Skip to main content
sharethis


 


 


ในช่วงเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมา คณะสำรวจนานาชาติได้เข้าไปสำรวจค้นหานกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper Eurynorhynchus pygmeus) อย่างจริงจังเป็นครั้งแรกตามชายฝั่งของประเทศพม่า และได้พบนกชนิดนี้ถึง 84 ตัว


 


การค้นพบครั้งนี้บ่งชี้ว่า พม่าเป็นเจ้าบ้านในฤดูหนาวให้นกชายฝั่งจำนวนมากที่ถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ในโลก จำนวนที่พบนี้คิดเป็นร้อยละ 10 - 15 ของประชากรนกดังกล่าวที่มีในโลก และทำให้มีความหวังขึ้นมาสำหรับนกที่ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในพื้นที่ทำรังวางไข่และไม่ได้ทำรังวางไข่


 


จำนวนประชากรนกที่ใครเห็นก็รักและมีชื่อตรงกับรูปลักษณ์ที่พิสดารที่สุดชนิดหนึ่งของโลกชนิดนี้ลดวูบลงในระยะเวลาเพียงสิบปีที่ผ่านมา ในบางพื้นที่ลดลงถึงร้อยละ 70 ในเวลาเพียงไม่กี่ปี


 


ผลการสำรวจพื้นที่ทำรังของนกในคาบสมุทรชูค็อตกา (Chukotka) ในไซบีเรียตะวันออกของประเทศรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ชี้ว่า จำนวนนกที่จับคู่ผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ที่นั่นลดลงกว่าครึ่งหนึ่งระหว่างปี 2549 ถึง 2550 และไม่มีรายงานการพบมันเลยที่ประเทศบังคลาเทศในฤดูหนาวปีนี้ สถานการณ์ปัจจุบันจึงอยู่ในภาวะวิกฤติ


 


นกใกล้สูญพันธุ์ด้วยจำนวนที่เหลือเพียง 200-300 คู่ ทำให้นักอนุรักษ์ต้องออกมาประกาศขอความช่วยเหลือเพื่อกอบกู้การลดจำนวนของนกโดยเร่งด่วน


 


ทีมสำรวจนานาชาตินี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมฟื้นฟูนกชายเลนปากช้อน ซึ่งมีสมาชิกมาจาก ArcCona Consulting ที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และเมืองคีล ประเทศเยอรมัน, JAWAN ประเทศญี่ปุ่น, องค์กรสมาชิกของ BirdLife International


 


ในรัสเซียและประเทศไทย คือ สหภาพอนุรักษ์นกรัสเซีย (RBCU) และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาชิก BirdLife ในพม่าคือ BANCA และสมาชิกของ Wetlands International ในพม่าคือ MBNS 


 


นักสำรวจ 14 คนจัดแบ่งกันเป็นสองคณะออกสำรวจหาดเลนของอ่าวมะตะบันทางตะวันออกของนครร่างกุ้งใกล้ชายแดนไทยและพื้นที่ชายฝั่งบางแห่งในรัฐอรากันทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศใกล้ชายแดนบังคลาเทศ


 


ประสบการณ์จากการสำรวจครั้งก่อนๆ ในอินเดีย บังคลาเทศ และประเทศไทย รวมกับการตีความภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้ทั้งสองคณะตั้งเป้าสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพักอาศัยของนกในอ่าวเบงกอล เช่น เกาะทรายรอบๆ หาดเลนในแนวน้ำขึ้นน้ำลงในแถบอรากัน ซึ่งนับนกชายเลนปากช้อนได้ 35 ตัว ขณะที่มาพักในยามน้ำขึ้นสูงครั้งหนึ่ง


 


ในจำนวนนี้มีนกวัยเยาว์ตัวหนึ่งที่ติดห่วงสีน้ำเงินอ่อนมาจากชูต็อตก้าเหนือเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว การที่มันเป็นนกตัวเดียวที่ติดห่วงจากนกชายเลนปากช้อนที่พบเห็นทั้งหมด 84 ตัวบ่งบอกว่าน่าจะมีประชากรนกจำนวนมากกว่าในพื้นที่ทำรังวางไข่ที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ


 


ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการสำรวจชายฝั่งอรากันมาก่อน และชายฝั่งมะตะบันก็มีเพียงการสำรวจอย่างผิวเผินเมื่อปี พ.ศ. 2546 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด ที่จะพบนกชายเลนปากช้อนจำนวนมากเช่นนั้น


