Skip to main content
sharethis

เสียงจากนักกีฬา : นักพายเรือแคนาดาเผย การบอยคอตต์นั้น "เปล่าประโยชน์"


 


ซู ฮอลโลเวย์ นักกีฬาพายเรือแคนูจากประเทศแคนาดา ไม่เห็นด้วยหากจะมีการบอยคอตต์ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิกด้วยเหตุทางการเมือง


 


ในปี ค.ศ.1980 แคนาดาเคยบอยคอตต์กีฬาโอลิมปิกที่กรุงมอสโคว สหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) เนื่องจากสหภาพโซเวียตได้ทำการรุกรานประเทศอัฟกานิสถาน เป็นเหตุให้ฮอลโลเวย์ ในฐานะนักกีฬาแข่งเรือแคนู ไม่สามารถเข้าแข่งในครั้งนั้นได้


 


จากเดิมที่ฮอลโลเวย์เคยได้รับเลือกให้เป็นคนถือธงนำทีมของแคนาดาเข้าไปในสนามกีฬาของมอสโคว แต่การบอยคอตต์โดยรัฐบาลแคนาดา ทำให้สิ่งที่เธอซ้อมมาต้องสูญเปล่า


 


เธอเล่าถึงความรู้สึกให้ฟังว่าเหมือนกับ "ฝันสลาย" เพราะการเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ปี 1980 คือสิ่งที่ฝึกซ้อมและทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ เมื่อมีการประกาศว่าแคนาดาจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมในครั้งนั้น ฮอลโลเวย์กล่าวอีกด้วยว่าตนถึงกับล้มป่วยและรู้สึกว่าพ่ายแพ้อย่างหมดรูป


 


แม้ว่ากีฬาโอลิมปิกที่มอสโควในครั้งนั้นจะมีการบอยคอตต์จากแคนาดาและประเทศอื่นอีกกว่า 60 ประเทศ มอสโควเกมก็ยังคงดำเนินต่อไป และทางสหภาพโซเวียตก็ยังคงดำเนินการยึดครองอัฟกานิสถานต่อไปอีกเป็นเวลากว่าสิบปี ฮอลโลเวย์ให้ความเห็นว่า "ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว มันแค่ทำให้พลังของนักกีฬาต้องสูญเปล่าไปโดยใช่เหตุ"


 


มาถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ทางการจีนปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลโดยใช้ความรุนแรงเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ทำให้เกิดการจุดประเด็นในเรื่องการบอยคอตต์โอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ด้วยสาเหตุเรื่องสิทธิมนุษยชน


 


แต่ฮอลโลเวย์ก็ออกมาเตือนว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นการทำลายความฝันของนักกีฬาชาวแคนาดาเปล่าๆ


 


"มันเป็นวิธีส่งเสริมการเคลื่อนไหวที่แย่ที่สุด" เธอบอก "พวกนักกีฬายังสามารถแสดงออกถึงอิสรภาพได้ดีกว่า ด้วยการที่พวกเขาไปอยู่ตรงนั้นและแสดงให้ผู้คนเห็นว่า ทางเลือกเสรีที่แท้จริงคืออะไรกันแน่"


 


นอกจากนี้ ฮอลโลเวย์เห็นว่า นักกีฬาส่วนใหญ่อยากไปแข่งขันในฐานะนักกีฬา และไม่มีวาระทางการเมืองแอบแฝง แต่เป็นเพราะคนกลุ่มอื่นๆ สร้างสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นมา ไม่ใช่เพราะนักกีฬาเป็นคนสร้าง แต่ทำไมต้องโยนความเดือดร้อนมาให้นักกีฬา


 


ขณะเดียวกัน การบอยคอตต์เมื่อครั้งจัดที่มอสโควทำให้ นักวิ่ง อิวอน มอนเดอซาย ชวดความหวังในการที่จะคว้าเหรียญทองให้แคนาดา


 


แม้ว่าการบอยคอตต์ในปี ค.ศ.1980 จะมาจากการตัดสินใจขั้นสุดท้ายโดยรัฐบาลเสรีนิยม แต่การบอยคอตต์เพื่อประท้วงการรุกรานอาฟกานิสถานนั้น เริ่มมาจาก รัฐบาลอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าของโจ คลากส์ ในช่วงนั้น ฟลอร่า แมคโดนัลด์ ที่ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ออกมาย้ำในวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 มี.ค.) ว่ามันเป็นทางเลือกที่ถูกต้องในตอนนั้น เธอบอกว่า "เพราะนั่นเป็นการรุกรานประเทศที่เป็นเอกราชอย่างเต็มที่"


 


แต่อย่างไรก็ตาม แมคโดนัลด์ก็บอกว่า แคนาดาไม่ควรจะบอยคอตต์โอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง จากเรื่องเหตุการณ์ในทิเบต


