Skip to main content
sharethis

การเมือง


 


 


สุรพงษ์หนุนแก้รธน. ฟื้นเชื่อมั่นนักลงทุน


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - "สุรพงษ์" เดินหน้ารณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ หวังปลดล็อกปัญหายุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมือง ชี้เป็นต้นเหตุการเมืองไร้เสถียรภาพ หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ระบุต้องเร่งเคลียร์ท่าทีให้ชัดเจนก่อนไปโรดโชว์ต่างประเทศปลายเดือนนี้ ด้าน "สมัคร-บรรหาร" อัดรัฐธรรมนูญต้นตอสร้างปัญหาการเมือง อดีตประธาน ส.ส.ร. "ตอกกลับ "เติ้ง-หมัก" แก้ไขรธน.หวังช่วยเหลือพวกพ้อง "สุริยะใส" ติง "หมอเลี้ยบ" ด่วนสรุปโยนบาปรัฐธรรมนูญจี้ทบทวนพฤติกรรมรัฐบาลก่อนเอารัฐธรรมนูญเป็นแพะ


 


น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชนเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกปัญหาและสร้างเสถียรภาพทางการเมือง โดยกล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ เป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เพราะมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการยุบพรรค ซึ่งขณะนี้ มีการพิจารณาคดีการยุบพรรคของสองพรรคการเมือง คือ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และ มีการคาดการณ์ว่า อาจมีการเชื่อมโยงถึงการยุบพรรคพลังประชาชนด้วย ตรงนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย


 


"ในส่วนนี้ต้องมานั่งพิจารณาอย่างมีสติและใคร่ครวญว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดขึ้นจากอะไร กรรมการการเลือกตั้งบางท่านบอกว่า ท่านไม่มีทางเลือก เมื่อกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น เป็นเรื่องที่กรรมการการเลือกตั้งต้องทำตามกฎหมาย เหมือนกับกฎหมายรัดคอไว้ ก็คงจะต้องทบทวนว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้น มีประโยชน์ในการพัฒนาการเมืองมากน้อยเพียงใด" นายแพทย์สุรพงษ์กล่าว


 


เพราะฉะนั้นน่ากลับมาทบทวนว่า การยุบพรรค ซึ่งยุบง่ายกว่าการยุบองค์กรทางธุรกิจด้วยซ้ำไป เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ และการกระทำผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ของกรรมการบริหารพรรค เป็นเหตุให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นหมื่น เป็นแสนหรือเป็นล้านคน จะต้องถูกยุบพรรคตามไปด้วย นอกจากนี้ กรรมการบริหารพรรคซึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำนั้นจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


 


"เมื่อมีคำถามเช่นนี้ ถ้าหากมองกลับไปที่สาเหตุ อาจจะต้องมีการทบทวนว่า รัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องสมควรจะมีการแก้ไขหรือไม่ ถ้ามีการแก้ไขเพื่อให้ปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ไม่มีเสถียรภาพ และไม่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้จริง ก็จะได้รับการแก้ไข เพื่อให้เกิดความมั่นใจของทุกฝ่ายมากขึ้น ส่วนกระบวนการที่จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ผมอยากจะให้เป็นเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกรัฐสภา ได้พิจารณาในเรื่องเหล่านี้ว่า จะดำเนินการอย่างไร หรือแม้แต่ประชาชนก็สามารถเข้าชื่อได้ แต่ในชั้นนี้ ถ้าต้องการให้เกิดความชัดเจน ส.ส.ควรเป็นผู้ริเริ่ม"


 


เขากล่าวด้วยว่า ถ้าเราต้องการให้เกิดความมั่นใจ เราต้องมีการพิจารณาดำเนินการอย่างรวดเร็ว และเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน ประเด็นเหล่านี้ จะต้องมีความชัดเจนก่อนเดินทางไปโรดโชว์เป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นหรือภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและตนก็ได้พบกันนักลงทุนไปบ้างแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าหลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นักลงทุนก็มาขอรับแนวนโยบายและก็เห็นชัดเจนว่าทุกคนมั่นใจ ถ้ามีปัญหาก็ต้องช่วยกันแก้ไข เราก็ต้องมีท่าทีที่ชัดเจนว่า การเมืองต้องทำให้เกิดความมั่นใจ



ประสงค์ ติงแก้เพื่อเอื้อพรรคพวก


วันเดียวกันนี้ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถามว่าจะแก้ไปเพื่ออะไรหากจะแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เชื่อว่าประชาชนคงไม่คัดค้านแต่หากจะแก้ไขเพื่อช่วยเหลือให้พวกพ้องหลุดรอดคดีอย่างนี้คงไม่ได้


 


น.ต.ประสงค์ แนะว่าให้จับตาในช่วงเดือน เม.ย.หลังเทศกาลสงกรานต์จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกด้วยน้ำมือจากคนในรัฐบาลเองที่สั่งสมความไม่พอใจจนกระทั่งคลื่นมวลชนจะออกมาแสดงพลังอีกครั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลควรดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดีกว่าออกมาประกาศว่าจะจัดม็อบออกมาต่อต้าน ซึ่งจะทำให้เหตุการณ์บานปลาย


 


น.ต.ประสงค์ กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคประชาชนจุดกระแสยุบสภา หนียุบพรรคการเมืองว่าไม่เข้าใจว่าจะเป็นการข่มขู่ตุลาการซึ่งกำลังจะพิจารณาคดีหรือไม่ แต่การจะยุบสภาเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และต้องมีเหตุผลความขัดแย้งในสภาเกิดขึ้น หากยุบสภาด้วยเพียงพอเช่นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ โดยไม่มีเหตุผลมาหักล้าง


 


"สุริยะใส" ติง "สุรพงษ์" โยนบาปรธน.


