Skip to main content
sharethis

โดย สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล / กล่มอนุรักษ์ทับสะแก 


                


             


"กว่าอีไอเอ.โรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูดจะผ่านมาได้ เรามีนักวิชาการที่เป็นด๊อกเตอร์ประมาณ 30 คนเป็นผู้ตรวจสอบก่อน" คำยืนยันจากตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมก้องหูชาวบ้านบ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่คัดค ้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,400 เมกกะวัตต์ของบริษัทยูเนี่ยนพาวเวอร์ดีเวลล๊อปแม็นท์


 


รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของโรงไฟฟ้าหินกรูดจัดทำโดยบริษัทสร้างสรรค์คอนเซาท์แท็นท์ ซึ่งกว่าชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดจะได้อ่าน ก็ต้องใช้เวลาร้องขอกว่า 1 ปีจึงจะได้มา และเป็นภาษาอังกฤษ แปลกันอีกครึ่งปีถึงจับผิดกันได้เรื่อง การบิดเบือดข้อเท็จจริงว่าแนวปะการังหินกรูดประมาณ 80 ไร่ เป็นเพียงแนวหินโสโครกและระบุให้เป็นจุดทิ้งตะกอนจากการขุดลอกเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน


 


ในแบบแปลนการก่อสร้างยังระบุให้มีการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือผ่าแนวปะการังหินกรูดด้วย แต่ถูกอ้างว่าเป็นแนวหินโสโครกจึงขอเบี่ยงแนวออกไป


 


ข้อเท็จจริง หากมีการสำรวจพื้นที่จริงในการก่อสร้างก่อนออกแบบ ก็ต้องพบว่าบริเวณหินกรูดเป็นแนวปะการังไม่ใช่หินโสโครก จึงเชื่อได้ยากว่าจะเป็นการบกพร่องโดยสุจริต


 


การประมาณการณ์คิดค่าเสียหายจากการใช้น้ำทะเลในกระบวนการหล่อเย็นกำหนดให้กุ้งราคากิโลกรัมละ 13 บาท และกำหนดมาตรการชดเชยส่วนหนึ่ง โดยการทำโครงการฟาร์มทะเล มุ่งเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านมาทำฟาร์มทะเล เช่นเลี้ยงหอยหวาน ปลานวลจันทร์ทะเล โดยมีนักวิชาการจากจุฬาฯมาเป็นรับผิดชอบโครงการมูลค่าเกือบ 200 ล้าน


 


ข้อวิจารณ์ว่า มาตรการชดเชยไม่สามารถทดแทนความสมบูรณ์และความหลากหลายทางธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไป และวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ใช่หนูทดลองในโครงการทดลองของนักวิชาการได้


 


บริษัทสร้างสรรค์คอนเซาท์แท๊นท์ถูกพักใบอนุญาตการรับทำอีไอเอ 6 เดือน แต่ไม่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและใบอนุญาตที่อ้างอีไอเอ.อีกเป็น 10 ใบ ยังมีผลบังคับใช้  และ สผ.อนุญาตให้แก้ไข อีไอเอ.ใหม่และอนุมัติผ่านให้อีกครั้ง


 


ข้อสรุปที่เราได้เรียนรู้


การทำ อีไอเอ.ในประเทศไทย ทั้งบริษัทที่ปรึกษาที่รับทำ รวมทั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงจัง บริษัทที่ปรึกษารับค่าจ้างจากโครงการแล้วนั่งเขียนอีไอเอโดยค้นข้อมูลทุติยภูมิจากพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนผู้ชำนาญการใช้จินตภาพเอา เขียนและแก้ไขกันจนกว่าจะพอใจ ก็ถือว่าสอบผ่านอนุมัติอีไอเอ


 


มาตรการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในอีไอเอ. เป็นมาตรการขอความร่วมมือให้โครงการทำ หากเจ้าของโครงการไม่ทำก็ไม่สามารถบังคับหรือเอาผิดตามกฎหมายได้ ที่บอกว่าหากไม่ทำตามอีไอเอ.จะปิดโรงงานหรือปิดโครงการ เหล่านี้ได้ผลแต่การปลอมทั้งนั้น


 


ดูตัวอย่างง่ายๆ ชัดๆ จากโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ  มีคณะกรรมการสารพัดชุด จนป่านนี้ยังไม่ทำตามอีไอเอในเรื่องอพยพผู้คนในแนวเส้นเสียงที่ดังทำลายหูก่อนเปิดใช้สนามบิน พอสนามบินเปิดใช้ก็ปิดไม่ได้แล้ว ชาวบ้านก็หูหนวกต่อไป นี่ผิดเงื่อนไขในอีไอเอชัดๆ ก็ยังไม่เห็นมีใครถูกดำเนินคดี  สผ.ก็บอกว่าหมดหน้าที่  โยนกันวุ่นไปหมด


 


อย่างไรก็ตาม หลังจากการพบข้อบกพร่องในกระบวนการทำอีไอเอ.หินกรูด สผ.ได้มีการทำวิจัยเพื่อจะปรับปรุงกระบวนการทำอีไอเอ.ใหม่


 


บทเรียนใหม่ป่าพรุแม่รำพึง ตอกย้ำข้อสรุปเดิม


ปี 2550 ชาวประจวบฯ ในนามกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้สัมผัสกับอีไอเอ.ของโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยา กำลังการผลิต 5 ล้านตันต่อปี เงินลงทุน 90,000 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัทปัญญาคอนเซาท์แท็น เป็นบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำรายงาน ชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้ตรวจสอบอีไอเอ.ที่ผ่านการอนุมัติจาก สผ.แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งเป็นทางการต่อบริษัทสหวิริยาเจ้าของโครงการ ซึ่งพบว่า


 


