Skip to main content
sharethis

ก่อนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯได้ออกมาปรามข่าวลือที่ว่าทางสำนักงาน


ฯ กำลังเตรียมการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกในกรณีการบังคับใช้สิทธิหรือ CL ต่อยาที่ติดสิทธิบัตรของรัฐบาลไทย ในขณะที่ทางรัฐบาลไทยชุดใหม่ก็กำลังทบทวนว่าจะดำเนินการการบังคับใช้สิทธิบัตรยามะเร็ง 3 ตัว ตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ประกาศไว้หรือไม่


 


แหล่งข่าวในสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐกล่าวว่า "การคาดเดาเกี่ยวกับการฟ้ององค์การการค้าโลกเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ


 


"หากมีการพิจารณาว่าจะดำเนินการเช่นนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนของการตรวจสอบว่ามาตรการนั้นสอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลกหรือไม่อย่างไร และจะต้องมีการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างเข้มข้นกับรัฐบาลไทยเสียก่อน ซึ่งในการนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินทั้งสองขั้นตอน"


 


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้จากข่าวหนังสือพิมพ์ระบุว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐขู่จะทำการฟ้องร้องหากรัฐบาลไทยจะดำเนินการบังคับใช้สิทธิกับยามะเร็งก็ได้ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อกรณีการฟ้องร้องที่กำลังจะเกิดขึ้นดังกล่าว


 


ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มปฏิบัติการเพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น,องค์กรความรู้นิเวศสากล และอ็อกแฟมได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รวมทั้งผลักดันมิให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินการบังคับใช้สิทธิบัตรในยามะเร็ง 3 ตัว ซึ่งในจดหมายดังกล่าวระบุว่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหรือลงโทษทางการค้าดังกล่าวนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางกฎหมาย และการบังคับใช้สิทธิบัตรยาทุกตัวของรัฐบาลไทยก็เป็นไปตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก ซึ่งความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิโดยไม่ต้องมีการเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตรภายในระยะเวลาที่เหมาะสมแต่อย่างใดในกรณีที่เป็นเหตุฉุกเฉินของชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ


 


อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในองค์กรพัฒนาเอกชนระบุว่าไม่แน่ใจในท่าทีและระยะเวลาของรัฐบาลไทยในการทบทวนการบังคับใช้สิทธิดังกล่าว โรเบิร์ต ไวส์แมน ผู้อำนวยการของกลุ่มปฏิบัติการเพื่อการเข้าถึงยาจำเป็นระบุว่า


 


"มีความเป็นไปได้ว่าการทบทวนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือนนับหลังจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี"


 


ส่วนกลุ่มเอ็นจีโอมองว่าการที่รัฐบาลไทยลุกขึ้นมาดำเนินการทบทวนการบังคับใช้สิทธิบัตรเป็นเพราะแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐและบรรษัทยาสหรัฐและยังระบุอีกว่า รัฐบาลชุดใหม่มีแนวโน้มที่จะโอนอ่อนทางการค้าให้กับชาติตะวันตกมากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549


 


รายงานกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกออกมาในช่วงเวลาเดียวกับที่องค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ  (BIO) และสมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาแห่งสหรัฐอเมริกา (PhRMA) ออกมายื่นหนังสือต่อรัฐบาลสหรัฐฯประจำปีตามข้อปฏิบัติในมาตรา 301 พิเศษของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเรียกร้องให้ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตาสูงสุด (PFC)


 


ตามสถานะประเทศที่ต้องจับตาสูงสุดนั้น ประเทศไทยจะถูกกำหนดเป็นเป้าที่จะต้องถูกสอบสวนตามระบบของสหรัฐฯว่า ไทยมีการละเมิดข้อตกลงการค้าหรือบังคับใช้มาตรการอันไร้เหตุผล หรือมาตรการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นอุปสรรค หรือจำกัดต่อการดำเนินธุรกิจของสหรัฐฯหรือไม่ 


 


ในระหว่างการสอบสวนทางการสหรัฐฯจะดำเนินการเจรจากับรัฐบาลไทยให้เปลี่ยนแปลงนโยบายหรืออาจมีการตัดสินใจปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดหากรัฐบาลไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของสหรัฐฯ


