Skip to main content
sharethis

  






 


หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ "ประชาไท" ได้รับอนุญาตจาก อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร (ผู้ให้สัมภาษณ์) ให้นำมาเผยแพร่ต่อ


 


 


 


โดย กล้า สมุทวนิช


 


 


ผมเพิ่งสัมภาษณ์ ธีระ สุธีวรางกูร เรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 แบบสั้นๆ ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังการสัมภาษณ์คราวนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องไปรบกวนเวลาของเขาอีก อย่างน้อยก็ในช่วงนี้


 


ที่ไหนได้ เรื่องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 นับวันยิ่งเป็นประเด็นบานปลาย เมื่อทั้งฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายนักวิชาการ รวมถึงฝ่ายประชาชน ต่างเข้ามาร่วมวงแสดงความเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านกันอย่างอุตลุด ในสถานการณ์อย่างนี้ มีหรือที่ผมจะทำตัวเป็นคน นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น อยู่ได้


 


เมื่อตัวเขาเองนั้นก็เป็นหนึ่งในห้าของกลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อการสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพวกเขา นั้นยังมีบางฝ่ายได้แสดงความเห็นคัดค้าน ในสถานการณ์อย่างนี้ ผมจึงขอรบกวนเวลาเขาอีกครั้ง เพื่อขอทราบความเห็นในเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองไทยอยู่ในปัจจุบัน


 


 


ก่อนอื่น ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้ให้เวลาซึ่งไม่ค่อยมีมากนักมาตอบคำถามของผมอีกครั้ง


ไม่เป็นไรครับ เพราะผมเองยังไงก็ยังไม่ถึงกับเป็นคนล้มละลายทางเวลาเสียทีเดียว


 


รู้สึกยังไงบ้างครับกับความเห็นที่สนับสนุนและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่ดูเหมือนจะบานปลายเข้าไปทุกวัน


ผมไม่เคยคิดว่าการมีความเห็นต่างเป็นการที่แสดงออกถึงความผิดปกติของสังคม ความจริง หากเรามองให้ไกลกว่านั้น ผมกลับเห็นว่านี่เป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสที่จะนำเสนอข้อมูลในทุกด้านให้สังคมรับรู้ เมื่อสังคมพิจารณาข้อมูลเหล่านี้อย่างรอบด้านแล้ว ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร และกับใคร อย่างน้อยที่สุด กระบวนการเรียนรู้ในสังคมก็ถือว่าได้เกิดขึ้นมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง


 


อาจารย์ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ามาตรา 237 สมควรถูกแก้ไข


ก่อนหน้านี้ผมมีความเห็นยังไง วันนี้ผมก็ยังมีความเห็นอย่างนั้น


 


ถ้าดูกันในทางกฎหมาย มาตรา 237 มันมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมยังไงถึงต้องแก้ไขครับ


มาตรา 237 มันมีอยู่สองวรรค วรรคแรกที่ไม่ค่อยมีปัญหานั้น พูดแบบทั่วไปก็คือ มันกำหนดเนื้อหาเอาว่าถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้ทำการฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ หากการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวนั้น มันส่งผลให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือว่าโดนใบแดงตามภาษาที่เขาใช้กัน


 


ดูไปแล้ววรรคนี้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามันไม่ได้ถูกโยงให้ไปเข้ากับความในวรรคสอง


ใช่ครับ และคงเป็นเพราะคุณเองก็เห็นปัญหาของมัน วันนี้ผมก็เลยต้องมานั่งตอบคำถามของคุณ


 


ถ้าอย่างนั้น ผมรบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายความในวรรคสองครับ


ความในวรรคสองของมาตรา 237 มีอะไรที่ต้องดูอยู่หลายเรื่องทีเดียว และเรื่องอย่างนั้น มันก็เกี่ยวโยงไปถึงหลักการอีกหลายอย่าง แต่ก่อนจะเข้าไปถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ ผมอยากให้คุณตั้งข้อสังเกตอะไรสักอย่าง คุณพอจะสังเกตเห็นไหม ที่เราไม่มีปัญหากับความในวรรคหนึ่ง นั่นก็เพราะเราเข้าใจดีกับสามัญสำนึกของคนที่ยอมรับว่า ผู้กระทำการใดก็ต้องรับผลในสิ่งที่ตนกระทำ


 


