Skip to main content
sharethis


บรรยากาศเวทีรัฐวิสาหกิจพบประชาชน


 


 



ศิริชัย ไม้งาม


 


 



ศุภชาติ โรจน์รุ่ง (ซ้าย) และสมศักดิ์ โกศัยสุข (ขวา)


 


ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดเวที "รัฐวิสาหกิจพบประชาชน" ที่สถานบริการวิชาการ (ยูนิเซิฟ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและรายงานสถานการณ์ด้านแรงงาน และทิศทางการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเชิญผู้นำและอดีตผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีบทบาทด้านการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาให้ข้อมูลในเวทีเสวนา


 


 


"สาวิทย์" จับตาประชานิยมใช้เงินมหาศาล เชื่ออาจอ้างขายรัฐวิสากิจหาเงิน


ในการเสวนาช่วงเช้า นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. กล่าวว่า สรส. ต้องการมาสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายในภูมิภาคต่อการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ว่าข้อเท็จจริง ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจตามเจตนารมณ์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งเมื่อมีผลกำไรก็หักอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อเข้าพัฒนาประเทศซึ่งเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาทในขณะนี้ ดังนั้นประชาชนเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว ไม่ใช่การบิดเบือนว่าต้องซื้อหุ้นเท่านั้น


 


นายสาวิทย์กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การเมืองที่รัฐบาลมีนโยบายประชานิยมซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล สมาชิกรัฐวิสาหกิจและประชาชนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะหาเงินมาจากไหน ในเมื่อภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ขณะนี้คือ 1.5 ล้านล้านบาท แต่งบประมาณปี 2552 วางไว้ว่าจะต้องใช้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างกว่า 8 แสนล้านบาท คาดว่าสิ่งที่รัฐเตรียมทำคือการทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกู้เงินจากแหล่งอื่น การสร้างเม็กกะโปรเจ็กต์ที่จะต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาว เพื่อสามารถนำเงินมาหมุนกับประชานิยมระยะสั้นได้ หรือการเก็บภาษีส่วนอื่น รวมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อันเป็นได้จากการประกาศให้การสื่อสารเข้าตลาดหุ้น ความพยายามแปรรูปการไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้า หรือการยกร่าง พ.ร.บ.น้ำ เป็นต้น


 


นายสาวิทย์ยังได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้เคลื่อนไหวแรงงานทั่วโลกกำลังวิตก คือ ปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป จนส่งผลถึงพื้นที่การผลิตลดลง ภาคเกษตรถูกทำลาย ส่งผลถึงแรงงานอพยพมีมากขึ้น และเกิดความไม่มั่นคงในการทำงาน อันเป็นลักษณะสัญญาจ้างระยะสั้นมีมากขึ้น เกิดการเหมาค่าแรงที่เสมือนการค้าทาสรูปแบบใหม่ ซึ่งจำเป็นที่ผู้ใช้แรงงานต้องติดตามสถานการณ์และรวมกลุ่มเพื่อผลักดันให้เกิดความเป็นธรรมร่วมกัน


 


 


"ศิริชัย" ไม่อยากแปรรูป เชื่อพนักงานอยากบริการประชาชนมากกว่าหากำไร


นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ไม่ต้องการให้มีการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจ เพราะพนักงานรัฐวิสาหกิจมีจิตใจอยากบริการประชาชนมากกว่าแสวงหากำไร และกล่าวว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจในกรุงเทพฯ ต่างช่วยกันเทคะแนนให้ น.ส.รสนา โตสิตระกูลเป็น ส.ว. เพราะไม่อยากให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


 


ประธานสหภาพแรงงาน กฟผ. ผู้นี้กล่าวด้วยว่าจากบทเรียนในต่างประเทศจะเห็นว่ามีหลายประเทศที่ต้องล่มสลายทางเศรษฐกิจหลังการแปรรูป และกว่าจะฟื้นฟูกลับมา หรือซื้อกิจการคืนเป็นของรัฐก็ทำได้ยาก


และการแปรรูปมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบในประเทศไทยในขณะนี้ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.มหิดล ม.บูรพา ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ฯลฯ ที่กำลังทยอยออกกฎหมาย ก็เป็นลักษณะของการแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนายศิริชัยเห็นว่าการแปรรูปมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบจะทำให้ นักศึกษาและผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพิ่มขึ้น


 


 


พัฒนารัฐวิสาหกิจได้ไม่จำเป็นต้องแปรรูป ชวนพนักงานคำนึงประชาชน-สิ่งแวดล้อม


เขายังกล่าวว่ากิจการรัฐวิสาหกิจมีความสำคัญทุกแห่งต้องรักษาไว้ ประเด็นคือแม้เราจะไม่แปรรูปให้เป็นของเอกชน แต่เราจะต้องคิดปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เขาเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นหัวหอกในการพัฒนาองค์กร มิเช่นนั้นพนักงานจะกลายเป็นมะเร็งขององค์กร และจะเป็นจุดบอดให้มีคนโจมตีรัฐวิสาหกิจ


 


นายศิริชัยได้กล่าวถึงกรณีตัวเรือดในขบวนรถไฟว่า เป็นผลเสียที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรูปแบบหนึ่ง คือการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทนรัฐวิสาหกิจ เพราะการทำความสะอาดและบริการในขบวนรถไฟสปริ้นเตอร์ มีบริษัทเอกชนประมูลเข้ามาประกอบการ เมื่อเกิดความบกพร่องเสียหาย ให้บริการไม่ดี ประชาชนผู้ใช้บริการก็ไม่ทราบว่าเป็นพนักงานบริษัทที่เข้ามารับเหมาช่วง คิดว่าเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย ผลเสียก็ตกอยู่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย


 


ในช่วงท้าย นายศิริชัยยังเรียกร้องให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะพนักงาน กฟผ. ให้ความสำคัญกับประชาชน เขายกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และโครงการสำรวจเหมืองถ่านหินลิกไนต์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยเขาเห็นว่าพนักงาน กฟผ. ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้าและผลประโยชน์ของประเทศชาติไปพร้อมๆ กัน ต้องมีการชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ กฟผ. อย่างเป็นธรรม


 


 


"สมศักดิ์ โกศัยสุข" พนง.รัฐวิสาหกิจเป็นคนของประชาชน ใช้ภาษีประชาชน


ในช่วงบ่าย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กล่าวเปรียบเทียบสถานการณ์แปรรูปรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศและในประเทศไทย โดยช่วงหนึ่งเขากล่าวถึงความสำคัญของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่า เราคือคนของประชาชน เราคือคนของแผ่นดิน เนื่องจากว่าเงินเดือนค่าจ้าง ไม่ว่าจะมาในรูปของสวัสดิการหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นภาษีของประชาชน เราพูดได้อย่างเต็มที่ว่าเราคือคนของประชาชน นี่คือจิตสำนึกใหม่ รักการบริการหรือ Service mind แต่รัฐวิสาหกิจในหลายที่ยังถูกจิตสำนึกขุนนางครอบงำ ยังมีจิตสำนึกสาธารณะไม่พอ


 


โดยนายสมศักดิ์ ยกตัวอย่างเรื่องเรือดที่พบในรถไฟ โดยเขากล่าวว่าเมื่อวานเขาไปออกรายการวิทยุ ผมบอกว่าถ้าผู้บริหารรถไฟมีจิตสำนึกสาธารณสักเพียงเล็กน้อยก็ไปผูกคอตายได้ แต่ถ้าไม่มีก็ทนหน้าหนาต่อไป เรื่องนี้น่าเกลียดมาก วิธีคิดแก้ปัญหาก็งี่เง่า เพราะบอกว่าถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องเรือดต้องลงทุน 20 ล้าน ตัวเรือดกับเงินที่จะลงทุนไปฆ่าเรือด 20 ล้านบาท ไม่ต้องสงสัยเลยถ้าคิดแบบนี้ คือการปล่อยปละละเลยเรื่องความสะอาด ทั้งที่บ้านเก่าบ้านแก่ที่ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ทำความสะอาดแพงๆ ก็ไม่มีตัวเรือด แม้แต่ศาลาวัดก็ยังไม่มีเรือดเลย ดังนั้น ไม่ต้องไปอ้างว่ามีเรือดเพราะเป็นรถไฟเก่า


