Skip to main content
sharethis

บรรจง นะแส


เลขาธิการ กป.อพช.ภาคใต้ 



ในสถานการณ์ความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากัน ระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานมัฆวานอย่างยืดเยื้อภายใต้การนำของ 5 แกนนำและองค์กรพันธมิตรอื่นๆ ที่ประกาศเข้าร่วม และมวลชนอิสระทั้งเชิงปัจเจกและกลุ่มคนที่หลากหลายโดยมีเป้าหมายการเคลื่อนไหวจากเบื้องตนเพียง 2-3 ประเด็นแล้วพัฒนาข้อเรียกร้องต่อเนื่องสู่เป้าหมายหลักคือการขับไล่รัฐบาลด้วยเหตุผลต่างๆ ที่หยิบยกกันขึ้นมาพูดบนเวที ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551เป็นต้นมา กับฝ่ายรัฐบาลที่ใช้ความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ตามระบบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งในบรรดานักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ก็มีทัศนะในการมองปัญหาและการแสดงท่าทีต่อการเผชิญหน้าของความขัดแย้งในครั้งนี้แตกต่างกันออกไป บ้างก็มองว่าเหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง จะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร จะนำไปสู่การทำลายหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่มีเหตุมีผลรับฟังได้ มีความเป็นไปได้ในทุกกรณี


 


ในฐานะองค์กรที่ประกาศร่วมเคลื่อนไหวกับฝ่ายพันธมิตรฯ โดยการร่วมประชุมปรึกษาหารือกับองค์ประกอบขององค์กร เราวิเคราะห์เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างรอบด้าน ในหลายๆ แง่มุม เราพบว่าส่วนหนึ่งในฐานะองค์กรพัฒนาที่มองการเคลื่อนไหวคือกระบวนการเติบโตที่เป็นจริงของสังคม ปัญหาที่วิเคราะห์กันมากก็คือเป็นไปได้หรือไม่ว่า มีการมองการเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น เราเห็นแตกต่างกันในยุทธวิธีหรือมองแบบเป็นระบบแบบขั้นบันไดมากเกินไป ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องดำเนินไปตามขั้นตอน หรือเป็นการมองการเคลื่อนไหวแบบพลวัต (Dynamic) หลายคนก็มองว่าการเคลื่อนไหวที่ไม่มีการปฏิบัติการจริงร่วมกับมวลชน อาจหมายถึงแสดงความก้าวหน้าแต่อาจจะล้าหลังมวลชนก็เป็นได้ หรือการแสดงตรรกะของความก้าวหน้าทางความคิดแม้จะถูกต้องแต่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์จริงของสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ แต่กลับมองการเติบโตตื่นรู้ของประชาชนในภาวะดังกล่าวว่าล้าหลัง


 


ผมไม่แน่ใจว่าวิธีการมองเช่นนั้นเป็นความก้าวหน้าหรือล้าหลังในกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกันแน่? หรือเป็นเพราะเราติดระบบคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะต้องมีพิมพ์เขียวมากำกับทุกขั้นตอนเสมอไป? ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ตอนเข้ามาทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว บทเรียนประสบการณ์ที่พบเห็นในพัฒนาการจนถึงปัจจุบันอยากนำมาแลกเปลี่ยนดังนี้ครับ


 


00000


 


สมัยแรกๆ ตอนที่ลงทำงานในหมู่บ้านใหม่ๆ วิธีการหรือกรอบคิดในการทำงานที่ใช้เป็นเครื่องมือคือ หลักคิด ทฤษฎีการพัฒนาชนบทที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ นำมาเผยแพร่และจัดตั้งองค์กรเอกชนพัฒนาชนบทองค์กรแรกในประเทศไทยในปี 2512 คือกรอบคิด วิธีการทำงานของมูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย (ในพระบรมราชูปถัมภ์) หรือที่พวกเราเรียกกันว่า บชท.ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการและพื้นที่ทำงานอยู่ที่ จ.ชัยนาท หลักคิดและวิธีการทำงานดังกล่าวมี 13 ข้อ คือ


 


1.             ไปหาประชาชน


2.             อยู่กับประชาชน


3.             เรียนรู้ประชาชน


4.             รักประชาชน


5.             ช่วยเหลือประชาชน


6.             วางแผนร่วมกับประชาชน


7.             เริ่มต้นจากภูมิปัญญาของประชาชน


8.             สร้างขึ้นจากสิ่งที่ประชาชนมี


9.             อย่าทำงานเป็นเสี่ยงเสี้ยว แต่บูรณาการเป็นภาพรวม


10.          อย่าแสดงตัวอย่างเพียงรูปแบบ


11.          ให้การศึกษาด้วยการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม


