Skip to main content
sharethis

พระทิเบตจุดธูปจุดประทัดประท้วงอยู่ห่าง ๆ


ที่เขตตงเหริน (Tongren) ประเทศจีน พระทิเบตนั่งลงอย่างเงียบๆ ที่ลานใกล้ๆ กับอารามร้าง เขาและพระกลุ่มนี้ต่างจำต้องเปล่งคำพูดประโยคหนึ่งออกมาซ้ำๆ อย่างขมขื่น พวกเขาถูกบังคับจากชั้นเรียนที่จัดตั้งโดยรัฐบาลให้พูดประโยคเดิมซ้ำๆ ว่า "ฉันรักประเทศนี้"


 


พระเหล่านี้ได้รับการบังคับให้ต้องเรียนใน "ชั้นเรียนชาตินิยม" มานับสิบปีแล้ว กระนั้น พระอ่อนพรรษา ในวัดที่เก่าแก่กว่าศตวรรษอย่าง อารามหรงหวู่ (Rongwu) ยังคงสามารถพูดสิ่งที่พวกเขาคิดให้กับนักข่าวฟังได้


 


พระรูปหนึ่งกล่าวว่า "พวกเราต้องการอิสรภาพ พวกเราต้องการให้ดาไล ลามะ กลับมายังดินแดนแห่งนี้"


 


อารามหรงหวู่ตั้งอยู่ที่เมืองกลางหุบเขาชื่อตงเหริน (Tongren) ในมลฑล ชิงไห่ ราวๆ 600 ไมล์เหนือขึ้นไปจาก ลาซา เมืองที่มีการประท้วงรัฐบาลและถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ส่วนเมืองตงเหรินนั้นเป็นเมืองที่มีการผสมผสานกันระหว่างประชากรชาวทิเบตกับชาวจีนชาติพันธุ์


 


เจ้าอาวาสของวัดนี้สั่งห้ามไม่ให้พระประท้วง โดยให้เหตุผลว่า การเข้าร่วมในขบวนการลุกฮือขึ้นของชาวทิเบตนั้นจะเป็นแค่การทำร้ายพวกเขาเปล่า ๆ


 


เมื่อพระอ่อนพรรษาถูกถามว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ ความรู้สึกทุกข์ทรมานก็แสดงออกมาจากสีหน้าของพระรูปดังกล่าว เขากดนิ้วโป้งลงบนริมฝีปากขณะขบคิด และตอบออกมาในที่สุดว่า "หากผมไม่เห็นด้วยแล้ว มันก็ไม่อะไรที่ผมจะทำได้อยู่ดี"


 


พระเองก็เช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นๆ ในเขตพื้นที่นี้ พวกเขากลัวที่จะบอกชื่อกับนักข่าวต่างชาติ


 


ขณะเดียวกันก็มีแม่ชีชือ ชวน (Shi Chuan) แม่ชีจากไต้หวันที่มาเยี่ยมอารามหรงหวู่เมื่อเดือนที่แล้ว ออกมาให้ข้อมูลว่า "ที่นี่ไม่มีอิสรภาพในการนับถือศาสนาเลย พวกเขาไร้หนทางที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิด มันเหมือนกับว่าพวกเขาถูกจับมัดมือไว้"


 


แม่ชียังได้บอกอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติกับเขาอย่างรุนแรง จนกระทั่งมารู้ทีหลังว่าเขาเป็นชาวต่างชาติ


 


พระหลายรูปในอารามแห่งนี้ลังเลอยู่กับทางเลือกสองทาง คือการเชื่อฟังคำสั่งของเจ้าอาวาส และความปรารถนาที่จะไปเข้าร่วมประท้วงกับชาวทิเบตอื่นๆ ในวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา มีพระประมาณ 100 รูปปีนขึ้นไปตามไหล่เขาสูงจากวัดขึ้นไป พวกเขาจุดธูปและประทัดอยู่บนนั้นขณะที่ตำรวจปราบจราจลรวมตัวกันอยู่ภายนอกอารามอายุมากกว่า 700 ปี ร้านรวงพากันหยุดค้าขาย ชาวทิเบตซุกตัวอยู่ในบ้าน ทุกอย่างเงียบสงบในยามค่ำคืน