 


 


สหภาพแรงงานทำให้กรรมกรเสมอหน้าผู้บริหาร รัฐบาล


ที่ปรึกษา สรส. ผู้นี้ กล่าวถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานว่า เป็นการรวมกลุ่มขั้นพื้นฐานที่ต้องการดึงกรรมกรออกจากระบบการสั่งการ ระบบบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร ฝ่ายจัดการ โดยสหภาพแรงงานมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีฐานะ มีเกียรติยศศักดิ์ศรีเท่ากับฝ่ายบริหาร เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลต่อกัน เป็นระบบไตรภาคี คือมีสามพวก พวกหนึ่งคือรัฐบาล พวกหนึ่งคือลูกจ้างคือสหภาพแรงงาน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ เพื่อศักดิ์ศรีของตัวเอง อีกฝ่ายคือฝ่ายนายจ้าง ระบบไตรภาคีนี้ทั่วโลกที่เป็นสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศยอมรับ ถือเป็นกติกาสากล


 


แต่เราไม่สามารถทำกระบวนการแรงานให้เป็นภาคีได้ เรายังรู้สึกว่ารัฐบาลเป็นผู้ปกครอง หมายความว่าในองค์กรของเรา เราคือลูกจ้าง เราทำตามกฎระเบียบทุกอย่าง แต่เมื่อไหร่ที่เราใช้สิทธิของสหภาพแรงงานตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน เราคือเรา เราคือผู้ประกาศศักดิศรี เห็นได้จากเวลาเรายื่นข้อเรียกร้องเจรจาต่อรองกับนายจ้าง เรานั่งคนละฝั่ง มีการลงชื่อข้อเรียกร้อง เจรจาสิ้นสุดมีการลงนามทั้งสองฝ่ายแล้วมีผลผูกพัน ถือเป็นนิติสัมพันธ์ต่อกันอย่างเสมอภาค


 


 


รัฐวิสาหกิจไม่ใช่ผูกขาด เพราะกำไรคืนประชาชน ถ้าผูกขาด กำไรต้องเอากลับบ้าน


เขากล่าวต่อว่า ปรัชญาการสร้างรัฐวิสาหกิจก็เพื่อบริการประชาชนเป็นหลัก ใครที่มีกำไรโดยธรรมชาติต้องส่งคืนกลับไปรัฐ ใครที่หาว่ารัฐวิสาหกิจเป็นการผูกขาดถือเป็นพวกที่ตกวิชาเศรษฐศาสตร์ เอาเศรษฐศาสตร์มาพูดครึ่งเดียว โดยนายสมศักดิ์เปรียบเทียบว่า


 


"หมายความว่าถ้าผูกขาด ผมไปทำโทรศัพท์ ผมมีกำไรต้องเข้ากระเป๋าผม แต่ถ้าเมื่อไหร่ทำโทรศัพท์แล้วได้กำไร เอาคืนไปให้รัฐ รัฐเอาไปทำถนนหนทางมันผูกขาดตรงไหน มันมี Rotation มันถอยกลับไปสู่ผู้ที่เป็นเจ้าของคือประชาชน ถ้าผูกขาด ได้กำไรต้องเอากลับบ้าน"


 


เขายังเห็นว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นนโยบายสะเพร่า ของทุนข้ามชาติครอบโลก ที่ต้องการล่าอาณานิคมแบบใหม่ เข้าไปครอบงำทางเศรษฐกิจ ถ้ามันให้ยึด ทุนข้ามชาติก็ออกกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เอฟทีเอ ถ้าไม่ให้ยึดก็เอาทหารไปบุกเหมือนอิรัก


 


 


เผยอุบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะทุนจะหาประโยชน์จากประเทศด้อยพัฒนา


