Skip to main content
sharethis

โดย www.thaiclimate.org


 



 


วันนี้คุณบอกน้องแคชเชียร์ที่เซเว่นฯ ว่าไม่เอาถุง (พลาสติก) แล้วหรือยัง?


 


สามเดือนผ่านไปหลังจากผู้ว่า กทม.อภิรักษ์ โกษะโยธิน เดินแจกถุงผ้า รณรงค์ (ต่อหน้ากล้องทีวีและหนังสือพิมพ์) ให้คนกรุงเทพฯ ลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อช่วยต้านภาวะโลกร้อนและลดขยะ เราไปตระเวณสำรวจหน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ แถวบ้าน บนถนนพระราม 2 ที่มีทั้งบิ๊กซี เทสโกโลตัส และท้อปส์ สามชั่วโมงที่เห็นแต่คนหิ้วถุงพลาสติกและพลาสติกออกมาที่จอดรถ เราก็ได้คำตอบ


 


คนซื้อของส่วนใหญ่ที่เราเข้าไปคุย รวมถึงพนักงานในห้างด้วย บอกว่าเคยได้ยินการรณรงค์ใช้ถุงผ้าในสื่อและรู้สึกว่าเป็นเรื่องดี แต่ยังไม่เคยปฏิบัติตามเลยซักครั้ง ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย


 


"ไม่รู้จะไปรับถุงผ้าจากที่ไหน ถ้าต้องซื้อก็ไม่อยาก เพราะน่าจะแพงและเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น"


 


"เคยเห็นคนขายถุงผ้าตามตลาดนัด ใบละ 40-50 บาท แต่ไม่สวย ก็เลยไม่ซื้อ เคยมองหาตามห้างและในซุปเปอร์ฯ แต่ไม่เห็นมีขายเลย"


 


"เวลามาซื้อของ ส่วนมากไม่ได้วางแผน นึกจะมาก็มาเลย จะให้พกถุงผ้าติดตัวคงไม่สะดวก และคงจะลืมเสียมากกว่า"


 


"ถุงพลาสติกมีประโยชน์ค่ะ ไม่ได้ทิ้ง เอาไปใช้ใส่ขยะที่บ้าน แต่บางทีมีมากเกินไปก็ทิ้งบ้าง"


 


รองประธานอาวุโสของเทสโกโลตัส ดามพ์ สุคนธทรัพย์ บอกกับเราผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า


ทางห้างยังไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงเรื่องการให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า เพราะมองว่าความตื่นตัวในเรื่องนี้ของคนไทยยังมีไม่มากพอ


 


"ถ้าเราไม่ให้ถุง หรือคิดค่าถุงแบบในบางประเทศ ลูกค้าอาจจะว่าเราเอาเปรียบ ทุกวันนี้ยังมีคนขอให้เราซ้อนถุงอยู่เลย ก่อนเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไร เราต้องให้การศึกษาคนมากกว่านี้ เราไม่ต้องการทำตามกระแส


หรือแค่สร้างภาพ ถ้าจะทำอะไรเราอยากทำอย่างยั่งยืน" ดามพ์กล่าว


 


แต่ในการเปลี่ยนทัศนะคติและความเคยชิน แค่การรณรงค์ให้การศึกษาให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมตามความสมัครใจอาจจะไม่พอ การออกกฏเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อใช้บังคับเป็นสิ่งที่อาจต้องนำมาใช้ควบคู่กัน ยกตัวอย่างที่ซานฟรานซิสโก เมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องพลเมืองมีความคิดที่ก้าวหน้าทางการเมือง และมีจิตสำนึกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมสูง


 


แต่กระนั้น ยังไม่สามารถกำจัดถุงช้อปปิ้งพลาสติกได้จากการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว ผู้บริหารเมืองเคยขอความร่วมมือจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ให้ลดการใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า แต่ก็ไม่ได้ตามเป้าที่ตกลงกัน


 


ดังนั้นเริ่มจากเดือนนี้เป็นต้นไป เทศบาลเมืองซึ่งก่อนหน้านี้ได้ห้ามหน่วยงานในสังกัดซื้อน้ำดื่มในขวดพลาสติก ประกาศห้ามการใช้ถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือห้างร้านที่มีห้าสาขาขึ้นไปในซานฟรานซิสโก โดยให้ทางเลือกว่าให้เปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกที่ทำจากใยข้าวโพดหรือวัสดุอื่นที่ย่อยสลายได้ หรือใช้ถุงกระดาษรีไซเคิล


 


ในขณะที่มีผู้บริโภคบางคนเห็นว่าใช้ถุงผ้าดีกว่ากันเยอะ เพราะไม่ต้องตัดต้นไม้ ใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ก็ไม่ว่ากัน ตอนนี้เมืองอื่นๆหลายที่ในอเมริกาก็กำลังเริ่มออกมาตรการคล้ายๆ กัน


 


"คงเป็นเรื่องดีถ้าเราเปลี่ยนแปลงอะไรได้โดยอาศัยการกระตุ้นจิตสำนึกคนเพียงอย่างเดียว แต่บางทีหลายอย่างในสังคม ทำไม่ได้โดยมาตรการอันใดอันหนึ่ง ต้องมีทั้งแรงจูงใจ และการแก้ที่โครงสร้าง ที่รวมไปถึงการออกกฏเกณฑ์ใหม่ๆ" สารี อ๋องสมหวัง ผู้ประสานงานสมาพันธ์ผู้บริโภคกล่าว