 


"สถานการณ์มันต่างกัน" เธอให้ความเห็น "ความจริงก็คือจีนได้เข้ายึดครองทิเบตอยู่ก่อนแล้ว บอกว่าเป็นของพวกเขามานานแล้ว แต่ฉันคิดว่าวิธีที่พวกเขาจัดการมันดูไร้เหตุผลไปหน่อย"


 


ซาร์โคซี่ ฝรั่งเศส ไม่เข้าร่วมพิธีเปิดหากจีนยังไม่มีทางออกอย่างสันติให้กับเหตุในทิเบต 


ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โคซี่ ของฝรั่งเศส ให้สัญญาณว่าเขาจะไม่เข้าร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกในเดือนสิงหาคม จนกว่าทางการจีนจะยอมหยุดใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้เคลื่อนไหวชาวทิเบต และยอมเจรจากับดาไล ลามะ


 


ก่อนหน้าจะมาเยือนประเทศอังกฤษในวันที่ 26 มี.ค. นายซาร์โคซี่ ได้พูดถึงเรื่องที่เขาจะบอยคอตต์พิธีเปิดของกีฬาโอลิมปิกในประเทศจีน จึงดูราวกับว่า นี่เป็นการสร้างรอยแตกร้าวทางความคิดกับ กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนื่องจากนายกอร์ดอน บราวน์ เป็นผู้ที่ปฏิเสธการบอยคอตต์เสมอมา


 


นิโคลัส ซาร์โคซี่กล่าวว่า "สหายชาวจีนของเราต้องเข้าใจว่าปมปัญหาในทิเบตเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล"


 


"ผมไม่ได้จะปิดกั้นไม่ให้มีทางเลือกอื่น แต่ผมคิดว่ามันจะรอบคอบกว่าหากจะรักษาท่าทีของผมในการที่จะเอื้อให้สถานการณ์มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ผมต้องการให้มีการเริ่มเจรจา และผมจะค่อยๆ ปรับท่าทีของผมไปตามท่าทีของทางรัฐบาลจีน"


 


ความเห็นของนายซาร์โคซี่ จะเป็นการกดดันนายกรัฐมนตรีอังกฤษให้แสดงท่าทีและความต้องการที่แน่ชัดต่อเหตุการณ์ในทิเบต พวกเขายังพูดเป็นลางไว้ด้วยว่า หากอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมมือกัน มันอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเลยก็ได้ หลังจากในสมัยที่ แบลร์ กับ ชีรัค ดำรงตำแหน่ง ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีนัก


 


แต่อย่างไรก็ดี แม้นายซาร์โคซี่ขู่ว่าจะบอยคอตต์พิธีเปิด แต่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีด้วยการที่ไม่บอยคอตต์การแข่งขันกีฬา โดยโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม-สื่อ-กีฬา ออกมาให้ข้อมูลว่า "พิธีเปิดเป็นแต่ส่วนหนึ่งของโอลิมปิก และจุดยืนของเราที่จะไม่บอยคอตต์การแข่งขันนั้นยังคงเดิม เราไม่เชื่อว่าการบอยคอตต์จะเปลี่ยนแปลงอะไร"


 


ทางด้านนายกรัฐมนตรีบราวน์ ของอังกฤษเอง ก็มีกำหนดการจะต้องเข้าร่วมพิธีปิดกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ เพื่อเป็นตัวแทนของกรุงลอนดอนในการรับคบเพลิงโอลิมปิกต่อจากปักกิ่ง ในฐานะที่จะเป็นเจ้าภาพครั้งถัดไป


 


การหยามพิธีเปิดที่กรุงปักกิ่งของนายซาร์โคซี่ อาจทำให้เกิดความกดดันให้ผู้นำในยุโรปคนอื่นๆ ทำตาม โดยทางฝรั่งเศสเองก็จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหภาพยุโรป (EU) ในช่วงที่มีการจัดการแข่งขันพอดี


 


นอกจากการบอยคอตต์พิธีเปิดที่จะเป็นการสร้างความอับอายให้แก่จีนแล้ว ทางการจีนยังต้องวิตกกังวลกับเรื่องการวิ่งคบเพลิงซึ่งเป็นบทโหมโรงที่จะดึงดูดความสนใจของผู้คนไปสู่พิธีเปิด พวกเขาเกรงว่าจะมีกลุ่มผู้ประท้วงและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนมาชิงคบเพลิงไป หลังจากที่มีผู้สนับสนุนทิเบตจำนวนหนึ่งมาสร้างความยุ่งเหยิงให้พิธีจุดคบเพลิงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบทั้ง 3 รายที่ถูก มาจากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและสื่ออิสระจากฝรั่งเศส โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนกลุ่มองค์กรเหล่านี้ ได้สนับสนุนให้ผู้นำรัฐบาลของแต่ละรัฐบอยคอตต์พิธีเปิดเพื่อส่งสารไปยังทางการจีน แทนการบอยคอตต์การแข่งขัน เพราะวิธีการนี้จะไม่ทำให้นักกีฬาต้องสูญเสียเวลาฝึกซ้อมไปเปล่าๆ โดยไม่ได้แข่งขันด้วย