กลุ่ม G8 เคยวิเคราะห์ว่าทรัพย์สินทั้งหลายในประเทศที่ด้อยพัฒนายังอยู่กับรัฐ ทุนจะหาประโยชน์ต้อง"Privatize" คือ ทำให้เป็นเอกชนให้หมด รัฐวิสาหกิจของไทยมีมูลค่าประมาณ 5 ล้านๆ บาท ไม่นับระบบราชการที่ยังมีมูลค่าอีกมาก นอกจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้ว ก็มีการแปรรูประบบราชการ เช่น เปลี่ยนเป็นระบบซีอีโอ มี พรบ.พนักงานราชการ ทำให้มีลูกจ้างชั่วคราวทำสัญญาจ้างปีต่อปี การเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้เอกชนเข้ามาจัดการ ทำให้นักศึกษาเป็นลูกค้า อาจารย์ผู้บริหารกลายเป็นซีอีโอเงินเดือนสูงขึ้น อาจารย์สอนกลายเป็นลูกจ้างชั่วคราว รัฐถอยไปให้เอกชนจัดการตามหลักรัฐที่เล็กดีที่สุด


 


"หมายถึง รัฐที่นั่งเฉยๆ ดีที่สุด ให้กลไกตลาดทุนทำเอง มึงอย่ามายุ่ง มี deregulator ยกเลิกอุปสรรค แรงงานก็ต้องยกเลิกให้หมด หันไปจ้างแรงงานแบบยืดหยุ่น นายจ้างอยากจ้างเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ต้องมีค่าจ้างขั้นต่ำ อะไรที่คอยปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ประเทศนั้นๆ มันแข็งทื่อ ยกเลิกไปเสีย ให้ทุนเคลื่อนย้ายเข้าออกอย่างสบาย" นายสมศักดิ์กล่าว


 


 


อุทธาหรณ์ ปตท. เข้าตลาดหุ้นพริบตาเดียว หุ้นอยู่กับไม่กี่ตระกูล


การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยได้จังหวะตอนเปิดเสรีทางการเงิน ต่อมาสถาบันการเงินของไทยล้ม เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องกู้เงิน IMF เราต้องเข้าโครงการ 11 ฉบับ เป็นที่มาของ พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ต่อมาในปี 2544 มีการเลือกตั้งนายสุธรรม แสงประทุมมาพบพวกตนที่โรงแรมบางกอกพาเลซ หาเสียงโจมตีประชาธิปัตย์ว่าออกกฎหมายขายชาติ ถ้าพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลจะยกเลิก พวกเราก็สนับสนุนกันใหญ่ จึงตั้งแท่นรณรงค์ไม่เลือกประชาธิปัตย์ ให้เลือกไทยรักไทย พอพรรคไทยรักไทยเข้าไป หวังว่าจะได้พักผ่อนเสียหน่อย


 


ที่ไหนได้มันขาย ปตท. ในปี 2545 ขายหุ้นทั้งหมด 800 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 35 บาท ภายใน 1 นาที 17 วินาที วันนี้หุ้นละ 400 กว่าบาท มีตระกูลมาลีนนท์ อัศวโภคิน ชินวัตร ดามาพงศ์ จิราธิวัฒน์ กรรณสูตร จันทรศิริ ดำรงชัยธรรม เผชิญโชค หาญศิริ โพธารามิก เทพกาญจนา จึงรุ่งเรืองกิจ พวกนี้ซื้อไปหมด


 


ตอนแปรรูป ปตท. ครั้งแรกน้ำมันลิตรละ 11 บาท ตอนนี้ลิตรละ 30 บาทและจะได้เห็น 35 บาท 40 บาท แน่นอน มีการพูดกันมากว่าโรงกลั่นน้ำมันเอาเปรียบ วันนี้ค่าเงินบาทจาก 48 บาท เหลือ 31 บาท น้ำมันจากลิตรละ 11 บาท ขึ้นไป 34 บาท โดยไม่มีเหตุผลที่น้ำมันจะขึ้นราคา นอกจากคุณแปรรูป ปตท. เพราะเราซื้อน้ำมันเป็นดอลลาร์ เมื่อก่อน 100 บาท ได้ 2 ดอลลาร์ ตอนนี้ 100 บาท ได้ 3 ดอลลาร์ ทำไมถึงขึ้นไม่เลิก นี่แหละเหตุผลในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เขาบอกว่าเพื่อประสิทธิภาพ และประชาชนจะได้ประโยชน์