 


ในช่วงเช้า ร้านค้าก็กลับมาเปิดขายตามปกติ เด็กๆ เดินไปโรงเรียนผ่านกลุ่มเจ้าหน้าที่ติดอาวุธที่กำลังวิ่งเหยาะๆ ไปตามถนนสายหลัก ตำรวจปราบจราจลอีกจำนวนหนึ่งนั่งกินอาหารเช้าอยู่ตามล็อบบี้โรงแรมก่อนที่จะออกลาดตระเวน พวกเขาสวนกับชาวทิเบตในชุดพื้นเมืองที่กำลังเดินเล่น ทางอารามยังคงเงียบงัน


 


รัฐบาลจีนกำลังรีบเร่งที่จะปิดกั้นอาณาเขตของชาวทิเบตในจีน นับตั้งแต่เหตุไม่สงบในลาซา เจ้าหน้าที่รัฐขนกองกำลังตำรวจติดอาวุธหลายคันรถ ไปวางกำลังไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อกันชาวต่างชาติออกไป ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ชุมชนชาวทิเบตในเขตที่ห่างไปทางตะวันตกของจีนกลายเป็นค่ายติดอาวุธ โดยมีอารามเป็นศูนย์กลาง


 


 


บรรยากาศในพื้นที่ ที่จีนส่งกองกำลังทหารเข้าไปหลังการประท้วง


ภายนอกวงล้อมของตำรวจปราบจราจล ชีวิตดูเหมือนจะดำเนินไปตามปกติ อย่างน้อยก็จากที่มองเห็นได้อย่างผิวเผิน แต่ทั้งชาวทิเบตและคนที่ไม่ใช่ชาวทิเบตต่างแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับการลุกฮือแก่กัน คนขับแท็กซี่คนหนึ่งแอบเผยรูปถ่ายจากมือถือให้ดูด้วยท่าทางลับๆ ล่อๆ มันเป็นรูปถ่ายการประท้วงในลาซาที่ครอบครัวเขาส่งมาให้ดู


 


ในถิ่นที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่หนาแน่นแถบมุมตะวันออกเฉียงใต้ของมลฑลชิงไห่ ซึ่งแทรกตัวอยู่ระหว่างเขตแดนที่ได้รับรายงานว่ามีการประท้วงอย่างน้อยสามเขต ชาวทิเบตในเสื้อผ้าหนาๆ นั่งบนรถจักรยานยนต์ที่เด้งตัวขึ้นลงขณะแล่นผ่านถนนโรยกรวดโบกมือให้ พวกเขากระจุกตัวกันอยู่ที่ร้านอาหาร และต่างก็มีเกี๊ยววางอยู่ในจาน ใบหน้ากร้านแดดของพวกเขายับย่นเมื่อยามผลิยิ้ม


 


จากนั้นบนท้องถนนอีกสักสองชั่วโมงถัดมา  ก็มีรถขนตำรวจหลายคันกรูออกมาจากความมืด เมื่อกลุ่มนักข่าวต่างประเทศเดินไปมาแถวด่านตรวจแห่งหนึ่งในเขตตอนใต้ของมลฑลกานสู ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่คุกรุ่นที่สุดจากการประท้วงของชาวทิเบต เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็ตะโกนถามอย่างโกรธเคืองว่า


 


"คุณเห็นอะไรบ้างล่ะ" มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งยังคงถือปืนไรเฟิลอัตโนมัติเอาไว้ จนกระทั่งนักข่าวเชื้อสายจีนคนหนึ่งบอกให้รู้ว่าเป็นชาวต่างชาติเขาถึงยอมเก็บปืน


 