 


สารีเห็นด้วยว่าถ้ากรุงเทพฯจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนพฤติกรรมคน ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก หรือแม้แต่การลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลในท้องถนน จำเป็นต้องมีมาตรการบังคับควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก ไทยเองก็มีประสบการณ์ของความสำเร็จจากการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ของกลุ่มหมอหัวก้าวหน้าร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่ทำงานด้านสุขภาพ และที่ได้ผลส่วนหนึ่งมาจากการเอาจริงของกระทรวงสาธารณะสุขที่ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และในร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศ


 


หาไม่แล้วการรณรงค์อย่างผิวเผินนอกจากไม่ได้ผลในวงกว้างแล้ว ในทางตรงกันข้ามอาจถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือสร้างภาพ หรือส่งเสริมการตลาด ที่สิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากร แล้วยังสร้างความเข้าใจผิดให้สังคมว่าปัญหาโลกร้อนกำลังได้รับการแก้ไขด้วยการหิ้วถุงผ้า ซึ่งเอาเข้าจริง ต่อให้เลิกใช้ถุงพลาสติกแล้วมาหิ้วถุงผ้ากันทั้งเมือง ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องโลกร้อนอะไรเท่าไหร่ สถิติบอกว่าถุงพลาสติกจำนวน5,000,000 ล้านใบที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกในแต่ละปี คิดเป็นปริมาณน้ำมันปิโตรเลียมเพียง 12 ล้านบาร์เรล หรือเพียง .40 เปอร์เซนต์ของ 3,000 ล้านบาร์เรลที่โลกใช้กันต่อปีเท่านั้น


 


ปัญหาที่แท้จริงของพลาสติกคือมันกลายเป็นขยะที่จะไม่ย่อยสลายไปอีก กว่า 1,000 ปี และถูกกองสุมในกองขยะที่นับวันจะขยายพื้นที่ ไปอุดตันท่อระบายน้ำ ลอยในแม่น้ำลำคลอง จมลงไปในทะเล หรืออยู่ในท้องปลา แม้แต่สัตว์ป่าเมื่อมันกินขยะจากนักท่องเที่ยว เช่นกวางที่เขาใหญ่ที่ตายลงเพราะกลืนถุงพลาสติก


 


รองผู้ว่า กทม. บรรณโสภิศ เมฆวิชัย ยอมรับว่าการรณรงค์ลดถุงพลาสติกไม่ได้มีการวางเป้าหมายระยะยาว และเห็นด้วยว่าถ้าจะให้ได้ผล อาจต้องมีการออกกฏเกณฑ์บังคับ แต่ กทม.ก็ยังไม่มีแผนจะทำแบบนั้น เนื่องจากมองว่ายาก


 


"แค่ทุกวันนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนออกมาพูดแบบผิดๆไปกันใหญ่ว่า ที่ทิ้งขยะที่เต็มไปด้วยถุงพลาสติก อีกพันปีจะกลายเป็นบ่อน้ำมัน ไทยเราจะมีแหล่งน้ำมันเป็นของตัวเองแล้ว" รองผู้ว่าฯ บรรณโสภิศ กล่าว


 


การขาดการนำแบบเอาจริงจากภาครัฐเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากดูตัวอย่างไอร์แลนด์จะเห็นว่า ถ้ารัฐมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้สามารถประสบความสำเร็จได้ หลังจากรัฐบาลเริ่มเก็บภาษีถุงพลาสติกเมื่อห้าปีก่อน การใช้ในประเทศลดลงถึง 90 เปอร์เซนต์


 


เทสโกกว่า 100 สาขา ในไอร์แลนด์ก็เป็นห้างหนึ่งที่สามารถทำตามนโยบายรัฐได้อย่างไม่มีปัญหา


 


"ถ้ารัฐสร้างมาตรการให้ปฏิบัติตามเหมือนๆกัน หรือให้สิ่งจูงใจ พร้อมกับเอาจริงด้านอื่นๆอย่างเป็นระบบด้วย เช่น การแยกขยะ การรีไซเคิล เราก็พร้อมสนับสนุน เพราะเราเป็นผู้นำด้านอนุรักษ์อยู่แล้ว"ดามพ์ จากเทสโกโลตัส กล่าว


 


แม้แต่ในประเทศที่ยากจนกว่าไทยยังทำได้ เช่น ในบังคลาเทศ คนหันกลับมาใช้ถุงผ้าที่เย็บจากถุงปูนซีเมนต์ กระจูด และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอื่นๆ เมื่อรัฐบาลเริ่มห้ามการใช้ถุงพลาสติกเมื่อหลายปีก่อน


 


"เรารู้มานานแล้วว่าบังคลาเทศทำได้" สารีบอก


 


"เราก็ควรทำได้ด้วยการกำจัดถุงพลาสติกอาจไม่ได้ช่วยโลกร้อนโดยตรงมากเท่าไหร่ แต่มันจะช่วยเปลี่ยนนิสัยการบริโภคแบบทิ้งขว้างไม่รับผิดชอบ ซึ่งในที่สุดก็เป็นสาเหตุของโลกร้อน และปัญหาอื่นๆ บนโลกเราในขณะนี้อีกมากมายนั่นเอง"


 


……………………………


*ติดตามความเคลื่อนไหว ทำความเข้าใจโลกร้อนในมุมที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย โดยทีมนักข่าวที่เกาะติดประเด็น ที่ www.thaiclimate.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net