 


 


สมศักดิ์ขอบ่น การเมืองไทยเรื่องสมานฉันท์ และแก๊งค์ถอดนอต


ในช่วงหนึ่ง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้กล่าวว่า ในประเทศนี้ ผู้ใหญ่ทุกระดับพูดกันจัง ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตน อ้างเป็นชาวพุทธ อ้างศาสนา แต่ไปติดกับดักว่าคุณทะเลาะกันทำไมต้องสมานฉันท์ แสดงว่าถ้าใครโกงก็อย่าไปพูดนะ เดี๋ยวจะทะเลาะกัน ต้องเป็นแบบนี้ใช่ไหม


 


ไม่เห็นด้วยกับข่าวที่นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช เสนอให้ประหารชีวิตคนลักสกรูของ กฟผ. "เด็กที่ไปลักเสาไฟฟ้าเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นความซนความคะนอง แล้วเด็กก็ไม่ได้ประกาศว่าเป็นคนดีอะไรมาก่อน แต่นักการเมืองที่ประกาศเป็นคนดี แล้วเข้าไปโกงชาติน่าถูกประหารชีวิตมากกว่า เพราะพวกลักสกรูยังแค่หลักแสน แต่นักการเมืองโกงเป็นแสนล้านบาท น่าประหารชีวิตมากกว่า แก่กว่า ใหญ่กว่า เฒ่ากว่า รู้ร้อนรู้หนาวกว่า เหมือนกับสมภารทำผิดศีล เทียบกับสามเณร หรือเด็กวัด แต่บ้านเมืองนี้มักบอกว่าลดโทษให้สมภารเคยทำความดีมาก่อน ไม่ติดคุก ส่วนเด็กวัดติดคุกเพราะไม่เคยทำความดี


 


 


ชี้รัฐวิสาหกิจสำคัญ รัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หาว่าเป็นภาระต้องขาย


นายสมศักดิ์ โกศัยสุขยังชี้ให้เห็นความสำคัญของรัฐวิสาหกิจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน มาตรการหนึ่งคือการให้สินเชื่อโดยธนาคารของรัฐบาลซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธ.ออมสิน ธ.กรุงไทย ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.อาคารสงเคราะห์ ซึ่งหากธนาคารพวกนี้เป็นกิจการเอกชนรัฐบาลจะสั่งได้หรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลกลับบอกว่าธนาคารพวกนี้เป็นภาระ รัฐไม่ควรเข้ามายุ่ง ให้กลไกตลาดทำเอง


 


"เรื่องลดค่าโทรศัพท์ เวียนไปเวียนมาไม่พ้นเอาไปให้องค์การโทรศัพท์ คอยดูเถอะ พอรัฐวิสาหกิจให้ลดนู่นให้ลดนี่ไม่ให้ขึ้นราคา แต่พอไม่ได้เรื่องกูจะขายอีกแล้ว รัฐวิสาหกิจคอยช่วยรัฐบาล มีวิกฤตเศรษฐกิจก็เอากลไกของรัฐช่วย" นายสมศักดิ์กล่าว


 


 


แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนจิตวิญญาณองค์กรให้แสวงกำไร และผู้บริโภคจะขาดทุน


นายสมศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศมาเลเซียว่า มาเลเซียเคยมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการรถไฟครั้งหนึ่ง และรัฐบาลต้องซื้อคืนในราคาที่แพงกว่าเดิม อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีหลายบริษัทเข้ามารับช่วง ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นคนละพวก เป็นบริษัทใครบริษัทมัน ทำให้พนักงานในกิจการนั้นไม่สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ นี่เป็นการออกแบบองค์กรสมัยใหม่หรือ Re-engineering องค์กร เพื่อควบคุมแรงงาน และทำให้องค์กรมีต้นทุนต่ำสุด แต่ได้กำไรมากสุด ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าถ้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนมันจะเปลี่ยนจิตวิญญาณองค์กรให้ต้องการกำไร และทำให้ผู้บริโภคขาดทุน


