Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา : เรียบเรียง


 


 



ทางออกที่ดีที่สุดที่เราเห็นวันนี้ก็คือ ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่


ร่างด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่าปี 2540



สังคมเราตอนนี้ ถึงจุดสำคัญคือ เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ไม่เหมือนเรา 


สังคมไทยเราถูกผลักให้ไม่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนแตกต่างกับเรา


 



ปัญหาที่ซ้อนมาที่จะหนักหน่วงขึ้นในสังคมไทยคือปัญหาคือ "ชนชั้น"


 



ในช่วงรัฐบาลของคุณทักษิณ ไม่ว่าเขาตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทำให้ "คนจนเกิดสำนึกว่าเราจน"


และต้องการการจัดการดูแลอีกแบบหนึ่งจากรัฐ


 



เมื่อก่อนเป็นความขัดแย้งชาติพันธุ์ แต่ในวันนี้


ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น


และเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างของเราตรงนี้



ถ้าหากเราไม่จัดการความขัดแย้งทางชนชั้นตรงนี้ให้ได้


สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่คาดหมายไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น


 


 


"รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมืองไทยในห้วงขณะนี้ ผ่านรายการ "มองคนละมุม" สถานีวิทยุ FM.100 เสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "ประชาไท" จึงขอนำมาเรียบเรียงนำเสนอตรงนี้อีกครั้ง...


 


 


 



รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์


ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


มองอย่างไรกับประเด็นการเมืองในขณะนี้ ที่หลายฝ่ายยังคงมุ่งไปที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


คือเราเองเป็นห่วงและกังวลในเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ เนื่องจากว่ามันมีสภาวะของความขัดแย้งและแตกแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ภาวะความขัดแย้งและแบ่งขั้วของการเมืองระดับบน มันมีผล คือ มันดึงเอาทั้งสังคมเข้าไปสัมพันธ์ด้วย ดังนั้น มันก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งลามลงมาสู่ทั้งสังคมเลย


 


ในภาวะแบบนี้เอง พวกเราก็กังวลกันว่า เราอยากจะหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย ที่ทำให้แม้ว่าเราแตกต่างหรือเห็นไม่เหมือนกัน เราก็คุยกันได้ และการสร้างเวทีตรงกลางตรงนี้เอง ก็คือการต้องร่างกติกา ควบคุมสังคมกันใหม่ คือ ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ด้วยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ ถ้าหากเราจำกันได้ คะแนนของคนรับกับไม่รับใกล้เคียงกันมาก แล้วก็ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นตัวทำให้เกิดความขัดแย้ง


 


ดังนั้น พวกเราเองทั้งที่เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ หลายกลุ่มมากที่คุยกัน ว่าทางออกที่ดีที่สุดที่เราเห็นวันนี้ก็คือว่า ให้ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ร่างด้วยกระบวนการที่ส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่าปี 2540 เพื่อที่จะทำให้ประชาชนคนไทยทั้งหมดได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ตระหนักว่าสิทธิในความเป็นพลเมืองของเขา เขาจะได้อย่างไร เขาจะอยู่อย่างไร เพื่อที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากความเห็นชอบจากความเห็นชอบจากสังคมโดยรวมที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง ที่มากว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


บนกระบวนการตรงนี้เอง คือกระบวนการที่จะทำให้การเมืองทั้งหลายเป็นของสังคม ไม่ใช่การเมืองเป็นของนักการเมืองแบบนี้ ที่เราเสนอตรงนี้ นอกจากความขัดแย้งแล้ว มันมีกระแสของพรรครัฐบาลเองที่พยายามจะตั้งกรรมาธิการแล้วร่างกันเอง ซึ่งถ้าทำแบบนั้น ผมก็คงต้องเตือนและฝากสังคมคนไทยด้วยว่ายิ่งทำอย่างนี้ยิ่งทำให้ขัดแย้ง


 


ทั้งอาจารย์สมเกียรติ (ตั้งนโม) ผม และพวกเราที่ร่วมกันในนามของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และในนามอื่นๆ อีกเยอะแยะ กว้างขวางมาก คิดว่าทางออก คือ ทางนี้ อย่างน้อยที่สุดเท่าที่เราคิดได้วันนี้ ทางนี้คือทางออกที่ดีที่สุด เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นโดยความเห็นพ้องมีส่วนร่วมของประชาชนเขาก็จะปกป้องรัฐธรรมนูญมากกว่าที่ผ่านมา


 


