Skip to main content
sharethis

 


เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานว่า ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ร่วมกับ "เครือข่ายขับเคลื่อนสังคมเพื่อประชาชนมีสุข" และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัด "เวทีติดดาวนโยบายสังคมพรรคการเมือง' จากกิจกรรม "ตลาดนัดนโยบายภาคประชาชน" รับการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550


 



            ในเวที นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ นักเคลื่อนไหวทางสังคมและภาคประชาชนวิเคราะห์-วิพากษ์นโยบายด้านสังคมของ 6 พรรคการเมืองใหญ่ ประกอบด้วย พรรคชาติไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชาชน เพื่อแผ่นดิน มัชฌิมาธิปไตย และรวมใจไทยชาติพัฒนา ซึ่งหลังการเสวนาได้มีการ "ให้ดาว" กับนโยบายของทั้ง 6 พรรค ใน 6 ด้าน คือ แก้ไขปัญหาความยากจน เกษตรกับวิถีชีวิตชุมชน การเข้าถึงฐานทรัพยากร สุขภาพแรงงาน สังคมผู้สูงอายุ และคนชายขอบ โดยมีคะแนนเต็ม 4 ดาว พิจารณาจาก 1.ประสิทธิภาพ ความเป็นไปได้ 2.ความเท่าเที่ยมและทั่วถึง 3.ความยั่งยืนและผลในระยะยาว และ 4.ธรรมาภิบาล


 



            โดยผลการให้ดาวจากผู้อภิปรายนำบนเวที จากคะแนนเต็ม 4 ดาว ปรากฎว่าทุกพรรคสอบตก คือไม่มีพรรคใดได้คะแนนถึง 2 ดาว โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเฉลี่ยมากที่สุดเพียง 1.58 ดาว ตามด้วยพรรคชาติไทย 1.42 ดาว พรรคเพื่อแผ่นดิน 1.25 ดาว พรรคมัชฌิมาธิปไตย 1.25 ดาว พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 1.17 ดาว และพรรคพลังประชาชนได้น้อยที่สุดคือ 0.5 ดาว


 



            ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้านการแก้ปัญหาความยากจนของทั้ง 6 พรรคตนให้ตกหมด คือ 1.5 เต็ม 4 ดาว ด้วยเหตุผลเด่นๆ 4 ประการ คือ 1.นโยบายแก้จนโดยภาพรวมเป็นการลอกข้อสอบเก่ามา คือลอกประชานิยมของรัฐบาลอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างสาดเสียเทเสียและถูกยกเลิกมาโดยรัฐบาลขิงแก่ หลายคนเป็นพรรคการเมืองที่เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวมาด้วยซ้ำ นอกจากนั้น บางส่วนยังไปหยิบงานที่หน่วยงานราชการทำอยู่แล้วมาเป็นนโยบายตัวเอง 2.นโยบายทุกพรรคมาในแนวสงเคราะห์ ไม่ได้มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยให้ประชาชนเข้ามาจัดการทรัพยากรกันเองโดยรัฐสนับสนุน แต่ทุกพรรคกลับเน้นการ "ให้" โดยนักการเมืองหรือภาคราชการ


 



            3.ไม่เห็นว่าพรรคใดมีท่าทีชัดเจนต่อนโยบายการเมืองที่จะกระทบต่อการแก้ปัญหาคนจน เช่นประชาธิปัตย์วิจารณ์นโยบายทักษิณไว้มากว่าไม่สนใจนโยบายการเจรจาการค้าเสรี แต่เอาเข้าจริง ปชป.ก็ไม่ได้มีท่าทีชัดเจนเรื่องนี้ 4.นโยบายทุกพรรคขาดมิติธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม และมิติประชาธิปไตย ไม่มีพรรคไหนโยงสิ่งที่เครือข่ายพี่น้องคนจนเคลื่อนไหวผลักดันมาตลอดไปสู่นโยบาย


 



"การลอกข้อสอบเป็นเรื่องสำคัญ จึงให้ตกหมด และไม่อยากให้มาสอบใหม่ด้วย เพราะอยากเห็นคนหน้าใหม่ๆ เข้ามามากกว่า" ผศ.ดร.ประภาสกล่าว


 



            นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เกษตรกรและนักวิชาการอิสระที่ทำงานเรื่องป่าและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเกษตรกรค่อนข้างวิกฤติ โดยเฉพาะประเด็นหนี้สินเกษตรกรที่มีสูงถึง 1 ใน 3 ของหนี้สินสาธารณะ หนี้สินโตจากครอบครัวละ 7 หมื่นบาทมาเป็น 1.7 แสนบาท เกษตรกรส่วนใหญ่กว่า 70% ต้องเช่าที่ดินทำการเกษตร และที่ดินของเกษตรกรที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ปีหนึ่งๆ โดนยึดขายทอดตลาดกว่า 5 หมื่นราย รายหนึ่งประมาณ 20 กว่าไร่ นับรวมเป็นล้านไร่ต่อปี รวมถึงการเข้าไม่ถึงทรัพยากรในการผลิต น้ำและป่าไม้ เกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรองเรื่องราคาตลาดและผลผลิต อีกทั้งสุขภาพของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนไม่มีพรรคไหนพูดถึง


