Skip to main content
sharethis



หมีขั้วโลกแสดงให้เห็นเทอร์โมมิเตอร์ขนาดยักษ์ (6.7 เมตร) ที่มีข้อความ "หยุดปรุงโลกให้ร้อนขึ้น" ที่การประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโตซึ่งเริ่มขึ้นที่บาหลีเป็นวันแรก เทอร์โมมิเตอร์ตัวนี้เป็นเครื่องเตือนผู้เข้าร่วมประชุมว่าจะต้องรักษาอุณหภูมิทั่วโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การประชุมของสหประชาชาติในครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 3-14 ธันวาคม 2550 [ที่มาภาพ: http://www.greenpeace.org/seasia/th]


 

บาหลี, อินโดนีเซีย, - เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 กลุ่มกรีนพีซติดเทอร์โมมิเตอร์ขนาด 6.7 เมตร พร้อมด้วยข้อความ "หยุดปรุงโลกให้ร้อนขึ้น" หน้าสถานที่จัดประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโตซึ่งเริ่มขึ้นที่บาหลีเป็นวันแรก เพื่อเตือนให้ผู้นำประเทศลงมือทำอย่างจริงจังที่จะลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เข้าสู่ภาวะอันตราย


 


"หลายต่อหลายปีแล้วที่รัฐบาลทั่วโลกสร้างความผิดหวังให้ประชากรของตนเนื่องจากล้มเหลวในการกู้วิกฤตภาวะโลกร้อน พวกเขาปล่อยให้พวกเราต้องเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่อารยธรรมมนุษย์ได้กำเนิดขึ้น"สเตฟานี่ ทันมอร์ กรีนพีซสากล  กล่าว


 


"รัฐบาลไม่ควรยึดเรื่องธุรกิจเป็นหลัก แต่ควรร่วมกันลดอุณหภูมิของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสหรือให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่น พายุและน้ำท่วม อย่างที่ประเทศยากจนเคยประสบมาก่อนหน้านี้แล้ว"


 


เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปมากกว่านี้ เราควรลดการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ปี 2558 นั่นคือประเทศอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 และ 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2583 และทั่วโลกต้องร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งก่อนปี 2583 ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนให้ขยายพิธีสารเกียวโตออกไปในช่วงที่สองซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2555


 


กรีนพีซต้องการให้รัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่อากาศ ลดการใช้เชื้อเพลงจากถ่านหิน หยุดการทำลายป่า ซึ่งควรเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 ปีนี้ 


 


ประเทศที่พัฒนาแล้วปล่อยคาร์บอนที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์สู่บรรยากาศถึง 80 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ประเทศเหล่านี้จึงควรหาวิธีการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้รับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีที่สะอาด 


 


"นอกจากนี้เราอยากเห็นประเทศที่กำลังพัฒนาร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศตัวเองเช่นกัน" หยาง อ้ายหลุน กรีนพีซ ประเทศจีนกล่าว


 


ในข้อตกลงร่วมในปี 2552 นี้ควรมีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการปรับตัวกลไกในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่สะอาด และกลไกที่แยกออกมาต่างหากในเรื่องป่าเขตร้อนซึ่งคิดเป็นหนึ่งในห้าของคาร์บอนที่ปล่อยสู่บรรยากาศ


 


กรีนพีซเชื่อว่าเรายังสามารถปกป้องประชาชนนับล้านให้พ้นจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ภัยพิบัติทางน้ำ หรือแม้แต่การขาดแคลนอาหาร ซึ่งสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดที่ทั่วโลกต้องลงมือทำก็คือหยุดการทำลายป่าและให้คำมั่นที่จะลดการใช้พลังงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net