Skip to main content
sharethis


สถานการณ์แรงงานไทยในประเทศเกาหลี เป็นหัวข้อของการประชุมนานาชาติที่กรุงเทพฯ สัปดาห์นี้



การประชุมสองวันนี้จะหาวิธีช่วยแรงงานไทยหางานทำในประเทศเกาหลี ทำให้การแสวงหาและคัดเลือกแรงงานไทยมีประสิทธิภาพ ยุติธรรมและโปร่งใส และหาวิธีแก้ไขปัญหาที่พบบ่อย


 


แรงงานไทยในเกาหลี มีจำนวนกว่า 14,000 คน (เมื่อเดือนเมษายน 2550) ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคการผลิต แรงงานไทยเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติใหญ่ลำดับ 3 ของเกาหลี รองจากแรงงานเวียดนาม และฟิลิปปินส์


 


องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลเกาหลี จัดการประชุม "การปรับปรุงการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานและการเตรียมตัวแรงงานไทยข้ามชาติไปเกาหลี" ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต กรุงเทพฯ วันที่ 17-18 มกราคม 2551


 


ประเด็นหลักของการประชุม คือการทบทวนโครงการแรงงานผู้มาเยือนเกาหลี และระบบการออกใบอนุญาตการจ้างงาน (Employment Permit System - EPS) ระบบ EPS นี้บริหารโดยรัฐบาลเกาหลี และรัฐบาลของประเทศต้นกำเนิดของแรงงานข้ามชาติ


 


ระบบ EPS เริ่มใช้ในปี 2546 ต่อมามีการใช้ระบบผู้ฝึกงานอุตสาหกรรม (Industrial Trainee System - ITS) ซึ่งถูกยกเลิกไปในปี 2550 เพราะถูกวิจารณ์ว่าไม่ให้สิทธิเพียงพอแก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งรวมทั้งการให้ค่าชดเชยไม่เพียงพอ ในขณะที่ระบบ EPS ให้สิทธิแรงงานข้ามชาติเท่าเทียมกับแรงงานเกาหลี รวมถึงสิทธิในการเข้าร่วมสหภาพแรงงานเกาหลี การเข้าร่วมระบบประกันภัย และระบบบำนาญ


 


ในการสำรวจจัดทำโดย ILO และสำนักพัฒนาบุคลากรเกาหลี (Human Resources Development Service of Korea - HRD) ในปี พ.ศ. 2550 พบว่าแรงงานไทยประสบปัญหาคล้ายคลึงกับแรงงานเกาหลี แต่พึงพอใจกับการฝึกอบรมภาคบังคับและการเตรียมตัวก่อนการเริ่มเข้าทำงานในเกาหลี


 


การสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาและคัดเลือกเข้าทำงานมีมูลค่าประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐ (33,000 บาท) และค่าฝึกภาษาอีกอย่างสูง  300 เหรียญสหรัฐ (9,900 บาท) หนึ่งในสิบคนอาศัยบริษัทจัดหางานเพื่อทำงานในเกาหลี เพราะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ EPS หรือเพราะ EPS ยุ่งยากเกินไป  แรงงานไทยใช้เวลาในการรอการพิจารณาใบสมัครนานที่สุดคือ โดยเฉลี่ย 8 เดือน


 


ครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยที่ถูกสำรวจ กล่าวว่ามีปัญหาที่ต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับงานหรือการปฏิบัติในที่ทำงาน และส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารปัญหานั้นได้ ร้อยละ 27 ของแรงงานไทยรายงานว่า งานจริงที่เขาต้องทำในเกาหลี จะแตกต่างจากที่ระบุไว้ในสัญญา


 


"เราหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยปรับปรุงการบริหารแรงงานข้ามชาติระหว่างประเทศไทยและเกาหลี" นางซาชิโกะ ยามาโมโตะ ผู้อำนวยการภูมิภาค องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวในการเปิด ประชุมนี้ "หากแรงงานไทยมีการเตรียมตัวที่ดี และสามารถปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกาหลีได้ดีขึ้น พวกเขาก็จะมีผลผลิตสูงขึ้น"


 


การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดย ILO กระทรวงแรงงานไทย กระทรวงแรงงานเกาหลี  สำนักพัฒนาบุคลากรเกาหลี (Human Resources Development Services of Korea) และองค์กรความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเกาหลี (Korea Occupational Safety and Health Agency - KOSHA)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net