Skip to main content
sharethis

ในโลกนี้คงจะมีไม่กี่ตระกูล ที่ถูกตราหน้าว่า เป็นอาชญากร แม้ความเลวร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นอาจมาจากคนเพียงคนเดียว จนอาจส่งผลกระทบหรือมีปัญหาบานปลายตามมา อย่างเช่น ตระกูลของคนๆ หนึ่งอยู่ทางใต้ ?


 


นามสกุล "อภิบาลแบ" แห่งภาคใต้ชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ก็อาจเป็นตระกูลหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่าเป็นเช่นนั้นด้วย


 


โดยเฉพาะในสายตาของหน่วยความมั่นคงบางหน่วย เพราะมีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังปรากฏเป็นข่าวว่ามีคนนามสกุลนี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐปิดล้อม ตรวจคน ควบคุมตัว หรือแม้กระทั่งในเหตุการณ์ปะทะกัน จนกระทั่งมีการสูญเสียชีวิตขึ้น โดยเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่


 


อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2551 ทีผ่านมา ที่กำลัง ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง สนธิกำลัง เข้าปิดล้อมหมู่บ้านตันหยงนากอ หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ในช่วงเช้ามืดจนเกิดการปะทะกันขึ้นอย่างดุเดือด ผลการปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ หนึ่งในนั้นคือ นายมะกอเซ็ง อภิบาลแบ ซึ่งตามข่าวระบุว่า มีชื่อจัดตั้งว่า มะสือดี อายุประมาณ 23 ปี ถูกยิงที่ลำตัวและศีรษะ ในมือมีปืนพกสั้น ขนาด 9 มม. 1 กระบอก ทั้งสองเป็นแกนนำระดับคอมมันโด ในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา


 


จากนั้นกำลัง ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เข้าติดตามไล่ล่าคนร้ายที่เหลือจนเกิดการปะทะอันอีกครั้ง ห่างจากจุดแรกประมาณ 600 เมตร เป็นเหตุให้ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตอีก 4 ศพ ยึดอาวุธปืนลูกกรดติดลำกล้อง 1 กระบอก ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 นาย


 


การปิดล้อมตรวจค้นดังกล่าว เนื่องมาจากสืบทราบว่า กลุ่ม อาร์เคเค ที่ก่อเหตุลอบซุ่มยิง ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) หน่วยรบพิเศษ หน่วยพลร่ม ประจำ หน่วยเฉพาะกิจ ตชด.ที่ 44 ประจำหมวด รพศ.1 บ้านสันติ 1 เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551 หลบหนีการติดตามของ เจ้าหน้าที่มาเคลื่อนไหวในพื้นที่


 


โดยเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตดังกล่าว คือ ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ หรือ "หมวดตี้"


 


อย่างไรก็ตาม จากการบอกเล่าของญาตินายมะกอเซ็ง รวมทั้งคนในครอบครัว ยืนยันว่า มะกอเซ็ง เสียชีวิตหลังจากตกอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่แล้ว โดยระหว่างการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่ มะกอเซ็ง ได้หลบหนีข้ามแม่น้ำปัตตานีไปยังบ้านสนามบิน ตำบลเขื่อนบางลาง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำปัตตานี โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ใต้เขื่อนบางลาง ห่างประมาณ 10 กิโลเมตร


 


มะกอเซ็ง หนีเข้าไปหลบในบ้านญาติคนหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ตามไปจับกุมตัวได้ จากนั้นได้นำตัวเขาข้ามกลับมาที่ฝั่งหมู่บ้านตันหยงนากอ ซึ่งขณะนั้นเองญาติๆ ที่เห็นเหตุการณ์ก็เชื่อว่ามะกอเซ็งน่าจะถูกนำตัวไปที่หน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.)ธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ประกอบกับหลังเหตุการณ์ปะทะได้มีญาติคนอื่นๆ ได้โทรศัพท์มาสอบ ญาติคนดังกล่าวก็ยืนยันไปว่า มะกอเซ็ง ไม่ได้เสียชีวิต แต่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปแล้ว


 