แต่สำหรับความในวรรคสองนั้น โดยเนื้อหาแล้ว มันถูกเขียนให้เกินเลยไปกว่าความเข้าใจแบบธรรมดาสามัญของวิญญูชน การเขียนเนื้อความแบบนี้ บางกรณีมันไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะเมื่อดูจากเทคนิคในการเขียนกฎหมายภายใต้เหตุผลพิเศษบางอย่าง แต่ไม่ว่ายังไง เรื่องนี้มันมีเหตุผลสมควรที่จะต้องบัญญัติกฎหมายอย่างนั้นหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องวิเคราะห์กัน


 


ผมคิดว่าความในวรรคสองของมาตรา 237 มันมีเรื่องใหญ่ที่ควรสนใจอยู่สองเรื่อง ผมคงจำเป็นต้องใช้ภาษาที่เป็นการเป็นงานสักหน่อย แล้วจะอธิบายให้คุณฟังตอนหลัง เรื่องแรก คือการให้ความหมายในทางกฎหมายกับข้อเท็จจริง และเรื่องที่สอง คือผลที่ตามมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกให้ความหมายโดยกฎหมาย แล้ว


 


ผมชักจะงงนิดหน่อยแล้วล่ะครับกับเรื่องที่อาจารย์ตั้งขึ้นมาเป็นประเด็น อาจารย์ว่าต่อเลยครับ


ผมขอเข้าเรื่องการให้ความหมายในทางกฎหมายกับข้อเท็จจริงก่อน แต่ก่อนจะคุยถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าเราจะเข้าใจอะไรได้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าเรามีข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิจารณาแบบเปรียบเทียบสักสองเรื่อง ในสองเรื่องนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ยาวสักหน่อย แต่อยากให้เข้าใจว่าเป็นเพราะผมต้องการสื่อให้คุณเห็นภาพของเรื่องแบบชัดเจนจริงๆ


 


เรื่องแรก ผมขอสมมติตัวเองว่าผมเป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองหนึ่ง เอาล่ะ ในระหว่างที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในพรรคผมคนหนึ่งบอกผมว่า เราน่าจะออกเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างรถโดยสารเพื่อรับสมาชิกพรรคของเราและชาวบ้านที่สนใจการเมืองซึ่งอยู่ไกล มาฟังการปราศรัยของพรรคที่จะจัดขึ้นที่วัดแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ผมเชื่อว่าการทำแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ผมตอบตกลงไป ว่าแล้วผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมคนนั้นก็เอาเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาทไปจ้างรถได้สิบคัน รับชาวบ้านรวมกันได้ประมาณแปดสิบคน แล้วขนกันมาฟังการปราศรัยที่พรรคของผมได้จัดขึ้นที่วัดแห่งนั้น เมื่อการเลือกตั้งจบลง ผลปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นหนึ่งแสนคะแนน และมีคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่นไปเกือบครึ่ง


 


อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมคนนี้ได้ถูกร้องเรียนไปยัง กกต.ว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยเหตุที่ได้ออกเงินจ้างรถไปรับชาวบ้านมาฟังการปราศรัย กกต.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา พิจารณาแล้ว กกต.เห็นว่ากรณีนี้ได้มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่ได้ร้องเรียนมาจริง และเห็นว่านี่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม เมื่อความออกมาอย่างนี้ กกต.จึงมีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมคนนั้น


 


เคราะห์กรรมไม่ได้จบเท่านี้ มีคนไปร้องเรียนต่อ กกต.อีกด้วยว่าตัวผมเองในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคนนั้นด้วย กกต.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ผมยืนยันว่าผมรับรู้ในสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคนนั้นทำ แต่ที่ไม่ห้ามเพราะผมไม่เห็นว่ามันเป็นความผิด เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น กกต. มีความเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผมกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อตัวผมเองในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรคได้สนับสนุนให้มีการกระทำอย่างนั้นด้วย เรื้องนี้จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคหนึ่งประกอบกับวรรคสองที่ว่า หากผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อกรรมการบริหารของพรรคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นสังกัดได้รู้เห็นเป็นใจ ก็ต้องถือว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคการเมืองที่กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่าแล้ว กกต. ก็วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผม และเสนอเรื่องตามกระบวนการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ผมสังกัด นี่ตัวอย่างที่หนึ่ง


 


ผมขอพูดต่อในเรื่องที่สอง เรื่องนี้ขอสมมติตัวเองอีกครั้งว่า ผมเป็นทั้งกรรมการบริหารพรรคและยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คราวนี้ในระหว่างที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ผมรู้อยู่ว่าพรรคการเมืองที่ผมสังกัดนั้นมีคะแนนนิยมน้อยกว่าพรรคการเมืองคู่แข่ง และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้อีกต่อไป พรรคการเมืองของผมก็คงต้องแพ้อย่างไม่เป็นท่าในสนามเลือกตั้ง