 


ความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากในฝรั่งเศส โดยมี ฌอง-ฟรองชัวร์ จูลลิยาร์ผู้อำนวยการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) และเป็นคนเดียวกับที่ถูกตำรวจกรีกจำกุมตัวในข้อหา "ดูหมิ่นสัญลักษณ์ของชาติ" ออกมาบอกว่า "พวกเรารู้สึกว่าเหล่าผู้นำทางการเมืองเริ่มจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติแล้ว"


 


ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาที่สถานีโทรทัศน์ชั้นนำของฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า จะมีการบอยคอตต์โอลิมปิกหากรัฐบาลจีนยังคงเซนเซอร์สื่อ


 


ด้านธุรกิจส่งออกอาวุธที่อังกฤษส่งออกไปยังจีน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในปีเดียว จากรายงานของสำนักงานการต่างประเทศและเครือจักรภพ การส่งออกอาวุธมีมูลค่าถึง 215 ล้านปอนด์ จากสถิติตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2006 ถึงเดือนกันยายนปี 2007 ทะเบียนสั่งซื้อของจีนมีทั้งอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับเฮลิคอปเตอร์กองทัพ และเครื่องมือสื่อสาร


 


ทางการจีนเผย ผู้ประท้วงมากกว่า 660 คนยอมจำนนแล้ว


 


ในวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางการจีนได้พากลุ่มนักข่าวต่างประเทศเดินทางไปรอบๆ เขตที่เคยเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทิเบตในตอนนี้อยู่ใต้การควบคุมของจีนเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังได้บอกอีกว่า ผู้ชุนนุมจากเหตุการณ์ไม่สงบมากกว่า 660 คนยอมจำนนแล้ว


 


กลุ่มนักข่าวประมาณ 12 คน ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปในเขตหิมาลายัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เองก็อนุญาตให้พวกเขาพูดคุยกับเหยื่อจากเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดความรุนแรง และเผยให้เห็นทรัพย์สินที่ถูกทำลายไปในวันที่มีการประท้วง


 


ฉินกัง โฆษกรัฐมนตรีการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า จะจัดให้มีการสัมภาษณ์เหยื่อจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และจะเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้ไปเยือนตามสถานที่ที่ถูกเผาทำลายด้วย


 


อย่างไรก็ตาม นักข่าวต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงถูกกันไม่ให้เข้าไปในเขตทิเบตและเขตของจีนในมลฑลใกล้เคียง ที่ซึ่งมีประชากรชาวทิเบตอยู่เป็นจำนวนมากและได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบ ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจเช็คจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ถูกจับกุมด้วยตนเอง


 


ดาไล ลามะ ได้ให้ความเห็นถึงการอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปยังพื้นที่ขัดแย้งในลาซาภายใต้การนำทางของรัฐบาลจีนในครั้งนี้ โดยบอกกับผู้สื่อข่าวในกรุงนิวเดลีว่า ถ้าหากคำกล่าวของรัฐบาลจีนเป็นเรื่องจริงก็ดี แต่ควรจะให้อิสระอย่างเต็มที่ด้วย เพื่อที่จะได้สามารถเข้าไปรับรู้สถานการณ์จริงได้


 


จนถึงบัดนี้ทางทิเบตได้ออกมารายงานว่ามีผู้ที่ถูกสังหารในเหตุไม่สงบถึง 140 คนแล้ว ขณะที่ทางการจีนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 20 คน โดย 19 คน เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในลาซา


 


ทางสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ออกมาให้ข้อมูลว่ามีผู้ชุมนุมมากกว่า 280 คนในลาซาที่ยอมจำนน ส่วนที่เหลืออีก 381 คนจากเขตงาหว่า (Ngawa) ก็ได้ยอมมอบตัวแล้วเช่นกัน


 


ชู เทา (Shu Tao) หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ท้องถิ่นอ้างรายงานจากหนังสือพิมพ์ของรัฐอย่างพีเพิลเดลี่ โดยกล่าวว่า ผู้ที่ออกมามอบตัวเกือบทั้งหมด มีแต่พระกับฆราวาสที่ถูกหลอกและถูกบังคับมา


 