 


หากพบว่ามีการละเมิดสิทธิของสหรัฐฯ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯก็จะถูกกดดันให้ดำเนินการตอบโต้ประเทศนั้นนอกเสียจากว่าจะมีข้อยกเว้น เช่น หากการตอบโต้นั้นส่งผลร้ายต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ


การตอบโต้ในรูปแบบความสัมพันธ์ด้านเดียวที่จะทำให้เสียผลประโยชน์ในองค์การการค้าโลกก็ไม่อาจกระทำได้


 


มาตรการที่เป็นไปได้คือ การยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางการค้าที่สหรัฐฯให้แก่ประเทศต่างๆ หรือการยื่นฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกซึ่งภายใต้มาตรา 301 พิเศษให้เวลาในการสอบสวนเบื้องต้น 6 เดือน และสามารถขยายเวลาได้อีก


 


ในปีที่แล้วสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐไม่ได้ขึ้นอันดับ PFC ให้แก่ประเทศใดเลย แต่เลือกการขึ้นบัญชีรายชื่อให้หลายประเทศอยู่ในสถานะประเทศที่ถูกจับตา (WL) ซึ่งเป็นแนวการปฏิบัติของสำนักงานผู้แทนการค้าเองมิได้ยึดตามมาตรา 301 พิเศษ


 


แม้กระทั่งในจดหมายของ นางซูซาน ชวาป ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ต่อกรณีการบังคับใช้สิทธิบัตรของรัฐบาลไทยก็พยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวหาว่าประเทศไทยละเมิดกติกาขององค์การการค้าโลก หากแต่ชี้แจงเป็นการทั่วไปว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯเคารพสิทธิของรัฐบาลไทยในการดำเนินการบังคับใช้สิทธิบัตรบนพื้นฐานข้อกฎหมายของประเทศไทย และข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (Inside U.S. Trade,May 29)


 


รัฐบาลไทยชุดที่แล้วประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรยามะเร็ง 3 ตัว รวมทั้งยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัว และยารักษาหลอดเลือดหัวใจ 1 ตัวหนึ่งในยาต้านไวรัสเอดส์คือ ยาเอฟฟาวิเรนซ์ ซึ่งผลิตโดยบริษัทเมิร์ค (Merck & Co) ซึ่งเป็นยาที่ประเทศบราซิลก็ทำการบังคับใช้สิทธิบัตรเช่นเดียวกัน (Inside U.S. Trade, April 27)


 


องค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ  (BIO) และสมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาแห่งสหรัฐอเมริกา  (PhRMA) พากันกล่าวโจมตีการประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรของประเทศไทยเฉพาะอย่างยิ่งกับยามะเร็ง และหลอดเลือดหัวใจ


 


องค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO) กล่าวหาว่า การบังคับใช้สิทธิของประเทศไทยนั้น "เกินเลยไปกว่าข้อความและเจตจำนงค์ในปฏิญญาโดฮาในข้อที่ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข...การบริหารจัดการการแพทย์สำหรับโรคไม่ติดต่อนั้นอาจยุ่งยากซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูงแต่ก็ไม่ถึงกับจะเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข"


 


PhRMA อ้างว่าประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามกรอบความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์)  โดยกล่าวว่า


 


"ไม่มีตรงไหนเลยที่ประเทศไทยอ้างถึงสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเร่งด่วนของชาติ"


 


แหล่งข่าวที่สนับสนุนการบังคับใช้สิทธิบัตร ชี้ว่า ข้อโต้แย้งนี้แทบหาสาระไม่ได้ ด้วยประเทศไทยไม่ได้อ้างข้อบทเหตุฉุกเฉินในการบังคับใช้สิทธิบัตรแต่ใช้ข้อบทที่ว่าด้วย การใช้เพื่อสาธารณประโยชน์และไม่เป็นไปเพื่อการค้า (public, non-commercial use) เป็นพื้นฐานของการดำเนินการ


 


