Skip to main content
sharethis






ฟูอาด มูร์ทาดา วิศวกรชาวโมร็อกโก วัย 26 ปี


 


 


เพียงเวลาไม่กี่วัน เว็บไซต์ http://helpfouad.com ก็กลายเป็นเว็บไซต์ที่มีคนนิยมมากเว็บไซต์หนึ่งในโมร็อกโก


 


ฟูอาด มูร์ทาดา (Fouad Mourtada) วิศวกรหนุ่มชาวโมร็อคโค วัย 26 ปี เพิ่งถูกศาลตัดสินให้มีโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี และถูกปรับ 1,350 เหรียญ ฐานความผิดที่ไปสร้างประวัติของ เจ้าชายมูเลย์ ราชิด พระอนุชาคนสุดท้ายของกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค http://facebook.com ศาลตัดสินเช่นนั้นเพราะเขาถูกตีความว่า พยายามปลอมตัวเป็นเจ้าชายเพื่อเข้าไปหาคู่ในอินเทอร์เน็ต


 


คำตัดสินนี้ไมได้ทำให้ชาวโมร็อคโคนิ่งเฉยยอมจำนน แต่พวกเขากลับลุกขึ้นมาเรียกร้องคืนอิสรภาพให้แก่ฟูอาด และยังตั้งคำถามถึงนโยบายของเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นเครือข่ายทางสังคมยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก


 


 



เว็บไซต์เฟซบุ๊ค เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยม


 


 


เว็บไซต์เฟซบุ๊ค http://facebook.com เป็นเครือข่ายทางสังคม (social network) ทางอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่ง หากกล่าวให้ใกล้ตัวยิ่งขึ้น เฟซบุ๊คทำหน้าที่ไม่ต่างจากไฮไฟว์ หรือ ฮี่ห้า (Hi5), มายสเปซ (myspace) ,มัลติพลาย (multiply)


 


ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ฮี่ห้า มายสเปซ หรือมัลติพลาย ล้วนทำหน้าที่ไม่ต่างกัน คือ การเชื่อมโยงฉันและคนอื่น (และลามไปถึงเพื่อนของคนอื่นๆ, เพื่อนของเพื่อน, เพื่อนของเพื่อนของเพื่อน) ให้สามารถทำความรู้จักแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน


 


เครือข่ายต่างๆ มีเอกลักษณ์ในตัวที่ต่างกัน สำหรับคนไทย ไฮไฟว์ หรือ ฮี่ห้า ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากที่สุด หลายคนได้เจอเพื่อนเก่า อดีตเพื่อนร่วมงานที่ไมได้เจอกันมานาน ผ่านเครือข่ายโยงใยทางสังคม ศิลปิน นักดนตรี นิยมใช้มายสเปซให้แฟนแพลงเข้ามาทดลองฟังผลงานล่าสุด มัลติพลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่นิยมแบ่งปันข้อมูลต่างๆ


 


ในบรรดาเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ เฟซบุ๊คได้รับความนิยมในระดับโลก มันโดดเด่นขึ้นมาได้เพราะระบบของเฟซบุ๊คเอื้อเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมืองออนไลน์ ด้วยการเปิดให้ผู้ใช้ร่วมกันเสริมเติมแต่งลูกเล่นให้แก่เฟซบุ๊คได้ นอกจากนี้ ชุมชนในเฟซบุ๊คยังสามารถตั้งกลุ่มอภิปรายประเด็นต่างๆ และอาจนำมาสู่การขับเคลื่อนในชีวิตจริง อาทิเช่น มีการตั้งกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ล่าสุดในกรุงเทพฯ นี้เอง เฟซบุ๊คก็มีกลุ่ม "ไม่ชอบเสียงดังหนวกหูจากโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้า" บทสนทนาที่ปรากฏก็ว่าด้วยแนวทางการรณรงค์เพื่อลดเสียงดังในที่สาธารณะ


 


ไม่ว่าใครก็เป็นสมาชิกของเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ เพียงกรอกรายละเอียด ประวัติ เพศ อายุ การศึกษา ภาพถ่าย อุดมการณ์ ฯลฯ ผู้คนก็จะรู้จักกันผ่านตัวตนที่ต้องการให้ผู้อื่นเห็น ซึ่งเป็นอันรู้กันว่าจะเกี่ยวข้องกับตัวตนที่เป็นจริงหรือไม่ก็ได้


