Skip to main content
sharethis

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 


"รุ่งเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 เจ้าหน้าที่กลุ่มใหญ่บุกเข้ามาในบ้าน เอาปืนเข้าจี้บังคับพ่อให้ขึ้นรถไป..." สมชาย จะมี เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีก่อนในวันที่ได้เห็นหน้านายจะซะ จะมี ผู้เป็นพ่อครั้งสุดท้าย


 


ราวปี 2546 ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งเป็นมาตรการขั้นรุนแรง มีรายงานว่าในช่วงเพียง 3 เดือนของมาตรการ คือตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงปลายเดือนเมษายนของปีนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามและการตัดตอนราว 2,405 คน ขณะเดียวกันมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง การหายตัวไปของนายจะซะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือที่มักถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดอยู่แล้วก็คาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในนั้น


 


ครอบครัวนายจะซะ เป็นเผ่าละหู่ ในตำบล ประแดะ อำเภอแม่สวย จังหวัดเชียงราย ใช้ชีวิตเรียบๆง่ายด้วยการทำไร่ สมชาย ลูกชายเล่าว่าพ่อไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกับใครมาก่อนและปกติก็อยู่เพียงในหมู่บ้านไม่ค่อยออกไปไหน ในวันที่พ่อหายไปมีเจ้าหน้าที่แต่งกายเป็นทหารคล้ายชุดทหารเกณฑ์หลายคนมาล้อมบ้าน มีคนปิดหน้าเฝ้าประตูไว้และอีกส่วนควบคุมตัวพ่อไป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ไม่มีใครกล้าให้ความช่วยเหลือ และไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาช่วยเลย


 


"การหายตัวไปของพ่อทำให้ครอบครัวขาดเสาหลัก ผมต้องออกจากหมู่บ้านไปอยู่กับคนที่มีฐานะดีกว่า แม่ต้องทำงานในไร่หนักขึ้นเพื่อส่งน้องเรียนหนังสือ ส่วนผมต้องออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยแม่ทำไร่อีกแรงหนึ่ง อยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน"  สมชายกล่าวและทิ้งท้ายว่า "ผมอยากจะเจอพ่อ"


 


000


 


ครอบครัว "เหล่าโสติพันธ์" เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่พ่อหายตัวไปโดยคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของ "เจ้าหน้าที่รัฐ" เช่นกัน และคาดว่าน่าจะเป็นคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นท่ามกลางการรับรู้และเฉยเมยของสาธารณะ


 


อัครวินทร์ เหล่าโสติพันธ์ มีความฝันว่าอยากจะเรียนต่อด้านกฎหมาย หลังจบจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เขาเลือกเรียนต่อเนติบัณฑิตแต่ต้องหยุดลงกลางคันเมื่อนายกมล เหล่าโสติพันธ์ ผู้เป็นพ่อสูญหายไปและเขาต้องไปช่วยแม่แบกรับครอบครัวที่จังหวัดขอนแก่นในฐานะลูกชายคนโต


 


"พ่อเป็นคนตรง ชอบตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่มีทีท่าคอรัปชั่นหรือชอบข่มเหง Double Standard เช่น ตาสีตาสาเข้าไปขอความช่วยเหลือแล้วถูกเจ้าหน้าที่ไล่ แต่เวลาผู้มีอำนาจมาก็นอบน้อม พ่อเชื่อว่าประชาชนสั่งสอนข้าราชการดีที่สุด พ่อจึงได้เข้าไปตรวจสอบคดี 11 คดี"  


 


ส่วนกรณีที่น่าจะเป็นปมเหตุสำคัญของการหายตัวไปของนายกมล อัครวินทร์ ชี้ลงไปว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการสร้างอาคาร 20 ล้านบาทที่ฝั่งตรงข้ามบ้านซึ่งอาจมีการฮั้วประมูลและสร้างผิดแบบเพราะไม่เหลือพื้นที่สำหรับให้รถดับเพลิงผ่าน จึงเข้าไปตรวจสอบเพราะต้องการให้เกิดสิ่งที่ถูกต้องใสสะอาดในชุมชนซึ่งเป็นจุดยืนเสมอมาของนายกมล และกรณีนี้มีนัยย์ที่ผิดไปจากกรณีอื่นที่ค่อนข้างเห็นชัด เมื่อมีการร้องเรียน


 


"ผู้กำกับ (พ.ต.อ.เนติพงศ์ ธาตุทำเล ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น)โทรมาบอกพ่อว่า เฮียอย่าทำอย่างนี้ มีผู้ใหญ่ขอร้องมา ผมไม่กล้าทำ หนักใจ "