นอกจากนี้ PhRMA ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งควรจะ "ทบทวนแก้ไขนโยบายเรื่องการบังคับใช้สิทธิบัตร และเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือและพูดจาหารือกับอุตสาหกรรมยา ...เราขอกระตุ้นให้รัฐบาลสหรัฐฯทำการทบทวนการพิจารณาสถานะของประเทศไทยให้ขึ้นอันดับประเทศไทยเป็นประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตาสูงสุด (PFC) ภายใต้มาตรา 301


 


ภายใต้ความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา มาตรา 31(b) ระบุว่า การบังคับใช้สิทธิในกรณีเหตุฉุกเฉินระดับชาติ หรือสถานการณ์เร่งด่วนอย่างยิ่งรวมถึงการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อการค้าสามารถทำได้โดยไม่ต้องเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตร "ในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล"


 


ต่อมาในปฏิญญาโดฮา 2544 ว่าด้วยความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาและการสาธารณสุขยังระบุอีกด้วยว่า


ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะกำหนดเงื่อนไขที่จะพิจารณาว่าอะไรเป็นเหตุฉุกเฉินระดับชาติหรือสถานการณ์เร่งด่วนอย่างที่สุดรวมถึงวิกฤติด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคเอดส์


 


ในปี 2546 องค์การการค้าโลกมีมติต่อความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาและการสาธารณสุข ให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามข้อผูกพันในมาตรา 31(f) เป็นการชั่วคราว มาตรานี้กำหนดให้การบังคับใช้สิทธิบัตรนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศเท่านั้น


 


ผลของการยกเว้นก็คือเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่มีขีดความสามารถในการผลิตยาได้เองสามารถเข้าถึงยาราคาถูกโดยการนำเข้ายาสามัญที่ยังติดสิทธิบัตรโดยการบังคับใช้สิทธิบัตรให้ประเทศที่สามผลิตให้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด


 


ในทางปฏิบัติก็คือการให้ประเทศที่จะทำการผลิตยาดังกล่าวส่งออกดำเนินการบังคับใช้สิทธิบัตรแยกต่างหาก ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดแหล่งข่าวที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระบุว่า ในกรณีประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องใช้


 


ข้อยกเว้นดังกล่าว สำหรับการผลิตยามะเร็งทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากประเทศผู้ผลิตยานี้ คืออินเดีย และยาทั้งสามตัวเป็นยาซึ่งจดสิทธิบัตรก่อนปี 2548 ที่ภายใต้ข้อตกลงทริปส์นั้น ประเทศอินเดียและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆได้รับการยกเว้นปฏิบัติ การให้การคุ้มครองสิทธิบัตรตัวยาก่อนปี 2548 นั่นก็หมายความว่ายานั้นไม่ได้รับการจดสิทธิบัตรที่อินเดียดังนั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำการบังคับใช้สิทธิบัตรอีกครั้งที่ประเทศอินเดีย เพื่อให้อินเดียสามารถผลิตและส่งออกยามาที่ประเทศไทย


 


เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขไทยชี้แจงในเอกสารเผยแพร่อธิบายถึงขั้นตอนการประกาศการบังคับใช้สิทธิยามะเร็ง 3 ชนิด และยืนยันว่าได้ใช้เวลาระยะหนึ่งตามสมควรในการเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตรโดยได้เริ่มต้นเจรจาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมปีที่แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใดด้วยทางบริษัทยืนยันในแนวทางที่เป็นการอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า ด้วยภาระทางการเงินที่หนักเกินไปข้อเรียกร้องของบริษัทยายังจะสร้างภาระในการบริหารจัดการอีกด้วย


 


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์  ที่ผ่านมา ภาคีทรัพย์สินทางปัญญาสากล  The International Intellectual Property Alliance (IIPA) กล่าวว่า น่าจะเก็บประเทศไทยไว้ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (PWL) สำหรับกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ และยังกล่าวอีกว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ น่าจะมีการพิจารณานอกรอบ (ปกติในเดือนเมษายน)  สำหรับบางประเทศเพื่อจะพิจารณาว่าประเทศนั้น ๆมีความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาซีดีเถื่อนอย่างจริงจังหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net