Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 



 


แรงงานไทยและอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบมากที่สุด สำหรับนโยบายผลักดันแรงงานข้ามชาติของมาเลเซีย (ที่มาภาพ: Asia Sentinel)


 


ก่อนที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อับดุลลาห์ อะห์มัด บาดาวี (Abdullah Ahmad Badawi) จะประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 13 ก.. ที่ผ่านมานั้น ในช่วงต้นปีรัฐบาลมาเลเซียมีแผนการที่จะลดจำนวนแรงงานต่างชาติ โดยอ้างถึงสภาพเศรษฐกิจที่หดตัว รวมถึงการพยายามสร้างงานให้กับชาวมาเลเซียเอง


 


ปัจจุบันประเทศมาเลเซียมีแรงงานต่างชาติประมาณ 2.3 ล้านคน โดยรัฐบาลมีแผนการที่จะลดให้เหลือ 1.8 ล้านคนภายในปี ค.. 2009 และลดอีกกว่า 300,000 คน ในปี ค..2015


 


โดยรัฐบาลมาเลเซียให้เหตุผลผลทางด้านเศรษฐกิจ และการพยายามสร้างงานให้กับคนมาเลเซียเองซึ่งมีการคาดการว่ามาเลเซียจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ 3.2% ในปี ค.. 2008 กอปรกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติ


 


ก่อนหน้านี้มาเลเซียถือว่าเป็นประเทศที่ต้องการแรงงานข้ามชาติในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกำลังแรงงานน้อย จากการประเมินในปี ค..2007 มาเลเซียมีกำลังแรงงานเพียง 10.91 ล้านคน จากประชากรเกือบ 25 ล้านคน แต่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์และมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ ทำให้ความต้องการแรงงานต่างชาติยังมีอยู่สูงโดยเฉพาะตลาดล่าง (Secondary Labour Market) เนื่องจากตลาดล่างคนท้องถิ่นไม่นิยมเลือกและมีโอกาสเลือกไปทำงานบนตลาดบนที่ให้ค่าตอบแทนหรือจัดสวัสดิการได้ดีกว่า


 


ในแง่ของตลาดบน มาเลเซียได้ประกาศชัดเจนว่าจะยกฐานะประเทศขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมหรือเป็นประเทศพัฒนาในปี ค.. 2020 หรือก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม Datuk Seri Rafidah เคยได้ให้สัมภาษณ์และมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น New Strait Time ว่าทางการมาเลเซียจะปรับปรุงโครงสร้างภายในเพื่อรองรับการลงทุนการค้า โดยเฉพาะในกิจการทางด้านบริการและสาขาซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรม สุขภาพอนามัย การศึกษา การท่องเที่ยวและการเงิน


 


การผลักดันข้างต้นทำให้มาเลเซียมีโอกาสในการขยายตลาดแรงงานตลาดบนมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดช่องว่างของตลาดล่าง เนื่องจากกำลังแรงงานท้องถิ่นมีไม่เพียงพอทำให้ความต้องการแรงงานต่างชาติมีอยู่ตลอดเวลา


 


ปัจจุบัน มาเลเซียมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานมากกว่า 2.3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจาก อินโดนีเซีย ที่เหลือเป็นแรงงานจากชาติต่างๆ มีจำนวนมากตามลำดับ คือ บังคลาเทศ เวียดนาม เนปาล อินเดีย พม่าและไทย นอกจากนั้นยังมีแรงงานจากเขมรและลาวด้วย


 


นอกจากนี้ประเด็นชาตินิยมและอาชญากรรมจากแรงงานข้ามชาติ ถูกนำมาชูเป็นประเด็นการเมืองบ่อยครั้ง สถิติความรุนแรงของอาชญากรรมในมาเลเซียเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ในช่วงที่บาดาวีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลายฝ่ายมุ่งเป้าสายตาอันเคลือบแคลงมาที่เหล่าแรงงานต่างชาติ - แต่ผู้ที่ก่ออาชญากรรมนั้นก็ยังเป็นคนของของมาเลเซียเอง


 


สำหรับเรื่องสร้างความเกลียดกลัวทางเชื้อชาติ ได้ผลทางการเมืองเสมอมาในมาเลเซีย คาดการณ์กันว่าบาดาวีจะเข้าสู่ตำแหน่งนายกอีกครั้ง ในการเลือกตั้งวันที่ 8 มีนาคมที่จะถึงนี้ การบริหารภายใต้นโยบายเดิม และแผนการลดจำนวนแรงงานต่างชาติ ก็จะถูกดำเนินการต่อไป


 


ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติในมาเลเซียมีความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยดีนัก ทุกวันมีแรงงานข้ามชาติกว่า 1,000 คนหลบซ่อนอยู่ตามสนามบิน และอีกจำนวนมากต้องแอบไปหลับอยู่ที่ลานจอดรถ บางเวลาของวันหนึ่ง พวกเขานั้นต้องหลบซ่อนเพื่อรอนายจ้างใหม่ และเป็นจำนวนกว่าหมื่นคนที่ต้องเดินทางมาทางเรือ ข้ามช่องแคบมะละกามาอย่างผิดกฎหมาย หรือมาจากกาลิมันตัน (Kalimantan) ไปสู่ ซาบาห์ (Sabah) และซาราวัค (Sarawak) โดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานเหล่านี้ทำงานในโรงงานยางและโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม


 




อุตสาหกรรมภาคก่อสร้าง มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไปทำงานยังมาเลเซีย


(ที่มาภาพ: http://www.cringel.com)


 