 


อย่ากระนั้นเลย ด้วยเหตุที่ผมเชื่อว่าผมสามารถควบคุมข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยได้ ผมจึงได้มีหนังสือราชการลับที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดซึ่งผมคิดว่าคะแนนนิยมของพรรคการเมืองของผมนั้นมีน้อยกว่าพรรคการเมืองคู่แข่ง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้มีการเรียกประชุมนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด เพื่อมารับนโยบายจากผมให้ไปกระจายข่าวให้ชาวบ้านรู้ว่า พรรคการเมืองคู่แข่งของพรรคผมนั้นกำลังจะสร้างระบบประธานาธิบดีในประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ปฏิบัติตามคำสั่งของผมในฐานะที่ผมเป็นผู้บังคับบัญชา ผลจากการนี้ เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น สุดท้ายพรรคการเมืองของผมก็สามารถเอาชนะการเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองคู่แข่งได้ถึงยี่สิบจังหวัดในยี่สิบแปดจังหวัดซึ่งผมคาดมาก่อนหน้านี้ว่าจะแพ้การเลือกตั้ง


 


อย่างไรก็ดี ในทำนองเดียวกันกับเรื่องแรก มีคนไปร้องเรียนกับ กกต.ว่าผมกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งกรณีการออกหนังสือราชการลับที่สุดฉบับนั้น กกต.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น กกต.ก็ได้มีคำวินิจฉัยว่าผมนั้นได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งจริง จนทำให้การเลือกตั้งไม่ได้ดำเนินไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม จึงมีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผม นอกจากนั้น เมื่อผมเป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองและได้กระทำความผิดเสียเอง กรณีนี้จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคหนึ่งประกอบกับวรรคสองซึ่งตีความเป็นปริยายได้ว่า เมื่อกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองใดได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ก็ย่อมถือว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคการเมืองที่กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่าแล้ว กกต.ก็เสนอเรื่องตามกระบวนการเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ผมสังกัด นี่คือตัวอย่างที่สอง


 


จากทั้งสองตัวอย่างที่ได้ยกขึ้นมาเปรียบเทียบให้ดู ผมถามว่าคุณพอจะเห็นอะไรบ้างไหม


 


ถ้าให้ผมตอบ ผมคิดว่า ไม่ว่ากรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจ่ายเงินค่าจ้างรถให้ไปขนคนมาฟังการปราศรัยของพรรคที่ตนสังกัด หรือไม่ว่ากรณีเอกสารลับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในข้อเท็จจริงทั้งสองอย่างนี้ หากมีกรรมการบริหารพรรคของพรรคการเมืองได้มีส่วนรู้เห็นหรือทำมันเสียเอง พรรคการเมืองที่กรรมการบริหารพรรคคนนั้นสังกัดจะถูกความในวรรคสองของมาตรา 237 ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทันที


ครับ เป็นว่าคุณเห็นในสิ่งที่ผมพยายามสื่อให้คุณดูจากสองตัวอย่างที่ผมได้ยกขึ้น คราวนี้ผมจะไปให้ไกลกว่านั้น


 


ถ้าคุณดูข้อเท็จจริงทั้งสองเรื่องแบบวิเคราะห์หน่อย ผมเชื่อว่าคุณจะเห็นได้ถึงความร้ายแรงที่แตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กรรมการบริหารพรรคได้มีส่วนรู้เห็นในตัวอย่างแรก กับ การกระทำความผิดของตัวกรรมการบริหารพรรคเองในตัวอย่างที่สอง


 


ดูที่การจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อจ้างรถให้ไปขนคนมาฟังการปราศรัย ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามีการใช้เงินเพียงหนึ่งหมื่นบาท ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามีคนมาฟังการปราศรัยในวัดแห่งนั้นเพียงหยิบมือหนึ่ง และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ากรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำนั้นเขาเข้าใจข้อกฎหมายโดยสุจริตว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ผิด อย่างนี้ เราจะพูดได้หรือไม่ว่าเรื่องนี้มันเป็นการทำผิดกฎหมายที่มีความร้ายแรงในระดับเดียวกันกับเรื่องการทำผิดกฎหมายของกรรมการบริหารพรรคซึ่งใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปสั่งการให้มีการทำอะไรบางอย่างตามความที่ปรากฎอยู่ในเอกสารลับ


 