12.          เรียนรู้จากการทำงาน


13.          และสั่งสอนด้วยการกระทำ


 


00000


 


จากประวัติและคำบอกเล่าพบว่า แนวการทำงานและกรอบคิดดังกล่าวอาจารย์ป๋วย นำมาจากข้อสรุปแนวการทำงานมาจากเพื่อนของท่านที่ชื่อว่า ดร.วาย ซี เจมส์ เยน ซึ่งจนถึงวันนี้ผมก็มองว่ากรอบคิดและวิธีการในการทำงานพัฒนาชนบทดังกล่าวก็ไม่ล้าสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพบก็คือ แม้พวกเราคนทำงานพัฒนาชนบทที่ยึดหลักกรอบความคิดและวิธีการดังกล่าวในการลงไปทำงานในหมู่บ้าน ก็จะขึ้นอยู่กับอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการผลักดันสร้างกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนคือความชอบ ความถนัด และภูมิหลังของคนทำงานเป็นหลัก


 


จึงพบว่าหลายๆ พื้นที่ๆ คนทำงานที่สนใจในมิติของการเกษตร การทำมาหากินของชุมชน ก็จะมีการศึกษา การค้นคว้า การหนุนช่วยให้เกษตรกร ที่ทำมาหากินดั้งเดิมของชุมชนโดดเด่น ด้วยรูปแบบและวิธีการสร้างเนื้อหา หลักคิด ทฤษฎีย่อยๆ ก็พัฒนากันขึ้นมาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเกษตรแบบผสมผสาน การเกษตรแบบยั่งยืน หรือคนทำงานที่สนใจในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม ก็จะมีมิติทางศาสนา วัฒนธรรมของชุมชนปรากฏออกมาในรูปแบบของ การนำภูมิปัญญา ศาสนา วัฒนธรรม ของชุมชนขึ้นมารับใช้และแก้ไขปัญหาของชุมชน เช่น ผ้าป่าข้าว พิธีบวชป่า การใช้พิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือคนทำงานที่สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเมือง ก็จะผลักดันกิจกรรมที่ตัวเองถนัดและทดลองหลักคิดและความเชื่อของตัวเอง กิจกรรมจึงออกมาในเชิงการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของชุมชน เช่น จัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน กลุ่มสหกรณ์ร้านค้า กลุ่มแปรรูปผลผลิตในชุมชน


 


วิวาทะของคนทำงานพัฒนาในกลุ่มคนทำงานพัฒนาชนบทในช่วงเวลานั้น จึงมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งสื่อสารเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน บ้างก็เพื่อเอาชนะคะคานกัน แล้วแต่อุปนิสัยใจคอและวุฒิภาวะของแต่ละคนในตอนนั้นๆ ปรากฏการณ์ของความแตกต่างทางแนวคิดของการทำงานพัฒนาชนบท ที่ก่อรูปเป็นวาทกรรมในการสังกัดตามความถนัดของแต่ละคน หรือตามความเข้าใจของคนอื่นๆ มักจัดหมวดหมู่พวกเราคนทำงานกันว่าไอ้นั่นสายวัฒนธรรมชุมชน ไอ้นั่นสายเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งก็คือความแตกต่างในทางยุทธวิธีในการทำงาน และตัวกำหนดยุทธวิธีหลักๆ ก็คือตัวตนของคนทำงาน ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้และเบื้องหลังของความคิด ความเชื่อของคนๆ นั้นเป็นหลัก แต่วาทกรรม "สายวัฒนธรรมชุมชน สายเศรษฐศาสตร์การเมือง" ก็ปรากฏอยู่จริงและแต่ละฝ่ายก็มีคำอธิบายมาโต้เถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (หลายๆ ครั้ง หลายๆ เวทีคนพูดคุยก็ทะเลาะกัน)


 