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบด่วนสรุปของ น.พ.สุรพงษ์ ที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญทำลายความเชื่อมั่นของต่างชาติและเสถียรภาพทางการเมือง เป็นการโยนบาปให้รัฐธรรมนูญด้านเดียวมากเกินไป


 


"ต้องไม่ปฏิเสธว่าภาพลักษณ์และโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลในขณะนี้เป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนไม่น้อยไปกว่าปัญหาจากรัฐธรรมนูญหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป แนวความคิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการยุบพรรคนั้น เท่ากับเป็นแนวคิดนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กับบุคคลที่ทุจริตเลือกตั้ง หากกรรมการบริหารพรรคไม่ไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต พรรคการเมืองก็ไม่ควรกลัวการโดนยุบ และกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์เต็มที่"


 


ทั้งนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ก็รู้ดีว่าสาระของพ.ร.บ.พรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ ว่าเป็นยาแรงกว่าที่ผ่าน ๆ มา นักการเมืองและพรรคการเมืองเมื่อลงสนามก็ต้องเคารพกติกา


 


ส่วนตัวไม่ได้ค้านการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เพราะก็เห็นประเด็นปัญหาหลายจุดที่สมควรปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่จะมาเสนอแก้กันง่าย ๆ และแก้เฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์ของนักการเมืองแต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย แบบนี้ไม่เหมาะสม ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการลงประชามติของคนทั้งประเทศ หากจะแก้ไขก็ต้องมีกระบวนการที่ชอบธรรม โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายรวมทั้งการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างเป็นวิชาการไม่ใช่เอาความต้องการของนักการเมืองเป็นตัวตั้ง หากไม่ระมัดระวังอาจจะเป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน


 


 


"สมัคร"ดึงทหารร่วมทุนฟื้น3จว.ใต้


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - "สมัคร" ผุดไอเดียดึงทหารร่วมทุนเอกชนลงทุนพื้นที่สามจังหวัดใต้ สร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยต่อภาคเอกชน ดึง "สงขลา-สตูล" เขตกันชนและบรรเทาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ประธานส.อ.ท.เสนอ 4 ประเด็น รัฐเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ประกันภัย เพิ่มเครื่องตรวจวัตถุระเบิดในพื้นที่เสี่ยง และแรงงาน


 


นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ (กพต.) วานนี้ (21 มี.ค.) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ พบที่ผ่านมาภาคเอกชน เช่น บริษัท ห้างร้าน หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่กล้าเข้าไปลงทุน ที่ประชุมเห็นชอบให้ทหารร่วมกับภาคเอกชนเข้าไปลงทุนตั้งกิจการ หรือโรงงานอุตสาหกรรมในลักษณะรัฐวิสาหกิจ


 


"ตอนนี้บริษัท ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรม ไม่กล้าลงทุน จะขอให้เป็นอุตสาหกรรมของทหาร เช่น องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป (อสร.) ซึ่งทหารเป็นเจ้าของลงพื้นที่ไปลงมือทำเหมือนเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยเอกชนถือหุ้น 49% ส่วนทหารถือ 51% เพื่อพัฒนาที่ดังกล่าว ส่วนการสร้างถนนที่เอกชนประมูลได้ไป แต่บริษัทเอกชนไม่ยอมไปก็ให้ทหารช่างเป็นผู้ลงไปดำเนินการแทน" นายสมัคร กล่าว


 


นายสมัคร กล่าวว่ารัฐบาลจะใช้พื้นที่จ.สงขลาและจ.สตูล เป็นตัวช่วยบรรเทาปัญหาพื้นที่สาม จังหวัดชายแดนภาคใต้กับอีก 4 อำเภอในจ.สงขลา โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดทำแผนโครงการและกรอบงบประมาณ การดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตามกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้าน


 


"เศรษฐกิจในพื้นที่ตอนนี้ไปไม่ถึงไหน มีแต่การจ่ายเงินพิเศษ แต่รายได้ประชาชนไม่มี เราจะทำส่วนที่แห้งแล้งให้สดชื่น ทำทุกอย่างให้ปฏิบัติการได้ คนทำเขาขอเวลา 45 วันไปทำแผน แต่ผมบอกเลยว่าไม่ได้ ต้องนำเรื่องนี้เข้าครม.ให้เร็วที่สุด ให้ใช้งบที่เหลือของปี 2551 ไปก่อน ต้องทำให้กระฉับกระเฉง" นายสมัคร กล่าว


 


นอกจากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดบทบาทการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ ตามศักยภาพและโอกาสการพัฒนาในพื้นที่ โดยจ.สงขลาและจ.สตูล ให้เป็นศูนย์เชื่อมโยงขนส่งสินค้าภายในและระหว่างประเทศ ศูนย์กลางยางพาราโลก ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ และศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกีฬาระดับสากล จ.ปัตตานี เน้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและศูนย์กลางอิสลามศึกษา ส่วนจ.ยะลา เป็นศูนย์กลางการเกษตรและตลาดสินค้าเกษตร และจ.นราธิวาส เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านตะวันออกของมาเลเซีย