พูดกันอย่างสมเหตุสมผลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ในเรื่องการจ้างรถเพื่อขนคนมาฟังการปราศรัยนั้น เมื่อดูจากจำนวนเงินค่าใช้จ่ายประกอบกับขนาดของพื้นที่ซึ่งเอาเงินนั้นไปจ่าย เราจะเห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้มีผลต่อจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งมาจากคนทั้งประเทศของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นสังกัดอย่างมีนัยยะสำคัญเลย ซึ่งกรณีอย่างนี้ มันมีความแตกต่างเป็นอย่างมาก หากเราจะนำไปเปรียบเทียบกับกรณีเอกสารลับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้ใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองคู่แข่งจนทำให้พรรคของตัวเองได้รับคะแนนเสียงแบบมีนัยยะสำคัญจนมีผลทำให้ชนะการเลือกตั้งไปถึงยี่สิบจังหวัด


 


แต่ด้วยการเขียนเนื้อความเอาไว้ในมาตรา 237 วรรคสองแบบ "ให้ถือว่า" โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแยกแยะความร้ายแรงที่แตกต่างกันตามข้อเท็จจริงที่ไม่เหมือนกัน ผลก็คือ ไม่ว่าการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งจะมีข้อเท็จจริงซึ่งหนักเบาแตกต่างกันอย่างไร ขอเพียงมีกรรมการบริหารพรรคสักคนได้รู้เห็น ผมย้ำอีกครั้ง เพียงมีกรรมการบริหารพรรคสักคนได้รู้อย่างนั้น พรรคการเมืองที่กรรมการบริหารพรรคคนนั้นสังกัดอยู่ ก็จะถูกความในมาตรา 237 วรรคสองพิพากษาโดยอัตโนมัติทันทีว่าเป็นพรรคการเมืองที่ได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงต้องถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด


 


ผมเห็นภาพแล้วครับ ถ้าเช่นนั้น ในเรื่องการให้ความหมายในทางกฎหมายกับข้อเท็จจริง ผมพูดอย่างนี้ได้ไหมครับว่า อาจารย์พยายามจะบอกว่าเนื้อความในมาตรา 237 วรรคสองนั้น มันไม่เปิดช่องให้มีการแยกแยะความร้ายแรงของการกระทำความผิดตามข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันออกไป ขอเพียงมีกรรมการบริหารพรรคคนใดรู้เห็นหรือทำเอง แม้ความผิดนั้นอาจจะไม่ร้ายแรง เหมือนอย่างกรณีการขนคนไปฟังปราศรัย ความซวยก็จะตกอยู่กับพรรค คือทั้งถูกยุบและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


นั่นแหละครับ คือสิ่งที่ผมต้องการจะพูด และอีกอย่างหนึ่ง สำหรับเรื่องนี้ ผมต้องบอกคุณด้วยว่าการเขียนกฎหมายที่มุ่งไปที่สถานะของผู้รับรู้ว่าเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ โดยไม่มุ่งไปที่ความร้ายแรงของการกระทำความผิดตามแต่ข้อเท็จจริงของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ผมเห็นว่านี่เป็นการเขียนกฎหมายที่ขัดกับหลักความยุติธรรมในกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะราวโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ


 


และเพราะรัฐธรรมนูญถูกมาเขียนแบบนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลแรกที่ผมสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 237 วรรคสอง


 


ถ้าให้ผมถามแทนคนอื่น อาจารย์ไม่คิดอีกทางหรือว่าการที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 237 อย่างนี้ในเรื่องนี้ บางทีอาจเป็นเพราะเขามีเหตุผลพิเศษบางอย่าง


เท่าที่ผมทราบ ดูเหมือนจะยังไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผลอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่ไม่ว่ายังไง การจะบอกว่าพรรคการเมืองใดได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมเห็นว่าเราจะมุ่งไปที่การรับรู้ของกรรมการบริหารพรรคในการทำผิดกฎหมายอย่างเดียวโดยไม่แยกแยะถึงความร้ายแรงของความผิดที่แตกต่างกันตามแต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ และเมื่อเนื้อความของมาตรา 237 วรรคสองมันถูกเขียนออกมาอย่างนี้ ผมจึงเห็นว่านี่มันขัดกับหลักความสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นหลักการใหญ่ที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ในมาตรา 29 ทั้งยังเป็นการปฏิเสธหลักความยุติธรรมในกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะราวด้วย อย่างที่ผมได้บอกคุณ


 


ครับ งั้นตอนนี้ ผมขอไปในเรื่องที่สองคือ ผลที่ตามมาจากข้อเท็จจริงที่ถูกให้ความหมายโดยกฎหมายแล้ว รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายต่อเลยครับ