นอกจากนี้ ยังค้นพบนกชนิดที่ถูกคุกคามในระดับโลกอีกหลายชนิด เช่น นกกรีดน้ำ (Indian Skimmer) 27 ตัว, นกกระเรียน (Sarus Crane) หลายคู่และห่านหัวลาย (Bar-headed Geese) ที่มาพำนักในฤดูหนาวอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้จำกัด ลมแรง และการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก


คณะได้สำรวจเพียงส่วนน้อยเท่านั้นของชายฝั่งอรากัน ที่ดูเหมือนว่าจะให้ความหวังมาก คณะนักสำรวจเชื่อว่า ชายฝั่งอรากันน่าจะเป็นแหล่งพักอาศัยของนกชายเลนปากช้อนอีกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้คณะจะพบว่า มีการนำหาดเลนมาทำเป็นบ่อกุ้งในพื้นที่เล็กๆ แถบชายฝั่ง แต่ก็ยังเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากเป็นส่วนใหญ่


 


ที่นั่นไม่เพียงแต่เป็นแหล่งพักอาศัยที่สำคัญยิ่งยวดให้นกชายฝั่งจากแถบอาร์คติคนับพันนับหมื่นแล้ว แต่ยังเป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งนับแสนที่พึ่งพิงการประมงขนาดเล็กและการเก็บหอยกับปูบนหาดเลนอีกด้วย


 


ส่วนคณะที่ไปสำรวจอ่าวมะตะบันพบนกชายเลนปากช้อนทั้งหมด 48 ตัว ซึ่งกระจัดกระจายมากกว่าบนหาดเลนอันกว้างใหญ่ของอ่าว ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งพักพิงของนกน้ำมากกว่า 50,000 ตัว โดยมีจำนวนที่สำคัญในระดับโลก ได้แก่ นกชายเลนปากกว้าง (Broad-billed Sandpiper), นกหัวโตทรายเล็ก (Lesser Sand-Plover) และนกนางนวลหัวดำใหญ่ (Pallas"s Gulls)


 


คณะนักสำรวจไม่พบการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ชายฝั่งที่มีพลวัตรสูงนี้ แต่ก็มีภัยคุกคามมาจากการล่าและดักจับนกชายเลน รวมทั้งนกชายเลนปากช้อน ชาวประมงในท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับนกน้ำที่พวกเขามักจะจับในคืนข้างแรมเพิ่งจับนกชายเลนปากช้อนไป 4 ตัวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง


 


ทางการท้องถิ่นในอรากันตอบสนองโดยตรงต่อการค้นพบของคณะนักสำรวจ โดยได้เข้าควบคุมพื้นที่สำคัญนี้ไว้ชั่วคราวและเอาป้ายไปติดในทันที กระบวนการคุ้มครองพื้นที่อย่างเป็นทางการจะใช้เวลานานกว่าและจะตั้งอยู่บนผลของการสำรวจในอนาคต โดยคำนึงถึงความเข้าใจที่มีต่อแนวชายฝั่งที่เหมาะสมทั้งหมด


 


ทางการรัฐบาลพม่าให้การสนับสนุนเป็นอย่างมากในช่วงการเตรียมตัวและการสำรวจ และแสดงให้เห็นว่าจะมีกิจกรรมต่อไปเพื่อให้มีการปกป้องคุ้มครองนกชนิดนี้ในพม่า


 



 


คณะนักสำรวจพบว่า พื้นที่ชุมน้ำชายฝั่งในพม่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของนกชายเลนแถบอาร์คติคหลายหมื่นตัว แต่ยังเป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านนับแสนคนจากชุมชนชายฝั่ง ที่พึ่งพิงการประมงขนาดเล็กและการเก็บหอยกับปูบนหาดเลนอีกด้วย


การเอาพื้นที่หาดเลนมาแปรเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามชายฝั่งตะวันตกนั้น อาจนำความวิบัติมาสู่พื้นที่ชุมน้ำที่อุดมสมบูรณ์ได้ในระยะยาว


 


เช่นเดียวกันการที่ยังมีการดักจับนกชายเลนในแถบมะตะบัน ก็อาจจะทำให้นกที่ถูกคุกคามอยู่แล้ว ตกอยู่ในวิกฤตหนักขึ้น ดังนั้น ควรจะมีการพัฒนาทางเลือกที่เหมาะสมขึ้นมาสำหรับชุมชนท้องถิ่นในทั้งสองพื้นที่ ต้องมีการวางแผนที่จะสำรวจแหล่งพักอาศัยที่เหมาะสมต่อไปตามชายฝั่งยาว 2,000 กิโลเมตรของพม่า และช่วยส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์ให้มากขึ้นไปอีก


 


