Skip to main content
sharethis


 

ใจ  อึ๊งภากรณ์


สมาชิกพรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองซีกของชนชั้นปกครองไทย ซึ่งเริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2549เครือข่ายต่างๆ และองค์กรต่างๆ ของภาคประชาชน ถูกสะกดจิตให้เลือกข้าง สนับสนุน และคล้อยตามการนำของสองซีกที่ตีกัน โดยลืมประวัติศาสตร์ จุดยืนเคียงข้างคนจน และอุดมการณ์ มีการแสวงหาเจ้านายและแนวร่วมทางการเมืองในแวดวงชนชั้นปกครอง และหันหลังให้ชาวบ้าน กรรมาชีพ และคนจน คำถามที่เราต้องตะโกนถามคือ "พื้นที่การเมืองภาคประชาชนคนจนหายไปไหน?"


 


จำได้ไหมอุดมการณ์ที่เครือข่ายภาคประชาชนและเอ็นจีโอเคยมีหลังป่าแตก? จำได้ไหมคำขวัญว่า "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน"? จำได้ไหมจุดยืนที่ภาคประชาชนแนวอนาธิปไตยเคยมีเรื่องการ "หันหลังให้รัฐ" จำได้ไหมว่านักเคลื่อนไหวภาคประชาชนเสียสละมานานเพื่อคัดค้านเผด็จการทหารและเผด็จการของระบบราชการ?


 


ตอนนี้เราเห็นผู้นำบางส่วนของภาคประชาชนใน กป.อพช. ในเครือข่ายเอดส์ ในสหภาพแรงงานรถไฟและการบินไทย ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนคำขวัญใหม่ที่ประกอบไปด้วยอุดมการณ์ "การเมืองใหม่ต้องลดพื้นที่ประชาธิปไตยในสองสภา" "ชาวบ้านไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะลงคะแนนเสียงได้" และ"คำตอบอยู่ที่กองทัพ ศาล และสถาบันการเมืองของคนชั้นสูงอื่นๆ รวมถึงสถาบันกษัตริย์" มีการปลุกระดมแนวชาตินิยมอย่างที่จอมพลป. หรือจอมพลสฤษดิ์เคยทำ ในขณะเดียวกันข้อเสนอต่างๆ เรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการ การเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวยทุกภาคส่วน การเพิ่มอำนาจของชาวบ้านในการกำหนดชีวิตตนเอง การดูแลคนป่วยโดยระบบสาธารณะสุขของรัฐที่มีคุณภาพ การปกป้องฐานะทางเศรษฐกิจของคนงาน และการสร้างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง การรักษามาตรฐานสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ การเคารพคนงานพม่า การสร้างสื่อของภาคประชาชนเอง ...ฯลฯ ล้วนแต่ถูกลืมไปหมด


 


กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ และการบินไทย เป็นตัวอย่างที่แย่มาก ในอดีตสหภาพเหล่านี้ไม่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ลูกจ้าง เช่นในกรณีรถไฟมีคนงานเหมารายวันจำนวนมากที่ไม่มีสวัสดิการเหมือนคนอื่นในรัฐวิสาหกิจ แต่ผู้นำสหภาพไม่เคยออกมาต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจังเหมือนสหภาพแรงงานเอกชนในภาคตะวันออก ในกรณีการบินและสนามบิน ใครๆ ก็ทราบว่าเป็นแหล่งหากินสำหรับทหารมานาน แต่สหภาพไม่กล้าออกมาคัดค้านปัญหาแบบนี้โดยตรง ตอนนี้ทั้งสองสหภาพแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพันธมิตรเพื่อเผด็จการและระบบเศรษฐกิจที่เป็นผลเสียต่อคนจน เป็นการออกมาปกป้องรุ่นพี่ในขบวนการแทนที่จะดูแลสมาชิก


 