เรื่องนี้มันก็สืบเนื่องมาจากเรื่องที่เราพูดกันเมื่อสักครู่ คือเมื่อมีการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าการกระทำนั้นมันจะเป็นกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเป็นผู้กระทำผิดโดยมีกรรมการบริหารพรรครู้เห็น หรือจะเป็นกรณีที่กรรมการบริหารพรรคได้กลายเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง เมื่อมาตรา 237 วรรคสองบัญญัติให้ถือว่าพรรคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นสังกัดหรือพรรคที่กรรมการบริหารพรรคคนนั้นสังกัด เป็นพรรคการเมืองที่ได้กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาของมันก็คือ พรรคการเมืองนั้นก็อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบได้ และหากว่าศาลได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นแล้ว กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดของพรรคการเมืองนั้นก็จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลาห้าปี


 


อาจารย์มีความเห็นยังไงครับกับผลที่ตามมาในลักษณะอย่างนี้


ผมขอแยกออกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรกเลย สมควรไหมที่เราจะเขียนกฎหมายให้มีการยุบพรรคการเมืองได้ และเรื่องที่สองคือ เมื่อยุบพรรคการเมืองแล้ว สมควรไหมที่เราจะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ได้ทำความผิด


 


ขอเรื่องแรกก่อนเลยครับ


เรื่องสมควรมีกฎหมายให้มีการยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่าวันนี้เรายอมรับแล้วล่ะว่าพรรคการเมืองนั้นอาจถูกยุบได้ ปัญหาตอนนี้ มันจึงมีแค่ว่าเหตุของการยุบพรรคนั้นมันควรเป็นเหตุอะไร เท่านั้น


 


ถ้าคุณไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คุณจะเห็นว่าพรรคการเมืองนั้นสามารถถูกยุบได้หากว่าได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณจะถามว่า เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองทั้งสองเรื่องนี้เป็นเหตุสมควรไหม เรื่องนี้ ตอบได้ว่าผมไม่ขัดข้องเลยที่จะให้พรรคการเมืองที่กระทำการอย่างนั้นต้องถูกยุบไป


 


อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองทั้งสองเหตุตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น มันใช้ถ้อยคำที่เป็นนามธรรม ในภาษากฎหมายเราเรียกว่ามันเป็นถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง การเขียนกฎหมายโดยใช้ถ้อยคำประเภทนี้มันมีผลยังไง ผลของมันก็คือว่า มันเปิดช่องให้มีการตีความถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี เพื่อดูว่ามันถึงขนาดที่สมควรจะแปลความได้ว่ามันเข้าเหตุที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่ ผมพูดมาถึงตอนนี้ ถ้าคุณตั้งข้อสังเกตสักหน่อย คุณจะเห็นอะไรที่มันประหลาด


 


ยังไงหรือครับอาจารย์


อย่างที่ผมบอกเมื่อสักครู่ว่า การกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กับ การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ทั้งสองกรณีนี้ต่างใช้ถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงด้วยกันทั้งคู่


 


แต่คุณเห็นความแตกต่างของมันไหม ในกรณีของการกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการตีความข้อเท็จจริงตามแต่กรณีว่า มันเป็นการกระทำที่สมควรเรียกว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม สำหรับกรณีของการกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญนั้น ความในมาตรา 237 วรรคสองกลับเขียนปิดช่องไม่ให้ศาลมีอำนาจดุลพินิจในการตีความข้อเท็จจริงอย่างใดเลย แต่กลับเขียนบทบัญญัติบังคับศาลให้ถือเอาว่าเมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งโดยมีกรรมการบริหารพรรครู้เห็นแม้สักคนหนึ่งแล้วนั่นแหละ ก็ให้ถือว่าได้มีการกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแล้ว


 


เมื่อเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเหตุผลและคำอธิบายยังไง ถึงต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องความสามารถของศาลต่อการใช้ดุลพินิจในการตีความเหตุแห่งการยุบพรรคทั้งสองเหตุไม่ให้มันเหมือนกัน นี่แหละคือสิ่งที่ผมเห็นว่ามันแปลก


 


อยากให้อาจารย์ต่อเรื่องที่สองเลยครับว่าหากมียุบพรรคการเมืองแล้ว สมควรไหมที่จะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ได้ทำความผิด


โดยถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคแล้ว ศาลก็จะถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญทันทีให้ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและบรรดากรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นระยะเวลาห้าปี ไม่อาจหลีกเลี่ยง


 


แล้วมันยุติธรรมไหมครับกับคนที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย


ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา ผมเห็นว่ามันไม่ยุติธรรม


 