แต่ข้อสรุปสุดท้ายทุกคนก็ยอมรับว่าในหมู่บ้านที่พวกเราลงไปทำงานนั้น สังคมชุมชนมีทุกมิติ ไม่ว่ามิติของเศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรม และบางชุมชนก็มีมากไปกว่า 2 มิติดังกล่าว เช่น มิติทางการเมืองที่เชื่อมต่อกับการเมืองใหญ่นอกชุมชน มิติในเรื่องระบบอุปถัมภ์ค้ำชู กดขี่ ขูดรีด จากระบบเจ้าพ่อ นายทุนหรือเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งมีความเข้มข้นหนักเบาแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกันในทุกหมู่บ้านหรือทุกภาคที่เป็นพื้นที่ในการทำงานของพวกเรา แต่เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีวาระการพบปะพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งในสมัยนั้น มีเวทีรวมปีละ 1-2 ครั้ง ภายใต้ชื่อต่างๆ เช่นกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานพัฒนา (EFORD) หรือชมรมนักพัฒนา และเปลี่ยนมาเป็นชื่อรวมว่า กป.อพช.เมื่อปี 2528 เป็นต้นมา แต่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงานหลังการปรับรูปแบบเป็น กป.อพช.มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันน้อยลง ทั้งในเชิงความคิดและวิธีการในการทำงาน อาจจะเป็นเพราะองค์กรพัฒนามีมากขึ้น มีหลากหลายเนื้อหา ทำให้แต่ละองค์กรแต่ละเครือข่ายมีวงเวทีย่อยของตัวเองโดยเฉพาะมากขึ้น


 


00000


 


อีกประเด็นหนึ่งที่อยากหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันก็คือ หลังปี พ.ศ.2524 มีพี่น้องพรรคพวกเพื่อนฝูง ที่เดินทางออกจากสนามรบเต็มรูปแบบสู่เมือง จำนวนหนึ่งก็แยกย้ายกันไปหาจุดที่ตัวเองยังคิด ยังเชื่อมั่นศรัทธาก็พยายามหาช่องทางพัฒนาก่อรูปการเคลื่อนไหวตามความคิดความเชื่อ หรือหลายๆ คนที่ต้องต้องหาหนทางดำรงชีพประกอบอาชีพให้อยู่ได้ในสังคม บ้างก็ไปเป็นนักการเมือง ไปศึกษาต่อหรือกลับไปทำไร่ทำนา เป็นเกษตรกร เป็นผู้ใช้แรงงาน ตามความเอื้อแห่งปัจจัยที่เป็นต้นทุนเดิมของแต่ละคน


 


ขบวนงานพัฒนาชนบทก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างขนานใหญ่อีกครั้ง โดยดำเนินไปพร้อมๆ กับการหาทางออกให้กับสังคมไทยเพราะทุกคนมองว่าปัญหายังดำรงอยู่ จากเหตุการณ์แห่งความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงเข้าหากันในสังคมไทยและสะดุดหยุดลง ด้วยเหตุปัจจัยหลากหลายคำอธิบาย บ้างก็ว่าเพราะนโยบาย 66/23 บ้างก็ว่าเพราะความขัดแย้งกันภายในและไม่ได้รับการหนุนจากภายนอก บ้างก็ว่าการเข้าร่วมของผู้คนไม่ได้สุกงอมทางความคิดและอุดมการณ์นั้นๆ แต่เป็นเพราะสถานการณ์ เหตุการณ์มันบังคับ ซึ่งคำอธิบายทั้งหมดจะมีส่วนถูกต้องทั้งนั้น มากน้อยต่างกันไป เพราะทุกปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาล้วนมีรูปธรรมและคำอธิบาย


 


แต่สิ่งหนึ่งที่ยังดำรงอยู่คือ ปัญหาของประเทศชาติและสังคมไทยที่มีรูปธรรมตำตาชัดๆ ในทุกๆ เรื่อง ซึ่งก็มีคำอธิบายเหตุแห่งปัญหาที่หลากหลาย บ้างก็อธิบายตามกรอบการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ ว่ามันต้องเป็นไปตามนี้แหละ จากสังคมบุพกาล สู้ระบบศักดินา แล้วพัฒนาไปสู่ระบบทุนนิยมและหลังทุนนิยมมันก็จะไปสู่สังคมนิยมและ.... การลุกขึ้นสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ก็มีหลักคิดทฤษฎีชี้นำที่เป็นพิมพ์เขียวให้เดินตาม ซึ่งในทัศนะของผมมองว่า ง่ายและสะดวกดี ไม่ต้องรับผิดชอบ ในหลายๆ เรื่อง การเคลื่อนไหวภายใต้พิมพ์เขียวแม้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ความแตกแยกกัน หนักบ้างเบาบ้างตามแต่ต้นทุนของความศรัทธาเชื่อมั่น ความสัมพันธ์ ความรัก ความเข้าใจระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล การสมาทานความคิดหลัก หากผิดพลาดขึ้นมาความผิดส่วนใหญ่จึงตกแก่ศาสดา ผู้กำหนดหลักคิดนั้นๆ หรือกรอบคิดและทฤษฎีนั้นๆ ความขัดแย้งในสังคมไทย ที่เผชิญหน้ากันอยู่ในปัจจุบันมีหลายๆ เหตุปัจจัย และหลากหลายคำอธิบายในการหาทางออกให้กับปัญหา