 


แต่ในมุมมองของนายกมลมองว่าตำแหน่ง "ผู้กำกับ" ใหญ่ที่สุดในชุมชนซึ่งต้องผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชน จึงเคลื่อนไหวต่อด้วยการทำหนังสือแจ้งไปยังตำรวจภูธรภาค 4 ให้ตรวจสอบผู้กำกับคนดังกล่าว


 


"ก่อนหายตัวไป ผู้กำกับโทรมาคุยกับพ่อเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 หลังจากนั้นพ่อได้เข้าไปที่โรงพัก แต่ผู้กำกับไม่มาพบ ให้รอตั้งแต่เวลา 19.00 - 23.00 น. ซึ่งโทรคุยติดต่อกันอยู่ แต่เวลาก่อนหายตัวไปพ่อโทรมาที่เครื่องน้อง 3 Miss Call ติดต่อกันซึ่งพ่อไม่ใช่คนโทรแบบนี้ ครั้งที่ 4 โทรเข้าเบอร์ที่บ้าน แม่ยกหูรับแต่ก็เงียบหายไป"


 


จากนั้นมาก็ไม่มีใครพบเห็นนายกมลอีกเลย..


 


จนกระทั่งวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 พบรถยนต์ของนายกมล ห่างไปจากบ้านราว 20 กิโลเมตร ตำรวจท้องที่ได้เข้าไปตรวจสอบก่อนที่จะให้ทางนิติเวชเข้าไป แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรตามมา อัครวินทร์ ตั้งคำถามว่า คนๆหนึ่งสามารถหายตัวไปจากโลกได้แบบนี้เลยหรือ วันนั้นนายกมลมีเงินติดตัวเพียง 3,000 บาท เสื้อผ้าก็มีชุดเดียว คนอายุ 50 กว่าๆ จะจอดรถเดินไปไหนได้ไกลในหน้าหนาวของภาคอีสานที่มันโหดร้ายมาก ชุดที่สวมออกจากบ้านก็ไม่หนานักเพราะคิดว่าไปไม่นาน


 


ในคดีนี้ ตำรวจสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นเรื่องชู้สาว แต่นายกมลเคยประสบอุบัติเหตุทางรถทำให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศและอัครวินทร์ยืนยันว่าทางครอบครัวก็รักกันดี อีกประเด็นหนึ่งตำรวจจึงสันนิษฐานว่ามีสติไม่ดี อาจเดินหายไป ซึ่งกรณีนี้ อัครวินทร์มองว่าเจ้าหน้าที่ได้หมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะถ้าดูจากหนังสือต่างๆที่พ่อร้องเรียน คนสติไม่ดีคงทำแบบนี้ไม่ได้ พ่ออาจเป็นคนพูดเสียงดังและตรงมากจนคนที่ไม่รู้จักอาจไม่เข้าใจ แต่คนที่รู้จักกันแล้วจะรักมาก


 


อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญและครอบครัวเหล่าโสติพันธ์มองว่าน่าจะเป็นปมเหตุของการหายตัวไปคือการประมูลก่อสร้างอาคาร 20 ล้านบาทที่ฝั่งตรงข้ามบ้าน ทำให้ต้องไปขัดแย้งกับทั้งกลุ่มธุรกิจ กลุ่มเทศบาลที่มีหน้าที่อนุมัติโครงการ และการติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทั้งสามกลุ่มที่นายกมลเข้าไปเกี่ยวข้องล้วนยังมีอิทธิพลในท้องถิ่นทั้งสิ้น ทำให้การติดตามหาเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างยากเย็นขึ้น


 


หลังจากพ่อหายตัวไป อัครวินทร์บอกว่าไม่สามารถดำรงชีวิตให้เป็นไปได้อย่างปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจมักมากดดันโดยปรากฏตัวให้เห็นอยู่เสมอเหมือนจงใจบอกให้รู้ว่าเรายังอยู่ในสายตาของเขา จึงต้องพยายามประคองตัวเองด้วยการไม่กลับบ้านค่ำมืดนัก และอยู่ด้วยความกลัวซึ่งกำลังทำเรื่องขอคุ้มครองพยานเอาไว้ เพราะแม้แต่นายกมลยังหายไปแบบนี้และผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ซึ่งถูกนายกมลร้องเรียนก็ยังคงอยู่ในพื้นที่โดยบอกกับทุกคนว่าไม่ได้ทำและไม่ทราบเรื่อง


 


