Skip to main content
sharethis

 


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่กำลังจะถึงในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แต่ละพรรคการเมืองต่างให้ความสนใจกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้นำเสนอแนวนโยบายรวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย นโยบายของแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไร จะโดนใจชาวบ้านชายแดนใต้หรือไม่ และจะเป็นความหวังให้กับคนในพื้นที่ที่อยากเห็นความสงบ สันติในเร็ววันได้หรือไม่ "ประชาไท" จะทยอยนำเสนอผ่านบทสัมภาษณ์ตัวแทนของแต่ละพรรคอย่างต่อเนื่อง


 


 


 


ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่วัน หลายพรรคการเมืองพยายามโหมหาเสียงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้ แน่นอนว่า นโยบายหลักที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้นำมาหาเสียง คือ นโยบายการแก้ปัญหาความไม้สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


เช่นเดียวกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" หัวหน้าพรรคกำลังเผชิญกับวิบากกรรมอยู่ในขณะนี้ แต่ทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยกลุ่ม "ยุติธรรมก้าวหน้า" ที่รวมรวบรวมคนทำงานการเมืองภาคประชาชน มีประสบการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้มายาวนาน โดยมี พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตนายตำรวจผู้คลุกคลี่อยู่ในพื้นที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งเข้าสังกัดพรรคนี้ ก็ต้องเดินหน้าต่อไปด้วยเช่นกัน


 


แม้การรวมกลุ่มเพื่อเข้าสู่การเมืองในระบบเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นได้ไม่นานนัก แต่อุปสรรคขวางหนามที่พวกเขาต้องประสบในสนามการเมือง จะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากน้อยแค่ไหน ประสบการณ์ด้านการเมืองภาคประชาชนในพื้นที่ จะช่วยให้ฟันฝ่าไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่


 


"มันโซร์ สาและ" หนึ่งในแกนนำผู้ก่อตั้งกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า ในฐานะผู้ประสานงานผู้สมัคร ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แถลงนโยบายดับไฟใต้ของพรรค จะเป็นผู้ให้คำตอบ


 


 


000


 



มันโซร์ สาและ



 


ทำไมถึงเพิ่งชัดเจนว่าเข้าไปอยู่พรรคมัชฌิมาธิปไตย


เริ่มตอนที่เราคิดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เราจึงศึกษาเรื่องนี้ จึงรู้ว่าการตั้งพรรคการเมืองต้องมีความพร้อมมากมาย ทั้งปัจจัยการเงิน การจัดตั้ง และคนที่จะมาร่วม เราเลยถอย แต่คนที่มาจากภาคประชาชนที่อยู่ในกลุ่มที่เคยลงเลือกตั้งมาแล้ว ก็ปล่อยอิสระที่จะไปหาพรรคการเมืองในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง เช่น พรรคประชาราช ก็มีคนในกลุ่มบางคนเข้าไปหา แต่เราก็ยังเกาะกลุ่มเหมือนเดิม มีการพูดคุยเรื่องการเมืองและมีการตระเตรียมพอสมควร


 


จากนั้นมี 2 - 3 พรรคมาติดต่อแต่ไม่มีความชัดเจน ในที่สุด มีข่าวจากพรรคมัชฌิมาธิปไตยว่ากลุ่มวาดะห์ได้ถอนตัวไป แต่ทางพรรคเองก็ต้องการส่งผู้แทนมาสู้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีผู้ประสานงานของพรรคคนหนึ่งมาติดต่อ กลุ่มเราตกลงเข้าไปแทนที่กลุ่มวาดะห์


 


ทราบว่าพอจะเข้าไปสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็มีกระบวนการสกัดกั้นขึ้นมา ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร


การเข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองใหญ่ๆ เราเพิ่งรู้ว่า มีการบล็อก มีการเจรจา ล็อบบี้ ซึ่งการล็อบบี้ในพรรคการเมืองใหญ่ๆ ต้องมีตัวแทน เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจ กว่าจะฟันฝ่าไปถึงจุดนั้นได้ เราได้เรียนรู้ถึงการเมืองในระบบพรรคการเมืองพอสมควร ได้รู้ข้อเท็จจริงในทางการเมืองว่าคืออะไร


