Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงและลุกลามใหญ่โตถึงขนาดจะมีการยื่นการถอดถอนผู้ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา และลุกลามไปถึงการที่จะออกมาเดินขบวนประท้วงกันกลางถนนโดยฝ่ายพันธมิตร แต่น่าเสียดายข่าวนี้ถูกกลบด้วยข่าวการแสดงละครเรื่อง "หนูถีบจักร" กันของ สส.ฝ่ายที่จะขอแก้ไขกับ สส.ฝ่ายพันธมิตรฯ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นเจตนาที่จะกลบข่าวหรือเพื่อเอาใจใครหรือเปล่า


 


ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่เป็นไปตามที่คาดหมายล่วงหน้าไว้ เป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน สาเหตุหลักนอกเหนือจากเนื้อหาที่พิลึกพิลั่นแล้วก็คือความชอบธรรมของที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่พยายามจะสถาปนา "ระบอบอุบาทวาธิปไตย"ขึ้นมา เนื่องเพราะผู้ร่างไม่เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่จะเลือกคนมาเป็นผู้แทนของเขาไม่ว่าจะเป็น สส. สว.หรือกรรมการในองค์กรอิสระทั้งหลายก็ตาม


 


มิหนำซ้ำยังบัญญัติรองรับการกระทำของคณะบุคคลที่ใช้อาวุธและบุคคลากรที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรของราษฎรเข้ากระทำย่ำยี โดยการฉีกรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งเนื้อหาอื่นๆก็ย้อนยุคยิ่งกว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เสียอีก


 


เป็นที่น่ายินดีว่าได้มีการพยายามผลักดันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาโดยเร็ว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าประเด็นที่พยายามผลักดันที่ปรากฏต่อสื่อสารมวลชนที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นไปเพียงเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคพวก ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สส. สว.หรือประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตลอดจนประเด็นของสิทธิชุมชนหรือสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ เลย


 


แต่กลับไปมุ่งเน้นแก้ไขประเด็นของการยุบหรือไม่ยุบพรรค ประเด็นที่ สส.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับราชการงานเมือง หรือ การทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งก็ไม่ได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแต่อย่างใด


 


ส่วนฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่าย สสร.เดิมที่ทำตัวเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญเสียเอง ตลอดจนนักวิชาการเครื่องซักผ้าทั้งหลายที่คอยฟอกขาวให้แก่กลุ่มที่ตนสนับสนุนหรือกลุ่มที่ตนได้ประโยชน์อย่างไม่มียางอายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีแล้ว ประเสริฐแล้ว ใครแก้ถือว่าขัดประชามติที่ประชาชนให้การรับรองไว้แล้ว ถึงกับต้องล่าชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญปี ๔๐ ก็ผ่านการสำรวจความคิดเห็นจากทั่วประเทศเหมือนกันเพียงแต่ไม่ได้หย่อนบัตรลงหีบเท่านั้น แต่เมื่อถูกฉีกทิ้งหน้าตาเฉย นอกจากจะไม่ร้องสักแอะแล้วยังกลับไปเห็นดีเห็นงามกลับอำนาจที่มาจากปากกระบอกปืนเสียนี่


 


ที่สำคัญคือการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี ๕๐ นั้นไม่ได้หมายความว่าประชาชนให้สัตยาบันว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่ที่แน่ๆก็คือประชาชนออกเสียงรับรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ก็เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และถ้อยคำที่ สสร.และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้พร่ำบอกเสมอว่า "รับๆไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขทีหลัง" แต่พอจะมีการริเริ่มให้มีการแก้ไขกลับบอกว่าผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว มิหนำซ้ำบางคนถึงกับไปไกลว่าลงพระปรมาภิไธยแล้ว ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญปี ๔๐ ก็ลงพระปรมาภิไธยแล้วเช่นกัน


 


