยู่มากในปัจจุบัน


 


ประเด็นที่ 3 ผู้นำที่ดี ไม่ใช่ผู้นำประชามติ ไม่ใช่ผู้นำเสียงข้างมาก เสียงข้างมากที่อ้างแท้จริงแล้วสำหรับประเทศไทยก็มีสัดส่วนประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้มากเท่าไหร่ เป็นเสียงข้างมากที่มาจากการกำหนด ในกรณีของอเมริกา ผู้นำเสียงข้างมากต้องมีศิลปะในการต่อรอง ไม่สามารรถจะอ้างความชอบธรรมจากเสียงส่วนใหญ่ได้ เพราฉะนั้นผู้นำที่ดี ต้องมีความสามรรถในการรอมชอม ต่อรอง นอกจากความสามารถในการอยู่กับการตรวจสอบถ่วงดุล รับฟังความคิดเห็นไม่ใช่เอาแต่เสียงส่วนใหญ่มาหักหาญน้ำใจของเสียงส่วนน้อย นอกจากนั้นก็ต้องมีบารมี ความกล้าหาญเสียสละ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียกร้องให้เกิดขึ้นได้ไม่ง่าย  


 


สิ่งที่ทำได้คือการที่ภาคประชาชน วางกรอบให้ผู้นำเหล่านี้เข้าสู่ระบบ เคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีจริยธรรม และต่อรองกับคนส่วนน้อยที่เรียกร้องด้วยความต้องการที่หลากหลาย  "100 กว่าวันที่ผ่านมาได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยๆไปอย่างสิ้นเชิง จริงๆ แล้ว 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองไทยมากกว่า 100 กว่าปีที่ผ่านมา"


 


ประเด็นที่ 4 ทางออกของประเทศไทยคงมีไม่มา แต่เรามีทางเลือกคือ จะเป็นประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า ถดถอย หรืออ่อนแอ ถ้าก้าวหน้าก็เหมือน 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก มีภาคประชาสังคม สื่อมวลชนที่เข้มแข็ง มีวัฒนธรรมทางการเมือง มีการเรียกร้องจากหลายฝ่าย ที่เหลือ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นแบบอ่อนแอ ถดถอย เกิดวิกฤต


 


ในยามวิกฤต ประเทศส่วนใหญ่มักจะเอาระบบราชการเข้ามาแก้ไข และระบบราชการของไทยที่เข้มแข็งที่สุดคือทหาร และที่ผ่านมา มีการพูดว่าอาจจะมีการปรองดอง มีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะไม่เช่นนั้นโอกาสที่ฝ่ายราชการคือทหารจะเข้ามาแทรกแซงสูงมาก จะไม่แปลกเลยที่อีกไม่กี่วันข้างหน้าประวัติศาสตร์นั้นจะกลับมา ถ้าไม่สมารถหาผู้นำที่ดีได้


 


"เราไม่ได้เรียกร้องการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยตจะมีรับประหาร 4-5 ปีต่อครั้ง นอกเสียจากผู้นำเหล่านั้นจะลดการคิดถึงแต่ความมั่นคงในสภา จะมองไม่เห็นวิกฤตการณ์ข้างนอก เราคงทำอะไรมากกว่านี้นอกจากเรียกร้องกดดัน ให้กำลังใจสนับสนุนให้ผู้นำเหล่านี้ หาทางออกที่เป็นประชาธิปไตย เราไม่สามารถอยู่มนสังคมที่บอกว่าเสียงส่วนใหญ่ 18 เปอร์เซ็นต์เป็นเสียงส่วนใหญ่"


 


ในระยะปานกลางต้องพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องความต้องการของคนชนบท และคนเมือง พันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่เพียงกลุ่มเดียว ระยะยาวคนเหล่านี้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มาก


 


สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ตัวแทนเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN)


สังคมกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ระหว่างฝ่ายพันธมิตรฯ กับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลแต่ก็ยังมีฝ่ายตรงกลางหรือพลังเงียบที่ยังไม่มีความเห็นอย่างชัดเจน หรือฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่าย พธม. แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ก็ไม่เข้าร่วม แต่ตอนนี้การเปลี่ยนแปลง หรือช่องว่างของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ถ้านักการเมืองไม่ฉวยโอกานี้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง พลังเงียบก็จะทนไม่ได้ ก็จะไปรวมตัวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการปะทะ เป็นสงครามกลางเมือง นี่คือสิ่งที่เรากลัวที่สุด