 


00000


 


ในทัศนะของผมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ได้มีลักษณะเหมือนขั้นบันได หรือมีกรอบแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สามารถกำหนดเป็นสูตรตายตัวได้อีกแล้ว ยกเว้นความคิดอุดมการณ์ที่ถูกกำหนดว่าสังคมที่ดีจะต้องไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ต้องช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันกัน มีความรักและเคารพกันไม่ทำร้ายกันเยี่ยงสัตว์ อีกประการหนึ่งก็คือพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำให้มนุษย์มีเครื่องมือที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง ของกลุ่มได้ด้วยตัวเองมากขึ้น การสื่อสารที่ไร้พรหมแดนของโลกไซเบอร์ เป็นพัฒนาการหนึ่งที่สำคัญของสังคมมนุษย์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ในการจับเกาะกลุ่มกันของบุคคล กลุ่มบุคคลอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยระบบสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หรือสร้างผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเอง สร้างเกราะปกป้องคุ้มครองกันเอง ขยายตัวเป็นหน่วยย่อยๆ ในสังคมมากขึ้น ปัญหาเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ขูดรีดของมนุษย์ด้วยกันในสังคมถูกขยาย ซ้ำแล้วซ้ำอีก บ้างก็ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงมากขึ้นจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีจำนวนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น


 


การเสนอทางออกของปัญหาเกิดจากหลายความคิด หลายปฏิบัติทางสังคม การเลือกเข้าสู่ขบวนการแก้ไขปัญหาของแต่ละคน แต่ละกลุ่มคนก็มีความแตกต่างกัน ตามหลักคิดความเชื่อ และผลประโยชน์ ถ้าเป็นเชิงปัจเจกก็ง่ายหน่อย ในการเสนอทางออกของปัญหา เพราะสามารถ เสนอได้ตลอดเวลา ทุกแง่มุม จะด้วยการอ่านมามาก ศึกษาค้นคว้ามามากฯลฯ หากข้อเสนอของท่านสอดคล้องสามารถนำไปสู่การปฏิบัติ จนสามารถแก้ไขปัญหาได้ท่านก็จะได้เป็นศาสดา ที่ได้ช่วยชี้แนะทางออกให้กับมวลมนุษย์


 


แต่ในทัศนะของผมในวันนี้ ผมพบว่า "ศาสดามีมากพอแล้ว" เหลืออย่างเดียวก็คือ การลุกขึ้นปฏิบัติการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังและให้ต่อเนื่อง ของเหล่าสาวกที่เชื่อและสมาทานหลักคิดนั้นๆ ซึ่งวันนี้พบว่ามีไม่มากพอ หรือกลุ่มคนที่ไม่เชื่อคำสอนของศาสดาองค์ใด แต่เชื่อรักและศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ จงได้ออกมาเพื่อบอกกล่าวเรื่องราวความคิดเห็นและเสนอแนะทางออก รวมทั้งร่วมปฏิบัติการตามความคิด ความเชื่อนั้นๆ อย่างจริงจัง บนพื้นฐานของปัญหาที่ตัวเองหรือสังคมที่กลุ่มของตัวเองกำลังเผชิญอยู่ หรือปัญหาที่มนุษยชาติของโลกใบนี้กำลังเผชิญอยู่ จัดตั้งเป็นองค์กรย่อยๆ ที่เป็นระบบ มีส่วนร่วมของบุคคลภายในกลุ่มอย่างจริงจัง แล้วสื่อสารกันให้มากๆ ให้หลากหลายช่องทาง


 


ผมเชื่อว่าการตื่นรู้ของประชาชนทุกคนทุกหมู่เหล่าที่มีข้อมูลรอบด้านจะก่อให้เกิดอำนาจวิเคราะห์และนำไปสู่การกำหนดทางเลือกจากการตัดสินใจของเขาได้ รวมทั้งตัวเราเอง ผมเชื่อว่าเราต้องไปให้พ้นการเมืองแบบพิมพ์เขียวได้แล้วครับ


 


00000

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net