Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ห้องประชุมจุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก- รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในหัวข้อ "ปัญหาทิเบตจะดับฝันโอลิมปิกจีนจริงหรือ?" ซึ่งจัดโดย ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ว่า ที่มาของปัญหาการจราจลที่ทิเบต ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเอกราช โดยถ้าติดตามข่าวจะพบว่า มีการถกเถียงในประเด็นนี้กันมาหลายสิบปี ว่าทิเบตมีเอกราชหรือไม่


 


วรศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วทิเบตก็คล้ายกับสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย คือ ครั้งหนึ่งเคยมีอิสระ แต่ต่อมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน เมื่อไหร่ก็ตามที่ราชวงศ์จีนอ่อนแอ หรือแตกแยก ก็เริ่มมีปัญหา ดังนั้นเมื่อราชวงศ์ชิงอ่อนแอ ทิเบตก็ทำตัวเป็นอิสระ ราชวงศ์ชิงเองก็ไม่มีเวลามาสะสางปัญหาของทิเบต เนื่องจากขณะนั้นจีนถูกคุกคามโดยอาณานิคมตะวันตก คือ อังกฤษและสหรัฐฯ หลังสงครามฝิ่น


 


อย่างไรก็ตาม โดยทางพฤตินัยแล้ว ในเวลานั้น ถือว่าทิเบตมีอิสระ มีอธิปไตย แต่ไม่มีอธิปไตยทางนิตินัยเนื่องจากทิเบตไม่มีความกระตือรือล้น ที่จะดำเนินการให้มีผลทางนิตินัยในทางกฎหมายระหว่างประเทศ


 


นอกจากนั้นแล้ว มูลเหตุที่ทิเบตไม่ได้เป็นเอกราชจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่ง ก็เพราะอังกฤษและสหรัฐ เนื่องจากขณะที่จีนยังอ่อนแอนั้น ประเทศต่างๆ จะทำให้ทิเบตเป็นเอกราชก็ทำได้ แต่เพราะประเทศมหาอำนาจเหล่านี้มีสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับราชวงศ์ชิงอย่างมหาศาล หลังกบฎนักมวย ในปี 1902 ทั้ง 8 ชาติเรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่างๆ จากซูสีไทเฮา จำนวนมหาศาล ดังนั้น ถ้ามหาอำนาจทำให้ทิเบตมีเอกราชทางนิตินัย พวกเขาเองจะเสียประโยชน์


 


โดยสรุปแล้ว วรศักดิ์ จึงมองว่า ยากที่ทิเบตจะได้มาซึ่งเอกราช แม้ว่ามีชาวทิเบตอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเอกราช แต่ประเด็นนี้ ค่อนข้างล่อแหลม เพราะหากผู้ชุมนุมเรียกร้องเอกราช รัฐบาลจีนอาจจะมองว่า เป็นการก่อกบฎ และทำให้การปราบปราม เป็นเรื่องที่ "ชอบธรรม" ได้


 


สอง สิทธิเสรีภาพทางวัฒนธรรมศาสนา ในทางปฎิบัติ หมายถึงสิทธิเสรีภาพทางความเชื่อในศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธในทิเบตนั้นเต็มไปด้วยพิธีกรรม วัตรปฎิบัติประจำวัน เป็นการใช้ชีวิตปกติที่สัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นคำถามว่า จีนเข้าใจประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งจีนก็เข้าใจไปว่าพิธีกรรมของทิเบตมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง นำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพทางศาสนา ซึ่งเป็นธรรมดาที่ชาวทิเบตจะเกิดการเรียกร้องสิทธิตรงนี้ ซึ่งนำมาสู่การชุมนุม ซึ่งหากจีนปราบปรามเพราะประเด็นนี้ ก็เท่ากับกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สิทธิเสรีภาพเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักกว่าประเด็นแรก จีนจะเผชิญกับคำถามของประชาคมโลก


 


อย่างไรก็ตาม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ขณะที่ปัญหาทั้งสองประเด็นยังแก้ไม่ตก ได้เกิดปัญหาใหม่ที่น่าวิตกกว่าขึ้นมา คือความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เนื่องจากมีแนวทางเปิดให้จีนฮั่นเข้ามาค้าขายลงทุนในทิเบต ธุรกิจของจีนฮั่นมีพื้นที่ในลาซาจำนวนมาก ในกรณีที่เป็นธุรกิจที่ทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้นนั้นไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหา มีอย่างน้อยสองข้อคือ ขณะที่ชาวทิเบตมีวิถีชีวิตที่เคร่งครัด แต่ชาวฮั่นได้เปิดธุรกิจอบายมุข สถานเริงรมณ์ ขายสุรา คาราโอเกะ และหญิงบริการ รวมทั้งมีชาวจีนฮั่นจำนวนไม่น้อยที่ไปก่อปัญหา แสดงท่าทีที่เย่อหยิ่ง โดยมองว่าวัฒนธรรมของทิเบตไร้อารยธรรม ทิเบตจึงมองการเข้ามาของจีนในแง่ลบว่าเป็นการส่งคนเข้ามากลืนชาติ


 


ดังนั้น ทิเบตที่มีพื้นไม่มีเรื่องเอกราช เสรีภาพ ยิ่งรู้สึกโดนซ้ำเติม จากที่รู้สึกรังเกียจเฉพาะการปกครองของรัฐบาลจีน จึงรังเกียจชาวจีนฮั่นไปด้วย จีนฮั่นเองก็มีความจงเกลียดจงชังต่อทิเบต และเห็นว่าทางการจีนอ่อนข้อให้เทิเบตมากเกินไป ฉะนั้น เหตุผลด้านเอกราชและเสรีภาพทางวัฒนธรรมทางศาสนาที่แย่อยู่แล้ว ก็มีปัญหาความจงเกลียดจงชังทางเชื้อชาติเพิ่มเข้ามา ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น เกิดการทำร้ายและใช้กำลังในการประท้วงที่ผ่านมา


 


วรศักดิ์ สรุปว่า จากการจราจล ณ วันนี้ เขาคิดว่า โอลิมปิกจะยังดำเนินต่อไป ต่อให้ที่ทิเบตเกิดปัญหาอย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รุนแรงอย่างในปี 1980 ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งโซเวียตไปบุกอัฟกานิสถาน ทำให้สหรัฐฯ บอยคอตโอลิมปิกที่มอสโคว


 


วรศักดิ์ กล่าวว่า หากมองเฉพาะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จีนอาจได้ผลประโยชน์มากมายในฐานะเจ้าภาพ แต่ต้องไม่ลืมว่า มหาอำนาจอื่นๆ ชาติอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์จากกีฬาโอลิมปิกนี้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาของทิเบตแล้วมันต่างกันลิบลับ ไม่แน่ใจว่าต่อให้ร้านค้าของชาวจีนฮั่นที่เมืองลาซาถูกเผาไปทั้งเมือง มูลค่าที่เกิดขึ้นนั้นจะได้ครึ่งหนึ่งของผลประโยชน์ที่มหาอำนาจจะได้จากกีฬาโอลิมปิกหรือไม่เพราะฉะนั้น ถึงมองว่า ฝันโอลิมปิกไม่ถูกดับ


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net