แล้วที่สำคัญอีกอย่าง ผมคิดว่าพี่น้องทางภาคเหนือหรือในเชียงใหม่เอง คงจะเห็นชัด คือ ในวันนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงในเชียงใหม่มหาศาล เรามีพี่น้องจำนวนมากที่ดำรงชีวิตอยู่บนภาคการผลิตอย่างไม่เป็นทางการ อย่างเป็นชาวนาจริงๆ ก็ไม่มี ขาข้างหนึ่งอยู่ที่งานนอกภาคการเกษตร ไม่รับจ้าง ก็รับเหมา ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่มีที่ว่างสำหรับคนกลุ่มใหม่กลุ่มนี้ ดังนั้น สิ่งที่เราร่าง เราก็ต้องพูดถึงว่าสิทธิของประชาชนที่จะต้องได้รับ เช่น พิทักษ์ค่าแรงในทุกกรณี ก็ต้องได้รับการรับประกันเป็นค่าแรงขั้นต่ำโดยทางรัฐธรรมนูญทั้งหมด


 


 


หมายความว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเข้าใจสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง


กติกาใหญ่ในรัฐธรรมนูญจะต้องมองและคิดกันถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะต้องมีแนวโน้มอะไร เพื่อที่จะทำให้ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืดหยุ่นในการรองรับสิทธิของพลเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นตรงนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จากภาคประชาชน จากภาคสังคมทั้งหมดร่วมกัน ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นจากกำมือของนักการเมือง ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นจากกำมือของอำมาตยาธิปไตย ส่วนเสี้ยว ตรงนี้เอง คือส่วนที่พวกเราร่วมกันเรียกร้อง พวกเราเองอาจจะไม่มีแรง อาจจะไม่มีพลัง ก็หวังว่าพี่น้องประชาชนทั่วๆ ไป ที่ได้อ่านได้เห็น ถ้าเห็นด้วยกับพวกเรา ก็ช่วยกันหน่อย เราคงไม่มีพลังมากพอที่จะบอกนักการเมืองว่าแบบนี้นะ แต่เราเห็นว่าถ้าหากปล่อยให้นักการเมืองทำ ปล่อยให้ฝ่ายส่วนเสี้ยวของอำมาตยาธิปไตยกุมอำนาจสังคมไทย เรากำลังจะประสบปัญหาอีกมากมายมหาศาลในอนาคต สังคมต้องช่วยกัน


 


 


ในขณะที่ภาคประชาชน พยายามเสนอให้ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยผ่านกระบวนการทางสังคมให้มากขึ้น อย่างน้อยก็คือต้องดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลจะไม่ค่อยตอบรับเท่าไหร่


ในฝั่งรัฐบาลเอง ถ้ามองแล้วความเป็นเอกภาพ เขาไม่มี แต่มีกลุ่ม สมมติว่าเราแบ่งเป็นปีกเหยี่ยว ปีกประเภทที่ว่า เมื่อเป็นผู้แทนแล้วก็คือการมอบอำนาจให้ผู้แทนเบ็ดเสร็จทำอะไรเลย ปีกนี้อาจจะมีอำนาจมากหน่อย ในรัฐบาลปีกนี้จะไม่ฟังเรา ก็จะดูเหมือนว่าเขามีอำนาจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ  อีกปีกหนึ่งคือปีกที่มองการณ์ไกล ดังนั้น ในตัวของรัฐบาลเองก็ต้องดึงกันอีกพรรคหนึ่ง ยื้อกันไปยื้อกันมา เราจะทำให้ปีกหรือฝั่งที่มองเห็นการณ์ไกล มองเห็นอนาคตข้างหน้ามากกว่าเห็นอำนาจเฉพาะด้าน เราจะช่วยเขาได้ก็คือ สังคมจะต้องลุกขึ้นมา


 


ดังนั้น ความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลเอง ด้านหนึ่งมันก็ก่อผลทำให้เรามองไม่ชัด ว่าคุณจะเอายังไงคุณรักเราได้ไหม เราก็หวังว่าปีกสันติภาพที่มองการณ์ไกลคงจะรุกมากขึ้น อย่างน้อยในประเด็นนี้ เขาไม่ควรจะแพ้ปีกเหยี่ยว


 


 


ดูเหมือนว่าสังคมไทย ณ วันนี้ จะมีหลายก๊ก มากกว่าสามก๊กในหนังประวัติศาสตร์ของจีนเสียอีก และยังมีกระแสปฏิวัติเกิดขึ้นอีก ตรงนี้มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง


คือในวันนี้ เราอยู่ในภาวะที่ไม่มีใครที่จะคุมใครได้ ไม่มีใครที่จะมีน้ำหนักพอที่จะพูด แล้วทุกคนจะกลับไปคิด ในวันนี้เอง ทุกคนมีป้อมของตัวเอง แล้วก็ขยับ แล้วก็คงจะมีกลุ่มมากมาย ในภาวะแบบนี้เอง ผมคงต้องบอกว่ามากกว่าสามก๊ก ในวงราชการเองก็แตกกันหมดเลย


 


ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เราคงต้องถอยมา แล้วทำให้เวทีตรงกลางเกิดขึ้นจริงๆ แล้วทำให้ทุกก๊กหันมาพูดคุยกันได้ พูดคุยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเห็นพ้อง แต่หมายถึงว่าระบอบประชาธิปไตย คือระบอบที่ทุกคนเข้ามาคุยกัน ต่อรองกัน คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ไม่มีใครได้หมดเสียหมด แต่ในวันนี้การตั้งป้อมของแต่ละฝ่าย เพราะทุกคนคิดว่ายึดเอาหมด อำนาจ งบประมาณทั้งหมด ซึ่งไม่มีผลดีต่อสังคมเลย  ดังนั้น ขบวนการการทำให้เป็นประชาธิปไตยของเราคือ จะต้องทำให้ความแตกต่างทางความคิด ความแตกต่างของกลุ่มสามารถนั่งลงและพูดคุยกัน และทุกฝ่ายก็จะรับรู้ร่วมกันว่า ไม่มีใครได้หมดเสียหมดสังคมนี้เป็นสังคมร่วมกัน


 


 


แล้วเวทีกลางที่จะทำให้ทุกคนมาพูดกันนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครจะเป็นคนสร้าง


ผมคิดว่าในขบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เราเสนอไป จะทำให้ทุกคนมองเห็นซึ่งกันละกัน ทุกคนจะรู้ว่าแต่ละคนต้องการอะไร และการเริ่มเห็นซึ่งกันและกัน นี่แหละผมคิดว่ามันจะเริ่มทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจว่า ถ้าเราจะอยู่ร่วมกันเราจะอยู่ตรงไหน บนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเมื่อผ่านการเห็นซึ่งกันและกันแล้วเราก็จะเห็นกันต่อไป และจะจัดความสัมพันธ์ตรงนี้ยังไง


 


ถามว่าคนชั้นกลางในเมืองในกรุงเทพฯ เขาเข้าใจคนจนในบ้านนอกไหม คิดว่าไม่เข้าใจ โดยเราจะเห็นข้อครหาของคนในเขตเมือง ชนชั้นกลาง หรือคนรวยในเขตเมือง ที่มองชาวบ้านอีสาน หรือชาวบ้านเหนือ ว่าซื้อสิทธิ์ขายเสียง โง่ นี่คือความไม่เข้าใจ เพราะการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ใช่การซื้อแบบผัก ปลา แต่มันซื้อบนเครือข่ายอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ด้วยเหตุผลว่าพี่น้องคนจนเขาไม่เคยได้รับส่วนแบ่งจากงบประมาณมาก่อน มันเป็นการซื้อโดยผ่านบล็อกโหวต


 


ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจสิ่งสำคัญก็คือ เราทำให้การกระจายทรัพยากรลงไปสู่กลุ่มคนอย่างทั่วถึง และการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมันก็จะเปลี่ยนไป ผมไม่คิดว่ามันจะหมด อย่าลืมว่าชนชั้นกลางก็ซื้อสิทธ์ขายเสียงโดยผ่านโครงการ รัฐบาลทุกรัฐบาลเข้ามาปุบก็จะต้องทำรถไฟแสนล้าน นี่ก็ซื้อเสียงเหมือนกันไม่ได้ต่างจาก 500 บาทของลุงคำ ลุงแก้ว ดังนั้นในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่แสดงความเห็นซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นกันและจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน


 


สังคมเราตอนนี้ ถึงจุดสำคัญคือ เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ไม่เหมือนเรา สังคมไทยเราถูกผลักให้ไม่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนแตกต่างกับเรา เราถูกทำให้เราต้องเหมือนกันมาตลอด เราต้องเป็นคนไทย วัฒนธรรมไทย ความเป็นไทย มันถูกบีบให้เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น เราจึงไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ไม่เหมือนเรา การที่เราไม่เรียนรู้ทำให้เรามีความขัดแย้งสูงขึ้นในทุกระดับ ในวันนี้ สังคมไทยอันหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ไม่เหมือนเรา


 


 


