Skip to main content
sharethis

www.thaiclimate.org


 


ในห้องแอร์เย็นฉ่ำของตึกสาขาของสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ ผู้แทนการเจรจาเรื่องโลกร้อนจากกว่า 190


ประเทศ กำลังประชุมกันวันนี้เป็นวันสุดท้าย หลังจากพูดคุยกันตั้งแต่วันจันทร์เพื่อวางกรอบเนื้อหาและกำหนดเวลาของการประชุมครั้งต่อๆ ไป ซึ่งจะมีในลักษณะเดียวกันอีกอย่างน้อยเจ็ดครั้งในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ทั้งหมดนี้เพื่อบรรลุข้อตกลงอันใหม่ในปีหน้าเกี่ยวกับการจัดการโลกร้อนหลังจากที่พิธีสารเกียวโตสิ้นสุดการบังคับใช้ในปี 2555


 


คุณประมวล คนขับแท็กซี่ช่างสังเกตที่ไปส่งนักข่าวหน้าตึกสหประชาชาติวันก่อน สงสัยว่า พวกหัวดำหัวแดงในห้องประชุมมาเจอกันบ่อยๆ เพื่อประวิงเวลาในการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ หรือเปล่า


 


"ประชุมกันเอาไว้เป็นข่าว แต่ไม่แก้ปัญหาให้ตรงจุด ยกตัวอย่างเช่นที่ปิดไฟ 1 ชั่วโมงเมื่อคืนวันเสาร์ที่แล้ว ผมก็เห็นเพราะขับรถไปแถวสีลมพอดี ถ้าจะเอาจริงทำไมไม่รณรงค์ให้ปิดแอร์แทนละครับ ใครๆ ก็รู้ว่าแอร์เนี่ยมันตัวกินไฟ พวกหลอดไฟน่ะจิ๊บจ๊อย รัฐบาลเกาไม่ถูกที่คัน" คุณประมวลตั้งข้อสังเกต "เขาว่าเครื่องบินนี่ก็กินน้ำมันน่าดูด้วยไม่ใช่หรือครับ"


 


น่าสนใจที่คุณประมวลไม่ใช่คนเดียวที่ชี้ว่า เราแก้ปัญหาไม่ตรงจุดสำคัญ ผู้สันทัดกรณีปัญหาโลกร้อนก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า เวทีเจรจาต่างๆ คือที่ประวิงเวลาและเบี่ยงเบนประเด็นในการแก้ปัญหาโลกร้อน ที่ร้ายไปกว่านั้นคือการหาผลประโยชน์ในนามของการแก้ปัญหาโลกร้อนของภาคธุรกิจและรัฐบาล โดยทำโครงการที่อาจสร้างปัญหาใหม่ตามมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมพลังงานจากพืชที่ก่อให้เกิดการตัดป่าและเปิดหน้าดินใหม่ๆที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และลงทุนเพื่อการขายคาร์บอนเครดิตต่างๆ


 


เมื่อถูกถามว่าคาดหวังอะไรจากการประชุมที่กรุงเทพฯ และที่อื่นๆ ที่จะตามมา Ronnie Hall นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจากอังกฤษที่มาสังเกตการณ์ประชุมตอบอย่างกวนๆ ว่า แค่หวังให้ข้อตกลงที่จะมาใช้แทนพิธีสารเกียวโตไม่มีเนื้อหาที่สร้างปัญหาใหม่ๆ ให้โลกมากขึ้นในนามของการแก้ปัญหาโลกร้อน


เช่นการที่ประเทศรวยโยนเศษเงินมาตั้งกองทุนรักษาป่าเขตร้อนให้ประเทศโลกที่สามแย่งกัน แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเอามาอ้างว่าช่วยโลกร้อนแล้ว โดยไม่ทำอะไรจริงจังที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบ้านตัวเอง


 


แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มความถี่ในการเตือนภัยโลกร้อน โลกก็ยังไม่เอาจริงในการลงทุนในมาตรการใหม่ๆ เช่นการทำให้พลังงานสะอาดอย่างลมและแสงอาทิตย์มีราคาถูกลงในระหว่างประชุมระดับโลกที่บาหลี


 


เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประธานพรรคกรีน ของเยอรมัน Reinhard Butikofer แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนที่รัฐบาลเยอรมันเพิ่งอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโรง ทั้งๆ ที่เยอรมันเป็นประเทศที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามพิธีสารเกียวโต และที่กรุงเทพฯ ในเวทีภาคประชาสังคมที่มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ขณะที่ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมการประชุมโลกร้อนสัปดาห์นี้ คุณวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ


นักกิจกรรมอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมของไทยก็วิจารณ์การที่รัฐบาลไทยวางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเกินความจำเป็นและเลือกใช้เชื้อเพลิงเจ้าปัญหาไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์


 


ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ แห่งสถาบันวิจัยระบบการเปลี่ยนแปลงของโลก กล่าวถึงการประชุมที่กรุงเทพฯ และคราวที่ผ่านๆ มาว่ายืดเยื้อและไม่เกิดอะไรจริงจังในทางปฏิบัติเพราะการเจรจาเหล่านี้เป็นเวทีต่อรองกันทางการเมืองว่าใครจะไม่ทำอะไร มากกว่าว่าจะช่วยกันอย่างไร


 


"เรื่องการแก้โลกร้อน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความรู้ว่าเรารู้ไม่พอ วิทยาศาสตร์บอกชัดเจนว่าเรากำลังเจอกับอะไร เงินก็ไม่ใช่ปัญหา ในโลกมีเงินมากมายที่ถูกเอาไปใช้ไม่ถูกทาง เทคโนโลยีก็ไม่ใช่ปัญหาอีกนั่นแหล่ะ เทคโนโลยีมีแล้วและมีแต่จะดีขึ้นเรื่อยๆ สรุปปัญหาที่ไม่ได้ทำอะไรอยู่ที่เรื่องการเมืองอย่างเดียวเลย"


 


เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่เจนเวทีเจรจาโลกร้อนเห็นด้วย "แต่ละครั้งมีแต่จะมาเกี่ยงกันว่าคุณทำโน่นนี่ก่อนสิ


ถ้าประเทศนี้ไม่ทำเราก็จะไม่ทำ ทุกผู้แทนเจรจามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง ไทยก็เหมือนกัน เราก็อยู่ข้างหลังประทศใหญ่ๆ อย่างจีน แล้วก็คอยดูว่าอะไรที่เราจะได้ประโยชน์บ้าง มันเศร้านะ แต่มันก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น"


 


ตามพิธีสารเกียวโต ประเทศพัฒนาแล้ว 36 ประเทศ ถูกกำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามสัดส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่หลายประเทศเช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น และแคนาดามีแนวโน้มว่าจะลดไม่ได้ตามเป้า แย่ไปกว่านั้น สหรัฐที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ไม่ยอมรับพันธะกรณีการลดเลย


แต่ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้กำลังกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องมีพันธะกรณีลดก๊าซในข้อตกลงอันใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา


 


ประเทศกำลังพัฒนาบอกว่า ถ้าจะให้ลด ประเทศพัฒนาแล้วต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่าตัวเองทำได้


และยังบอกว่าต้องสนับสนุนเงิน และเทคโนโลยีมีมาก่อนด้วย


 


ซึ่งท่าทีของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พยายามผลักให้ประเทศพัฒนาแล้วรับภาระการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นท่าทีที่นักกิจกรรมหลายองค์กรสนับสนุน Martin Khor แห่ง Third World Network จากปีนัง และ Meena Raman ประธาน Friends of the Earth International สนับสนุน


เพราะประเทศพัฒนาแล้วรวยขึ้นมาได้ก็จากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อปัญหาโลกร้อนในขณะนี้ ประเทศกำลังพัฒนายังต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน


 


"ประเทศอย่างสหรัฐจะมีสิทธิ์บอกคนจีนให้กลับไปขี่จักรยานได้อย่างไร ขณะที่คนอเมริกันมีรถครอบครัวละ 4-5 คัน จริงๆ แล้วในฐานะนักสิ่งแวดล้อม ผมไม่มีปัญหาต่อข้อเรียกร้องว่าทุกคนควรรับภาระในการจ่ายราคาเพื่อช่วยโลก ตราบที่ภาระนั้นถูกแบ่งปันอย่างยุติธรรม"  Martin กล่าว


 


แต่ในขณะเดียวกันนักกิจกรรมอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Martin ก็ยอมรับว่าหาก ประชากรจีน 1,200 ล้านคน ถ้าจะมีรถขับกันทุกคน โลกก็คงเจอปัญหาใหญ่เหมือนกัน


 


"ผมว่าถ้าเราจะอยู่รอดกันจริงๆ ในภาวะโลกร้อน เราคงต้องมีการเปลี่ยนการใช้ชีวิตและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ อย่างที่เราไม่เคยจินตนาการมาก่อน"


 


 


 


 


 


*ติดตามความเคลื่อนไหว ทำความเข้าใจโลกร้อนในมุมที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย โดยทีมนักข่าวที่เกาะติดประเด็น ที่ www.thaiclimate.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net