แต่กลับปรากฏว่า มะกอเซ็ง ถูกยิงเสียชีวิต ศพถูกนำไปที่โรงพยาบาลบันนังสตา โดยนางลีเมาะ อภิบาลแบ แม่ของมะกอเซ็ง บอกว่า จุดที่มะกอเซ็ง ถูกยิงเสียชีวิต ก็อยู่ข้างๆ บ้านของเขาเอง ห่างจากบ้านของนางไปประมาณ 200 เมตร โดยไม่เชื่อว่าจะเป็นการปะทะกัน


 


ละเมาะ บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นเขาพาปืน ก็เลยไม่รู้ว่าเขาจะเอาปืนมาจากไหน เห็นแต่เหน็บมีดที่เอวเท่านั้น


 


ประเด็นนี้ ได้สร้างความสงสัยให้พวกเขาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะขณะนั้นเขาเสียชีวิตโดยที่ไม่มีใครคาดถึง อีกทั้งในตัวเขามีเงินอยู่ด้วย 80,000 บาท เป็นเงินที่ได้จากการขายไม้ทุเรียน ซึ่งเป็นอาชีพเดิมของเขา ขณะนี้ตำรวจยังไม่ได้นำมาคืน


 


วันเดียวกันนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งเข้ามาล้อมบ้าน แล้วควบคุมตัวน้องชายมะกอเซ็ง คือ อับดุลรอซะ อภิบาลแบ พร้อมกับลูกเขยและหลานอีก 2 คน ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกันไปด้วย รวมมีคนในหมู่บ้านถูกควบคุมตัวไปในวันนั้น 7 คน และในวันต่อมามีคนถูกควบคุมตัวไปอีก 8 ตน โดยคนอื่นรวมทั้งลูกเขยและหลานถูกปล่อยตัวกลับมาแล้วในเวลาต่อมา


 


สำหรับ อับดุลรอซะ อภิบาลแบ นั้น เป็นจำเลยในคดีฆ่าตัดคอตำรวจ ที่บ้านคอลอบาแล หมู่ที่ 5 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประกันตัวจากศาลจังหวัดยะลา


 


ลีเมาะ บอกว่า วันเกิดเหตุ อับดุลรอซะ อยู่ที่บ้านคอลอบาแล เพราะเขามีสวนยางพาราอยู่ที่นั่น เขาถูกจับหลังเกิดเหตุฆ่าตัดคดประมาณ 1 สัปดาห์ ที่บ้านคอลอบาแลด้วยเช่นกัน ก่อเกิดเหตุแม่ก็บอกห้ามไม่ให้ไป แต่เขาบอกว่าจะไปบ้านเพื่อน คงไม่เป็นไร


 


ลีเมาะ บอกอีกว่า ขณะนี้ คดีของอับดุลรอซะ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดยะลา โดยเขาต้องคุกนานประมาณ 1 ปี 10 เดือน ที่เรือนจำจังหวัดยะลา กว่าจะได้รับการประกันตัวออกมาอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 10 เดือนแล้ว จนกระทั่งถูกทหารควบคุมตัวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 วันที่มีการปะทะกัน จนมะกอเซ็ง พี่ชายเสียชีวิตนั่นเอง


 


ปัญหาอยู่ที่ว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2551 อับดุลรอซะ ต้องไปรายงานตัวที่ศาลจังหวัดยะลา ซึ่งเขาได้แจ้งให้ทหารที่ควบคุมตัวเขาไว้ทราบแล้ว แต่ในวันดังกล่าว อับดุลรอซะก็ไม่ได้ถูกนำตัวไปที่ศาลจังหวัดยะลาแต่อย่างใด ซึ่งทนายได้แถลงให้ศาลทราบว่าเขาถูกทหารควบคุมตัวอีกครั้ง


 


ศาลจึงมีคำสั่งให้ไปขอให้ทหารออกหนังสือรับรองว่า ในวันดังกล่าวนายอับดุลรอซะ อยู่ในการควบคุมตัวของหน่วยเฉพาะกิจธารโต


 