ในเมืองใหญ่ๆ ของทิเบตอย่างจงเตียน (Zhongdian) ตั้งอยู่ไกลออกไปทางเหนือของมลฑลยูนนาน มีตำรวจราวๆ 30 นายเดินถือไม้กระบองไปตามจัตุรัสใจกลางเมือง ขณะที่คนในพื้นที่กำลังดำเนินชีวิตประจำวัน


 


ใน เซียะเหอ (Xiahe) เมืองหนึ่งในมลฑลกานสู ช่วงสองวันที่มีการประท้วงในสัปดาห์ที่แล้วนั้น ห้องทั้ง 50 ห้องในโรงแรมซีหลิน (Xilin) "ทั้งหมดถูกยืดครองโดยตำรวจที่มีทั้งปืนและไม้กระบอง" ชายผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามให้ข้อมูลมาทางโทรศัพท์


 


"นักท่องเที่ยวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา และพวกเราก็รู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาออกไปข้างนอก" ชายผู้นี้ยังได้บอกอีกว่า อะไรหลายอย่างค่อยๆ สงบลง แต่ก็มีรถคอยตระเวนตามถนน บอกให้คนที่เข้าร่วมประท้วงเมื่อสัปดาห์ก่อนออกมามอบตัว


 


ขณะที่ผู้พักอาศัยในเขตกานซี (Ganzi) มลฑลเสฉวน บอกว่าพวกเขาเห็นกองกำลังทหาร รถบรรทุก และเฮลิคอปเตอร์ ออกลาดตระเวน


 


การเคลื่อนกองกำลังเป็นจำนวนมากของตำรวจปราบจราจล ช่วยให้รัฐบาลกลับมาสามารถอ้างสิทธิในการควบคุมพื้นที่ได้อีกครั้ง หลังจากที่มีการประท้วงการปกครองของรัฐบาลจีนโดยชาวทิเบตที่กว้างขวางที่สุดและได้รับการสนับสนุนมากที่สุด ในรอบทศวรรษ


 


 


ชาวทิเบตกว่าพันคน ให้การต้อนรับ แนนซี่ เพโลซี่ โฆษกรัฐสภาสหรัฐฯ


ที่เมืองธรรมศาลา (Dharamshala)  ประเทศอินเดีย ชาวทิเบตพลัดถิ่นกว่าพันคน ให้การต้อนรับ ประธานรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา แนนซี่ เพโลซี่ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เมื่อเขาได้เข้าพบดาไล ลามะ อย่างเป็นทางการ เนื่องมาจากเหตุประท้วงในทิเบต


 


 


ภาพจาก AFP


 


สมาชิกพรรคเดโมแครทผู้นี้เดินทางไปยังเมืองที่รัฐบาลพลัดถิ่นของ ดาไล ลามะ อาศัยอยู่ และพูดถึงการประท้วงในทิเบตว่าเป็น "สิ่งที่ท้าทายจิตสำนึกของโลก"


 


เปโลซี่ เป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในจีนอย่างเผ็ดร้อน และการเข้าพบกับ ดาไล ลามะ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นการเข้าพบครั้งที่สองแล้วในรอบ 6 เดือน


 


"วันนี้พวกเรามาอยู่ที่นี่ในเวลาอันโศกเศร้า เพื่อเข้าร่วมกับพวกคุณ ในการที่จะส่องแสงสว่างแห่งความจริง ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทิเบตมันคืออะไรกันแน่" เพโลซี่กล่าวในสุนทรพจน์แก่ดาไล ลามะ และ ผู้นำพลัดถิ่นทิเบต


 


"สถานการณ์ในทิเบตเป็นสิ่งที่ท้าทายจิตสำนึกของโลก อะไรกำลังเกิดขึ้นกันแน่ คือสิ่งที่โลกนี้ต้องการจะรับรู้" เพโลซี่กล่าวก่อนที่จะให้คำปฏิญาณว่าจะ "ให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวทิเบต"


 


"พวกเราจะผจญกับความท้าทายร่วมกับคุณ พวกเราอยู่ข้างคุณในการท้าทายนี้" เขาพูดท่ามกลางการปรบมืออย่างชื่นชม