 


นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังร่วมประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษฯว่า ภาคเอกชนพอใจกับผลการประชุมเพราะเรื่องที่คั่งค้างอยู่ สามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น มีความชัดเจนและมีผู้รับผิดชอบตรงตัว ส.อ.ท.จะนำรายละเอียดทั้งหมดไปแจ้งให้สมาชิกทั่วประเทศทราบเพื่อกำหนดท่าทีในการตัดสินใจต่อไป


 


ส่วนข้อเสนอของนายสมัคร เกี่ยวกับการให้เอกชนเข้าร่วมทุนกับทหาร เพื่อเข้าไปดำเนินการต่างๆ ในภาคใต้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่คงต้องไปหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการเข้าร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อดำเนินการต่างๆ ในภาคใต้นั้น หากเป็นในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ หรือส่วนราชการ อาจทำให้เกิดความไม่คล่องตัว


 


ปัญหาในภาคใต้นั้น มีทั้งเรื่องที่มาจากความไม่สงบโดยตรง และมาจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากปัญหาราคาน้ำมันที่แพง ซึ่งได้เสนอให้นายกฯ เร่งแก้ไขปัญหาใน 4 ประเด็น คือ 1.ให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งปลากระป๋อง และปลาป่น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่มีกำลังผลิตได้เพียง 20% เท่านั้น เมื่อขาดวัตถุดิบ ปัญหาต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำแข็งก็เริ่มทยอยปิดตัวเหลือเพียง 50% พบว่าบางโรงงานถึงขั้นปิดวันเว้นวัน เป็นต้น


 


2.ขอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปัญหาการทำประกันภัย เนื่องจากพบว่าบริษัทประกันภัย บางรายไม่รับประกัน แม้บางแห่งจะเปิดรับประกันก็ต้องชำระเบี้ยประกันในอัตราที่สูงมาก ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะทนแบกรับภาระตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การรับประกันในพื้นที่ยังไม่มี จึงต้องเดินทางมาทำประกันในจังหวัดอื่น ทั้งที่พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียง


 


3.ขอให้รัฐบาลเพิ่มอุปกรณ์เครื่องตรวจอาวุธและระเบิดในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และเพื่อป้องกันทรัพย์สินของประชาชน เพราะมีจำนวนน้อยมาก ไม่เพียงพอกับการใช้ในพื้นที่ เนื่องจากหากมีเครื่องมือเพิ่มขึ้นจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการได้ และ 4.ปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้นบางโรงงานลดคนงานจำนวนมาก และแรงงานส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้บางโรงงานต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อรักษาแรงงานไว้


 


ทั้งนี้ในที่ประชุมนายกฯรับปากที่จะไปเจรจากับอินโดนีเซีย ขอให้เปิดน่านน้ำให้กับไทย เพื่อให้การหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานปลาป่นได้มากขึ้น ส่วนปัญหาการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 3% แต่เอกชนยังต้องเสียภาษีครึ่งปีเต็มจำนวนนั้น กระทรวงการคลังยืนยันว่า กรมสรรพากรได้คืนภาษีทั้งหมดให้ผู้ประกอบการแล้ว ส่วนเบี้ยประกันภัยที่ขอให้นายกฯ ช่วยดูแล เพราะบริษัทประกันภัยไม่รับทำประกัน และค่าเบี้ยแพง ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เสนอให้เอกชนรวมกันจัดทำประกันภัยแบบกลุ่มเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ต้องหารือให้ชัดเจนก่อนว่าจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด


 


นายสันติ กล่าวว่า นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ยังแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 3% มีผลบังคับแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนในสามจังหวัดชายแดนไม่ต้องจ่ายภาษีก่อนแล้วขอคืนภายหลัง


 


ด้านนางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 5 ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ ได้แก่ 1.การคุ้มครองความปลอดภัย การอำนวยความเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และการสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนกลุ่มเสี่ยง มีแนวทาง เช่น การส่งเสริมประสิทธิภาพงานยุติธรรม การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ และป้องกันปัญหายาเสพติดจริงจัง


 


2.การแก้ปัญหาความยากจนและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ในการพึ่งพาตัวเอง เช่น 3.การพัฒนาคุณภาพคนเพื่อสร้างโอกาสการยกระดับคุณภาพชีวิต 4.การเสริมสร้างความเข้มแข็งฐานเศรษฐกิจของพื้นที่และการพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ 5.การบริหารจัดการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจฯ เร่งปรับปรุงและการจัดทำกฎระเบียบเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นอกจากนี้ ได้มีการเสนอให้ตั้งสำนักงานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขยายขอบเขตการให้ค้ำประกันสินทรัพย์ให้ครอบคลุมทุกธุรกิจไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรม พร้อมขอให้รัฐรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันครึ่งหนึ่ง ปัจจุบัน บสย.คิดอัตรา 1.75% ต่อปีของวงเงินที่ค้ำประกัน


 


