Skip to main content
sharethis


 


 


กลุ่มประมงพาณิชย์อวนลากอวนรุนจังหวัดภูเก็ต 36 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองนครศรีธรรมราช ขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห้ามใช้เครื่องมืออวนลากอวนรุนจับสัตว์น้ำจังหวัดกระบี่ ที่เพิ่มเขตการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ทะเลจังหวัดกระบี่ จาก 3,000 เมตรเป็น 5,400 เมตร บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ธันวาคม 2550 โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา


 


หลังการฟ้องดังกล่าว ปรากฏล่าสุดว่า เมื่อเวลา 17.00 - 20.00 น. วันที่ 28 มีนาคม 2551 เรือประมงอวนลากบุกเข้ามาทำประมงอวนลากในเขตหวงห้ามตามประกาศดังกล่าว บริเวณเกาะไหงและเกาะกวงไกล้ชายฝั่งเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ปรากฏว่ามีอาสาสมัครชาวประมงพื้นบ้านจากอำเภอเกาะลันตาร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าจับกุม พร้อมทั้งได้ประสานกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังและอำเภออื่นๆ  ในจังหวัดกระบี่เพื่อปิดล้อมพื้นที่


 


โดยในคำฟ้องระบุเหตุผลว่า การออกประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประมงอวนลากอวนรุนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีข้อมูลทางวิชาการไม่เพียงพอ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามไปเพราะถูกกดดันจากสมัชชาคนจน ทำให้ชาวประมงอวนลากและอวนรุนไม่มีพื้นที่ทำประมง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกลดลง


 


คำฟ้องระบุต่อว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์เพราะเป็นปลาที่ย้ายถิ่นมาจากที่อื่น มาตรการเดิม เช่น การกำหนดแนวเขตประมงชายฝั่ง 3,000 เมตร และการปิดอ่าวในฤดูวางไข เป็นการอนุรักษ์ที่เพียงพออยู่แล้ว หากประกาศใช้ประกาศดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกรวมทั้งต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศ และธุรกิจต่อเนื่องจากการประมง เช่น โรงน้ำแข็งและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ


 


ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กองเลขาธิการ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า การออกประกาศดังกล่าวของกระทรวงเกษตรฯ เป็นเพียงการประกาศห้ามเครื่องมือบางชนิดที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ห้ามให้ใครทำประมงที่กอบโกยทรัพยากรเกินขอบเขตที่ระบบนิเวศน์จะฟื้นตัวได้


"ถ้าทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ต้องร่วมกันดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทั้งทางนโยบาย ทางกฎหมาย นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้สอดคล้องและไม่เป็นศัตรูกับธรรมชาติ เพื่อรักษาระบบระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ให้มีความสมดุล" นายวิโชคศักดิ์ กล่าว


 


รายงานข่าวแจ้งว่า แนวโน้มว่ากลุ่มชาวประมงอวนลากอวนรุนในอีกหลายจังหวัดจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวด้วย ในขณะที่องค์กรชาวประมงพื้นบ้านหลายจังหวัด อาจรวบรวมรายชื่อเพื่อร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย เนื่องจากการขยายเขตห้ามใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างดังกล่าว เป็นความต้องการและร่วมกันผลักดันกันมาตลอดของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน


 


 


 


นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กองเลขาธิการ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ได้เล่าถึงพัฒนาการและกฎหมายเกี่ยวข้องกับการทำประมงด้วยดังนี้ว่า ทะเลและชายฝั่งประเทศไทยความยาว 2,614 กิโลเมตร มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นฐานของทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไทยทั้งในแง่ของแหล่งอาหาร การท่องเที่ยวและการส่งออกสัตว์น้ำ รวมทั้งเป็นฐานทรัพยากรหล่อเลี้ยงชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน 3,797 หมู่บ้าน 56,859 ครัวเรือน


 


สืบเนื่องจากการออกกฎหมายจากพระราชบัญญัติค่าน้ำ รศ.120 เป็น พระราชบัญญัติประมง พ.ศ.2490 ต่อมาในปี 2492 กรมประมงได้ส่งเสริมให้กิจการประมงหันมาใช้เครื่องจักรในการจับสัตว์น้ำโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาฝึกสอนลูกเรือไทย


 