 


"ในเฟซบุ๊ค เราเจอข้อมูลที่แสดงตนเป็นนิโกลาส์ ซาร์โกซี่ถึง ๘๐ คน (ประธานาธิบดีฝรั่งเศส) เป็นชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ๖ คน (อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) เป็นฟร็องซัวส์ มิตแตรองด์ ๔ คน (อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) และเป็นโอซามา บิน ลาเดนอีก ๓ คน

การสร้างข้อมูลในเว็บไซต์ เฟซบุ๊คโดยเอาชื่อและข้อมูลของบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาใส่ อาจเป็นเรื่องปกติ บางคนทำลงไปเพื่อล้อเลียนสนุกสนาน บางคนทำลงไปด้วยหวังดีอยากประชาสัมพันธ์ให้กับบุคคลผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย"


 


ข้อความข้างต้น "ปิยบุตร แสงกนกกุล" นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขียนเอาไว้ในบล็อกของเขาซึ่งกล่าวถึงคดีที่นายฟูอาด มูร์ทาดา ถูกศาลโมร็อกโกตัดสินให้จำคุก 3 ปี หลังจากเล่นเฟซบุ๊คในนามของพระอนุชาคนสุดท้องของกษัตริย์โมร็อกโก


 


 


ย้อนรอยคดีฟูอาดอยากเป็นเจ้าชาย? ตร.บุกลักพาตัว ซ้อมทรมาน ขู่ให้สารภาพ


ประเทศโมร็อกโก ปกครองในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกษัตริย์แห่งโมร็อกโกมีอภิสิทธิ์มากมาย มีอำนาจทางการบริหารสูง สามารถยุบสภาได้ และยังมีฐานะเป็นจอมทัพแห่งโมร็อกโก โดยกษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ กษัตริย์มูฮัมเหม็ดที่ 6


 


และภายใต้การปกครองระบอบดังกล่าว ฟูอาด มูร์ทาดา ถูกจับตัวไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ในข้อหาที่ไปสร้างประวัติข้อมูลและใส่รูปภาพของเจ้าชายมูเลย์ ราชิด พระอนุชาคนสุดท้ายของกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 ในเว็บไซต์เฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551


 


ฟูอาดถูกเจ้าหน้าที่รัฐลักพาตัวไปยังสถานที่ลับ 36 ชั่วโมง และผู้ใกล้ชิดของนายฟูอาด มูร์ทาดา ยืนยันว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมและทรมาน


 


จากแถลงการณ์ขององค์การแอมเนสตี้สากล ชี้ว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมตัวนายฟูอาดเมื่อเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะที่เขาออกจากบ้านและกำลังเดินทางไปทำงาน โดยจับตัวเขาเข้าไปในรถคันหนึ่งพร้อมกับปิดหน้าปิดตาเขาไว้ จากนั้นก็ขับรถไปยังที่ที่หนึ่งที่เขาไม่รู้จัก ตบตีเขาจนทำให้เขาต้อง "สารภาพ" ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกว่า เขาสร้างข้อมูลของเจ้าชายเอาไว้ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค เพื่อที่จะหาคู่


 


แต่บันทึกของทางการ กลับระบุเอาไว้ด้วยว่า ฟูอาดถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งกว่าที่ครอบครัวของฟูอาดจะรู้ว่าเขาถูกจับ ก็เป็นเวลาเย็นของวันที่ 7 ก.พ. แล้ว เรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายของโมร็อกโกที่กำหนดว่าทันทีที่มีการกักตัวผู้ต้องหาจะต้องแจ้งให้ญาติทราบเรื่อง ยิ่งกว่านั้น ในการสอบสวน ฟูอาด ไม่มีทนายให้คำปรึกษาเข้าร่วม อันเป็นมาตรฐานพื้นฐานของสิทธิผู้ต้องหา


 


แม้ดูเหมือนว่าเหตุผลหลักในการดำเนินคดีนี้จะเป็นการปราบปรามใครก็ตามที่ดูมีทีท่าที่จะบั่นทอนสถาบันกษัตริย์ และผู้ฟ้องร้องก็ทำในนามของการปกป้องสถาบันอันละเมิดมิได้แห่งโมร็อกโก แต่อย่างไรก็ตาม ฟูอาดได้ให้การว่า เขาได้ใส่ข้อมูลของเจ้าชายลงไปในเฟซบุ๊คจริง แต่นั่นก็ทำไปเพราะความเคารพ และไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์