นางสาวศุภรัตน์ กล่าวว่าที่ประชุมสั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาแนวทางที่จะให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ เช่น บริษัท ก.จะต้องเสียภาษี 700 ล้านบาท แต่หากบริษัทนำเงินที่ต้องเสียภาษีจำนวน 200 ล้านบาท มาลงทุนทำธุรกิจและก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ให้บริษัทนั้นๆ เสียภาษีเพียง 500 ล้านบาทนั้น หรืออาจพิจารณาให้สิทธิการลงทุนเป็นกรณีพิเศษแก่บริษัท


 


ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเสนอรัฐบาลเร่งเจรจาประเทศเพื่อนบ้านกรณีน่านน้ำทำประมง เช่น พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสัตว์น้ำ ปัจจุบันพบว่าโรงงานอาหารทะเลบรรจุกระป๋องใน 4 โรงงานใหญ่ กำลังผลิตรวม 480 ตันต่อวัน แต่มีวัตถุดิบป้อนเพียง 100 ตันต่อวัน หรือโรงงานปลาป่น 7 โรงงาน กำลังผลิตรวม 1.24 พันตันต่อวัน แต่มีวัตถุดิบเพียง 149 ตันต่อวัน


 


 


"หมอวินัย" ขึ้นแท่นเลขาฯ สปสช.ชูอุ้มผู้ยากไร้เข้าถึงบริการสุขภาพ


เว็บไซต์คมชัดลึก - บอร์ด สปสช.ลงมติเลือก "หมอวินัย" เป็นเลขาธิการ สปสช. ต่อจาก "หมอสงวน" หลังประกาศนโยบายช่วยเหลือผู้ยากไร้-ด้อยโอกาสเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืน


 


นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติเลือก นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทนตำแหน่งเดิมที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เสียชีวิตลง ทั้งนี้ นพ.วินัย ได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช. ก่อนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช. โดยจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. เป็นคนที่ 2 นับตั้งแต่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นในปี 2546 ซึ่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 34 กำหนดให้เลขาธิการ สปสช. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน


 


ศ.นพ.อมร นนทสุต ประธานคณะกรรมการสรรหา และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการ นพ.วินัย ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ยึดผลประโยชน์ของส่วนรวม เน้นผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้เป็นหลัก เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืน ประชาชนสามารถเข้าถึงและผู้ให้บริการมีความสุข โดยกำหนดเป็นนโยบาย 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนางานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน 2.การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและผู้ให้บริการมีความสุข โดยสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิระดับสูง เน้นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ภาวะฉุกเฉิน โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เน้นการมีแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัวในศูนย์แพทย์ชุมชน 3.การทำงานกับหน่วยงานและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น และประชาชนมีบทบาทร่วมพัฒนา สร้างความเป็นเจ้าของ และ 4.การพัฒนาองค์กร สปสช. เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


 


สำหรับประวัติ นพ.วินัย นั้น เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2497 จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2522 เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร พ.ศ.2536 ซึ่งในช่วงนี้ นพ.วินัย ได้ทำโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข (Health Care Reform) ร่วมกับ นพ.สงวน ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ.2541 รองอธิบดีกรมการแพทย์ พ.ศ.2543 รองเลขาธิการ สปสช. พ.ศ.2546 และได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช. เป็นคนที่ 2


 


 


ขีดเส้นสอบ 45 วัน"รสนา-กมล"นั่งกมธ.สอบซื้อเสียงปธ.วุฒิฯ


เว็บไซต์คมชัดลึก - มติที่ประชุมวุฒิสภา122 ต่อ 11 เสียง ตั้ง กมธ.สอบซื้อเสียงประธานวุฒิสภา เร่งสอบสวน 45 วัน "รสนา-พ.ท.กมล" นั่ง กมธ.ตามคาด "พล.ต.ต.ขจร" ระบุผิดอาญา บี้ให้แจ้งความตำรวจ ชี้ไม่ยากสาวถึงตัวบงการ


 


นายประสพสุขบุญเดช ทำหน้าที่ในฐานะประธานวุฒิสภาครั้งแรกในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญทั่วไป ซึ่งที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบให้มีการประชุมทุกวันศุกร์ เวลา 09.30 น. ทั้งนี้ นายประสพสุข ขออย่าประชุมกรรมาธิการในวันดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 กำหนดว่าองค์ประชุมต้องเกินกึ่งหนึ่ง


 


ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการ15 คน เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ แทนนายนิยม รัฐอมฤต และนายจำนง เฉลิมฉัตร ที่หมดวาระลง มีกำหนด 45 วัน


 


การพิจารณาญัตติของนายวิเชียรคันฉ่อง ส.ว.ตรัง ที่เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาสอบสวนการให้ค่าตอบแทนตำแหน่งประธานวุฒิสภานั้น พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ ส.ว.หนองคาย อภิปรายว่า เรื่องดังกล่าวยอมความไม่ได้ เพราะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น ต้องแจ้งความตำรวจด้วย ไม่เช่นนั้นถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ซึ่งเชื่อว่าพนักงานสอบสวนสามารถสอบสวนหาผู้กระทำความผิดได้ จากเบอร์โทรศัพท์ได้ไม่ยาก


 


ด้านนายประวัติทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม ยืนยันว่า ไม่ใช่อดีตนักการเมือง ป. ตามที่ลงข่าวว่าเป็นคนจ่ายเงิน


 