 


การแก้ปัญหาของประเทศชาติแบบเดิมคือการรัฐประหารแล้วก็จะพาสังคมไทยกลับไปสู่ระบบเดิม ปัญหาสังคม เศรษฐกิจรอบใหม่ก็จะเกิดขึ้น ทางเครือข่ายฯ เรียกร้องทุกฝ่าย หลายฝ่ายเรียกร้องนักการเมืองก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในสองวันที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องก็ต้องดังขึ้น พลังเงียบคือประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ และจากฝ่ายธุรกิจต้องช่วยกันส่งเสียงให้นักการเมืองเปลี่ยนวิธีคิด ไม่คิดในกรอบของการรวมกลุ่มแล้วใครได้ใครเสียอะไรเท่านั้น แต่ต้องมีการเสียสละ ต้องคิดถึงการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็เห็นอยู่แล้วว่าสังคมจะเกิดปัญหา


 


เพื่อลดแรงกดดันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสลับขั้ว ฟอร์มรัฐบาลที่มีส่วนผสมใหม่ เราไม่ได้บอกว่าควรจะเป็นวิธีไหน แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด  ถ้าเป็นแบบเดิมแรงกดดันไม่ลดลง ต้องลดแรงกดดันและนำไปสู่การแก้ปัญหาทางรัฐสภา และระบบยุติธรรม ภายใต้ระบบคุณธรรมจริยธรรม


 


โดยเครือข่ายฯ มีข้อเสนอดังนี้


 


1 ขอให้ใช้กลไกในระบบรัฐสภา และระบบยุติธรรม ในการแก้ปัญหาของชาติ โดยคำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเคร่งครัด


 


2 ให้สภาคำนึงถึงการเลือกรัฐมนตรีและรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ ต้องไม่เป็นไปตามรูปแบบเดิม เพราะแสดงไห้เห็นแล้วว่าส่วนผสมของรัฐบาลเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


3 ขอให้รัฐบาล ทหาร ตำรวจ และผู้ชุมนุมทุกฝ่ายมีความอดทน อดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ


 


4 ขอเรียกร้องให้พลังเงียบ แสดงออกทางความเห็นด้วยสันติวิธี ตามวิถีทางประชาธิปไตย เพราะปัจจุบันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าการปล่อยให้นักการเมืองที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้สร้างปัญหามากมาย


 


5. ขอให้พลังเงียบใช้วิจารณญาณในการติดตามข่าวสารและมีความกล้าหาญในการแสดงออกทางการเมือง


 


ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นรากฐานของปัญหาสังคมไทยที่สั่งสมมานาน เราต้องการการเมืองที่สะอาด แต่ไม่มี มีแต่การเมืองที่สกปรกขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราเสียค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เกิดความสะดวกเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้เราต้องเสีย 10-20 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นว่าเศรษฐกิจกับการเมืองมันมืดมนไปด้วยกัน


 


จากสถานการณ์ขณะนี้จะเห็นว่าพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินได้สร้างปัญหามาก นำไปสู้ต้นทุนต่างๆ มากมาย แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงจุดหนึ่งที่บอกให้เราเห็นชัดๆ ว่านี่คือต้นทุน ซึ่งมีที่มายาวนานกว่านั้น ในอดีต การเมืองลุ่มๆ ดอนแต่ไม่ทำร้ายเศรษฐกิจ แต่วันนี้การเมืองทำร้ายเศรษฐกิจมาก และคนที่ต้องรับภาระก็คือประชาชน แล้วใครได้ประโยชน์บ้าง


 


การต่อสู้ทางการเมืองถ้ารุนแรงก็คือการผิดปกติ และถ้ามองจากมุมส่วนตัวของผม ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเรา ที่แทะกินตัวเอง เวลาเราพัฒนาประชาธิปไตยมันควรเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ของไทยกลับแย่ลง สังคมไทยจึงสับสนมากวันนี้ บางคนเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง บางคนว่ามันคือการตรวจสอบ บางคนว่าตอนนี้กำลังหาทางจัดสมดุล บางคนว่ามันกำลังแตก


 


การเมืองไทยที่มีลักษณะเป็นเผด็จการรัฐสภา ทำให้ความสับสนมากขึ้น และเมือเกิดแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข และทำให้พลังนอกสภาออกมาถ่วงดุล ผมไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย แต่สภาพปกติคือเมือมีแรงกดดันก็ต้องมีแรงเข้ามาตอบโต้ และนี่เป็นปัญหาที่ระบอบประชาธิปไตยกำลังมาถึงจุดที่ต้องเรียนรู้ระบบใหม่ แต่พลังที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ไหน