แรงงานไทยในมาเลเซีย


การเคลื่อนย้ายแรงงานไทยสู่มาเลเซียมีมานานแล้ว นับได้หลายศตวรรษ ในทางข้อเท็จจริงการเข้าออกของประชาชนทั้งสองประเทศมีมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียเข้มงวดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ผิดกฎหมายมากขึ้นและพยายามจัดระบบให้การเคลื่อนย้ายอยู่ในระบบที่รัฐบาลดูแลได้


 


สำหรับจำนวนแรงงานไทยในมาเลเซีย สำนักงานแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย รายงานตัวเลข ณ เดือนพฤศจิกายน 2550 ระบุจำนวนแรงงานไทย 12,500 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมายที่มิได้มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของมาเลเซีย สำหรับแรงงานถูกกฎหมายมีจำนวน 10,335 คน โดยภาพรวมประมาณการว่ามีแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย 22,835 คน


 


โดยตลาดจ้างงานสำคัญของแรงงานไทยในภาคธุรกิจต่างๆ ของมาเลเซียมีอาทิ..


 


ภาคก่อสร้าง ตลาดแรงงานภาคก่อสร้างในมาเลเซียเป็นตลาดล่าง ซึ่งมีคนงานไทยทำงานจำนวนไม่น้อย (แม้ปัจจุบันจะลดจำนวนลงแล้วก็ตาม) ตลาดนี้มีปัญหาในเรื่องสำคัญ คือ ค่าจ้างต่ำไม่ดึงดูดใจ การจ่ายค่าจ้างล่าช้า และการมีงานทำไม่เต็มที่ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนสวัสดิการ


 


ภาคบริการ เป็นภาคที่มีการไหลเข้าของแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกิจการร้านอาหาร


 


ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร หรืออุตสาหกรรมการผลิต แม้ว่าจะจ้างคนงานไทยไม่มาก แต่มีความต้องการแรงงานไทยเป็นระยะๆ ที่ผ่านมาไม่พบปัญหาเหมือนเช่นภาคก่อสร้าง


 


นวดแผนไทย ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพราะปัจจุบันมีคนงานไทยทำงานในกิจการนวดแผนไทยจำนวนมาก โดยได้รับใบอนุญาตให้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามการมาทำงานนวดแผนไทยจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมมาจากประเทศไทย


 


สำหรับปัญหาของแรงงานไทยในมาเลเซียนั้นก็คือการลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย และการหลอกลวง โดยเฉพาะนายหน้าจัดหางาน ซึ่งหากพบว่าแรงงานเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต, ทำงานเกินกำหนดวีซ่า หรือใช้วีซ่าของบริษัทอื่นทำงาน จะมีโทษทั้งจำคุกและปรับเงิน


 


ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานไทยที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมักจะเป็นแรงงานที่ถือวีซ่าประเภทท่องเที่ยว และมีสิทธิในการอาศัยเพื่อลักลอบทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียได้เพียง 30 วัน ส่วนใหญ่แรงงานไทยนี้ส่วนจะอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเดินทางเข้าออกตามด่านต่าง ๆ ของชายแดนไทยเพื่อประทับตราวีซ่าในทุก ๆ เดือน


 


ทั้งนี้ทางการมาเลเซียมีระเบียบใหม่กำหนดให้แรงงานต่างชาติทุกประเทศผ่านการอบรม และทดสอบในเรื่องภาษา/วัฒนธรรม/กฎหมายก่อนได้รับอนุญาตเข้ามาทำงาน ระเบียบนี้กำหนดให้ทีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1 พฤศจิกายน 2547 และกำหนดให้การอบรมมี ณ ประเทศต้นทาง โดยมาเลเซียแต่งตั้งหน่วยงานเอกชนที่เรียกว่า Malaysia Training Providers (MTP) ทำหน้าที่ให้บริการประสานการอบรมและการออกประกาศนียบัตรกับฝ่ายไทย ซึ่งแต่งตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นศูนย์อบรมคนหางาน ที่สำคัญโครงการนี้เก็บค่าลงทะเบียนจากคนหางานคนละ 10 เหรียญสหรัฐ (เป็นรายได้ของทางการมาเลเซีย) และต้องจ่ายค่าบริการให้หน่วยงาน MTP ด้วย


 


แรงงานไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซียต้องเสียภาษี (Levy) ตามประเภทของงาน อาทิ งานก่อสร้าง งานบริการเสียภาษี ปีละ 1,200 ริงกิต งานเกษตร 360 ริงกิต ซึ่งการเก็บภาษีจะจ่ายล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี และดำเนินการพร้อมกับการขอวีซ่า (Calling Visa) และการขอใบอนุญาตทำงาน ซึ่งปกตินายจ้างจะออกค่าภาษีให้ก่อนแล้วไปหักจากค่าแรงของแรงงาน


 


และจากนี้ไปนอกเหนือจากปัญหาการถูกนายหน้าหลอกและการเข้าไปอย่างผิดกฎหมายแล้ว นโยบายการลดปริมาณแรงงานต่างชาติของมาเลเซีย ก็เป็นที่จับตาอย่างยิ่ง สำหรับผลกระทบต่อแรงงานไทยในมาเลเซีย


 


 


ที่มา:


Get Out! Malaysia Tells Migrants. Again. (Asia Sentinel - January 31, 2008)


Report: Malaysia to cut foreign workers (CNN - January 20, 2008)


ข้อมูลประเทศมาเลเซีย https://www.cia.gov


สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย ในเวบไซต์กระทรวงแรงงาน


สถานการณ์แรงงานปี 2550 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน


         



  

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net