แต่มีหลายคนบอกว่าถ้าไม่ใช้ยาแรง การทุจริตการเลือกตั้งมันก็ไม่หายไปจากการเมืองไทย


ผมเข้าใจความหวังดีของเขา แต่เรื่องนี้ มันยังมีอะไรให้ต้องคิดมากไปกว่าบทสรุปเพียงว่ายังไงก็ต้องใช้ยาแรง


 


ถ้าคุณเป็นหมอรักษาคนไข้ โดยทั่วไป คุณต้องรู้ก่อนว่าคนไข้เป็นโรคอะไร โรคนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เราจำเป็นต้องรักษาด้วยการให้ยาหรือไม่ ถ้าต้องรักษาทางยา มันมียาแบบไหนรักษาได้บ้าง ผลข้างเคียงของยาในแต่ละอย่างมันมีแค่ไหน และภูมิคุ้มกันหรือสภาพร่างกายของคนไข้มันรับได้ไหมกับยาที่มีผลข้างเคียงขนาดนั้น ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทราบเพื่อจะได้รักษาคนไข้ให้หายจากโรคด้วยวิธีการที่เหมาะสมที่สุด


 


ถ้าเราจะเปรียบเทียบว่าการทุจริตการเลือกตั้งเป็นเหมือนกับไข้หวัด เราจำเป็นต้องแยกแยะก่อนว่าไข้หวัดนั้นมันมีทั้งไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก การทุจริตการเลือกตั้งก็ในทำนองเดียวกัน คือมันมีการทุจริตทั้งแบบธรรมดา แบบหนักขึ้นมาหน่อย และแบบร้ายแรงมาก เมื่อเป็นอย่างนี้ การรักษาโรคประเภทนี้มันก็ต้องแยกแยะวิธีการรักษาออกมาให้มันเหมาะกับสภาพของเรื่อง


 


ผมได้ยกตัวอย่างให้คุณฟังแล้วใช่ไหมถึงการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งกรณีการจ่ายเงินจ้างรถไปขนคนมาฟังการปราศรัย การทำผิดกฎหมายแบบนี้ หรือคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดเหมือนคนเป็นไข้หวัดนก ก็เมื่อโดยสภาพนั้นมันไม่ใช่ แล้วเราจะให้ยาแรงจนถึงขนาดทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายมากเกินความจำเป็นทำไม


 


พูดให้เป็นรูปธรรม ถ้าคุณสงสัยว่าอะไรคือผลข้างเคียงแบบเกินขนาดของการรักษาโรคทุจริตการเลือกตั้งกรณีการจ่ายเงินให้รถไปขนชาวบ้านมาฟังการปราศรัย ผมบอกได้เลยว่า แม้จะมีกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งได้รับรู้ แต่การรักษาโรคในกรณีนี้โดยใช้วิธียุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวไปกับเขาด้วยนั้นแหละที่มันเป็นวิธีการรักษาที่เกินไปกว่าสภาพของโรค มิหนำซ้ำ ยังก่อผลข้างเคียงให้เป็นการทำลายหลักนิติธรรม และหลักความสมควรแก่เหตุ ตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย และด้วยผลข้างเคียงแบบนี้ หากเปรียบเทียบระบบกฎหมายของรัฐเสมือนหนึ่งว่าเป็นร่างกายของคนเรา ผลของมันก็ไม่ต่างไปจากเป็นการทำลายอวัยวะสำคัญๆของร่างกายทีเดียว


 


และที่ประหลาดมากก็คือ เมื่อผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่แยกแยะระดับความร้ายแรงของโรคแต่ละชนิดเพื่อความเหมาะสมต่อการให้ยาในการแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง แถมยังเขียนข้อความในมาตรา 237 วรรคสองตัดอำนาจศาลไม่ให้มีดุลพินิจในการช่วยแยกแยะระดับความร้ายแรงจากโรคเหล่านั้นเพราะตัวได้วินิจฉัยให้ศาลเสร็จสรรพแล้วว่าโรคหวัดทั้งหมดในเมืองไทยให้ถือว่าเป็นไข้หวัดนก แล้วอย่างนี้ หลักนิติธรรม หลักความสมควรแก่เหตุ และหลักความยุติธรรมเฉพาะเรื่องเฉพาะราว มันจะไม่ถูกทำลายจนเสียสภาพไปหมดหรือ


 


และนี่แหละ คือเหตุผลอย่างที่สองที่ผมสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 237


 


ที่อาจารย์พูดมาผมก็เข้าใจ แต่ที่ต้องให้ให้องค์กรต้องรับผิดชอบร่วมกันกับการทำผิดของคนในองค์กร มันก็เป็นหลักที่มีในระบบกฎหมายไทยมาก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่หรือครับ