หลังจากนั้นการทำประมงขนาดใหญ่ได้โดยเฉพาะอวนลากหน้าดินได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมกับปริมาณการจับสัตว์น้ำที่ได้เพิ่มขึ้น และค่อย ๆ ลดจำนวนลงหลังปี 2520 เพราะระบบนิเวศน์ไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันกับปริมาณที่ต้องการจับและเทคโนโลยีที่ทันสมัย


 


ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน นักวิชาการ ชาวประมง ต่างก็ตระหนักและพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันผลักดันมาตรการในการอนุรักษ์เพื่อรักษาความสมดุลของอัตราการผลิตของธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ ให้ยกเลิกเครื่องมือประมงที่มีผลในการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน และทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเล ทำให้มีการกำหนดนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และ 9


 


แผนปฏิบัติการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงดังกล่าว ซึ่งระบุว่า อวนรุนและอวนลากเป็นเครื่องมือทำลายระบบนิเวศน์ชายฝั่งและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐจะดำเนินมาตรการเปลี่ยนหรือยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และจัดทำแนวเขตห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือทำลายสิ่งแวดล้อมในเขต 3,000 เมตรนับจากขอบน้ำชายฝั่ง


 


บทสรุปในงานศึกษาของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ มติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนนโยบายที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับดังกล่าว ไม่มีการนำข้อสรุปไปดำเนินการปฏิบัติ


แต่ภายใต้รัฐบาลไทย กรมประมงไทย และกฎหมายประมงฉบับเดียวกัน เราจะพบว่าบางจังหวัดอย่างเช่น ตรัง สตูล กระบี่ หน่วยงานในระดับจังหวัดโดยความร่วมมือกับชาวประมงพื้นบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน สามารถตรวจจับและริบเรือประมงที่ฝ่าฝืนกฎหมายเข้าไปทำการประมงในเขต 3,000 เมตร ได้เป็นจำนวนมาก


 


ขณะที่จังหวัดภูเก็ต จับได้บ้างแต่ริบเรือไม่ได้โดยอ้างว่าติดขัดข้อกฎหมาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช จับได้จำนวนน้อยมากขณะที่มีการฝ่าฝืนเป็นปกติประจำวัน ส่วนที่จับได้มีโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท


 


การอนุรักษ์ชายฝั่งคือความยั่งยืนของท้องทะเลและอาชีพประมงพื้นบ้าน


ชาวประมงพื้นบ้านเป็นประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับที่อาศัยอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง มีเรือหางยาวขนาดเล็กตั้งแต่ 8 - 12 เมตร ทำการประมงด้วยเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำหรือเครื่องมือประมงพื้นบ้านบริเวณใกล้ชายฝั่ง ไม่สามารถออกไปหากินไกลๆ ได้


 


ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านเรือหางยาวมีปัญหาเรืออวนรุนอวนลากเข้ามาในเขตและทำลายเครื่องมือประมงขนาดเล็ก เช่น ไซหมึก อวนปูของชาวบ้านทำให้ไม่มีเงินลงทุนอีกก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง


 


เมื่ออวนรุน อวนลากเข้ามากวาดกุ้งหอยปูหาปลาและความหลากหลายของระบบนิเวศน์เสร็จแล้ว เครื่องมือขนาดเล็กดักจับสัตว์น้ำได้ปริมาณที่น้อยลงไม่เพียงพอกับการดำรงชีพและไม่คุ้มกับการลงทุน เมื่อหน้าดินใต้ท้องทะเลถูกกวาด ความหลากหลายถูกทำลาย กว่าระบบนิเวศน์บริเวณนั้นจะฟื้นตัวกลับคืนต้องใช้เวลานานกว่าปกติของธรรมชาติ


 


สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้มีความเห็นว่า เครื่องมือการประมงที่ดีต้องเป็นเครื่องมือที่เลือกจับสัตว์น้ำเฉพาะอย่าง ขณะที่ใช้เครื่องมือทำการประมงต้องไม่พลิกหน้าดินใต้ทะเล ไม่ทำลายหญ้าทะเล หรือปะการัง เป็นเครื่องมือที่ไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน และไม่ทำลายหรือเบียดเบียนเครื่องมือประมงของชาวประมงคนอื่นๆ ซึ่งทำการประมงในทะเลเดียวกัน


 


 


 


 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net