ซึ่งดูเหมือนว่าปัญหาการไม่ยอมรับความแตกต่างของสังคมไทยจะเริ่มทับซ้อนมากขึ้น


มันซ้อนกันหลายระดับมาก การที่เราไม่เรียนรู้กับคนที่ไม่เหมือนเรา เมื่อก่อนก็เป็นเรื่องชาติพันธ์ พี่น้องจีนสยามเองก็อาจจะโชคดีกว่ากลุ่มอื่น ก็คือสามารถปรับตัวเข้ามาสู่ความเป็นไทยได้มากกว่า แต่การปรับตัวของพี่น้องจีนสยามที่เข้ามาสู่ความเป็นไทยก็ปรับเปลี่ยนเฉพาะตัวเองโดยที่ลืมมอง อาข่า ม้ง ลืมมองพี่น้องปักษ์ใต้ ทันทีที่ปรับตัวเองคุณก็ขีดเส้นว่าคนอื่นเป็นคนอื่น ก็ถูกสร้างเหมือนเดิม


 


ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ปัญหาชาติพันธ์เริ่มหมดไป พี่น้องชนเผ่าอาจจะต้องต่อสู้กันอีกพักหนึ่ง แต่ก็ยังดีขึ้นกว่าเดิม แต่ปัญหาที่ซ้อนมาที่จะหนักหน่วงขึ้นในประเทศไทยคือปัญหาคือ "ชนชั้น"


 


สังคมไทยเกิดการแตกตัวทางชนชั้นชัดเจนขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือในแต่ละกลุ่มคนเริ่มสังกัดชนชั้นตัวเองชัดขึ้น และชนชั้นของตัวเองต้องสืบทอดกันต่อไป เช่น พี่น้องที่อยู่ในภาคเกษตรจำนวนไม่มากนักที่สามารถขยับตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง เช่น ลูกอาจจะเรียนเก่งเป็นหมอ แต่โดยส่วนมากแล้วพี่น้องลูกหลานเกษตรกรทั้งหมดก็จะอยู่ในส่วนข้างล่างของพีระมิดสังคม เช่น ลูกหลานก็ก็เรียนได้แค่ ปวช. ปวส. นี่คือการเกิดชนชั้น กลายเป็นเส้นแบ่งที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่มากมายในสังคมขยับขึ้นไปข้างบนได้ช้าลง ก็จะผลิตการสืบทอดตรงนี้


 


และที่น่าตกใจคือมันเกิดชนชั้นทางสำนึกขึ้นมา เช่น ในช่วงของรัฐบาลของคุณทักษิณ ไม่ว่าเขาตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทำให้ "คนจนเกิดสำนึกว่าเราจน" และต้องการการจัดการดูแลอีกแบบหนึ่งจากรัฐ พลังที่สำคัญของประชานิยมที่เป็นผล คือทำให้คนจนรู้สึกตัวว่าตัวเองจน และการรู้สึกตัวว่าตัวเองจนนั้นไม่ได้จนเพราะบาปกรรมแบบเดิม แต่จนเพราะกลไกมันไม่เอื้อ


 


ดังนั้น อย่าลืมว่าคนจนไม่สำคัญเท่าคนที่รู้สึกจน นี่คือสำนึกทางชนชั้น


 


ผมคิดว่าพี่น้องคนจนในชนบทเอง แม้ว่าเขาอาจจะไม่เคยพูดคุยกันเลย แต่ทั้งหมดเริ่มมีความรู้สึกแบบเดียวกัน มีความรู้สึกชื่นชมทักษิณแบบเหมือนกัน หรือชื่นชมว่านโยบายแบบนี้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แล้วถามว่านี่เป็นความขัดแย้งไหม เมื่อก่อนเป็นความขัดแย้งชาติพันธุ์ แต่ในวันนี้ ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น และเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างของเราตรงนี้


 


ที่พูดถึงความแตกต่างของชนชั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกประเทศล้วนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่แบบนี้เหมือนกัน ที่ฟิลิปปินส์จะมีเส้นแบ่งเหล่านี้ชัดเจน เป็นผลิตผล เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาประเทศในลักษณะแบบเดียวกันที่กลุ่มอาเซียนทำกันในทศวรรษ 2500 ได้ส่งผลถึงเราวันนี้ ก็คือ "การแตกตัวชนชั้น" เราทั้งหมดกำลังเผชิญหน้ากับกองทัพคนจน เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เราต้องเรียนรู้ที่จะแบ่งปันกันแล้ว ถ้าหากเราไม่จัดการความขัดแย้งทางชนชั้นตรงนี้ให้ได้สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับสิ่งที่คาดหมายไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น