 


ผู้สมัครมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน


แน่นอน ต้องพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า เราพร้อมจะใช้เครื่องมือทุกส่วนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในการขอคะแนนเสียงและในการนำเสนอนโยบายเร่งด่วนของพรรคในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


สิ่งที่เราพร้อมมากที่สุดคือการดีเบตทางการเมือง การมีเวทีให้มาพิสูจน์แล้วเชิญพวกเราไปร่วม นั่นคือส่วนหนึ่งที่จะขายความคิดในเวลาสั้นของการเลือกตั้งครั้งนี้ เราส่งครบทุกเขต แต่มีผมคนเดียวที่ลงระบบสัดส่วนลำดับสุดท้ายคือที่ 10


 


มั่นใจได้กี่คน


อย่างน้อย 3 คนในระบบเขต คือ ยะลา 2 คน และปัตตานี 1 คน


 


วางกลยุทธ์ในการหาเสียงอย่างไร


การปราศรัยและการพบปะคนกลุ่มย่อยเป็นหลัก การลงพื้นที่ เราจะเสนอนโยบายอันเป็นความหวังใหม่ในการแก้ปัญหาทั้งระบบ เราไม่ได้สัญญาว่าต้องเป็นรัฐมนตรี เพราะเราถือเป็นแบบเก่าที่คนที่นี่เห็นผลมาแล้ว


 


แนวคิดหลักของกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้าเป็นอย่างไร พร้อมที่จะนำมาทำงานการเมืองในระบบเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน


เรื่องวิธีคิดที่จะเสนอให้กับประชาชนนั้น เราพร้อมที่จะดีเบตทางการเมืองในการแก้ปัญหาสามจังหวัด เพราะเท่าที่ผมศึกษาการนำเสนอแนวนโยบายต่อการแก้ปัญหาสามจังหวัด ผมว่าแนวคิดของพวกเราไม่เหมือนคนอื่น โดยการชูเรื่องหัวใจที่คนที่เรียกร้องมาตลอด คือ ความเป็นธรรม และเราสามารถที่จะอธิบายได้ แตกต่างกับพรรคอื่นที่ขออำนาจบ้าง ขอโครงการใหญ่ๆ มาก


 


แต่สำหรับโครงการของพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ใหญ่ที่สุด คือ การขุดคอคอดกระ ซึ่งเราเห็นด้วย เพราะถือเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผมคิดว่าคนไทยน่าจะรู้จักสิงคโปร์มากกว่าคนมลายูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จัก


 


จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาก็มีการผลักดันมาตลอด


เราตอบแทนพรรคไม่ได้ แต่ทางพรรคคิดแล้วว่าเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาเวลาพูดถึงคอคอดกระ ก็จะมีตัวแทนของสิงคโปร์มาแล้วมักจะลืมกระเป๋าไว้ แล้วก็ทำให้เรื่องถูกปิดไป อันนี้เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรื้อฟื้นเรื่องนี้ได้


 


เมื่อเข้ามาแล้ว แนวคิดของกลุ่มต้องปรับหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับพรรคหรือไม่


ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแนวคิดที่คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคได้พูดผ่านโทรทัศน์ (ก่อนจะลาออกหลังมีคำสั่งศาลตัดสินให้จำคุกจากคดีปทีพีไอ) แล้วว่า ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดต้องแก้ด้วยความยุติธรรม สองเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ซึ่งไม่เคยพูดคุยกันมาก่อนเลย ดังนั้นจึงสอดคล้องกับวิธีคิดของกลุ่มเราที่ชูเรื่องความยุติธรรมเป็นหัวใจหลักของการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้นเราจึงรับได้


 