แหล่งกองขยะพิษจากกระบวนการผลิตอยู่หลังบ้านของชาวบ้านที่มีที่ดินติดกับโครงการ เปิดประตูหลังบ้านก็เจอกองขยะสูง 22.5 เมตร การรั่วของก๊าซพิษจากกระบวนการผลิตถือเป็นเหตุสุดวิสัย มีการทำป่าพรุแม่รำพึงซึ่งเป็นป่าชุ่มน้ำกว่า 1,000 ไร่ให้เป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่มีคุณค่าทางนิเวศน์วิทยา และผังโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กทับพื้นที่ป่าชุ่มน้ำผืนนี้ 


 


หากบริษัทที่ปรึกษาผู้ทำอีไอเอและคณะกรรมการผู้ชำนาญการมีความรู้ทางนิเวศวิทยาและได้ลงพื้นที่จริง ก็น่าจะเห็นได้ด้วยลูกกะตา ว่าป่าชุ่มน้ำแม่รำพึงสมบูรณ์ เฉพาะป่าเสม็ดที่ขึ้นยืนแถวกันแน่นขนัดก็ชัดเจนเกินพอ


 


ชาวบ้านได้พยายามร้องเรียนไปที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประสานให้เอ็นจีโอช่วยส่งนักวิชาการลงช่วยเก็บข้อมูลความสมบรูณ์และความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อผลักดันให้มีการอนุรักษ์ขึ้นทะเบียนป่าพรุแม่รำพึงขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย  และยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ทับผืนป่าที่ยืนยันได้ว่า ไม่มีร่องรอยของการทำกินมาก่อน และพยายามเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ 


 


บริษัทสหวิริยาได้ขอถอนอีไอเอ.ออกไป ซึ่งชาวบ้านได้พยายามยื่นเรื่องขอให้ สผ.ดำเนินการลงโทษบริษัทปัญญาคอนเซาแท็นท์ แต่กลับได้รับคำชี้แจงจาก สผ.ว่า ส่วนราชการยังไม่เสียหาย จึงไม่สามารถดำเนินการเอาผิดบริษัทที่ปรึกษาได้  และขณะนี้บริษัทสหวิริยาได้ดำเนินการยื่น อีไอเอ.ใหม่ซึ่งจัดทำโดยบริษัทปัญญาคอนเซาแท็นเจ้าเดิม  และเหมือนเดิมคือไม่สามรถเปิดเผยรายละเอียดในอีไอเอ.ต่อสาธารณะได้


 


จากข้อมูลผังโครงการในอีไอเอที่ยื่นใหม่ จากการเผยแพร่ของบริษัทเอง ก็ถูกชาวบ้านระบุว่าพื้นชุ่มน้ำส่วนหนึ่งยังถูกผนวกไปในพื้นที่ก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก


 


ประมาณ 2 สัปดาห์หลังการยื่นอีไอเอใหม่ของสหวิริยา กรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ซึ่งอยู่ในผังโครงการ เพราะตรวจพบว่า มีการใช้ "สค.บิน" จากที่อื่นมาออกเอกสารสิทธิ์ซ้ำ


 


การถมที่และการขุดลอกคลองระบายน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กหากปล่อยให้ถมที่สูง 4-7 เมตร จะมีผลกระทบกับป่าชุ่มน้ำแม่รำพึงและพื้นที่โดยรอบ


 


ยังไม่นับเรื่องที่ชาวบ้านระบุว่า การก่อสร้างท่าเทียบเรือและการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ จะทำลายแหล่งวางไช่ที่สำคัญ 1 ใน 3 ของอ่าวไทย


 


โดยเฉพาะจุดทิ้งตะกอน 350,000 ตัน ของการก่อสร้างที่เทียบเรือส่วนที่ 2 ที่ผ่านการอนุมัติของ สผ.ถือว่า อยู่ในเขตพื้นที่อ่อนไหวต่อการสร้างผลกระทบในแหล่งวางไข่หนาแน่นของปลาทู


 


ขณะนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้ยื่นเรื่องขอให้มีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสังคม แต่ยังคงถูกปฎิเสธจากหน่วยงานรัฐ เพราะอ้างว่าเป็นโครงการของเอกชนไม่ต้องศึกษา ท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่บานปลายถึงขั้นมีการเสียชีวิตแล้ว 1 ศพ ยังมีคดีการทะเลาะทำร้ายร่างกายกันนับไม่ถ้วน   


 


คงไม่ต้องแปลกใจที่หากเราเลิกศรัทธา หรือมีความหวังกับการทำอีไอเอ.ว่าจะสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้จริง ตราบใดที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการอีไอเอ.ไม่มี  ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเพราะถูกทำให้เป็นเรื่องลับระหว่างโครงการกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการเท่านั้น และก็ยังไม่เคยมีโครงการไหนที่อีไอเอ.ไม่ผ่าน และหากกฏหมายสิ่งแวดล้อมที่ออกมาใหม่โยนให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นผู้พิจารณาอีไอเอ.เอง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้พิจารณาอีไอเอ.โครงการโรงถลุงเหล็ก หรือกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาอีไอเอ.โรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบวนการวิ่งแวดล้อมไทยก็ยิ่งถอยหลังตกทะเลไปเลย


 


ตราบใดที่ชีวิต วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชาวบ้านถูกตีค่าเท่ากับศูนย์ ความขัดแย้งในชุมชนการทะเลาะเบาะแว้งของคนในชุมชนไม่มีนัยยะสำคัญต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการ ข้อเรียกร้องของชาวบ้านเหมือนยุงรำคาญ สิทธิชุมชนคงเหลือแต่น้ำหมึกบนกระดาษในหัวขัอรัฐธรรมนูญไทย และทั้งหมดสะท้อนได้ชัดเจนจากกระบวนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net