 


ถ้ารัฐวิสาหกิจยังอยู่ ส่วนมากเกี่ยวข้องกับประชาชน องค์กรแบตเตอรรี่ที่ว่าไม่จำเป็น แต่ตอนนี้เห็นหรือไม่แบตเตอรี่ลูกละเท่าไหร่ และรัฐบาลยอมสารภาพต้องประกาศเป็นสินค้าควบคุม แล้วไปขายทำไม จากแต่ก่อนที่บอกว่าไม่มีความจำเป็น ตลบแตลงหน้าไหว้หลังหลอก เรื่องซีแอล ถ้าให้องค์การเภสัชกรรมแปรรูปจะทำให้ราคายาแพง รัฐบาลควรส่งเสริมให้องค์การเภสัชกรรมวิจัยยา จะได้พัฒนายาเป็นสินค้าส่งออกได้ และที่รัฐบาลนี้สั่งทบทวนซีแอล ก็เพราะพ่อค้ายาอยากขายยาแพง


 


 


เชื่อประเทศไทยเป็นทุนนิยม ปฏิวัติแล้วไม่ถอยหลังเป็นศักดินา


นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจของไทยว่า มีการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล คนรวยเป็นคนส่วนน้อยแต่ถือครองทรัพย์สมบัติส่วนมากของสังคม คนจนมีจำนวนมากแต่ถือครองทรัพย์สมบัติส่วนน้อย เรียกว่า "จนกระจุก รวยกระจาย" วันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมทุนนิยม ไม่ต้องกลัวว่าถ้ามีปฏิวัติประเทศไทยจะถอยหลังเป็นอำมาตยาธิปไตยแบบที่นักวิชาการนั่งท่องตำราพูด ที่ว่ามี "สังคมบุพกาล สังคมทาส สังคมศักดินา สังคมทุนนิยม และสังคมแบบสังคมนิยม" นั่นมันตำราโบราณ


 


"เห็นไหมครับ คมช.ยึดอำนาจ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ยังคิดแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม จิตวิญญาณเหมือนเดิม ดีเอ็นเอเจ้าเดิม มันเปลี่ยนไปเลย มหาวิทยาลัยยังเอาออกนอกระบบ ยังออก พรบ.ว่าด้วยขั้นตอน หลักเกณฑ์เงื่อนไขการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ แทน พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง พรบ. นี้ก็ยังอยู่ ไม่ได้ไปไหนเลย เหมือนเดิมทุกอย่าง มีบริหารแบบทุนทุกอย่าง" นายสมศักดิ์กล่าว


 


เขากล่าวต่อว่า ประวัติศาสตร์ไม่ถอยหลัง ไม่ต้องห่วงว่าระบบเก่า ระบบศักดินาจะกลับมา มันไม่ใช่ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีคนงาน 37 ล้านคน คนงานนอกภาคการเกษตร 20 กว่าล้านคน คนงานในภาคการเกษตรมีเพียง 12 ล้านคน ผลผลิตมวลรวมของประชาชาติ (จีดีพี) เป็นภาคการเกษตรเพียงร้อยละ 10 นอกนั้นอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ นี่คือวิธีการวิเคราะห์ว่าสังคมไทยคือทุนนิยมหรือศักดินา ศักดินาคือรายได้มาจากที่ดิน ค่าเช่า แต่วันนี้มาจากอุตสาหกรรมและบริหาร มันจึงไม่ใช่ศักดินา และมันหวลกลับไมได้


 


แต่สังคมไทยมันเป็นทุนนิยมที่ไม่คำนึงสังคมแลมีการะคอรัปชั่น เขาจึงเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ ภายใต้ระบบแบบนี้มันเป็นปฏิปักษ์กันทั้งโลก โดย World Social Forum หรือ ประชาสังคมโลก เขาประกาศต่อต้านระบบแบบนี้


