Skip to main content
sharethis

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุสูงถึง 3-4 พันครั้ง/ปี โดยจำนวน 1 ใน 3 เกิดกับรถโดยสารต่างจังหวัด ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 จะเกิดกับรถโดยสารในกรุงเทพฯ


โดยข้อมูลจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ระบุว่าเฉลี่ยแล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิต 0.42 ราย บาดเจ็บสาหัส 0.90 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความสูญเสียครั้งละประมาณ 2,300,000 บาท ซึ่งในแต่ละปีมูลค่าความเสียหายจะมหาศาลถึง 8,000-9,000 ล้านบาท


สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุยังคงซ้ำซากเหมือนเดิม ด้วยจะเกิดจากสภาพรถและอุปกรณ์ในตัวรถไม่ได้มาตรฐาน คนขับไม่ชำนาญเส้นทางและยังขับรีบเร่งทำเวลา อันเนื่องมาจากการขาดมาตรฐานทั้งในส่วนของบริษัทผู้รับสัมปทาน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยทางถนนและสภาพแวดล้อมอื่นๆ ร่วมอีกมาก เช่น สภาพเส้นทางเป็นโค้งลาดชันวกไปวนมา เครื่องกั้นไม่ได้ออกแบบสำหรับป้องกันรถขนาดใหญ่


"ที่สำคัญปัจจัยทั้งหมดข้างต้นสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่างจากในต่างประเทศที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะ นอกจากจะมีการศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงแล้ว ยังมีการทบทวนมาตรการที่มีอยู่เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาอีกด้วย เช่น การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ 2 ครั้งเมื่อปี ค.ศ.1989 ในประเทศออสเตรเลียที่มีผู้เสียชีวิตรวม 56 รายนั้นได้นำมาซึ่งการทบทวนข้อกำหนดและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะระดับประเทศ"


นพ.ธนะพงศ์กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะแต่ละครั้ง ความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหรือกระทั่งเสียชีวิตจะมาจากการกระทบกระแทกอย่างรุนแรงเป็นสำคัญ ดังนั้นเข็มขัดนิรภัยที่สามารถยึดรั้งผู้โดยสารไว้กับเบาะที่นั่งจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียก็ได้กำหนดให้เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถโดยสาร ซึ่งความปลอดภัยของเข็มขัดนิรภัยจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐก่อนที่จะนำมาให้บริการแก่ประชาชน


"เข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนด้านหน้าหรือประสานงาเท่านั้น แต่ยังช่วยชีวิตผู้โดยสารได้มากด้วยการยึดรั้งไม่ให้กระเด็นตกจากเบาะที่นั่งไปกระทบกระแทกกับวัตถุสิ่งของภายในรถหรือผู้โดยสารคนอื่นๆ หรือกระเด็นออกมานอกตัวรถในกรณีที่เกิดการพลิกคว่ำที่ถือว่าเป็นอันตรายมากสุดที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะ"


นพ.ธนะพงศ์กล่าวต่อว่า เข็มขัดนิรภัยไม่ควรเป็นแค่ส่วนเกินหรือแค่อุปกรณ์เสริมบนรถโดยสารสาธารณะอีกต่อไป แต่ควรมีการออกกฎหมายควบคุมการใช้เข็มขัดนิรภัยที่ครอบคลุมถึงรถโดยสารสาธารณะออกมา ไม่ใช่แค่กำกับเฉพาะแต่รถยนต์ส่วนบุคคลดังที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะเข็มขัดนิรภัยจะช่วยลดสถิติการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของคนไทยลงได้มาก


อย่างไรก็ตาม นอกจากจะต้องมีเข็มขัดนิรภัยประจำแต่ละเบาะแล้ว ยังต้องสร้างเบาะที่นั่งของผู้โดยสารให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุเบาะที่นั่งของผู้โดยสารมักจะหลุดกระเด็นออกจากตัวรถ จนกระทั่งเป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิตจากการถูกรถที่พลิกคว่ำทับ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net