Skip to main content
sharethis

สมจิต คงทน


กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไรพรมแดน (Local Act)


 


 


สถานการณ์ราคาข้าวที่ทะยานสูงขึ้นจากตันละ 5-6 พันบาทเป็น 10,400 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว อาจถือได้ว่าใครมีข้าวอยู่ในมือตอนนี้ก็เปรียบเหมือนกับมีทองคำอยู่กับตัว จึงเกิดปรากฏการณ์มีคนขโมยเกี่ยวข้าว เป็นเหตุให้ชาวนาต้องมาอยู่ยามเฝ้านาข้าวของตนเอง หรือข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ชาวนาฆ่าตัวตายเพราะถูกศัตรูพืชลงในนาที่กำลังจะเกี่ยว 40 ไร่ทำให้ไม่มีเงินไปใช้หนี้


 


มีคำถามมากมายทั้งจากคนไทยด้วยกันและจากคนต่างชาติว่า ในเมื่อประเทศไทยเป็นผู้ส่งข้าวออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกประกอบกับราคาข้าวที่พุ่งทะลุเพดานในขณะนี้ แล้วทำไมชีวิตชาวนาผู้ปลูกข้าวถึงยังยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ดินหลุดมือ ซ้ำร้ายยังมีจำนวนมากที่ต้องเช่าที่นาของตัวเองทำนา มันเกิดอะไรขึ้น


 


นางพิมพ์ใจ จันทร์สมุทร อายุ 43 ปี ชาวนาบ้านหนองควาย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออก มีที่ดินเป็นของตนเอง 3 ไร่ และเช่าที่ทำกินอีก 8 ไร่ นางพิมพ์เล่าให้ฟังว่า "เริ่มเป็นหนี้ครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี จำนวน 15,000 บาท กับการสร้างครอบครัวใหม่ คือการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในแปลงนาและเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวตลอดฤดูกาลทำนา จนปัจจุบันมีหนี้อยู่ทั้งหมด 200,000 บาท ทั้งจาก ธ.ก.ส. และแหล่งเงินกู้จากโรงสี"


 


เช่นเดียวกับ ชาวนาตำบลบางขุด อำเภอสวรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ทำนาปีละ 3 ครั้ง เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออกเช่นกัน ชาวนาที่นี่ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง โดยเฉลี่ยแล้วชาวนามีหนี้สินตั้งแต่ 100,000 - 300,000 บาทต่อครอบครัว สาเหตุหลักของหนี้สินเกิดจากการซื้อปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สูงสุดถึงร้อยละ52.45) ลงทุนการผลิต (รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยว รถขนส่งและค่าน้ำมันร้อยละ 26.85) และค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่สูงขึ้นทุกปี


 


จากการศึกษาต้นทุนการทำนาในปี 2550 ของชาวนาตำบลบางขุด พบว่ามีต้นทุนการผลิตสูงถึง 3,165 บาท ต่อไร่ และมีผลผลิตตอบแทนต่อไร่ 3,850 บาท ดังนั้นชาวนาได้กำไร 685 บาทต่อไร่เท่านั้น ถามว่าเงินจำนวนนี้เพียงพอหรือไม่ต่อการดำรงชีพของครอบครัวชาวนาในยุคปัจจุบัน


 


ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกในปี 2550 ที่ชาวนาขายได้คือ 5,500 บาทต่อตัน รัฐรับซื้อราคา 6,509 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่แตกต่างกันถึง หนึ่งพันกว่าบาท แต่ชาวนาต้องขายข้าวของตนเองออกไปเนื่องจากความขัดสนทางการเงินและปริมาณหนี้สินของครอบครัวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลังเก็บเกี่ยวเสร็จต้องเร่งขายข้าวทำให้ถูกหักความชื้น ราคาข้าวจึงตก ที่สำคัญ ชาวนาไม่สามารถเข้าถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐที่ส่วนใหญ่มีตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ ชาวนาคนไหนที่เป็นหนี้กับธ.ก.ส. ธ.ก.ส.จะหักชำระหนี้ไว้เลยไม่มีทางได้ถือเงินจนกว่าจะไปกู้ใหม่ ชาวนาจึงไม่สามารถหลุดจากวงจรหนี้สินได้


 


ในเมื่อการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ชาวนาส่วนใหญ่จึงหันไปทำอาชีพเสริม "แม้มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่รายได้หลัก คือการปลูกมันมือเสือ" นางพิมพ์กล่าว รวมถึงชาวนาคนอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกนั้นด้วย ที่ต้องเย็บผ้า ผ่าลูกหมาก เก็บของเก่าขาย และในบางพื้นที่ชาวบ้านได้หันมาปรับเปลี่ยนการผลิตมาทำนาอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง เป็นต้น


 


ดังนั้น ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนี้ ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาผู้ปลูกข้าวมีสภาพดีขึ้น แม้ว่าชาวนาในหลายพื้นที่ได้พยามดิ้นรนหาทางออกด้วยตนเองแล้วก็ตาม จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลทบทวนโครงการอุดหนุนต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น การประกันราคาข้าวควรมีความโปร่งใสไม่มีเอี่ยวกับนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องตลอดจนการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อความเข้มแข็งในอนาคต และควรนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษในกรณีที่มีการขโมยข้าวจากสต๊อกข้าวของรัฐบาลซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท


 


 


ที่มา :


เวทีสัมมนากับกลุ่มชาวนาจังหวัดชัยนาท วันที่ 28 พ.ย 2550 โดย สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สคปท.)


สัมภาษณ์ นางพิมพ์ใจ จันทร์สมุทร ชาวนาหนองควาย เลขที่ 25 หมู่ 1 ต.บ้านในดง อ.ท่ายาง.เพชรบุรี


             


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net