 



            "นโยบายพรรคพูดถึงแต่ปลายเหตุ การแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่เน้นสร้างพลังเกษตรกรให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตัวเอง พรรคที่แตะปัญหาเกษตรกรได้กว้างที่สุดคือพรรคชาติไทย จึงขอให้ 2 ดาว ส่วนพรรคที่เหลือพูดปลายเหตุให้แค่ 1.5 ดาว แต่ยังหวังว่าจะมีการพัฒนานโยบาย จะได้ให้เพิ่มให้เป็น 2 หรือ 4 ดาวในเร็วๆ นี้" นายเพิ่มศักดิ์กล่าว พร้อมเสนอว่าการแก้ปัญหาเกษตรกรต้องทำใน 3 ระดับ คือ หนึ่ง ให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ ระดับสองคือ สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกัน มีพลังต่อรองกลไกตลาด ระดับสามคือสร้างคุณภาพชีวิต สวัสดิการเกษตรกรที่ในระบบยังไปไม่ถึง พรรคใดเสนอนโยบายเชิงนี้เชื่อว่าเกษตรกรก็พร้อมให้การสนับสนุน


 



            นายไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ในด้านการจัดการทรัพยากร สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำทันทีมี 3 ประเด็นคือ ยกเลิกกฎหมายที่ สนช.กำลังพยายามผลักดัน เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร จะเป็นกฎหมายที่บั่นทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกด้าน และให้ทบทวนกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กฎหมายที่รวมศูนย์การจัดการน้ำ ที่จะทำให้น้ำมีราคามากขึ้น กฎหมายป่าชุมชนที่ตัดสิทธิ์ 1,000 ชุมชนที่ทำป่าอยู่ และกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดินฉบับแก้ไขปรับปรุงที่ให้กรมพัฒนาที่ดินย้ายคนออกจากพื้นที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ค่อนข้างให้อำนาจรัฐสูงมาก ดังนั้นต้องทบทวนโดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม


 



            "เท่าที่ดูนโยบายพรรคการเมืองศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่จำกัด ไม่ได้แยแสสิ่งที่ระบุในรัฐธรรมนูญและในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ซึ่งพูดถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมความหลากหลายไว้ชัด"


 



            ผศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มจาก 10% หรือประมาณ 6 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 20% ในปี 2568 ดังนั้นพรรคต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมสร้างระบบดูแลระยะยาวผู้สูงอายุ เมื่อดูนโยบายพรรคพลังประชาชนไม่ได้พูดชัดเจนถึงเรื่องนี้ จึงขออนุญาตใช้คำว่า "ขาดสอบ" คือไม่ติดดาวให้ ส่วนพรรคอื่นๆ ก็ล้วนให้ความสำคัญกับการก้าวย่างสู่สังคมผู้สูงอายุทั้งสิ้น อาจเพราะเห็นว่าผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจะเป็นฐานเสียงสำคัญ แต่กระนั้นนโยบายส่วนใหญ่ที่เสนอก็ยังเป็นการต่อยอดจากระบบเบี้ยยังชีพเดิม และไม่ค่อยบอกว่าจะนำเงินจากไหนมาใช้ อีกทั้งเน้นแค่ผู้สูงอายุในปัจจุบัน แต่ไม่ได้ปูพื้นสร้างหลักประกันกับคนปัจจุบันที่ยังทำงาน แต่จะก้าวเป็นผู้สูงอายุในอนาคต หรือเรียกว่าละเลยนโยบายด้านบำนาญก็ได้



            "สรุปว่า ออกข้อสอบให้แล้ว แต่ทุกพรรคทำเพียงครึ่งเดียวแล้วออกจากห้องสอบไป ดังนั้นติดให้สูงสุดได้แค่สองดาว คือ ประชาธิปัตย์ เพราะนโยบายมีแนวโน้มก่อปัญหาน้อยสุด และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่พูดเรื่องเบี้ยยังชีพกับบำนาญไปพร้อมๆ กัน ส่วนพรรคอื่นๆ ให้ 1.5 ดาว" ผศ.ดร.วรเวศม์กล่าว


 



            นางสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องแรงงานนั้น นโยบายพลังประชาชนไม่ได้ลงลึกถึงผู้ใช้แรงงานเลยจึงไม่ให้ดาว ส่วนประชาธิปัตย์แม้เสนอนโยบายที่ดูเหมือนตรงใจผู้ใช้แรงงานทุกอย่าง แต่สมัยที่ผ่านๆ มาพรรคก็ไม่ได้ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ จึงให้ไปแค่ 2 ดาว


 



            "สายแรงงานสมัชชาคนจนนั้นไม่หวังในพรรคการเมืองว่าจะมาแก้ไขปัญหา เพราะเชื่อว่าแต่ละพรรคแค่พยายามไปสืบเสาะว่ากลุ่มไหนต้องการอะไรแล้วมาเขียนเป็นนโยบายแค่นั้น" นางสมบุญกล่าว


 


 


……………………….


ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net