ถ้าคุณจะยกตัวอย่างที่มีการพยายามเทียบเคียงกับเรื่องนายจ้างต้องรับผิดร่วมกันกับลูกจ้างกรณีละเมิด หรือเรื่องที่กรรมการบริษัทหรือผู้บริหารบริษัทต้องรับผิดร่วมกันกับบุคคลในบริษัทเรื่องการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ทั้งสองตัวอย่างนี้ มีนักกฎหมายหลายคนแสดงความเห็นกันมากแล้วว่ามันไม่เหมือนกันทีเดียวกับการให้พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับผิดร่วมกันกับความผิดของคนอื่นที่ตัวเองไม่ได้ก่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างในเรื่องของการเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้รู้เห็นเป็นใจไปด้วยกับการกระทำความผิด ผมเองคงไม่จำเป็นต้องมาพูดซ้ำ


 


แต่ผมอยากบอกอะไรสักหน่อย ไม่ว่ายังไงก็ตาม การสร้างความรับผิดร่วมกันแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องนำมาใช้กันแบบเป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง และต้องเขียนถ้อยคำอย่างระมัดระวังมากด้วย โดยคำนึงถึงการให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของเรื่องนี้ แต่หากเราจะยอมรับมันแบบไม่พินิจพิเคราะห์แล้ว ในสถานการณ์ทางการเมืองอย่างนี้ ในสถานการณ์ที่สื่อมวลชนถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีนักการเมืองพรางตัวอยู่มากแบบนี้ ถ้ามีคนเห็นว่าการเสนอข่าวสารที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญต่อสิทธิในการรับรู้ของสังคมและความมั่นคงของรัฐ แล้วหากเกิดมีใครอุตริเสนอกฎหมายให้ผู้บริหารของสื่อต้องมีความรับผิดร่วมกันกับการเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวในบริษัท โดยหากมีการเสนอข่าวที่เป็นเท็จหรือข่าวที่บิดเบือนซึ่งพอจะเชื่อได้ว่าผู้บริหารมีส่วนรู้เห็น ก็ให้ยุบบริษัทของสื่อมวลชนนั้นได้แถมห้ามไม่ให้ผู้บริหารบริษัทประกอบอาชีพสื่อเป็นเวลาห้าปีด้วย อย่างนี้ มันก็จะวุ่นวายไปกันใหญ่


 


ครับ งั้นตอนนี้อยากให้อาจารย์พูดถึงเรื่องการมีส่วนได้เสียของคนที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจารย์มีความเห็นในเรื่องนี้ยังไง


จะให้ผมพูดในความหมายทางกฎหมายหรือทางการเมือง


 


มีอย่างนี้ด้วยหรือครับ แล้วแต่อาจารย์ก็แล้วกัน


ในความหมายทางการเมือง คำว่าส่วนได้เสียมันหามาตรวัดที่แน่นอนไม่ค่อยได้ เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไร มันก็สามารถตีความว่ามีส่วนได้เสียกันได้ทั้งนั้น ฉะนั้น เรื่องนี้ผมจึงขอยกไว้ให้เป็นเรื่องต่างจิตต่างใจของแต่ละคนที่จะตีความ


 


แต่สำหรับความหมายทางกฎหมาย ตอนนี้ได้มีการอ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องปฎิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ เรื่องนี้แม้จะมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่เมื่อมันเป็นถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง เราก็จำเป็นต้องอาศัยการตีความในแต่ละข้อเท็จจริงว่ามันเป็นอย่างไร


 


ถ้าคุณจะถามว่าการที่พรรคการเมืองหลายพรรคซึ่งจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้พรรคของตัวเองถูกยุบนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ส่วนตัว เรื่องนี้ ผมตอบได้ว่าเราจะมานั่งคิดเอาเองไม่ได้ แต่จำเป็นต้องดูเหตุผลจากคำอธิบายของพรรคการเมืองเหล่านั้นว่าเขาจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไร วันนี้มีบางฝ่ายสรุปแล้วว่า การที่พรรคการเมืองหลายพรรคซึ่งจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้พรรคของตัวเองถูกยุบนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ เมื่อดูตามข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ ผมคิดว่าในทางกฎหมายมันไม่ง่ายที่จะมีบทสรุปอย่างนั้น


 