 


ดังนั้น เวทีกลางที่อยากเสนอก็คือ จะทำให้ทุกคนได้เห็น ได้รับรู้ เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ไม่เหมือนเรา ที่แตกต่างกับเรา ทั้งรสนิยม และวิธีคิดทางการเมือง แต่เขาก็เป็นคนไทย ทั้งหมดคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้กันใหม่อย่างลึกซึ้ง และการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันเป็นจุดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าร่างเสร็จแล้วจะจบเลยแต่หมายถึงว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราเรียนรู้และเห็นซึ่งกันและกันชัดขึ้น มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาทั้งหมดก็คงจะต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ แม้กระทั่งวิชาด้านชนบทก็ต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่ เราไม่สามารถที่จะอธิบายสังคมได้แบบเดิมอีกต่อไป


 


 


ในสถานการณ์ตอนนี้ เชื่อว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีกไหม หรือว่าเป็นแค่กระแสของนักการเมืองที่พูดออกมาเป็นปล่อยข่าว


ผมคิดว่ามันมีความรู้สึกของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา ว่า ถ้าหากว่ามันวุ่นวายมากนัก ก็ต้องล้างไพ่ คือการปฏิวัติ แล้วก็จัดสำนักใหม่ ผมคิดว่ากระแสนี้มีในสังคมไทยเรื่อยมา และในจังหวะตรงนี่คงมีกระแสนี้เข้ามา แต่คงต้องเตือนพี่น้องทั้งหมด เตือนทุกฝ่ายด้วยว่า การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นมันรังแต่จะทำให้เกิดการนองเลือด ผมเชื่อว่าถ้าเคลื่อนทหารรัฐประหารเมื่อไหร่ ก็จะมีอีกป้อมหนึ่งเอาคนเข้ามาอยู่ แล้วถ้าขณะรัฐประหาร ยิ่งคนที่อยู่อีกป้อมหนึ่ง พัง


 


ดังนั้น มันไม่ง่ายแบบเดิมอีกแล้ว สถานการณ์ที่จะสุกงอมเหมือน 19 กันยา แล้วมีการช่วงชิงเพียงนิดเดียวในวันที่ 19 กันยา โอกาสที่จะเกิดอย่างนี้ ผมคิดว่าไม่มี  มันเป็นโอกาสนิดเดียวในการที่เข้าไปช่วงชิงช่องว่างทางอำนาจตรงนั้น แค่นั้นเองซึ่งถ้าหากช้ากว่านั้นไปอีกสักพักหนึ่ง ผมคิดว่ามวลชนมหาศาลอาจจะลงมาอยู่ที่ท้องถนน ดังนั้น โอกาสแบบ 19 กันยาเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าจะมีรัฐประหารอีกครั้ง มันต้องเป็นรูปแบบใหม่ แล้วก็น่ากลัว ผมคิดว่าผมมองไม่ออก คือมันจะถอยหลังกลายเป็นแบบพม่า ถ้าเราย้อนกลับไปอย่างนั้นสังคมไทยคงจบ


 


 


จะมีข้อเสนอ เป็นข้อโซ่ข้อกลางอย่างไร ระหว่างประชาสังคม นักวิชาการ กับนักการเมืองที่จะนำสองความคิดนี้มาเจอกันให้ได้


คือเราคงไม่มีทาง หรือเข้าไปต่อกับฝั่งนักการเมืองได้ แต่สิ่งที่เราจะต่อได้ หรือพูด คือเราจะพูดกับสังคมเราต้องขยายให้สังคมรับรู้ว่า หนทางที่เราเสนอในวันนี้ เราเห็นว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร ถ้าเห็นด้วยก็ร่วมกับเรา ถ้าไม่เห็นด้วย ลองสิว่ามีทางอื่นไหม เราคงต้องเสนอให้สังคมแล้วคงจะต้องรณรงค์ให้สังคมสามารถจัดตั้งองค์กรรวมๆ กันขึ้นมาได้แต่ละฝ่าย เช่น อาจจะเป็นหย่อมบ้าน หรืออาจจะเป็นเครือข่ายฌาปนกิจก็ได้ แต่ละองค์กรเสนอความเห็นขึ้นมา


 


เราคงต้องทำตรงนั้นมากกว่าเพื่อที่จะใช้ทั้งหมดนี้เป็นกลไกทางสังคมบีบนักการเมืองว่าคุณต้องคิดอะไร

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net