ผมคงไม่เสนอว่าควรหรือไม่ควรแก้ไขในประเด็นใด เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อยุติ รังแต่จะเกิดประเด็นโต้แย้งถกเถียงไม่ว่าจะเป็นจากทางฝ่ายการเมือง ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ฝ่ายนักวิชาการซึ่งก็มีเบ้าหลอมจากหลายสำนักทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้แต่พวกที่ไม่รู้จะยกเหตุผลใดมาโต้แย้ง ก็อ้างถึง "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร แต่ที่แน่ๆ ประชาธิปไตยตามแบบไทยๆ ของเขาก็คือขอข้าได้ประโยชน์ก็พอ


 


แน่นอนว่าความเห็นส่วนตัวของผมนั้นมีแน่ว่าควรหรือควรแก้ในประเด็นใด แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่เกี่ยวพันกับทุกชีวิตที่อยู่ในประเทศนี้ ฉะนั้น การรวบรวมแนวความคิดหรือเนื้อหาที่มาจากพื้นฐานแนวคิดหรือความเห็นของประชาชนดังเช่นที่เราเคยทำมาในการร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ จึงจะถือเป็นข้อยุติ มิใช่อ้างว่าเป็น สส.สว.แล้วถือว่ามาจากประชาชน ไม่ต้องไปถามประชาชนอีกแล้ว หรือในทำนองกลับกันผู้ที่คัดค้านการแก้ไขโดยอ้างว่าประชาชนลงประชามติ(ที่จัดโดยฝ่ายที่มาจากการรัฐประหาร)แล้ว ไม่ต้องไปสอบถามอีก ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน


 


การร่างรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนการตัดเสื้อผ้าหรือรองเท้าให้เข้ากับร่างกายหรือเท้าของตนว่ามีขนาดหรือมีความต้องการอย่างไรจึงจะพอเหมาะพอสมกับร่างกายของเรา หากเราพยายามแก้ไขโดยไม่สอบถามความคิดเห็นหรือความต้องการของประชาชนแล้ว ก็เปรียบเสมือนการ "ตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า"(บางคนพูดแรงถึงกับว่าตัดตีนให้เข้ากับเกือกเสียด้วยซ้ำไป)


 


ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ก็เนื่องเพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือตนเองเป็นหลัก ยึดถือว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกต้อง มิหนำซ้ำยังดูถูกประชาชนว่าไม่รู้เรื่องอะไร ถูกชักจูงได้ง่าย ประชาธิปไตยแบบไทยๆต้องอาศัยชนชั้นนำเป็นผู้ชี้แนะเท่านั้น โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตนรู้เรื่องประชาธิปไตยมากกว่าใคร ซึ่งก็คือการมองข้ามหัวประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงนั่นเอง


 


ฉะนั้น เพื่อยุติความขัดแย้งและให้ได้ความคิดเห็นที่เป็นฉันทามติที่แท้จริง ผมจึงเห็นว่าเราควรกลับไปหาประชาชนด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยอาศัยช่องทางตามมาตรา ๒๙๑ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พร้อมกับประมวลความคิดเห็นและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนดังเช่นที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วในคราวการยกร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่ผ่านมา ที่ถึงแม้จะใช้เวลาบ้างแต่ก็ได้ผลในการแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติให้ทุเลาลงอย่างน้อยก็ปัญหาความขัดแย้งทางการที่จะนำไปสู่ความรุนแรง มิใช่เร่งแก้เพื่อหนีการยุบพรรคและเพื่อประโยชน์ส่วนตนเช่นในปัจจุบันนี้ ที่รังแต่จะเป็นการเทน้ำมันราดลงกองไฟให้ลุกโชนยิ่งขึ้น


 


ที่สำคัญก็คือจะได้เป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่ชอบการแก้ไขด้วยวิธีการที่คิดสั้นไม่ว่าจะด้วยการเรียกร้องให้ขยายความมาตรา ๗ จนเลยเถิดหรือแม้กระทั่งการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งด้วยการรัฐประหารที่หน่อมแน้ม จนประเทศชาติเสียหายไปจนเหลือจะคณานับ จะได้ไม่แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองอย่างมักง่ายเช่นนี้อีก


 


 


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๑

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net