Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากรายงานชิ้นล่าสุด เรื่อง "โทษประหารชีวิต และการประหารชีวิตในปีพ.ศ. 2550 (Death Sentences and Executions in 2007)" ของ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2550 มีคนอย่างน้อย 1,200 รายที่ถูกประหารชีวิต และน่ากังวลว่ายังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกประหารชีวิตอย่างลับ ๆ ในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน มองโกเลีย และเวียดนาม


ในรายงานระบุว่า มีคนอย่างน้อย 1,252 ราย ถูกประหารชีวิตใน 24 ประเทศ และอย่างน้อย 3,347 ราย ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตใน 51 ประเทศ และคาดว่ามีคนจำนวนถึง 27,500 รายทั่วโลกที่กำลังรอถูกโทษประหารชีวิต


 


ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการประหารชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยประเทศอิหร่านมีการประหารชีวิตไปอย่างน้อย 317 ราย ซาอุดิอาระเบีย 143 ราย และปากีสถาน 135 ราย หากเทียบกับจำนวนในปี 2549 นั่นคือ 177, 39 และ 82 รายตามลำดับ


 


ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีอัตราการประหารชีวิตสูงที่สุดต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ตามด้วยอิหร่าน และลิเบีย


 


รายงานขององค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนยันว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยพบตัวเลขการประหารชีวิตว่ามีอย่างน้อย 470 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด ส่วนจำนวนที่แท้จริงคาดว่าน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่ระบุในรายงานฉบับนี้



จีนถือว่าการประหารชีวิตเป็นความลับของทางราชการ มีเพียงทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะรู้ถึงจำนวนการประหารชีวิตที่แน่นอน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ประชาคมทั่วโลก และผู้เข้าร่วมในการแข่งขันโอลิมปิกก็คงทำได้แค่การคาดเดาเท่านั้น


"วิธีการลงโทษประหารชีวิตอย่างเป็นความลับสมควรยุติลง โดยให้มีการเปิดเผย แต่รัฐบาลหลายประเทศก็ยังคงอ้างว่าการประหารชีวิตได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ดังนั้นประชาชนเองจึงควรมีสิทธิที่จะได้รับรู้ถึงสิ่งที่รัฐได้กระทำไปในนามของตนเองอีกด้วย" แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ


 


ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงปีพ.ศ. 2550 หลายประเทศยังคงมีการลงโทษด้วยการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ที่ไม่ถือเป็นความผิดอาชญากรรมที่แท้จริง หรือประหารชีวิตหลังจากที่ผ่านกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม เช่น


ในเดือนกรกฎาคม บิดาของ จาฟา คิอานี ถูกขว้างปาด้วยหินใส่จนถึงแก่ความตาย เพราะคบชู้ในประเทศอิหร่าน


 


ในเดือนตุลาคม ผู้จัดการโรงงานชาวเกาหลีเหนือวัย 75 ปีถูกยิงเสียชีวิตโดยหน่วยแม่นปืน จากการที่เขาไม่ยอมบอกความเป็นมาของครอบครัว การลงทุนก่อตั้งโรงงานด้วยเงินของตนเอง และแต่งตั้งลูก ๆ ให้เป็นผู้จัดการ และใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศ


 


ในเดือนพฤศจิกายน มุสตาฟา อิบราฮิม ถูกตัดหัวในซาอุดิอาระเบีย ด้วยข้อหาความผิดที่ใช้วิชาคาถาอาคม


 


ในมลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ไมเคิล ริชาร์ด ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 25 กันยายน หลังจากที่ศาลมลรัฐปฏิเสธที่จะขยายเวลาอีก 15 นาทีเพื่อให้มีการอุทธรณ์เรื่องการฉีดยาให้เสียชีวิตที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ทนายของนายริชาร์ดไม่สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับการฉีดยาเพื่อให้เสียชีวิตได้ทันเวลาเพราะปัญหาคอมพิวเตอร์ซึ่งเขาก็ได้แจ้งต่อศาลแล้ว หลังจากนั้นศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาก็ปฏิเสธที่จะยับยั้งการประหารชีวิต อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ในคดีของมลรัฐเคนตั๊กกี้มีการตกลงกันไว้ว่าจะทบทวนการประหารชีวิตโดยการฉีดยาเพื่อให้เสียชีวิต ซึ่งคำพิพากษาตัดสินนั้นเองจะนำไปสู่การหยุดยั้งการประหารชีวิตโดยวิธีดังกล่าวในทั่วประเทศ โดยศาลสูงสุดคาดว่าจะมีคำตัดสินออกมาภายในปีนี้


อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน ทั้งสามประเทศนี้ ยังมีการประหารชีวิตอาชญากรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งการกระทำนี้ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ


 


ในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีที่ประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ ลงมติเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยเสียงสนับสนุนให้ยกเลิก มีจำนวน 104 เสียง ต่อ ประเทศที่ไม่เห็นควรให้มีการยุติโทษประหารชีวิต 54 เสียง และงดออกเสียง 29 เสียง


 


"การพรากชีวิตคนโดยรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ร้ายแรงที่สุดที่รัฐจะทำได้ เราจึงขอเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลต่างๆ ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อสหประชาชาติ และยกเลิกการลงโทษประหารชีวิตโดยเร่งด่วนสำหรับประชาชนทุกคน" แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net