"พ่อเป็นเสาหลักของครอบครัวในการดำเนินธุรกิจ หนี้สินยังคงมีเยอะอยู่ ผมจึงเอาเสื้อผ้าออกไปค้าขายตามตลาดนัดเสริมรายได้อีกแรงหนึ่ง เคยวางแผนไว้ว่าจะเรียนต่อเนติ กลับไปทำงานทางตุลาการแต่พ่อก็หายตัวไป ความทุกข์ทรมานของญาติพี่น้องอย่างหนึ่งคือการที่ไม่รู้ว่าคนที่เรารักยังอยู่หรือตาย และต้องเจ็บปวดเมื่อรู้ว่าคนที่เขารักหายไปจากการพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่แบ่งฝ่าย พยายามทำในสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรม แต่ผลสะท้อนกลับมาทำให้เราทุกข์ทรมานสาหัสทั้งกายและใจ"


 


อัครวินทร์บอกอีกว่า แม่เคยคิดออกจากพื้นที่หลายครั้ง แต่น้องยังอยู่ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยและต้องการความชัดเจนเรื่องพ่อ ซึ่งถ้าชัดเจนแล้วก็คงไม่อยู่ที่นี่อีกเนื่องจากต้องแบกรับความทรงจำมากมาย อย่างน้อยตึกที่อยู่ตรงหน้าบ้านซึ่งเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของพ่อก็ต้องเห็นอยู่โทนโท่ทุกวัน


 


"แต่ถ้าเราหนีตอนนี้ พยานต่างๆที่เขาอยากช่วยก็คงไม่ช่วยเพราะขนาดเรายังไม่สู้ และถ้าย้ายออกไปมันส่งผลกระทบในการจัดการพยานหลักฐานต่างๆ" อัครวินทร์ บอกถึงทางที่เลือกเดิน


 


000


 


การหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร เคยเป็นที่โด่งดังและปรากฏบนหน้าสื่อจนเกิดการตื่นตัวทางสังคมและนำไปสู่การจับกุมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปได้ แต่ในระยะหลังมานี้คดีดังกล่าวเป็นอีกคดีหนึ่งที่กำลังเงียบหายไปกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ค่อยมีนักในสังคม


 


ทนายสมชายหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยคาดว่ามีสาเหตุมาจากการว่าความให้ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะเรื่องการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจับกุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่คาดว่าเป็นผู้บังคับให้ทนายสมชายหายไปได้ 5 คน ได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก สว.กอ.รมน. พ.ต.ต.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ พนักงานสอบสวน กก.4 ป. จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง ผบ.หมู่งานสืบสวน ผ.4 กก.2 บก.ทท. ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต เจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน รอง ผกก.3 ป.


 


สุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้องจำนวน 4 คน เนื่องจากหลักฐานไม่พอ แต่สำหรับ พ.ต.ท.เงิน ทองสุขพ.ต.ท.เงิน ทองสุข จำเลยที่ 1 มีความผิดจริงตามมาตรา 309 วรรคแรก คือทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่ถึงขั้นอันตราย โดยสั่งลงโทษสถานหนักที่สุดในมาตราดังกล่าวให้จำคุก 3 ปี


 


[สำหรับจำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.เงิน ทองสุข) พยานโจทย์ให้การซึ่งเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ ให้การตรงกันว่าเป็นผู้ผลักนายสมชายขึ้นรถ รวมทั้งชี้ตัวตรงกันในการให้การ แม้บางคนจะกลับคำให้การภายหลังในชั้นพิจารณาคดีก็ตามว่าจำลักษณะไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะเวลาล่วงมากว่า 1 ปี แล้ว ณ ขณะนั้น จึงทำให้ศาลเชื่อว่า จำเลยที่ 1 และพวก ข่มขืนใจนายสมชาย โดยใช้กำลัง และให้พรรคพวกขับรถของนายสมชายไปจอดที่อื่นแสดงว่าไม่ประสงค์ชิงทรัพย์แต่มีเจตนาขับรถไปจอดที่อื่นเพื่อเลี่ยงเรื่องราวบางอย่าง


 


และการที่นำตัวนายสมชายไปโดยมีทรัพย์สินติดตัวไม่ว่าจะเป็น ปากกาม็องบลังค์ ราคา 7,000 บาท นาฬิกาข้อมือ ราคา  277,550 บาท โทรศัพท์มือถือ ราคา  18,900 บาท ไปด้วยก็ไม่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์ตามที่โจทย์ฟ้องฐานปล้นทรัพย์ แต่ก็ผิดฐานทำร้ายร่างกาย แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าได้รับอันตรายถึงขั้นไหนและไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่จึงสั่งลงโทษได้เพียงการจำคุก 3  ปี ดังกล่าว]...คำพิพากษาศาลอาญา 13 ม.ค. 49 (ที่มา : จำคุก 3 ปี จำเลยคดีอุ้มทนายสมชาย อังคณาฝาก DSI ตามต่อ  ประชาไท 13 ม.ค. 49)