สำนักข่าวซินหัวยังได้รายงานอีกว่า พนักงานอัยการของคดีความไม่สงบในลาซาได้พบหลักฐานว่ามีคน 29 คนที่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการประท้วงในทิเบตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ขณะเดียวกันทางตำรวจก็ได้ผู้ระบุต้องสงสัย 53 รายไว้ในบัญชีประกาศจับ "นักโทษสำคัญ" (Most-Wanted)


 


จีนพยายามควบคุมความสงบ


 


หลังจากที่ทางการจีนเข้าปิดล้อมกรุงลาซา เมืองหลวงของทิเบตในวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการประกาศว่า จะควบคุมวัดวาอารามให้แน่นหนาขึ้น เพื่อยับยั้งการประท้วงไม่ให้ลามไปถึงพื้นที่อื่นที่มีชาวทิเบตอยู่


 


ทางตะวันตกของมลฑลชิงไห่ เป็นสถานที่ล่าสุดที่มีการรายงานว่ามีความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ข่าวจากทางการปักกิ่งที่ได้จากการสอบถามผู้อยู่อาศัยละแวกนั้น ระบุว่ามีประชาชนกว่าร้อยคนปักหลัก "นั่ง"ประท้วงหลังจากที่มีกองทัพตำรวจมาหยุดพวกเขาไม่ให้เดินขบวนต่อ


 


ทางแหล่งข่าวได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกตำรวจได้เข้าไปทุบตีพระ ซึ่งทำให้ผู้ประท้วงที่ไม่ใช่พระเกิดความรู้สึกเดือดดาล


 


ผู้อยู่อาศัยในเขตดังกล่าวยืนยันว่ามีการชุมนุม โดยบอกว่า ทางกองทัพตำรวจได้เข้ามาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 ถึง 300 คนภายในเวลาชั่วโมงครึ่ง ก่อนที่พื้นที่นั้นจะเต็มไปด้วยกองกำลังรักษาความสงบและคนงานที่ถูกสั่งให้อยู่ภายในสภานที่ทำงาน


 


สองทัศนะเรื่องแรงจูงใจของผู้ชุมนุม : ถูกบีบคั้นจากรัฐ หรือ ต้องการฟื้นฟูสมมติเทพ?


 


ตำรวจท้องที่รายงานว่า มีการประท้วงในเขตตะวันออกของประเทศอินเดีย เมื่อชายชาวทิเบตคนหนึ่งพยายามจะจุดไฟเผาตัวเองก่อนที่เจ้าหน้าที่รักษาความสงบจะเข้ามายับยั้งเขาไว้ได้ และมีอีกกว่าร้อยคนพยายามจะพากันเดินขบวนเข้าไปในรัฐสิกขิมซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน แต่ก็ถูกยับยั้งไว้ได้เช่นกัน


 


ขณะที่กลุ่มรณรงค์เรื่องทิเบตจากวอชิงตันส่งจดหมายเวียนพูดถึงสถานการณ์ในลาซาว่า ผู้อยู่อาศัยในลาซาได้อธิบายถึงการควบคุมอย่างเข้มงวดในเรื่องศาสนา และมีความไม่พอใจที่มีกลุ่มคนจีนเชื้อสายฮั่นเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก จากทางรถไฟที่สร้างเชื่อมมาสู่เมืองห่างไกลในเขตเทือกเขานี้


 


ขณะเดียวกันก็มีผู้อธิบายเรื่องเหตุขัดแย้งในลาซาในอีกทัศนะหนึ่ง ลักปา ปันชก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทิเบตวิทยาในจีน ให้ความเห็นว่า ดาไล ลามะ เป็นผู้ยุยงให้พระลุกขึ้นมาเดินขบวนเพราะต้องการทำให้ระบบทาสติดที่ดิน (Serfdom) กลับคืนมา


 


"ถามว่าพวกเขาต้องการอะไรน่ะหรือ? มันชัดเจนมากว่าพวกเขาต้องการจะทำให้ระบอบเทวนิยมเก่ากลับคืนมาในทิเบต กลุ่มนักแบ่งแยกดินแดนรู้สึกไม่พอใจที่เทวนิยมในทิเบตหมดสิ้นไป..และพวกเขาก็ไม่มีความสุขกับการสิ้นสุดความล้าหลังของทิเบตด้วย"



 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


Boycotts punish participants: former athlete, Glen McGregor, Ottawa Citizen, 24/3/2551


Chinese rap protest in Olympic torch, BBC, 25/3/2008


Foreign press taken to Tibet, China says 660 surrendered , Peter Harmsen, AFP, 26/3/2551


Mass arrests in Tibet; Bush urges China to talk, By Benjamin Kang Lim and Lindsay Beck, Reuters, 26/3/51


Sarkozy threatens boycott of Beijing Olympic Games opening ceremony, The Times, 26/3/2551

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net