 


ในเว็บไซต์ helpfouad ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่อกลางในการรณรงค์เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมให้แก่ฟูอาด มูร์ทาดา ระบุว่า ฟูอาดสร้างประวัติของเจ้าชายมูเลย์ ราชิด จากความเคารพ ด้วยความสนุกเพลิดเพลิน และฟูอาดไม่เคยแอบอ้างใช้ชื่อของเจ้าชายในการติดต่อสื่อสารกับผู้ใดตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุเอาไว้


 


แต่สุดท้าย เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลมีคำตัดสินให้ฟูอาดต้องโทษจำคุก 3 ปี และถูกปรับ 1,350 เหรียญ


 


 


ผลตัดสินหนึ่งคดี ลามทั่ว "จักรวาลบล็อก"


แม้เราจะไม่อาจหาเหตุผลได้ว่า เหตุใดผู้ถือครองกฎ ไม่เฉพาะในโมร็อกโกเท่านั้น แต่รวมถึงทั้งประเทศมหาอำนาจต่างๆ ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย มักดำเนินคดีในนามของความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะที่อ้างว่าเกี่ยวกับความมั่นคง ด้วยวิธีการที่ลึกลับและตรวจสอบไม่ได้


 


นายฟูอาดถูกลักพาตัวหายไป 36 ชม. ถูกซ้อมทรมาน ขู่บังคับให้สารภาพ ในเมืองไทยก็มีกรณีที่ไม่ต่างกันนัก เมื่อนักท่องเน็ต 2 รายถูก "จับเงียบ" ด้วยกระบวนการที่มีเงื่อนงำน่าฉงน ภายหลังถูกต้องสงสัยว่าได้เผยแพร่ข้อความอันอาจจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


 



โปสเตอร์ที่ใช้ในการรณรงค์ช่วยเหลือฟูอาด


 


แต่กรณีของโมร็อกโก และกรณีของไทย มีความต่างกัน ผลจากคำตัดสินของศาลที่สั่งจำคุกผู้เล่นเฟซบุ๊ค 3 ปี มีผลต่อจิตใจชาวโมร็อกโก ซึ่งถือเป็นพลเมืองที่แอคทีฟในการสื่อสารออนไลน์มากที่สุดในกลุ่มสหรัฐอาหรับมาเกร็บ และแน่นอน ทั่วโลกก็จับตาไปยังโมร็อกโกด้วย


 


หลังคำสั่งศาล ทำให้ประชาชน บล็อกเกอร์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในโมร็อกโก ออกมาเรียกร้องให้คืนอิสรภาพแก่นายฟูอาด มีการเปิดเว็บไซต์ http://helpfouad.com ซึ่งได้รับความสนใจมากในโมร็อกโก มีผู้เข้าชมเว็บดังกล่าวแล้วเกือบแสนคลิก มีการล่ารายชื่อเพื่อช่วยเหลือฟูอาดซึ่งล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 8,500 ชื่อ ในเฟซบุ๊คเองก็มีการตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อช่วยเหลือฟูอาดซึ่งมีสมาชิกแล้วมากกว่า 5,500 ราย ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการออกมารณรงค์ถือป้ายประท้วงบนท้องถนนด้วย


 


 



 


ชาวโมร็อกโกที่ออกมารณรงค์นั้น ต้องใช้ข้อความที่สื่อนัยยะว่าพวกเขามิได้คิดร้ายต่อประเทศ โดยย้ำว่า เป็นการรณรงค์จากประชาชนผู้รักโมร็อกโก เป็นผู้เรืองรองด้วยพลังแดงเขียว (สัญลักษณ์ธงชาติโมร็อกโกพื้นสีแดงและมีดาวสีเขียวอยู่ตรงกลาง)


 


เรื่องนี้กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาว์นในหมู่บล็อกเกอร์ชาวโมร็อกโกและองค์กรด้านสื่อ มีผู้แสดงความเห็นด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอดไม่ได้ที่ทำให้เราต้องหวนคิดถึงแนวทางและอนาคตของประเทศนี้


 