หลังจากนั้นที่ประชุมมีมติ122 ต่อ 11 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการ 15 คน เพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จใน 45 วันได้แก่ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ ส.ว.สรรหา พ.ต.ท.คมกฤช ไวสืบข่าว นายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล นายวิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร ส.ว.สรรหา พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ส.ว.สรรหา


 


พล.ต.ท.จิตต์ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร นายสงคราม ชื่นภิบาล น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายภิญโญ สายนุ้ย ส.ว.กระบี่ พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ ส.ว.หนองคาย นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา และนายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ 15 คนยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 23 คน อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา นางจิราวรรณ จงสุทธนามณี วัฒนสิริธร ส.ว.เชียงราย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ซึ่งกำหนดดำเนินการ 30 วัน เพื่อให้ทันตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ ก่อนปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปวันที่ 19 พฤษภาคม


 


 


 


เศรษฐกิจ


 


 


อัดเงินหมู่บ้านกว่า1.8หมื่นล้าน ของบกลางหนุน3.6พันล้าน-เดือนพ.ค.ได้ครบทุกแห่ง


เว็บไซต์คมชัดลึก - นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชนที่ดำเนินโครงการเอสเอ็มแอลได้ข้อสรุปงบประมาณที่จะจัดสรรให้แก่หมู่บ้านต่างๆ แล้ว จำนวน 18,687 ล้านบาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า พร้อมกับเสนอให้ยุบโครงการอยู่ดีมีสุขของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อโอนเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทมาใช้ในโครงการดังกล่าวแทน ส่วนการจัดสรรเงินให้โครงการเอสเอ็มแอล ขึ้นอยู่กับขนาดของหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็จะขออนุมัติในหลักการเพื่อขอเบิกจ่ายเพิ่มเติมกว่า 3,600 ล้านบาท มาใช้ในส่วนที่เหลือ


 


ทั้งนี้ หมู่บ้านที่มีประชากร 1-50 คน จะได้รับเงิน 5 หมื่นบาท หมู่บ้านขนาด 51-100 คน จะได้รับเงิน 1 แสนบาท หมู่บ้านขนาด 101-200 คน หรือได้รับเงิน 1.5 แสนบาท ส่วนหมู่บ้านขนาด 201-500 คน หรือเอส ได้รับเงิน 2 แสนบาท หมู่บ้านขนาด 501-1,000 คน หรือเอ็ม ได้รับเงิน 2.5 แสนบาท หมู่บ้านขนาด 1,001-1,500 คน หรือแอล ได้รับเงิน 3 แสนบาท และขนาด 1,500 คนขึ้นไป หรือเอ็กซ์แอล ได้รับเงิน 3.5 แสนบาท ซึ่งถือเป็นการจัดสรรเงินช่วงแรก แต่ปีที่ 3 อาจปรับเพิ่มเป็น 3-5-7 แสนบาท เพราะต้องการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เข้มแข็งก่อน และไม่ได้ทำผิดสัญญาอะไรที่ให้ไว้ต่อประชาชนช่วงที่หาเสียง


 


นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบหมู่บ้านผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายน และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมเงินจะเข้าสู่ระบบครบทั้งหมด 7.8 หมื่นหมู่บ้าน เชื่อว่าในช่วงสงกรานต์ ประชาชนที่จะเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาจะกลับไปช่วยจัดทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อจัดทำโครงการต่างๆ ที่จะหารายได้เสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมาเสนอให้รัฐบาล


 


"การจัดสรรเงินดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาภายในและต่างประเทศ ทั้งปัญหาน้ำมันแพง ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอตัว" นพ.สุรพงษ์กล่าว


 


ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของรัฐบาลในเรื่องการลดภาษีที่ออกมา สามารถรองรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐได้ระดับหนึ่ง เพราะมาตรการถูกออกแบบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภค การลงทุน ของประชาชนและภาคเอกชน ด้วยการลดภาระภาษี


 


 


ธปท.อุ้มเอสเอ็มอี ซมพิษ"บาทแข็ง" เล็งปรับเงื่อนไข ในการให้สินเชื่อ


เว็บไซต์แนวหน้า - "แบงก์ชาติ"เตรียมปรับเงื่อนไขโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ "เอสเอ็มอี"ที่เจอพิษค่าเงินบาท หลังเจออุปสรรคหยุมหยิม ส่งผลให้ยอดขอสินเชื่อมีเพียง 600 ล้านบาท จากวงเงินโครงการ 5,000ล้านบาท


 


ผู้สื่อข่าวจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า ธปท. จะปรับปรุงเงื่อนไข และวงเงินให้สินเชื่อในโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท โดยธปท.จะปรับปรุงเงื่อนไขและวงเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น หรือจากเดิมที่กำหนดให้ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ที่เข้าข่ายสามารถขอสินเชื่อได้ในวงเงิน5 ล้านบาทให้แก่ คณะกรรมการธปท.(กกธ.)พิจารณา ส่งผลให้ยอดอนุมัติสินเชื่อไปเพียง600 ล้านบาทเท่านั้นถือว่าน้อยมาก


 