และเราเห็นนักเคลื่อนไหวอีกกลุ่มหนึ่ง สนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทยและรัฐบาลพลังประชาชนที่มีประวัติและจุดยืนชัดเจนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทั้งในสงครามยาเสพติดและภาคใต้ รัฐบาลนี้และรัฐบาลที่แล้วเต็มไปด้วยนักการเมืองที่ขยันกอบโกยความร่ำรวยเข้ากระเป๋าตนเองตามวัฒนธรรมประเพณีของชนชั้นปกครองไทย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองพลเรือนทุกพรรค หรือนายทหารเผด็จการ พร้อมกันนั้นนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนรัฐบาลมีการออกมาชมตำรวจ และด่ายุทธวิธีการใช้มวลชนของพันธมิตรฯ ด้วยวาจาที่คล้ายคลึงคำวิจารณ์ที่รัฐเคยใช้กับภาคประชาชนในอดีต


 


ปัญหาของชาวบ้าน เกษตรกรคนจน ชาวประมง กรรมาชีพ และนักสหภาพแรงงานที่ถูกข่มขู่ ไม่ได้หายไปไหน ปัญหาของคนจนร้ายแรงขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังทวีมากขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ถูกลืมท่ามกลางมวยผู้มีอภิสิทธิ์


 


การปฏิเสธการเมืององค์รวม เพื่อเน้นการปฏิบัติประเด็นเดียว การปฏิเสธทฤษฏีเศรษฐศาสตร์การเมืองและปล่อยให้ฝ่ายนายทุนผูกขาดข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ การใช้ระบบ"ลอบบี้"เพื่อขอความช่วยเหลือจากทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ หรือ ไทยรักไทย การปฏิเสธประชาธิปไตยตัวแทนทุกรูปแบบ และการปฏิเสธประเด็นชนชั้นและการสร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชน ล้วนแต่ช่วยทำให้เราอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ทุกวันนี้ เราถูกสะกดจิตให้ชมและร่วมเชียร์ความขัดแย้งระหว่างสองซีกของชนชั้นปกครองที่เป็นศัตรูของประชาชนคนยากคนจน แต่มันไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข


 


ท่ามกลางความตื่นเต้นกับมวยทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องทบทวนความจริงเกี่ยวกับสองซีกของชนชั้นปกครองที่กำลังตีกัน เพราะดูเหมือนมีการ "พักสมอง" เพื่อไปเชียร์แต่ละข้างในละครมวย


 


1.      ซีกรัฐบาล/ไทยรักไทย/พลังประชาชน เป็นนักการเมืองของชนชั้นนายทุนที่มีนโยบายเพื่อพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าสำหรับนายทุนและเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกาภิวัตน์ได้ ยุทธวิธีสำคัญของเขาคือการสร้างฐานสนับสนุนการเลือกตั้งจากประชาชน ผ่านนโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับคนจนจำนวนมาก เขาเข้าใจดีว่าการพัฒนาสังคมทำไม่ได้ถ้าหันหลัง ปราบปราม และถุยน้ำลายใส่คนจน ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดิมของชนชั้นปกครองไทย แต่เราไม่สามารถสนับสนุนซีกนี้ได้เพราะ ทุกอย่างที่เขาทำ ทำไปเพื่อประโยชน์ชนชั้นนายทุน ประโยชน์ที่คนจนได้มาเป็นผลข้างเคียงเท่านั้น ซีกนี้ไม่ต้องการเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่ต้องการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยไปไกลกว่าระบบรัฐสภาน้ำเน่า-ดังนั้นไม่มีข้อเสนอในการเพิ่มอำนาจให้ภาคประชาชน สหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกร และซีกนี้พร้อมจะละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้และสงครามปราบยาเสพติด ปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้นำโดยคนอย่างสมัคร ซึ่งมีประวัติปฏิกิริยายาวนานตั้งแต่ ๖ ตุลา และปัจจุบันสนับสนุนเผด็จการทหารในพม่าฯลฯ


 