Adilski บล็อกเกอร์คนหนึ่งบอกว่า คดีที่เกิดขึ้นส่งผลต่อบรรยากาศเสรีภาพในหมู่บล็อกเกอร์ชาวโมร็อกโก เขาสะท้อนความรู้สึกของ ศ.โมฮาเมด เดรสซี บาคอคอท (Pr. Mohamed Drissi Bakhakhat) นักวิชาการเจ้าของบล็อกยอดนิยม http://motic.blogspot.com/ ว่า ปกติบล็อกนี้จะจับตาเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีกับการพัฒนาราชอาณาจักรโม ร็อกโก แต่ล่าสุด ศ.โมฮาเมดได้ตัดสินใจหยุดเขียนเรื่องเหล่านั้นไปแล้ว โดย ศ.โมฮาเมดได้โพสต์ข้อความในบล็อกของเขา ระบุถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่า กรณีของฟูอาด มูร์ทาดา นั้น ดูจะไม่มีเหตุผลเพียงพอ ในการจับกุม ใช้ศาลเตี้ยซ้อมทรมานและยังไม่ยินยอมให้มีการประกันตัว สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความสิ้นหวัง


 


เขายังกล่าวว่ามันกลายเป็นเรื่องอันตรายที่จะบล็อกในโมร็อกโก มันเป็นเรื่องยากและเสี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ และท้ายที่สุด ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจที่จะยุติการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์


 

 


 


 



ภาพการ์ตูนเสียดสีถึงการปิดหูปิดตาปิดปากโดยรัฐโมร็อกโก
ส่งผลต่อบรรยากาศการแสดงความเห็นในหมู่บล็อกเกอร์ชาวโมร็อกโก


 


 


องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมตำรวจถึงรู้และเลือกชี้ตัวไปที่ฟูอาด ตำรวจได้ตรวจสอบหมายเลขไอพี (ที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ต) ของเขาอย่างนั้นหรือ แล้วถ้าใช่ ตำรวจมีวิธียังไงในการได้มา


 


ด้านเฟซบุ๊ค เจ้าของเว็บเครือข่ายทางสังคมที่เป็นประเด็นนี้ก็ถูกตั้งคำถามจากประชาคมออนไลน์ว่า เฟซบุ๊คมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเจ้าหน้าที่รวบตัวฟูอาดหรือไม่


 


แบรนดี บาร์เกอร์ (Brandee Barker) โฆษกของเฟซบุ๊ค กล่าวว่า ด้วยนโยบายและกฎระเบียบของเฟซบุ๊คนั้น จะยินยอมที่จะให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่เฟซบุ๊คเชื่อว่าเป็นข้อผูกมัดตามกฎหมาย แต่ในกรณีการสร้างประวัติปลอมของเจ้าชายขึ้นมานั้น เฟซบุ๊คยืนยันว่ามิได้ให้ข้อมูลใดๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐโมร็อกโก แนวทางของเฟซบุ๊คคือ หากพิจารณาแล้วว่ามีการละเมิดกฎระเบียบว่าด้วยการปลอมแปลงตัวตน เฟซบุ๊คจะทำการระงับสมาชิกรายนั้นๆ


 


ฟูอาดได้บอกผ่านครอบครัวเขาไว้ว่า เขาได้สร้างทะเบียนของเจ้าชายราชิดขึ้นมาจริงๆ แต่หลายวันถัดมา ทะเบียนนี้ก็ถูกปิด มันมีทะเบียนของคนดังมากมายอยู่ในเฟซบุ๊ค และเขาไม่เคยคิดเลยว่า การสร้างทะเบียนประวัติของเจ้าชายขึ้นมาจะเป็นการทำร้ายเจ้าชาย และที่สำคัญคือเขาไม่เคยส่งข้อความใดๆ ออกไปจากทะเบียนนี้เลย มันเป็นแค่เรื่องสนุก และเขาไม่ใช่อาชญากร


 

ขอขอบคุณ :


ปิยบุตร แสงกนกกุล http://etatdedroit.blogspot.com/


 


ข้อมูลจาก :


เว็บไซต์ helpfouad


Jail for Facebook spoof Moroccan, BBC NEWS


Facebook's pretend prince gets jail, - The New Zealand Herald


Facebook Denies Role in Morocco Arrest, - The wall Street Journal


Moroccan bloggers worried after "disproportionate" three-year jail term for Internet user who created spoof Facebook profile, - Reporters without Borders


Three years for profiling a Moroccan prince on Facebook, Amnesty International


Popular Moroccan Blogger Stopped Blogging for His Safety, - Adilski.blogspot.com


Morocco man jailed for impersonating the 'Prince in Facebook', Digital Journal

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net