 


เรื่องการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อบอกว่าตำแหน่งนายกฯ สิ้นสุด มันเริ่มจะไม่สิ้นสุดแล้ว เพราะมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการสิ้นสุดแบบเว้นวรรค 2 วัน สิ่งนี้เกิดได้เพราะการเมืองไทยเป็นเผด็จการ ไม่จำเป็นต้องฟังใคร นี่เป็นปัญหาที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าทางออกคืออะไร


 


ในแง่ของการต่อสู้ระหว่างอำนาจในสภา กับนอกสภา มาถึงจุดที่แหลมคมมากๆ ผมคิดว่าไม่มีใครรู้ นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก แต่ถ้าทายใจกัน ฝ่ายที่มีอำนาจในสภาน่าจะพอรู้ เพราะเขามีวามมั่นใจว่า อำนาจที่อยู่ในมือเขาสามารถลากไปได้นาน ขณะเดียวกันก็หวังว่าฝ่ายที่เป็นพลังนอกสภานั้น ในท้ายที่สุดก็จะหมดแรง หมดกำลังเงิน หมดแรงสนับสนุนจากประชาชน ท้อถอย แล้วจากนั้นค่อยปราบปราม ผมคิดว่า ความมั่นใจเขามี ไม่อย่างนั้นคงไม่ต่ออายุให้คนที่อำนาจเพิ่งสิ้นสุดลง


 


สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมไทยน่าปวดหัว เพราะเราไม่คุยกันเรื่องความซื่อสัตย์  แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญก็จะไปอยู่ในมือของคนที่แก้รัฐธรรมนูญอีก ผมคิดว่าแนวทางของพลังนอกสภา ก็จะเป็นพลังที่มีการเรียนรู้หาทางที่จะต้อสู้กับพลังในสภา ผมคิดว่าความมั่นใจของรัฐบาลอาจจะประเมินสวยหรูเกินไป อย่าลืมว่า รัฐบาลสู้กับคน นี่เป็นสิ่งซึ่งต้องติดตามและช่วยกันมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมไม่มีความรุนแรง


 


 


ส่วนตัวผมเองก็อยากเห็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แม้ว่าทางรอดแบบง่ายๆ เร็ว ๆ จบทันทีคงไม่มี แต่เบื้องต้นอาจจะยกเลิก พรบ. ฉุกเฉินทันที และถอนข้อหาเกี่ยวกับการเมือง นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีความประสงค์ดีในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง อย่างน้อยต้องไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง


 


นโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายใดๆ ก็ตามต้องไม่ทำไปเพื่อสร้างฐานเสียง เพราจะสร้างความร้าวฉานมากขึ้นระหว่างคนที่กุมนโยบายกับคนที่ไม่ได้กุมนโยบาย


 


ท้ายที่สุด ผมอยากฝากว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาจริง ๆ ก็เปิดช่องให้ฝ่ายรัฐบาลได้คิด โดยหน้าที่ของรัฐบาลต้องรับฟังและรับผิดชอบต่อประชาชน ลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงต่างๆ


 


รัฐบาลนี้อาจะไม่ต้องการคำเตือนก็ได้ เพราะเสียงในสภามีมาก แต่ชัยชนะในทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีคะแนนเสียงมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของตัวเอง


 


รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ  คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สังคมไทยในขณะนี้สับสนมาก เพราะการให้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากสื่อซึ่งเน้นไปที่การตอกย้ำว่าทุกคนเป็นคนเลวไปเสียหมด ทำให้รู้สึกเห็นใจ  เพราะประชาชนตัดสินใจไม่ได้  สิ่งที่ตามมา คือจะไม่สามารถเลือกผู้แทนที่เหมาะสมจนเป็นปัญหาต่อประชาธิปไตยในตอนนี้ ดังนั้น   ขอเรียกร้องสื่อให้เป็นตัวแทนวัฒนธรรมใหม่   อย่าซ้ำเติมคนแพ้จนทำให้คนรู้สึกว่าแพ้ไม่ได้ หรือรู้สึกว่าความพ่ายแพ้เป็นเรื่องน่าอับอาย เราต้องให้โอกาส


 