 


 


เผยบทบาทเข้าร่วมพันธมิตรฯ ขอเน้นต้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นวาระสำคัญ


สมศักดิ์กล่าวถึงประเด็นการต่อสู้ที่เขาเสนอในขณะที่การเป็นแกนนำในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า "การคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องที่ผมพูดตลอด ในช่วงที่ผมไปเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น ผมบอกเลย ชีวิตนี้ผมขอเรื่องเดียวใน แถลงการณ์เรื่องนี้ต้องมี ผมต้องการให้คนรู้คนเข้าใจว่ามันจะหายนะอย่างไร และรัฐวิสาหกิจถ้าเราดูประวัติศาสตร์นั้นมาจากพระปิยมหาราชที่ทำเพื่อคนไทย ดังนั้นลูกหลานอัปรีย์เท่านั้นที่เอาไปขาย พอขายแล้วไม่ได้อะไร อธิบายก็ไม่ได้ ขายแล้วซื้อคืนยาก มันติดกับดักอย่างศาลปกครองตัดสินกรณี ปตท."


 


เขากล่าวต่อว่า แต่กรณีของประเทศโบลิเวีย เมื่อ 1 พ.ค. 2549 รัฐบาลแนวทางสังคมประชาธิปไตยของได้นำทหารเข้าไปยึดรัฐวิสาหกิจคืนเลย เทียบกับบ้านเราคือยึด ปตท. มีการเจรจากับบริษัทต่างชาติ โดยรัฐขอผ่อนปีละ 100 ล้านดอลลาร์ ในลาตินอเมริกาตอนนี้รัฐวิสาหกิจเริ่มกลับคืนมาเป็นของรัฐ รัฐวิสาหกิจในประเทศอาเจนตินาก็เริ่มกลับคืนมา แต่กลับได้ยากเพราะทุกอย่างมันแปรรูปไปแล้ว


 


เขากล่าวในช่วงท้ายของการเสวนาว่า "พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องสร้างแนวร่วมพันธมิตรต่างๆ กับประชาชน ไม่เช่นนั้นการต่อสู้จะไปไม่รอด"


 


 


อดีตคน กฟผ. ชี้บทเรียน ปตท. ถูกแปรรูปเพราะไม่เตรียมตัวสู้แต่เนิ่นๆ


นายศุภชาติ โรจน์รุ่ง อดีตรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทเรียนแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ให้บทเรียนกับทุกรัฐวิสาหกิจ เพราะพนักงานรัฐวิสาหกิจ ปตท. ไม่ได้เตรียมตัวต่อต้านมาก่อน และชิ้นปลามันของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไปคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปา ซึ่งพร้อมขายเข้าตลาดหุ้นเสมอ


 


โดยเขาคาดว่ารัฐบาลจะหยิบยกเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขึ้นมาอย่างช้าปลายปีนี้ เพราะมีการตั้งงบประมาณในการบริการประเทศแบบขาดดุล ใช้จ่ายเยอะ แต่ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ก็อาจเอาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาอ้าง ว่าขาดเงินหมุนเวียนในคลังจึงต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และรัฐบาลก็ยังมี พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และยังมี พรบ.ว่าด้วยขั้นตอน หลักเกณฑ์เงื่อนไขการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย


 


 


เสนอ 6 แนวทางต้านรัฐวิสาหกิจ


อดีตรองประธาน สร.กฟผ. ผู้นี้เสนอบทเรียนและแนวทาง 6 ข้อ สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจใช้ต่อสู้กับการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ 1.ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจไม่ได้สร้างแนวร่วมกับประชาชนเลย ดังนั้นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน สร้างแนวร่วมประชาชน


 


2.ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เรื่องการแปรรูป มีโอกาสต้องทำ ไม่ใช่ถึงเวลาร้อนก้นจะวิ่งหาประชาชน และทุกรัฐวิสาหกิจต้องติดต่อกับประชาชนอยู่แล้วโดยหน้าที่