ความยุติธรรม ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องนามธรรม หากย้อนกลับไปดูปัญหาของสามจังหวัด ทุกครั้งที่ประชาชนเรียกร้องหรือลุกขึ้นมาต่อสู้ มักมีเรื่องขอความเป็นธรรมตลอด ดังนั้นเราจึงจับเรื่องนี้เพื่อจะอธิบายและให้คุณค่ากับความยุติธรรม ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ เป็นนโยบายหลักของเรา


 


ในเรื่องการสถาปนาความยุติธรรมต้องมีตั้งแต่ปัจเจก บุคคลต้องมีใจเป็นธรรม นักปกครองต้องมีใจเป็นธรรม แม้แต่ในสถาบันครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติต้องพยายามสร้างคนให้มีใจเป็นธรรม นี่คือหัวใจ


 


ความยุติธรรมไม่เฉพาะในแง่บุคคล บางคนเข้าใจว่าอยู่ในแง่กฎหมายอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่ ยังมีความยุติธรรมในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง พูดง่าย ๆ เราต้องให้นัยยะของความยุติธรรมนี้ คือการสมดุลกันในเรื่องความถูกต้อง ความเป็นธรรมและคุณธรรม ซึ่งมีอยู่ในตัวของมันเอง


 


เราจึงประกาศนโยบายนี้เพื่ออธิบายให้คนทั่วไปเห็นว่า การเมืองยุติธรรม คือหัวใจที่จะสร้างสันติธรรมแก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง


 


มีรูปธรรมเป็นอย่างไร


สำหรับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เราเตรียมสนับสนุนและผลักดันกลไกที่มีอยู่ในพื้นที่หรือในประเทศ เช่น กลไกของราชการ ที่มีคณะกรรมการยุติธรรมชุมชนที่อยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เป็นกลไกหนึ่งในการคลี่ลายปัญหาความยุติธรรม แต่เราไม่มีกลไกอื่นๆ ที่จะศึกษาข้อเท็จจริงของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เมื่อก่อนเราเคยเสนอในทางวิชาการว่า ต้องมีคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริง หรือ Fact finding committee เพื่อค้นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ เพราะในแง่ของความไม่เป็นธรรม เช่น การเสนอข่าวมาจากฝ่ายเดียว คือฝ่ายรัฐ นั่นคือไม่มีดุลในเรื่องการค้นหาความจริง


 


ดังนั้นถ้าเราได้เป็นรัฐบาลหรือมีโอกาส เราต้องการผลักดันหน่วยอื่นๆ ไม่เฉพาะโดยรัฐอย่างเดียว ประชาชนต้องมีส่วนเพื่อถ่วงดุล เริ่มต้นค้นหาความสมดุลว่าอยู่ตรงไหน การเสนอข่าวหรือการที่ประชาชนบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐก่อเหตุไม่สงบด้วยนั้น จริงหรือไม่ ที่เราเน้นเรื่องนี้ เพราะวันนี้ไม่มีใครกล้าที่จะพูดความจริงในบางเรื่องเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่มีสูตรที่จะแก้ปัญหาได้ถูกต้องได้


 


ในการสร้างดุลนี้ เราต้องการผลักดันให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด มีอำนาจมากขึ้น เพราะวันนี้ภาคประชาชนไม่มีดุลในทางอำนาจหรือหน้าที่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลไกของรัฐ การที่เราก่อตัวมาจากภาคประชาชน เพื่อต้องการให้ภาคประชาชนมีอำนาจขึ้นมาให้ได้


 


คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงถอดแบบมาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส.เดิมหรือไม่


ไม่ใช่ เพราะ กอส.เดิมนั้น เป็นคณะกรรมการระดับชาติ แต่คณะกรรมการชุดนี้อาจมีในระดับต่างๆ ผมยกตัวอย่างความล้มเหลวที่รัฐไม่ได้ดูแล คือ การตั้งคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงหลังกรณีการประท้วงของนักศึกษาที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เราจะผลักดันรูปแบบ Fact finding เป็นเชิงวิชาการในการสร้างสันติวิธี มาใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาถูกมองว่าเรียกร้องฝ่ายเดียว ขณะที่คนที่ได้รับผลกระทบมีหลากหลาย เราจะอธิบายอย่างไร