ทั้งนี้จากการที่นายสมัคร บอกว่าให้สื่อเลือกข้าง   ตนเองขอเสนอว่าสื่อจะเลือกข้างเลยก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกอยู่กับนายสมัคร แต่สื่อต้องเลือกข้างความถูกต้องในฐานะที่สื่อมีข้อมูลมากกว่า ขณะที่ชาวบ้านแยกแยะไม่ได้ สื่อต้องตัดสินใจให้ประชาชนว่าสถานการณ์ตรงนี้ใครถูกใครผิด   และอย่าบอกว่าทุกคนเลวไปหมด เพราะจะทำให้ประชาชนเลือกใครไม่ได้ สื่อต้องแยกแยะเรื่องความผิดมากผิดน้อย เช่น ความผิดการในฉ้อราษฎร์บังหลวง  ต้องผิดมากกว่าการทำงานเชื่องช้า เป็นต้น


 


นายมนตรี ศรไพศาล ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง จำกัด


นายกต้องมีจิตใฝ่ความดี มีศักดิ์ศรี มีความรักประชาธิปไตย ที่ผ่านมา คนที่ได้เป็นผู้นำไม่รักษาหลักธรรมของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยต้องให้เกียรติประชาชนทุกฝ่าย การเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมาก และเราเห็นชัดในสถานการณ์อย่างนี้สื่อต้องชัดเป็นกลาง และนำประชาชนได้


 


ที่ผ่านมา สังคมไทยเป็นสังคมศรีธนญชัยเกินไปหน่อย เช่นการตีความต่อคำว่าลูกจ้างและรับจ้าง เรื่องการโอนหุ้น และทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ไปแต่ได้ประโยชน์กับครอบครัว ทำให้คุณธรรมความชอบธรรมความถูกต้องสะดุด ถูกบิดเบือนไป นายกฯ เป็นศักดิ์ศรีของประเทศต้องแสดงความฝักใฝ่ความดี ทำให้สิ่งต่างๆ กระจ่างขึ้น 


 


นายกต้องมีความรัก คือต้องมองประชาน อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรดูประชาชนของพระองค์ด้วยความรัก เราต้องเปิดโอกาสให้มีกาถกเถียงกันอย่างโปร่งใส


 


และสุดท้าย นายกฯ เป็นศักดิ์ศรีของคนไทย ดังนั้นต้องคำนึงถึงศักดิศรีของคนไทยด้วย สื่อนานาชาติจับตามองประเทศไทย การที่ท่านผู้นำของประเทศเราไปโต้ตอบกับผู้สื่อข่าวต่างชาติอย่างรุนแรงเช่นกรณีของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นก็เป็นเรื่องที่ต้องนึกถึงศักดิ์ศรีของชาติด้วย


 


อาจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การต่อสู้ทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ของคนที่อ้างว่าตนเองเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยทั้งนั้น อดีตนายกสมัคร ในครั้งแรกไม่ยอมลาออกอ้างว่าเพื่อรักษาประชาธิปไตย แต่การออก พรก.ฉุกเฉิน ก็เป็นความสุ่มสียงต่อประชาธิปไตยเช่นกัน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชื่อเป็นประชาธิปไตยแต่มีการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร เสนอสูตรการปกครอง 70:30 เรามีพรรคการเมืองที่เป็นเผด็จการทางรัฐสภา ท้ายที่สุดมีเพียงทหารกลุ่มเดียวที่ไม่ได้ประกาศว่าจะปกป้องประชาธิปไตยเลย แต่พยายามทำทุกวิถีทางขณะนี้ที่จะไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่ความสุ่มเสียงที่จะสูญเสียประชาธิปไตย


 


ผมคิดว่า ประชาธิปไตยกลายเป็นการอ้าง เป็นเครื่องมือในการอ้างเพื่อให้ได้ใช้อำนาจ อ้างเพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการโดยไม่คำนึงว่าวิธีการที่เรียกร้องจะขัดกับหลักการประชาธิปไตย


 


76 ปีที่ผ่านมา เรามีความเจ้าอกเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เมื่อพิจารณาให้ดีผมคิดว่าประชาธิปไตยมีองค์ประกอบ 2 ประการ


 


ประการแรก เป็นระบบการเมืองการปกครองอย่างหนึ่ง แต่ประชาธิปไตยมีความหมายโดยนัยยะที่กว้างขวางกว่านั้นที่อาจจะเป็นวิถีแห่งการดำรงอยู่ก็ได้ เป็นระบบวิธีคิดที่แทรกอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันก็ได้


 