 


3.ทำความเข้าใจกับพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วยกัน ให้เข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจพูดเรื่องไม่เอาการแปรรูปกับประชาชนได้ โดยไม่ต้องไปจ้างวิทยากรจากที่ไหน ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทำความเข้าใจกับคนใกล้ตัวทั้งครอบครัว และเพื่อนบ้าน เมื่อถึงคราวต้องต้องการกำลังเขาจะสนับสนุนเราเต็มที่


 


4.ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจตัวดีทำตามนโยบายรัฐ รัฐสั่งมาแปรูปก็จะแปรรูป ขัดไม่ได้ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ผู้บริหารรับรู้ความต้องการของพนักงานรัฐวิสาหกิจ


 


5.อยากให้พนักงานรัฐวิสาหกิจแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอาการแปรรูป บางสหภาพแรงงานอย่าได้เอ่ยชื่อ พาไปดูงานต่างประเทศเสร็จแล้วก็เลิกบทบาทคัดค้านการแปรรูป ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจควรเอาแบบอย่างของ "ศิริชัย ไม้งาม" ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


 


นอกจากนี้ ควรมีการณรงค์รูปแบบอื่น เช่น ในองค์กรอาจทำสติ๊กเกอร์ ทำป้ายผ้าขึงไว้ที่หน้าองค์กร


 


6.สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยังไม่มีการรวมตัวอย่างแท้จริง กรณี สร.กฟผ. มีสมาชิกสหภาพแรงงานมาก แต่บางองค์กรมีสมาชิก 3-4 พันคน ดังนั้นเวลาต่อสู้แต่ละสหภาพแรงงานต้องผนึกกำลังช่วยกัน การต่อสู้กับอำนาจรัฐถ้าสู้แบบโดดเดี่ยว จะถูกสกัด เพราะรัฐสามารถสกัดได้สารพัดรูปแบบ


 


สร.กฟผ. อาจมีคนมาก มีประสบการณ์ต่อสู้มาก เข้มแข็ง ต่อสู้เป็นเดือนๆ ก็เคยมาแล้ว แต่เราต้องคิดถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก ที่มีสมาชิกสหภาพเพียง 2-3 พันคนด้วย


 


นายศุกชาติยังกล่าวว่า ข้อเสียอันหนึ่งเวลาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ร่วมต่อสู้ด้วยกันคือ มักช่วงชิงการนำกันเอง ซึ่งเขาเห็นว่าจะเป็นจุดบอดสหภาพแรงงาน


 


 


แนะชวนข้าราชการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญตั้งสหภาพ


เขายังกล่าวให้พนักงานรัฐวิสาหกิจชักชวนให้ข้าราชการตั้งสหภาพแรงงาน โดยดูตัวอย่างประเทศมาเลเซียที่มีสหภาพแรงงานของตำรวจ ข้าราชการ แพทย์ พยาบาล ขณะที่ประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพมากมายแต่ยังไม่มีใครตั้งสหภาพแรงงานข้าราชการ ดังนั้นถ้ามีโอกาสต้องถ่ายทอดเรื่องนี้ให้ข้าราชการว่า เขาสิทธิตั้งสหภาพแรงงานตาม ม.64 รัฐธรรมนูญปี 2550


 


ขอฝากไว้ว่าวันหนึ่งถ้ามีกิจการใดออกมาแปรรูป เราจะนั่งเฉยไม่ได้ ต้องเข้ามาร่วมกัน มีคนจ้องจะแปรรูปตลอดเวลา ยิ่งตอนนี้ทุกคนต้องใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ไม่มีใครจุดตะเกียง อะไรที่ประชาชนใช้ นายทุนย่อมอยากได้


 


"ดังนั้น ขอให้เตรียมการไว้ อย่าทำแบบ "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" ขอให้ช่วยกันดูแลรักษาสมบัติของชาติอย่าให้ตกไปอยู่ในอุ้งมือโจร" นายศุกชาติกล่าวทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net