การสำรวจในพม่าดำเนินการโดย WATT (Wildbird Adventure Travel and Tours) และได้รับการสนับสนุนอย่างใจกว้างจากKeidenran Foundation ในกรุงโตเกียว สมทบด้วยทุนจากราชสมาคมเพื่อการอนุรักษ์นกอังกฤษ (RSPB), BirdLife Asia, Manfred Hermson Foundation และผู้สนับสนุนเอกชนชาวรัสเซีย การสำรวจมิอาจจะเป็นไปได้หากปราศจากการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวของประเทศพม่าด้วย


 


สำหรับในประเทศไทยนั้น สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กำลังสำรวจและศึกษาวิจัยพฤติกรรมของนกชายเลนปากช้อนในบริเวณอ่าวไทยตอนใน เป็นเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 ถึงเมษายน 2551 ซึ่งผลขั้นต้นพบว่า ฤดูหนาวปีนี้พบนกชายเลนปากช้อนมากที่สุดเท่าที่เคยพบมาคือ 14 ตัว


 


อีกทั้ง ยังได้ค้นพบในสถานที่ใหม่บางแห่งที่ไม่เคยพบมาก่อนด้วย และน่าจะมีโอกาสพบได้อีก เนื่องจากหนึ่งในนักวิจัยคือนายสุชาติ แดงพยนต์ ที่ร่วมทีมนานาชาติไปสำรวจนกชายเลนปากช้อนในพม่าด้วย จะนำประสบการณ์มาใช้ในการสำรวจในประเทศไทยต่อไป


 


"เราต้องให้การคุ้มครองนกที่กำลังจับคู่ทำรังอยู่ทุกคู่ทันที จึงพอจะมีโอกาสรักษานกชนิดนี้ไว้ได้ ขณะนี้เรามีแผนจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่วิกฤติต่างๆ ก่อน เมื่อมีการคุ้มครองและนกเลี้ยงลูกจนเติบโตพ้นรังสำเร็จแล้ว ค่อยหันไปมุ่งรักษาพื้นที่ทั้งหลายที่นกใช้ขณะย้ายถิ่นเป็นขั้นตอนต่อไป" Evgeny อธิบาย


ปากทรงช้อนของนกชนิดนี้ยังคงเป็นปริศนา เพราะเรายังไม่ทราบประโยชน์ที่แน่ชัดแม้แต่น้อย


 


นกชายเลนปากช้อน จับคู่ในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในพื้นที่แคบๆ ริมทะเล ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าทุนดราเขตอาร์กติกในชูค็อตกา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย เมื่อถึงฤดูหนาวนกชนิดนี้จะย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรตามแนวชายฝั่งไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในนกซึ่งใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเหลืองในเอเชียตะวันออกเป็นที่หยุดพักหาอาหารก่อนจะเดินทางอพยพต่อทั้งขาไปและขากลับ


 


"การที่มนุษย์เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งในเกาหลีใต้ เป็นเหตุให้แหล่งที่อาศัยของนกถูกทำลายเป็นพื้นที่มากกว่า 400 ตารางกิโลเมตร พื้นที่อาศัยตามชายฝั่งในบังคลาเทศเปลี่ยนเป็นนาเกลือและนากุ้ง ส่วนในจีนก็มีการพัฒนาที่ดินบริเวณชายฝั่งอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีนี้" Christoph Zöckler ผู้ประสานงานระหว่างประเทศของโครงการแผนปฏิบัติการนกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper Action Plan) ให้ความเห็น


 


"นกหาพื้นที่สำหรับหยุดพักและหาอาการระหว่างการอพยพย้ายถิ่นแทบไม่ได้แล้ว"


 


สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ หากความเปลี่ยนแปลงนี้ยังดำเนินต่อไปก็คงไม่มีพื้นที่ใดๆ หลงเหลือให้นกชายเลนปากช้อนอีกเลย


 


"จำนวนนกลดลงจนทุกคนที่ห่วงใยต้องตื่นตระหนก แต่เมื่อใดมีการลงทุนค่าใช้จ่ายและความพยายามทุ่มเทของผู้เกี่ยวข้อง เราก็ยังมีโอกาสที่จะรักษานกชายเลนปากช้อนไว้ได้" Richard Grimmett ผู้จัดการฝ่ายอนุรักษ์ทั่วโลกของ BirdLife ยืนยัน


 


BirdLife International เปิดโครงการป้องกันการสูญพันธุ์ (Preventing Extictions Programme) ขึ้นเพื่อเจาะจงช่วยนกเช่นนกชายเลนปากช้อนและนกอื่นๆ ในสถานภาพเดียวกัน