ญาติสนิทคนหนึ่ง บอกว่า เมื่อไปถึงที่หน่วยเฉพาะกิจธารโต กลับได้รับคำตอบจากทหารที่นั่นว่า วันที่ศาลเรียกตัวได้ส่งตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีแล้ว แต่เมื่อขอให้ออกหนังสือรับรองให้ กลับไม่ยอมออกให้ แต่ได้รับคำตอบจากนายทหารที่นั่นว่า จะโทรศัพท์พูดคุยกับศาลเอง


 


จนกระทั่งต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2551 ศาลจังหวัดยะลาเรียกตัวไปอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากญาติไม่สามารถนำหนังสือรับรองจากหน่วยเฉพาะกิจธารโตได้ ศาลจึงมีคำสั่งถอนประกันตัว โดยพิเคราะห์ว่า จากการที่อับดุลรอซะ ไม่มาตามนัดแล้วนั้น จึงเกรงว่านายจะหลบหนีจึงสั่งถอนประกันดังกล่าวนั่นเอง


 


ทำให้อับดุลรอซะ ต้องกลับไปอยู่ในเรือนจำจังหวัดยะลาอีกครั้ง ก่อนที่การพิจารณาคดีจะสิ้นสุด


 


ลีเมาะบอกอีกว่า ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นตามมาอีก ก็คือ หลังจากนั้นเจ้าหน้าได้เข้ามาตรวจค้นอีกครั้งในบริเวณบ้านของมะกอเซ็ง โดยขุดลงไปในดินเพื่อค้นหาอาวุธ เนื่องจากมีคนแจ้งว่า มีคนเอากระสุนปืนมาฝังดินเอาไว้ แต่ทราบว่าไม่พบอะไร


 


อีกทั้ง วันหนึ่ง ก่อนเกิดเหตุปะทะกันนั้น "มะกอเซ็ง บอกกับแม่ว่า กลางคืนฝันเห็นไฟไหม้บ้าน คิดว่าคงเป็นฝันไม่ดี ตอนเช้าก็เลยไปซื้อเนื้อวัวมาทำอาหารเลี้ยงชาวบ้าน โดยเชิญชาวบ้านให้มาละหมาดฮายัต เพื่อขอพรจากพระเจ้าขอให้ห่างไกลจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย อย่าให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น"


 


"แต่พอเลี้ยงเสร็จ ก็มีคนกล่าวหาว่าเราเลี้ยงอาหารโจร จะโจรได้อย่างไร ก็ชาวบ้านเป็นชาวบ้านธรรมดานี่แหละ ส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านก็เป็นญาติๆ กันทั้งนั้น"


 


"เรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า พวกนามสกุลอภิบาลแบ เป็นตระกูลพวกโจร เราโกรธอยู่แล้ว แต่โกรธแล้วจะทำอะไรได้ เราไม่มีอำนาจอะไร"


 


"มีญาติอีกคนหนึ่ง นามสกุล อภิบาลแบ อยู่คนละหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเขาเป็นแกนนำก่อความไม่สงบ ทั้งที่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้เรื่องอะไร ตอนนี้ก็ยังอยู่ที่บ้าน เราไม่เชื่อว่าเขาจะเป็นแกนนำจริงๆ"


 


ญาติสนิทอีกคนหนึ่งซึ่งนามสกุลอภิบาลแบเหมือนกัน บอกว่า เจ็บใจเหมือนกันที่คนที่นามสกุลนี้ ถูกมองว่าเป็นโจร แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรได้


"ในช่วงหลังๆ นี้ เจ้าหน้าที่ก็มักจะรู้จักคนที่มีนามสกุลนี้มาก เห็นได้จากเวลาที่เราขับรถไปไหนแล้วเจอด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ เขาก็ทักทาย บางครั้งก็ยิ้มให้ แต่ไม่รู้ว่าในใจเขาคิดอะไรอยู่บ้าง บางครั้งเวลาอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ขับรถผ่านก็บีบแตรทักทาย เราก็เสียว ไม่รู้ว่าจะมาเชิญตัวไปด้วยหรือเปล่า"


 


นับว่า เป็นตระกูลดังแห่งยุคสำหรับชายแดนใต้ ในวันที่เปลวไฟแห่งความไม่สงบ ยังคงลุกโชนไม่แพ้ความร้อนแรงทางการเมืองระดับชาติ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net