2.      ซีกต่อต้านไทยรักไทยและทักษิณ  ซีกนี้ซับซ้อนกว่าซีกแรก เพราะประกอบไปด้วยสี่กลุ่มหลักคือ 1.พันธมิตรฯ  2.ทหารเผด็จการที่อ้างความชอบธรรมจากเจ้า  3.ศาลที่อยู่ใต้อิทธิพลทหารรักเจ้า และ4.พรรคประชาธิปัตย์ ฐานมวลชนของพันธมิตรฯมีแค่ชนชั้นกลาง แต่อำนาจที่เขาหวังใช้อยู่ที่ทหารพร้อมกับการอ้างความชอบธรรมจากเจ้า สิ่งที่สำคัญคือเราไม่ควรมองว่าสี่กลุ่มนี้ประสานงานกันอย่างแนบเนียน เพราะต่างฝ่ายต่างทำในสิ่งที่ตนต้องการ เพียงแต่ร่วมมือกันเมื่อผลประโยชน์ตรงกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว ซีกนี้เป็นซีกอนุรักษ์นิยมสุดขั้วของชนชั้นนายทุน เราไม่ต้องหลงคิดว่าพันธมิตรฯเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชนอีกแล้ว ซีกนี้ไม่สนับสนุนแม้แต่ประชาธิปไตยรัฐสภา เห็นชอบกับเผด็จการหลายรูปแบบ อ้างเจ้าเสมอ และปลุกระดมชาตินิยมสุดขั้ว และเราควรชัดเจนว่าซีกนี้คือซีกนายทุนแบบหนึ่ง ไม่ใช่ศักดินาซึ่งหมดยุคไปนานแล้ว ซีกนี้ใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมสุดขั้วพร้อมกับนโยบาย "จำกัดการหมุนเวียนของเงิน" (Monetarism) ซึ่งเป็นนโยบายที่จำกัดค่าใช้จ่ายของรัฐและบริษัท (วินัยทางการคลัง) เพื่อให้รัฐและนายจ้างกดค่าแรง และตัดค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่คนจน นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดี เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสื้อคลุมเพื่อให้ความชอบธรรมกับนโยบายดังกล่าว ยุทธศาสตร์ของพันธมิตรคือการสร้างสถานการณ์ความปั่นป่วนสุดขั้ว เพื่อกวาดล้าง "การเมืองเก่า" ออกไปท่ามกลางความพังทะลายของสังคม เขาหวังจะนำระบบเผด็จการ (การเมืองใหม่) เข้ามาบนซากความพังทลายของสังคมดังกล่าว เขาต้องการความรุนแรง


 


เราไม่ควรแคร์หรือสนใจที่จะปกป้องรัฐบาลนี้ ทั้งๆ ที่มันมาจากการเลือกตั้งและเสียงของคนส่วนใหญ่ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นด้วยกับรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น "รัฐบาลแห่งชาติ" หรือรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ถ้ารัฐบาลนี้ลาออกหรือถูกล้ม เราต้องย้ำว่ารัฐบาลใหม่ต้องมาจากกระบวนการประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้ ดีกว่ารัฐธรรมนูญคมช. เราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เราคัดค้าน "การเมืองใหม่(เก่า)" ของพันธมิตรฯที่ต้องการลดพื้นที่ประชาธิปไตยเพราะมองว่าชาวบ้านโง่ เรามองว่าคนจนต้องกำหนดว่าใครจะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่พันธมิตรฯ ทหาร ศาล นักวิชาการ ฯลฯ ดังนั้นเราต้องชัดเจนในการเสนอรูปแบบการปฏิรูปสังคมเพื่อเพิ่มพื้นที่ประชาธิปไตยให้กับประชาชน เราต้องผลักดันให้ลดบทบาททหาร ตัดงบประมาณทหาร ยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ต้องพูดถึงการปฏิรูปศาลและระบบยุติธรรม เพราะทุกวันนี้ประชาชนตรวจสอบและควบคุมศาลไม่ได้ ไม่มีระบบลูกขุน และมีสองมาตรฐานในระบบยุติธรรมเสมอระหว่างคนจนกับคนรวย หรือระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้าง


 


เราต้องหาทางฟื้นวาระภาคประชาชนและสร้างทางเลือกที่สามของคนจน เราคงต้องร่วมกันคิด แต่นี่คือข้อเสนอเบื้องต้นของผม


 