ถูกต้อง เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้แล้ว คุณตั้งประเด็นไว้เลยว่า คนพุทธถูกกระทำจากใครกันแน่ ชาวบ้านถูกกระทำจากนักฉวยโอกาสหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว ขบวนการแสวงหาผลประโยชน์ยังมีอีกมาก ขบวนการแสวงหารายได้จากความไม่มั่นคงก็เยอะ


 


ดังนั้น เราจึงจะเคลียร์ความจริงว่า คืออะไร ไม่ใช่ทุกอย่างโยนปัญหาให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งเรารับไม่ได้ เรารู้ว่าบางเรื่องเป็นผลประโยชนส่วนตัว ความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น เรื่องธุรกิจ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาสามจังหวัด จึงต้องดูบนพื้นฐานของความชัดเจน


 


ตอนนี้ฝ่ายที่ทำหน้าที่เป็นหลักจริงๆ คือฝ่ายทหาร แล้วการตั้งคณะกรรมการอบสวนข้อเท็จจริงจะมีความเป็นได้หรือทำงานได้มากน้อยแค่ไหน


เราไม่พูดว่าฝ่ายทหาร แต่เป็นฝ่ายรัฐ อาจหมายถึงทหารหรือฝ่ายปกครอง แต่ประชาชนไม่มีดุลอำนาจในการเข้าไปมีส่วนร่วม นี่คือสิ่งที่เราไม่อยากเห็นในอนาคต


 


แล้วจะทำอย่างไร


ต้องค้นหาวิธี เช่น เราเห็นการเคลื่อนไหวเรื่องพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน เพราะนี่คือการเริ่มต้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน แต่จะตั้งประเด็นให้ภาคประชาชนได้นั้น รัฐต้องให้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะตราบใดที่ยังเป็นอยู่อย่างนี้ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่สามารถเข้าถึงในพื้นที่ได้ แต่กลับมีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผมพูดทั้งหมดไม่สามารถทำได้


 


ดังนั้น นโยบายที่เรานำเสนอจะต้องสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ไม่ใช่คนที่แสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับรัฐ ถูกกาหัวว่าเขาเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ นั่นเป็นมุมมองที่เป็นอคติ


 


ในบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย ต้องเปิดโอกาสให้พูดอย่างเต็มที่โดยปราศจากอาวุธ กรณีที่ชาวบ้านอึดอัดใจต่อบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือการที่กลุ่มชาวบ้านออกมาประท้องเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบนพื้นฐานที่ไม่มีอาวุธ เขาสามารถทำได้ แต่รัฐไปกล่าวหาว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ป่าเถื่อน ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่ไม่สามารถรับได้ในวิธีคิดของประชาธิปไตย


 


ดังนั้นเราเสนอความยุติธรรมควบคู่กับบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพื้นที่ นี่คือการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน


 


แล้วในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชนในพื้นที่จะดูแลอย่างไร


มีคนถามผมว่า ถ้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย จะสามารถหยุดยั้งการฆ่าฟันรายวันได้หรือเปล่า ผมจะถามว่าประเทศไทยสามารถหยุดการฆ่ารายวันในพื้นที่อื่นๆ ได้หรือเปล่า ดังนั้น มันเป็นคำถามที่ไม่เป็นธรรมเลย เพราะว่า ถ้าประชาชนมีอำนาจสอดส่องดูแล จัดตั้งตัวเอง อาจจะหยุดได้


 


นี่คือการไม่มีดุล คนฆ่ากันมันไม่มีดุลที่จะตรวจสอบ ไม่มีดุลยภาพอื่นๆ ในสังคม เพราะสังคมมันเสื่อม ดังนั้น ผมจึงถามกลับว่าถ้าที่อื่นหยุดได้ ที่นี่ก็หยุดได้