"ผู้ประกอบการธุรกิจ เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ต่างมองว่าโครงการนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องของต้นทุนแพง จึงเตรียมนำเสนอโครงการนี้เข้าบอร์ดกกธ.ใหม่ ซึ่งจะมีการปรับปรุงทั้งเงื่อนไขในส่วนของเอกสารที่หลายฝ่ายมองว่ายุ่งยาก รวมทั้งวงเงินการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านบาท ส่วนจะได้วงเงินเท่าใดนั้นต้องรอให้บอร์ดกกธ.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ" แหล่งข่าวธปท.กล่าว


 


แหล่งข่าวธปท.กล่าวว่า สำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตวงเงิน 40,000 ล้านบาทนั้น ซึ่งออกมาหลังจากมีการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%ของเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น โดยขณะนี้ธปท.ได้มีการเรียกตัวแทนระดับเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมารับทราบถึงเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ของโครงการนี้ โดยคาดว่าโครงการนี้จะสามารถเดินหน้าได้ในเร็วๆ นี้


 


"โครงการนี้ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งถึงจะเดินหน้าได้เพราะแบงก์ต้องกลับไปทำความเข้าใจกับรายละเอียดการคัดเลือกลูกค้าใหม่ รวมทั้งการพิจารณาโครงการต่างๆที่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีจะนำมาเสนอขอสินเชื่อด้วย"


 


 


คลังล้มโครงการยุค"ขิงแก่"


เว็บไซต์แนวหน้า - ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


 


นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการเร่งรัดโครงการ SML ตามนโยบายรัฐบาล โดยใช้งบประมาณ ทั้งสิ้น 18,687 ล้านบาทให้กับหมู่บ้าน และชุมชนเมือง 78,358 แห่ง ตามรายงานเมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 โดยเป็นการจัดสรรให้กับหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามระดับ 7 ขนาด ได้แก่


 


ระดับ พ.1 ถึง พ.3 ประชาชนตั้งแต่ 101-200 คน จะได้งบประมาณ 1.5 แสนบาท ขนาดที่สอง ระดับ S ประชาชน 201-500 คน ได้งบประมาณ 2 แสนบาท ขนาดที่สาม ระดับ M ประชาชน 501-1,000 คน ได้งบประมาณ 2.5แสนบาท ขนาดที่สี่ ระดับ L ประชาชน 1,001-1,500 คน ได้งบประมาณ 3 แสนบาท และขนาดที่ห้า ระดับ XL ประชาชน1,500 คนขึ้นไปจะได้งบประมาณ 3.5 แสนบาท ซึ่งขณะนี้มีหมู่บ้านและชุมชนเมืองอยู่ในข่าย XL จำนวน 3,117 หมู่บ้านและชุมชน


 


"ผมจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ โดยจะเสนอให้ยุติโครงการ "อยู่ดีมีสุข" ของรัฐบาลที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่า โครงการอยู่ดีมีสุขค่อนข้างจะเป็นโครงการที่เลือกปฏิบัติ แต่โครงการ เอสเอ็มแอล จะเปิดโอกาสให้ทุกประชาคมสามารถเข้าถึงงบประมาณ จะไม่มีการแกนนำหมู่บ้านมาคิดโครงการกันเอง"นพ.สุรพงษ์กล่าว และว่า ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้โอนงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทที่กระทรวงมหาดไทย เบิกจ่ายไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงมือประชาชน เพื่อทำให้สอดคล้องกับโครงการ SML ซึ่งจะเสนอครม.ให้อนุมัติงบกลางอีก 3,000 ล้านบาท


 


ทั้งนี้จะเริ่มโครงการด้วยการประชัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆและคาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา จะมีการพบปะกันของชุมชนเพื่อทำการเลือกประชาคมหมู่บ้านและได้โครงการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาชีพ โดยหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีโครงการที่ชัดเจนก่อนที่สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายน ธ.ออมสิน และ ธกส. จะปล่อยเงินไปสู่ประชาคม เพื่อเริ่มโครงการในหมู่บ้านและชุมชนซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินจะถึงประชาชนในเดืนอพฤษภาคม


 


ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ยังปฏิเสธว่า แม้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จะเคยเสนอนโยบายว่าจะเพิ่มเงินกองทุน SML ในระดับ 3-5-7 แสนบาท ตามลำดับ แต่เชื่อว่าสามารถทำได้แต่ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะมีการผลักดันเงินงบประมาณไปยังโครงการ SML ได้อีก 2-3 รอบของช่วงรัฐบาลนี้


 


นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยปี 2551 นี้น่าจะเติบโตได้ 4.5-5.5% โดยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มมีมาจากปี 2550 อีกทั้งในปีนี้จะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกกะโปรเจคท์ของภาครัฐ จึงทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่ต้องจับตาและเฝ้าระวัง คือการเพิ่มขึ้นของระดับเงินเฟ้อ โดยล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.4% ซึ่งสูงจากกลางปีก่อนที่ระดับกว่า 1% จึงถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สุดที่มีผลต่อเงินเฟ้อในปัจจุบันคือราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น


 


นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันนี้ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมานั้นถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้การนำเข้าน้ำมันถูกลง และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงมากเท่าช่วงกลางปีก่อนที่ผ่านมา


 