 


ในใจกลางเมืองธรรมศาลา เต็มไปด้วยผู้อพยพกว่าพันคน ทั้งเด็กและคนมีอายุ มีธงชาติอเมริกากับธงชาติทิเบตโบกสะบัดอยู่  ตามถนนของเมืองกลางเทือกเขาแห่งนี้ก็มีป้ายต้อนรับเพโลซี่เรียงตามรายทาง


 


เพโลซี่ได้กล่าวท่ามกลางฝูงชนนับพันอีกว่า "ถ้าหากประชาชนที่รักในอิสรภาพทั่วโลกต่างไม่ออกมาพูดโต้ตอบการที่รัฐบาลจีนกดขี่ทั้งชาวจีนและชาวทิเบตแล้วล่ะก็ พวกเราจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในทางศีลธรรมเวลาที่จะพูดถึงสิทธิมนุษยชนในที่อื่นใดก็ตามในโลก"


 


"เมื่อพวกเรากลับประเทศแล้ว พวกเราจะนำสารข้อความเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้พบเจอที่นี่กลับไปด้วย เมื่อพวกเรากลับประเทศแล้ว พวกเราจะลองผจญกับการท้าทายจิตสำนึกที่ชาวทิเบตมอบให้ไว้"


 


เพโลซี่ได้มอบเหรียญทองของสภาคองเกรส (Congressional Gold Medal) ให้แก่ดาไล ลามะ โดยเหรียญทองของสภาคองเกรสนี้จะเป็นสิ่งที่โดยปกติแล้วสภาฯ สหรัฐฯ จะมอบให้กับพลเรือนที่ได้รับเกียรติ์สูงสุด ซึ่งการมอบให้ดาไล ลามะ ในครั้งนี้ ถือเป็นการยั่วยุทางการปักกิ่งก็ว่าได้


 


การเดินทางมาเยือนของเพโลซี่ในครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการผลักดันให้มีการเจรจากันระหว่างทิเบตและจีน คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวในวอชิงตันว่า "ฉันได้เร่งให้มีการยุติ และที่สำคัญที่สุดคือพวกเราได้คอยกระตุ้นให้ทางการจีนเข้าร่วมการเจรจากับดาไล ลามะ มาหลายปีแล้ว"


 


นอกจากนี้ คอนโดลิซซ่า ไรซ์ ได้พูดถึงดาไล ลามะว่า "เป็นตัวแทนของผู้นำที่น่าเชื่อถือ ผู้ต่อสู้กับความรุนแรงและเป็นผู้ที่ยืนหยัดในสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวทิเบต แต่แน่นอนว่าเขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน"


 


ดาไล ลามะ มีความประสงค์จะเข้าพบและพูดคุยกับประธานาธิบดี หู จิน เทา ของจีน ซึ่งดาไล ลามะ เองเป็นผู้ที่ดึงดูดความสนใจจากผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อชักจูงให้ทางการจีนมาเจรจากับรัฐบาลพลัดถิ่นของเขา และกดดันจีนให้ยับยั้งการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง


 


รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตออกมายืนยันว่า มีชาวทิเบตอย่างน้อย 99 คน เสียชีวิตจากการใช้กำลังการปรามปรามอย่างรุนแรงของจีน ในเหตุประท้วงที่ผ่านมา


 


แต่ทางการจีนกลับปฏิเสธเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต แม้ว่าทางสื่อของรัฐบาลจีนเองจะเผยออกมาหลังเหตุการณ์ในวันพฤหัสฯ ว่าตำรวจได้ยิงคนตายไป 4 คน โดยทำไปเพื่อการป้องกันตนเองก็ตาม


 


 


ที่มา


 


Chinese troops converge in Tibetan areas , Greg Baker , AP , 20/3/2551


Thousands of Tibetans greet US speaker Pelosi , Nicolas Revise , AFP , 20/3/2551


In remote China, Tibetans break silence , Cara Anna , AP , 20/3/2551

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net