ถามว่าทำไม ผมเองคงจำเป็นต้องยกตัวอย่างให้คุณเห็นแบบเทียบเคียงโดยอาศัยตรรกะเดียวกัน สมมติว่าวันนี้พรรคการเมืองเหล่านั้นได้ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของวุฒิสภาโดยขอแก้ให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาทั้งหมดซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลานี้ พ้นจากการเป็น ส.ว. ทันทีเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันต้องผ่านการพิจารณาและลงมติของรัฐสภาซึ่ง ส.ว.ที่มาจาการสรรหาเป็นสมาชิกอยู่ และก็เมื่อเรื่องนี้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาเขาก็มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อการที่เขาจะอยู่หรือจะไปจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย กรณีแบบนี้ โดยเหตุผลเดียวกัน หรือเราจะบอกได้ว่า ส.ว. เหล่านี้ต่างมีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงต้องถูกห้ามไม่ให้มีส่วนในการพิจารณาหรือว่าลงมติ


 


ผมพูดแบบนี้ คุณอาจจะแย้งผมว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคนั้นพรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่ให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งนั้น ส.ว.ที่มาจากการสรรหาไม่ได้เป็นผู้เสนอให้แก้ไข ดังนั้น สองเรื่องนี้จะนำมาเทียบกันไม่ได้ ถ้าคุณแย้งผมมาอย่างนี้ ผมก็ขอให้คุณไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ให้ดีว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ มันมีการจำแนกแจกแจงเอาไว้หรือว่ามันหมายถึงเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอกฎหมายเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการพิจารณากฎหมายหรือการลงมติว่าจะให้กฎหมายผ่านหรือไม่ผ่าน ทั้งหมดนี้ ถ้าเราไม่มีอคติในการให้เหตุผลจนเกินไป ความจริงแล้วมันก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งนั้น


 


ฉะนั้น ในทางกฎหมาย มันจึงไม่ง่ายที่จะสรุปเอาว่าเมื่อพรรคการเมืองใดจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับเกณฑ์ในการยุบพรรคนั้น แสดงว่าบรรดา ส.ส.ของพรรคการเมืองเหล่านั้นจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือมีการขัดกันของผลประโยชน์ และนี่ถ้าเกิดว่าพรรคการเมืองเหล่านี้ให้เหตุผลในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเพื่อประโยชน์ในการรักษาหลักนิติธรรมและหลักความสมควรแก่เหตุซึ่งถูกรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ แล้วเราจะว่ายังไง


 


ครับ ยังไงก็แล้วแต่ ถ้ายังมีคนเห็นว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวซึ่งทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแล้วเสนอเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอน


นั่นเป็นสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ผมไม่มีข้อขัดข้อง และเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างเห็นว่ามันมีอยู่โดยอาศัยระบบ ก็ให้เป็นดุลพินิจของวุฒิสภาที่จะวินิจฉัย


 


สรุปที่พูดมาทั้งหมด ยังไงอาจารย์ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ามาตรา 237 วรรคสองมันมีปัญหาจริงๆ


ครับ และปัญหาของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ มันแก้ไขได้ทั้งโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มันสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักความสมควรแก่เหตุ รายละเอียดทั้งหมดนี้ มีอยู่แล้วในแถลงการณ์ซึ่งเพื่อนอาจารย์กับผมรวมห้าคนได้เสนอกับสังคมไปแล้วเมื่อสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ใครที่สนใจรายละเอียดก็ลองไปหาอ่านดู


 


ครับ สุดท้ายแล้ว ถ้าอาจารย์มีอะไรอยากพูดอีกบ้างก็เชิญครับ


วันนี้ความเห็นต่างในสังคมมีมาก ไม่เว้นแม้แต่นักกฎหมายด้วยกัน แต่นี่ผมเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงว่าระบอบประชาธิปไตยกำลังทำงานอยู่ตามธรรมชาติของมัน สำหรับการให้ความเห็นทางกฎหมายของผม ผมถือว่ามันเป็นหน้าที่ของผมซึ่งควรจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ของสังคม แต่นี่ไม่ใช่เพราะว่าเนื่องจากผมมีสถานะเป็นคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เพราะผมเป็นคนๆ หนึ่งซึ่งหวังจะให้สังคมที่ผมอยู่ เป็นสังคมที่คุยกันได้ด้วยเหตุผลและเข้าใจความรู้สึกระหว่างกัน ผมเคารพความเห็นต่างของทุกฝ่าย และผมเข้าใจการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายซึ่งมันไม่เหมือนกันอยู่ แต่ไม่ว่ายังไง ก็หวังว่าทุกอย่างจะเดินกันไปตามระบบและใช้ระบบเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ถ้าเราทำอย่างนี้ ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร ผมเชื่อว่าวุฒิภาวะของสังคมไทยจะถูกยกระดับให้สูงขึ้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net