ท้ายสุด คาดการณ์ถึงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 9 เมษายนนี้ว่า ทิศทางยังดูยากว่า กนง.จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยไปในทิศทางใด เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นได้ แต่ก็จะทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไทยมากขึ้นพอสมควร อันเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงกว่าสหรัฐ 1.00% ในขณะเดียวกันก็จะเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้ กนง. มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทั้งด้านบวกและด้านลบดังกล่าวมีน้ำหนักเท่ากันจึงต้องติดตามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะให้น้ำหนักในด้านใดมากกว่ากัน แต่มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ระดับ 3.25% ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้


 


 


กองทุนฟื้นฟูตั้งบล.ภัทร รับดีลขายหุ้นแบงก์ไทย


เว็บไซต์ไทยโพสต์ - กองทุนฟื้นฟูฯ เลือก บล.ภัทรเป็นที่ปรึกษาการเงิน ขายหุ้นไทยธนาคาร คาดรู้ผล 6 เดือน นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกองทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


 


ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ มีมติเลือก บล.ภัทรเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขายหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารไทยธนาคาร (BT) ในสัดส่วน 42.13%


 


ทั้งนี้ บล.ภัทรจะเข้ามาศึกษากลยุทธ์การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารไทยธนาคาร การให้คำปรึกษาและสรรหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่เหมาะ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเงินทุนและทำให้ฐานะของธนาคารแข็งแกร่งแก่กองทุนฟื้นฟูฯ คาดรู้ผลภายใน 6 เดือนทั้งนี้ ท้ายที่สุดคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสมแก่ธนาคารไทยธนาคาร ซึ่งอาจจะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำจาก บล.ภัทรก็ได้


 


"แนวทางที่เกิดขึ้นจะเป็นอะไรก็ได้ อาจเป็นการขายทั้งหมด ขายบางส่วน การผู้ร่วมทุน หรือการใส่หุ้นเพิ่มทุน ซึ่งมีแนวทางที่หลากหลายขึ้นอยู่กับคำแนะของที่ปรึกษา โดยคาดว่ารายละเอียดทั้งหมดจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือน และในเดือนมิถุนายนนี้จะทราบรายชื่อชัดเจนของพันธมิตรที่จะมาร่วมทุน" นางทองอุไรระบุ


 


อย่างไรก็ตาม กองทุนฟื้นฟูฯ ยังยืนยันนโยบายการลดสัดส่วนการถือหุ้นที่อยู่ในสถาบันการเงินทั่ง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไทยธนาคาร ก่อนปิดกองทุนฟื้นฟูฯ ในปี 2556


 


นางทองอุไรกล่าวยืนยันว่า ฐานะธนาคารไทยธนาคารยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และมีงบดุลที่ดีโปร่งใสเป็นที่ต้องการของนักลงทุนต่างชาติ ติดปัญหาเพียงการลงทุนใน CDO แต่ล่าสุดได้มีการกันสำรองเกินกว่า 50% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด


 


 


 


ต่างประเทศ


 


 


ภูฏานเตรียมเลือกตั้งจันทร์นี้หวั่นประชาธิปไตยทำลายประเทศ


เว็บไซต์คมชัดลึก - ทิมพู-ภูฏานเตรียมเลือกตั้งจันทร์นี้ ปิดฉากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแถบหิมาลัย ประชาชนหวั่นประชาธิปไตยทำลายวัฒนธรรม


 


สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันศุกร์ (21 มี.ค.) ว่า ชาวภูฏาน ประเทศเล็กๆ ในเทือกเขาหิมาลัย กำลังจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ในวันจันทร์นี้ ท่ามกลางความหวั่นวิตกของประชาชนที่ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันจะถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ปกครองอยู่ ไปเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างเต็มตัว


 


ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์คุนเซล ในภูฏาน กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากหวั่นกลัวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ เนื่องจากราชวงศ์ปกครองประเทศได้อย่างดีเยี่ยมตลอดมา ประกอบกับได้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หากแต่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น หรือวิตกว่า ระบอบการปกครองใหม่จะทำลายวัฒนธรรมของประเทศ


 


นอกจากนี้ บางคนเกรงว่า ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งความวุ่นวายเหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ จนอดวิตกไม่ได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศสงบสุข กลายเป็นประเทศวุ่นวายแบบเดียวกับประเทศอื่นๆ บางคนยอมรับด้วยว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง เพราะเป็นห่วงว่าจะไม่มีใครดูแลวัว เนื่องจากต้องใช้เวลาเดินทางไปคูหาเลือกตั้งถึง 3 วัน


 


นอกจากเรื่องประชาชนไม่สนใจการเลือกตั้งแล้ว ทางการยังต้องวิตกเรื่องความปลอดภัยด้วย เนื่องจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายครั้ง โดยล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า ทั้งหมดเป็นฝีมือของกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเนปาล


 


นายคุนซัง วังดี ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า กลุ่มคนที่ก่อกวนการเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นกลุ่มชาวเนปาลนับหมื่นคนทางตอนใต้ของภูฏาน ที่หนีการรณรงค์เรื่องชาตินิยมของภูฏานไปอยู่ในค่ายลี้ภัยที่เนปาล ซึ่งทางการได้วางกำลังตำรวจไว้คอยรักษาความปลอดภัยกว่า 1 หมื่นคนแล้ว นอกเหนือจากมีแผนปิดพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมต่อกับอินเดียในวันเลือกตั้ง เพื่อป้องกันกลุ่มติดอาวุธจากอินเดียข้ามแดนมาก่อเหตุความไม่สงบด้วย