1.       เราควรร่างคำประกาศเจตนารมณ์ (หรือจะเรียกอย่างอื่นก็ได้) ขององค์กรและบุคคลในภาคประชาชน ที่ไม่พอใจกับการที่วาระประชาชนถูกละเลยมาท่ามกลางการต่อสู้ของสองซีกของชนชั้นปกครองตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๙  พวกเราต้องประกาศว่าเราต้องการสร้างแนวทางที่สาม ที่เป็นแนวอิสระของภาคประชาชน กระบวนการในการทำคำประกาศนี้ควรจะนำไปสู่การรื้อฟื้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการปฏิรูปสังคม นำไปสู่การพิจารณาเรื่องพรรคใหม่ และการจัดสมัชชาสังคมขนาดเล็กของกลุ่มคน "สองไม่เอา" ในปีหน้า และที่สำคัญคือจะเป็นการปักธงอิสระในสังคม ชักชวนให้คนมาทางนี้


 


2.       เราต้องหาทางจัดเวทีต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ปัญหาการล้มสหภาพ ปัญหาการรับเหมาและความมั่นคงในการทำงาน ปัญหาการแปรรูป ปัญหาค่าจ้างและสวัสดิการ และเราต้องพยายามศึกษาประเด็นสากลด้วย เพราะประเทศไทยไม่ใช่เกาะอิสระที่ไม่เกี่ยวกับระบบโลกาภิวัตน์


 


 


3.       เราต้องหาทางจัดเวทีเรื่องวิธีการ ข้อถกเถียง และการลงมือ สร้างพรรคใหม่ของภาคประชาชน สื่อภาคประชาชน และการสร้างความอิสระเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม


 


4.       เราต้องหาทางจัดเวทีเรื่องภาคใต้ รัฐชาติ ชาตินิยม ราชานิยม ทุกวันนี้ภาคใต้เต็มไปด้วยความรุนแรง และกระแสหลักๆ ได้แต่โทษคนมาเลย์มุสลิม แทนที่จะโทษรัฐไทยและกดดันให้รัฐเปลี่ยนท่าที กระแสราชานิยมถูกใช้เพื่อให้คนคิดไม่เป็น วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ไม่เป็น วิเคราะห์ปัญหาปฏิรูปไม่เป็น และเพื่อปิดปากคนที่คิดต่างจากผลประโยชน์ชนชั้นปกครอง ดังนั้นเราต้องก้าวพ้นปัญหานี้ให้ได้ ต้องเลิกกลัวที่จะคิดเองสักที


5.       เราต้องรณรงค์เรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการและระบบภาษีก้าวหน้า


 


6.       เราต้องคุยเรื่องการปฏิรูประบบยุติธรรมแบบถอนรากถอนโคน


 


งานที่พูดถึง ต้องเป็นงานที่ดึงนักสหภาพแรงงาน เกษตรกรคนจน นักศึกษา และนักเคลื่อนไหวธรรมดาๆ เข้าร่วมด้วยกัน โดยไม่แยกส่วนแยกประเด็น เราต้องเจียมตัวว่าเราเล็ก เรากำหนดทิศทางการต่อสู้ระหว่างสองซีกของชนชั้นปกครองไม่ได้ แต่เราคือผู้ที่ต้องรับภาระในการสร้างจุดยืนอิสระของชนชั้นล่าง นักเคลื่อนไหวอื่นๆเขาจะไม่ทำ แต่คนที่ไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันมีมากมาย เพียงแต่เขาอาจสับสนและไม่มีการจัดตั้ง หลายคนมองอย่างผิดพลาดว่า "เราทำอะไรในช่วงนี้ไม่ได้ ต้องรอให้ความขัดแย้งสงบก่อน" เขาผิดพลาดเพราะเรื่องนี้ไม่จบง่ายๆเร็วๆ และถ้าจบบนเงื่อนไขชนชั้นปกครอง ไม่ว่าซีกใด พื้นที่ประชาธิปไตยและพลังของภาคประชาชนจะลดลงอีก


 


เราไม่ควรลืมว่าคนส่วนใหญ่ในชนบทเกลียดพันธมิตรฯ คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ และคนในสามจังหวัดภาคใต้ เกลียดรัฐบาลแต่ในขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร คนงานธรรมดากังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อและความมั่นคงในชีวิตและการทำงาน ทั้งสองซีกของชนชั้นปกครองไม่สนใจคนเหล่านี้และตีกันเพื่อประโยชน์ตนเองเท่านั้น ท่านพร้อมหรือยังที่จะพยายามร่วมสร้างทางเลือก?


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net