ผู้ที่มีหัวใจประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงสิทธิของตัวและเคารพสิทธิของคนอื่น สิ่งที่ผ่านมา 76 ปี เป็นเพียงประชาธิปไตยเพียงรูปแบบที่ปลุกฝังกันมา แต่ขาดการพัฒนาในด้านจิตวิญญาณ ฉะนั้นเราจึงเห็นตัวอย่างที่ยกมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐ ออกมาแสดงว่าสิทธิของคุณเป็นสิทธิอะไรบ้าง แต่ไม่แสดงให้เห็นว่าคนอื่นมีสิทธิอะไรบ้าง นี่เป้นภาวะของเราที่เราเผชิญอยู่


 


76 ปีของการพัฒนาประชาธิปไตยแล้วเราจะไปรอดหรือไม่ นัยยะสำคัญที่สำคัญคือต้องมีการปลุกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยขึ้นมาให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่ต้องกินเวลา และไม่เท่าทันกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่ผมอยากจะเป็นข้อสังเกตก็คือว่าปัญหาที่มาถึงปัจจุบันนี้เป็นปัญหาที่ผ่านมากสั่งสมทับซ้อนจนเป็นผลึกของปัญหาใหญ่ ผมไม่เชื่อว่าเรามีกลไกหรือวิธีการที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่งไปได้ด้วยระยะเวลาอันสั้นและฉับพลันทันที ต้องใช้เวลาและต้องยอมรับว่า ในการที่จะรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องเจ็บปวดด้วยเหมือนกัน แต่ผมเห็นว่าในการพัฒนาประชาธิปไตยของหลายๆ ชาติก็ต้องผ่านเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบเช่นกัน เช่นฝรั่งเศส อเมริกาก็ต้องใช้เวลากว่า 200 ปี


 


จุดยืนส่วนตัวของผม ประชาธิปไตยนั้นเป็นกติกาสากลแล้วในปัจจุบันนี้ เราต้องมองที่กติกาสากลของประชาธิปไตย และมองว่าเราจะเดินไปบนเส้นทางของสากลนั้นหรือเปล่า คือ อำนาจต้องมาจากประชาชน ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ  แต่ปัญหาคือ เมื่อได้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เรากลับได้นักการเมืองที่ ใช้อำนาจในทางที่ผิด เราก็ต้องสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจ ไม่ใช่ถอยหลังกลับ แต่ต้องหากลไก และสร้างกลไกที่ไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย


 


ผมคิดว่าตุลการภิวัฒน์ทุกวันนี้เป็นพัฒนาการที่ก้าวล้ำประการหนึ่งที่พยายามเข้าไปถ่วงดุลอำนาจไม่ให้เกิดการใช้อำนาจที่ไมเป็นธรรม แต่ว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องมีสำนึกประชาธิปไตยไปพร้อมกันด้วย


 


ประการต่อมา ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝัง และยากที่จะหวนกลับไปบอกว่าระบบที่เราต่อสู้กันมา เสียชีวิตเลือดเนื้อกันมานั้นไม่ได้ผล วินาทีเราถอยหลังไม่ได้ เราต้องหากลไกเข้าไปจัดการกับมัน


 


รศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ปัญหาของสังคมไทยดำเนินต่อในลักษณะแบบนี้ไม่ได้ หมายถึงว่าพรุ่งนี้ (11 ก.ย.) มีการประชุมสภา แล้วคุณสมัครเป็นนายกฯ และ พธม. ประชุมกันต่อ รูปแบบนี้ น่าจะไปกันไม่รอด น่าจะมาทบทวนกันใหม่ และผมคิดว่าเราต้องรับว่า ในกระบวนการทุกอย่างในโลก มันไม่มีใครได้ทุกอย่าง เป็นกระบวนการที่ได้อย่างเสียอย่าง เราต้องคิดอะไรที่นอกกรอบกันหน่อยไหม ซึ่งส่วนตัวผมเองมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่ 4-5 ประเด็น


 


เรื่องแรกก็คือการตั้งนายกฯ พรุ่งนี้ 2 คือกระบวนการเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายของคนหลายๆ กลุ่ม


3. การหาจุดร่วมของความแตกแยกในความคิดของคนในสังคมปัจจุบัน และ 4.การพูดเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