 


ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเคยให้สัมภาษณ์แสดงถึงความรับรู้ข้อมูลเชิงลึกว่า "ที่ผ่านมามันเป็นคดีหน่วงเหนี่ยว ไม่ใช่คดีฆ่าคนตาย เพราะปกติการจะตั้งข้อหาฆ่าคนตาย ต้องพบหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าคนนั้นตายแล้ว ถึงจะบอกได้ว่าเป็นคดีฆ่าคนตาย ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังทำสำนวนเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่คดีฆ่าคนตาย" และได้ยืนยันอีกว่า "ทราบว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ยังพูดอะไรไม่ได้เพราะเป็นเรื่องทางคดี ให้ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เขาสรุปสำนวน ประมาณเดือน ก.พ. จะสรุปสำนวนเสร็จ"


 


แต่นั่นเป็นการให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2549 จนถึงปัจจุบันยังคงไม่มีความชัดเจนใดในเรื่องนี้จาก พ.ต.ท.ทักษิณและดีเอสไอ


 


การหายตัวไปดังกล่าวทำให้ครอบครัว "นีละไพจิตร" ต้องออกมาขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้ปรากฏการณ์การหายตัวของบุคคลโดยรัฐเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำให้กลายเป็นครอบครัวนักสิทธิมนุษยชนไปโดยปริยาย


 


อังคณา นีละไพจิตร ได้ตั้งคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพขึ้นเพื่อจับตากระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะในกรณีคนหายและการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งติดตามกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานและออกมาขับเคลื่อนงานในสายเยาวชน


 


ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประทับจิต ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมคนหายในพื้นที่ต่างๆ และจัดกิจกรรมเชิญญาติของคนที่หายไปจากกรณีต่างๆมาแลกเปลี่ยนความรู้สึกและแนวทางในวันหน้ากันที่จังหวัดสตูล มีทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับครอบครัวชาวละหู่ เครือข่ายญาติพฤษภาซึ่งเป็นกรณีคนหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รวมไปถึงกรณีการหายตัวไปของนายกมล เหล่าโสติพันธ์ ที่เป็นกรณีล่าสุด


 


ประทับจิต บอกว่า จากการพูดคุยกันที่จังหวัดสตูลทำให้เห็นร่วมกันว่าควรจัดกิจกรรมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีคนหายตัวไปโดยรัฐได้มารู้จักกัน เพราะอาจนำไปสู่การสร้างองค์กรและผลักดันแนวทางร่วมกัน โดยใช้วันที่ 30 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันคนสูญหายสากล เป็นวันกิจกรรมที่มีทั้งการแสดงต่างๆและการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญคือต้องการให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งจะทำให้การสูญหายไปของบุคคลกลายเป็นคดีอาญา ในขณะที่ปัจจุบันต้องเจอศพก่อนจึงขยายผลได้


 


"คดีของคุณสมชาย ยังไม่มีความคืบหน้า DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เมื่อกระตุ้นไปก็ลงพื้นที่บ้าง แต่เป็นการตอบสนองสั้นๆ ยังไม่มีความจริงใจในการทำคดี" ประทับจิตบอกถึงปัญหาของคดีที่ยังไม่มีทิศทางของความคืบหน้า


 


การบังคับบุคคลให้สูญหายโดยฝีมือของรัฐยังคงเป็นเรื่องที่มืดดำในสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง เสียงจากครอบครัวหรือญาติของผู้สูญหายคล้ายเสียงกระซิบที่ได้ยินค่อยๆอย่างแผ่วเบาในบางครั้ง ในขณะที่วัฒนธรรมการใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นเสียงที่ดังกระหึ่ม ฮึ่มๆ หากในวันนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆจากสังคมกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การสูญหายไปของคนๆหนึ่งคงไม่หยุดอยู่ที่สองสามคดีที่ยกมานี้แน่ๆ


 


ถ้าโชคไม่ดีมันอาจเกิดขึ้นกับคนข้างๆบ้านคุณ แต่ถ้าโชคร้ายกว่านั้น..มันอาจเกิดกับคุณโดยที่ไม่มีใครสนใจแยแสเลยก็ได้..

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net