 


โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจ สถาบัน และบุคคลทั่วไปเข้ามาให้การสนับสนุนทุนดำเนินการเพื่ออนุรักษ์นกโดยได้รับเกียรติเป็นผู้มีอุปการคุณต่อนกชนิดนั้น (BirdLife Species Champions) เป็นเครื่องตอบแทน


 


หากมีแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ซึ่งมีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางในการทำงาน ก็เป็นไปได้ที่เราจะรักษานกชนิดใดๆ ก็ตาม ให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ อันที่จริงเราเคยทำสำเร็จมาแล้ว แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องต้องทุ่มเทสุดกำลัง รวมทั้งใช้เงินทุนสูงมาก


 


กระนั้น การได้รับรู้ว่านกชนิดหนึ่งซึ่งมีปากรูปทรงราวกับถอดมาจากช้อน ยังมีชีวิตรอดอยู่ในธรรมชาติที่ไหนสักแห่งในโลกอันกว้างใหญ่นี้ เท่านี้ก็คุ้มค่าที่จะลงมือช่วยเหลือแล้วมิใช่หรือ


 


 


....................................................................


 







การสำรวจนกชายเลนปากช้อนในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน 


สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยดำเนินการสำรวจนกชายเลนปากช้อนในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน เขตจังหวัดชลบุรีจนถึงจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 จนถึงเมษายน 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่นกชายเลนปากช้อนอพยพหนีหนาวเข้ามาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย


วัตถุประสงค์ของการสำรวจนี้คือ เพื่อประเมินจำนวนประชากรและการกระจายของนกชายเลนปากช้อน และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้านนิเวศวิทยา พฤติกรรม การเลือกใช้พื้นที่ในช่วงฤดูหนาว


การสำรวจนี้ดำเนินงานโดยความร่วมมือของนักวิจัยด้านนกชายเลน สมชาย นิ่มนวล จาก มหาวิยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้เชี่ยวชาญในการค้นหานกชายเลนปากช้อน สุชาติ แดงพยนต์ จากชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม


อ่าวไทยตอนในเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งพักพิงในช่วงฤดูหนาวที่สำคัญของนกชายเลนปากช้อนในภูมิภาคเอเชีย โดยมีรายงานการพบเห็นนกชนิดนี้ 10 - 20 ตัวเป็นประจำทุกปี สถานที่ที่พบได้บ่อย คือ ที่โคกขามและปากทะเล


นอกจากนี้ยังพบในพื้นที่อื่นอีกสองพื้นที่ๆ ละหนึ่งตัว ซึ่งสำรวจพบในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเดือนธันวาคม 2549 ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


จากการเริ่มต้นสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา นักวิจัยในทีมสำรวจของสมาคม ฯ ได้พบนกชายเลนปากช้อนในพื้นที่ใหม่เพิ่มอีกหนึ่งพื้นที่ และพบนกเพิ่มเติมในพื้นที่เดิมที่เคยมีรายงานอยู่แล้ว ทำให้ประมาณการได้ว่า ในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน น่าจะมีนกชายเลนปากช้อนอพยพเข้ามาพักอาศัยแล้วอย่างน้อย 11 หรือ 12 ตัวในเดือนพฤศจิกายน 2550


นกชายเลนปากช้อนส่วนใหญ่พบหากินและพักในพื้นที่บ่อพักน้ำของนาเกลือ แต่ยังมีพื้นที่นาเกลืออีกหลายแห่งที่ยังไม่มีการสำรวจ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักของทีมงานในการสำรวจในเดือนต่อ ๆไปรวมถึง การศึกษาว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าจะส่งผลต่อการรอดชีวิตของนกชายเลนปากช้อนในช่วงที่พำนักอยู่ในประเทศไทย อีกหรือไม่


นกชายเลนปากช้อนเป็นนกที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามระดับโลก มีแหล่งสืบพันธุ์วางไข่เพียงแห่งเดียวบนคาบสมุทร Chuchotsk ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศรัสเซีย มีการประมาณการว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประชากรของนกชนิดนี้ลดลงไปถึง 80 - 90% และปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรเหลืออยู่ไม่เกิน 300 คู่เท่านั้น


ข้อมูลเพิ่มเติม


http://www.birdlife.org/news/pr/2007/10/spoon_billed_sandpiper.html 


ข้อมูลการพบเห็นนกชายเลนปากช้อนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาต่อไป สมาชิกสามารถแจ้งการพบเห็นได้ที่ นายสมชาย นิ่มนวล win_259@yahoo.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net