เรื่องการเลือกนายกฯ นั้น สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉันมีเรื่องที่น่านำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของคุณสมัคร ถ้าไปดูมาตราที่เกี่ยวข้องกับการสรรหานายกฯ เราจะพบว่า มีประเด็นข้อกฎหมายอยู่นั่นคือ  มาตรา 174 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม โยงไปถึงมาตรา 102 ในหลายๆ เรื่อง ดูกฎหมายแล้ว คุณสมัคร มีคุณสมบัติครบ แลไม่มีลักษณะต้องห้าม ถ้าดูแค่ 2 มาตรานี้ก็น่าจะเป็นนายกฯ ได้ แต่ความเป็นจริงต้องดูต่อไปที่มาตรา 172 ซึ่งสำคัญและเราต้องคิดทบทวนคือมาตรา 172 ให้สภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คำสำคัญคือ บุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้ง ฉะนั้น การแต่งตั้งจึงไม่ใช่พิจารณาตาม 174 เท่านั้น


 


ย้อนกลับไปดูสิ่งที่ศาล รธน. วินิจฉัย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีการพูดถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกฯ มีการพูดถึงเรื่องการที่คุณสมัครทำเอกสารเท็จเพื่อที่จะมาแก้ตัวหรือหักล้างสิ่งที่กล่าวหา และกระบวนการในการที่ศาลฯ อธิบายนั้นมีประเด็นต่อเนื่องกันหลายเรื่อง ที่ศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารเท็จ การทำเอกสารเท็จนั้นไม่เป็นประเด็นเท่าไหร่ถ้าหากการทำเอกสารนั้นไม่ใช่เพื่อแก้ข้อกล่าวหา การใช้เอกสารเท็จนั้นเป้นความผิดทางอาญา และเมื่อศาลฯ เห็นว่ามีการใช้เอกสารเท็จแล้ว ประเด็นนี้ต้องนำมาพิจารณาว่าคุฯณสมัครยังสมควรจะเป็นนายกฯ หรือไม่


 


เราต้องเสนอศาลฯ ในการตีความอีกครั้งหรือไม่ว่า สมัครสมควรเป็นนายกฯ หรือไม่ หลายคนควรจะลดทิฐิตัวเองหรือไม่


 


ประเด็นที่สอง ที่ต้องพิจารณาคือ กลุ่ม พธม. ในขณะที่เรารู้สึกโล่งอกหรือสบายใจกับการที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยหลายๆ เรื่อง ผมคิดว่า พธม. ก็ต้องเดินเขาสู่กะบวนกายุติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน แม้สิ่งที่ได้รับกลับมาจะเป็นความไม่ชอบหรืออะไรก็แล้วแต่


 


ประเด็นที่ 3 เรื่องของการที่เกี่ยวข้องกับความแตกแยกทางความคิด ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา มีความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในหลายๆ เรื่อง เราต้องหาจุดร่วม หาความเข้าใจร่วมกัน ผมแบ่งได้ 4-5 เรื่องคือ เรื่องแรก ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับคำว่าจริยธรรมและมารยาททางการเมือง ประเด็นต่อมาคือ สังคมไทยในปัจจุบันนั้นเป็นสังคมรูปแบบ ไม่ได้เน้นเรื่องสาระ ปัจจุบันหลสายท่านอ่านรัฐธรรมนูญ รู้ว่านักเรียนเรียนฟรี 12 ปี แต่ไม่ถามว่าคุณภาพคืออะไร บัตรทอง 30 บาทก็เช่นเดียวกัน  ประเด็นที่ 3 ความซับซ้อนในการตีความกฎหมาย


 


สุดท้ายคือ เรื่องเกี่ยวกับรูปแบบของประชาธิปไตย เราเองนั้นพูดมาตลอดวาเรานั้นอยู่มนระบบประชาธิปไตย แล้ว พธม. เสนอสูตร 70:30 ขึ้นมา ก็มีข้อท้วงติงขึ้นมาทันที ว่ากลับไปสู้เผด็จการ ความจริงแล้วผมคิดว่าบางทีเราคิดนอกกรอบเราอาจจะคิดใหม่ว่า มีอะไรได้บ้าง อาจจะต้องถามคนที่เรียนรัฐศาสตร์ เช่นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งและประชาธิปไตยแบบกลุ่มอาชีพ 70 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นกลุ่มอาชีพได้ไหม เป็นปาร์ตี้ลิสต์ เป็นบัญชีรายชื่อ เป็นไปได้ไหมที่บัญชีรายชื่อนั้นต้องสังกัดพรรค มีความเป็นกลางทางการเมืองแล้วให้ประชาชนเลือกปาร์ตีลิสต์จากกลุ่มอาชีพ เป็นต้น


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net