 


ในส่วนพรรคการเมืองนั้น มีเพียงแค่ 2 พรรค ได้แก่ พรรคสหภูฏาน (ดีพีที) และพรรคประชาธิปไตยประชาชน (พีดีพี) ที่กำลังพยายามรณรงค์หาเสียงอย่างหนักให้คนออกไปใช้สิทธิ โดยผู้สมัครซึ่งส่วนใหญ่มีตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งราชการอยู่แล้ว ต้องเดินเท้าถึง 10 วันบนเขาเพื่อกระตุ้นให้คนออกไปใช้เลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมามีออกไปทดลองใช้สิทธิเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น


 


 


 


พลังงาน สิ่งแวดล้อม


 


 


กฟผ.ลุ้นเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน


เว็บไซต์ไทยโพสต์ - นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า ภายในสิ้นปี 52 นี้จะต้องตัดสินใจแล้วว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศหรือไม่ เพราะตามแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงแรกของ กฟผ.จะเข้าระบบในช่วงปี 58 โดยจะดูจากเรื่องพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า และต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ รวมทั้งต้องไม่มีความขัดแย้งกับชุมชนด้วย แต่หากไม่สามารถหาพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศได้ ก็คงจะต้องหาทางเลือกอื่น เช่น ขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 ขนาด 800 เมกะวัตต์หรือซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่น โครงการเขื่อนฮัดจีย์ในพม่าที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กันแล้วขนาด 1.4 พันเมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกงในพม่าด้วย


 


นายสมบัติกล่าวว่า ในช่วงสิ้นปี 51 นี้จะมีการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรงคือ โรงไฟฟ้าวังน้อยยูนิต 4 ที่จะเข้าระบบในช่วงปลายปี 55 และโรงไฟฟ้าบางประกงยูนิต 6 ที่จะเข้าระบบในช่วงปี 56 รวมมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงนี้อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2007) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีการลงทุนระบบไฟฟ้าทั่วประเทศทั้งในส่วนของ กฟผ.และเอกชน 2 ล้านๆ บาท เมื่อสิ้นแผนพีดีพีปี 64 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มรวมประมาณ 4 หมื่นกว่าเมกะวัตต์


 


 


 


การศึกษา


 


 


"สมัคร"ไฟเขียวกองทุนกู้เรียน กรอ.


เว็บไซต์สยามรัฐ - เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเรื่องการกู้เงินเพื่อการศึกษาเข้าหารือ และพิจารณาได้ข้อสรุปในหลักการว่า ปีการศึกษา 2551 จะดำเนินการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คู่ขนานกันไป โดยในส่วนของ กรอ.จะให้กู้เฉพาะสาขาที่เป็นความต้องการสูงของตลาดแรงงาน ส่วนผู้กู้ไม่มีการจำกัดรายได้ของครอบครัว


 


สำหรับระเบียบเงื่อนไขการชำระคืน ให้เป็นแบบ กยศ.ส่วนว่าจะกู้ในสาขาใดได้บ้าง จำนวนผู้กู้เท่าไหร่ และจะใช้งบประมาณเท่าใดนั้น จะมีการหารือร่วมกับระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สศช.และ กรอ.ต่อไป ส่วนในอนาคตจะมีการนำข้อดีและข้อเสียของกรอ.และ กยศ.มารวมกัน เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้รองรับกับการกู้แบบ กรอ.ต่อไป


 


"ในที่ประชุมท่านนายกฯ ได้เน้นย้ำขอให้มีการแนะแนวให้ความรู้แก่นักศึกษาว่าสาขาใดกู้ กรอ.ได้ หรือกู้ไม่ได้ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักศึกษาตัดสินใจเลือกเรียนได้ถูก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ขอให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบต่อไปในวันที่ 25 มี.ค.นี้" นพ.ธาดา กล่าว


 


 


 


ไอที


 


 


ไอซีทีลั่น6เดือนคลอด3จี'ทรู'จ๋อยไร้คลื่น


เว็บไซต์ไทยโพสต์ - นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า มีแผนให้ไทยเข้าสู่ระบบ 3 จี ภายใน 6-12 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และผู้ให้บริการซึ่งพร้อมสนับสนุนและร่วมลงทุน โดยเตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลด้วย


 


นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กสทฯ จะร่วมมือกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "ดีแทค" พัฒนาคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการระบบ 3 จี ส่วนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อพัฒนาคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งการเลือกทั้ง 2 คลื่นเนื่องจากมีอุปกรณ์รองรับการให้บริการมากกว่าย่านความถี่อื่น


 


ส่วนบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือฮัทช์ อยู่ระหว่างการเจรจา หากการเจรจาสำเร็จจะทำให้สถานีฐานในการให้บริการลูกค้าในระบบ 3 จีมีมากขึ้นถึง 9 พันสถานีฐาน เนื่องจากระบบซีดีเอ็มเอ 25 จังหวัดของฮัทช์มี 3 พันสถานีฐาน และในส่วนของทรูมูฟมีสถานีฐานจำนวน 6 พันสถานีฐาน


 


นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้าบริษัทได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ จาก กสทฯ ก็พร้อมพัฒนาโครงข่ายให้เข้าสู่ระบบ 3 จีทันที เนื่องจากปัจจุบันทรูมูฟใช้คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net