Skip to main content
sharethis

 



"รวมพลคนกินปลา" กิจกรรมร่วมจัดโดยสามาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อ๊อกแฟม GB มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั้งยืน และสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เพื่อวัตถุประสงค์ให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงต้นทุนทางอาหารของสังคมไทย โดยเฉพาะอาหารโปรตีนจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา อีกทั้งนำเสนอสถานการณ์ ปัญหา และทางออกเพื่อให้ทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำได้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมง ในการร่วมมือกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรแหล่งน้ำทะเลและชายฝั่งของประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคและชาวประมงพื้นบ้านได้มีปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค. 50 ณ สวนสันติไชยปราการ ถนนพระอาทิตย์  


ในวันแรกของการจัดงาน (7 ธ.ค.) ได้มีการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาของทรัพยากรชายฝั่ง และชุมชนประมงพื้นบ้าน โดย ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์ภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ เลขาฯ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน ภาคใต้ นายวิทัศน์ แก้วศรี ประธานสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา และนายอาหลี ชาญน้ำ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน จังหวัดกระบี่ ดำเนินรายการโดย นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี


ต่อด้วยการนำเสนองานวิจัย "หมู่บ้านตนตกปลา" จากกรณีศึกษา บ้านปาตาบาระ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำสายบุรี ที่ประสบปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดปริมาณลงอันเป็นสาเหตุมาจากการใช้เครื่องมือด้านการประมงที่ผิดกฎหมายอันส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงพื้นบ้าน โดยคุณพิกุล สิทธิประเสริฐกุล คุณนูรุดดีน โตะตาหยง และตัวแทนชาวบ้านปาตาบาระ นางสาวศุภวรรณ ชนะสงครามทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ


นอกจากนี้ในบริเวณโดยรอบของงานมีกิจกรรมการออกร้านแสดงสินค้า อาหารทะเล และงานหัตถกรรมจากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้  รวมทั้งการสาธิตการทำอาหารตามวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวประมง อาทิ ซุ้มข้าวยำสมุนไพรและข้าวเกรียบปลาของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์บารอกัต ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซุ้มขายหอยชักตีนอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ ซุ้มสาธิตวิธีทำข้าวดอกลายและข้าวยำพริกไทยทิ่ม (ตำ) ของวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ อ.จะนะ จ.สงขลา


นางจันทิมา ชัยบุตรดี ชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้ร่วมต่อสู้ในเครือข่ายคัดค้านโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวถึงการมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า มีความต้องการที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมที่เรียบง่ายของชุมชนมุสลิม ในเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาหารการกิน การเคารพในคำสอนของศาสนา เพื่อให้คนในเมืองได้รับรู้ อีกทั้งยังต้องการบอกให้รู้ว่าทะเลของไทยยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีปลาอยู่มากมายแต่หากไม่มีการรักษาสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกทำลายไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านอย่างพวกเขา


นอกจากนี้นางจันทิมายังกล่าวถึงโครงการพัฒนาของรัฐว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาของรัฐไม่ใช่การพัฒนาที่ชาวบ้านต้องการ ไม่เคยมีการถามความคิดเห็นของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย โครงการท่าเรือน้ำลึกทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน และโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลต่างๆซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาที่เป็นตัวทำลายวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน อีกทั้งยังมีกรณีของการก่อสร้างโครงการที่ทับที่ดินวากัฟซึ่งถือเป็นการเหยียบย่ำศาสนา ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดของตัวเองตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ 


"พี่น้องอาศัยอยู่กับทะเลมาตลอดชีวิต และเราจะอยู่กับทะเล อยู่กับศาสนา และอยู่กับวัฒนธรรมของเรา" นางจันทิมากล่าว พร้อมย้ำถึงความหวั่นเกรงในชะตากรรมของจะนะว่าอาจเป็นเหมือนดังเช่นที่เกิดขึ้นกับมาบตาพุด จ.ระยองหากชาวบ้านไม่ลุกขึ้นมาคัดค้านการพัฒนาที่จอมปลอมของรัฐ


ทั้งนี้กลุ่มแนวร่วมคัดค้านโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจาการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ ได้มีการแจกเอกสารระบุถึง "บทเรียนจากการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากมาบตาพุ ถึง จ.สงขลา" ว่าตลอดระเวลา 20 ปีที่ผ่านมาของการสร้างโรงแยกก๊าซและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยองซึ่งขนาดนี้มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ทำให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อชาวบ้านและชุมชน ทั้งน้ำเสีย อากาศเสีย สัตว์น้ำปนเปื้อนสารพิษ ผลกระบทต่อการเกษตร การประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้โรคภัยไข้เจ็บ


โดยที่ผลประโยชน์ที่ได้ไปตกอยู่กับกับนักการเมือง นักธุรกิจเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุน พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์ของตัวเองและโฆษณาชวนเชื่อว่าการการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ในขณะที่ปัญหาก็ยังคงดำรงอยู่อย่างไร้ทางแก้ไข และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และเหตุการณ์เหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง โดย ปตท. สภาพัฒน์ฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ 3 หน่วยงานที่ได้เคยทำลายชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ จ.ระยองมาแล้ว ที่วางแผนพัฒนา อ.จะนะ อ.นาหม่อม อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ให้เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ


"เราขอยืนยันว่าจะไม่ยอมให้การพัฒนาก๊าซธรรมชาติ เพราะอุตสาหกรรมมาทำลายชุมชนและสิ่งแวดล้อมของชาวสงขลาเหมือนกับ จ.ระยอง ที่ปตท. สภาพัฒน์ฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ ทำมาแล้ว" ประกาศระบุ








 


งาน "รวมพลคนกินปลา"


กิจกรรมระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค. 50


พบกับ ปลาแห้งจากทะเลอันดามัน บูดู กรือโป๊ะปัตตานี ปลาส้ม ฆอแร็งสตู ปลาดุกร้า มันกุ้ง กุ้งแก้ว กุ้งเสียบ สะตอ น้ำตาลแว่น ลูกตาลกรอบ ปลากรอเค็มเลสาบสงขลา กะปิสุราษฎร์ธานี หอยเสียบจะนะ ชมการปรุงอาหารพื้นเมืองชาวเลหลากหลายชนิดจากเครือข่ายแม่บ้านสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาพใต้ อาทิ ข้าวยำสามน้ำ ข้าวหมกทะเล ข้าวแกงเมืองเพชร ปะทะข้าวแกงเมืองใต้ ข้าวดอกราย อาหารถิ่นชายทะเล ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน เวทีวิชาการงานประมงพื้นบ้าน การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านและเพลงเพื่อชีวิต


รายการเวทีวิชาการ


วันเสาร์ที่ 8 ธ.ค. 50


เวลา 8.00 - 12.00 น. "ทัศนะผู้บริโภคต่ออาหารทะเล" โดยคุณสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้บริโภคคุณโรส แห่งพระนครนอนเล่น และร้านอาหารอโณทัย


เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป วัฒนธรรมพื้นบ้านและดนตรีจากนักศึกษา


วันอาทิตย์ที่ 9 ธ.ค. 50


ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเดินตลาดนัดสินค้าชาวประมง "คนกินปลาพบคนจับปลา"


00000

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net