 


เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาแบบหยุดการฆ่ารายวัน ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ดังนั้นกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้าจึงเสนอเพื่อการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน และที่สำคัญที่สุด คือ ได้สันติภาพแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่หยุดฆ่ารายวันแล้วก็จบ


 


หมายความว่าการฆ่ารายวันก็ต้องแก้อยู่แล้ว แต่ต้องแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย


ถูกต้อง เพราะว่าปัญหามีระยะเวลามายาวนาน แล้วจะแก้ตรงที่คนไม่ให้ฆ่ากันมันยาก เพราะการฆ่ามีทุกที่ในประเทศไทย เพียงเป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าว ส่วนในสามจังหวัดเป็นข่าวก็เพราะว่ารัฐบอกว่าเกิดจากความคิดแบ่งแยกดินแดน เท่านั้นเอง


 


รัฐใช้กลไกต่างๆ แก้ปัญหา แต่ภาคประชาชนไม่มีบทบาทมากขณะนี้ แต่ในอนาคต ถ้าร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ... ที่รัฐผลักดันอยู่ขณะนี้ ถูกประกาศใช้ได้ แน่นอนรัฐบาลหน้าต้องนำมาใช้ ไม่ทราบตรงนี้มีแนวคิดอย่างไร


อยากบอกว่ารัฐต้องคิดให้ดี ต้องกำหนดให้ชัดว่าอะไรคือความมั่นคง เพราะคนที่นี่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้ว ซึ่งเนื้อหาใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่แตกต่างมาก ดังนั้น คนที่นี่ต้องพิจารณาว่ากลไกของรัฐที่กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนมากเป็นทหาร ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเหล่านี้ได้ วันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นโอกาสของประชาชนที่จะเลือกว่าจะอยู่อย่างไร


 


สำหรับพรรคมัชฌิมาธิปไตยไม่มีพูดถึงประเด็นนี้ เพราะเราต้องการดุลกับความเป็นวิชาการ แต่เราก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมดของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 


หมายถึง อยู่ที่ประชาชนว่าจะเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก


แน่นอน เพราะมุมมองความมั่นคงของประชาชนไม่เหมือนกับวิธีคิดของคนที่เกี่ยวข้องกับชาติ ที่มักอ้างชาติตลอด แต่ภายใต้การอ้างชาติก็มีผลประโยชน์อยู่ ส่วนภาคประชาชนจะมองความมั่นคงด้านมนุษย์บวกด้วยชาติ แต่ขณะเดียวกัน ถ้ารัฐบาลไม่คิดถึงความมั่นคงด้านมนุษย์ เรื่องเกียรติศักดิ์ศรี แน่นอนที่สุด ชาติจะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าซึ่งโลกกำลังเปลี่ยนแปลง เราอยากจะฝากให้คนที่มีความคิดหนักไปในทางความมั่นคง ต้องคิดใหม่


 


ความพร้อมของกลุ่มต่อการเลือกตั้งครั้งนี้


เรามีหน้าที่ในการถือธง บอกแนวเชิญชวนและผลักดันให้บทบาทของภาคประชาชนมีมากทีสุด เพราะเราเห็นว่าการแก้ปัญหาตอนนี้ อยู่ที่ฝ่ายรัฐอย่างเดียว เพราะฉะนั้นแนวคิดในการสร้างสันติภาพตามกรอบของสากล ถ้าตราบใดที่ภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ไม่มีโอกาสขึ้นมาเทียบเคียงกับรัฐแล้ว เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้


 


ดังนั้น ผมในฐานะคนทำงานกับภาคประชาชน ต้องการเห็นภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีจิตสำนึกทางการเมือง ไม่ใช่รอรับเพียงเม็ดเงินจากรัฐอย่างเดียว นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด


 


การที่เรามีกลุ่มขึ้นมาทำงานการเมืองตรงนี้ ไม่ใช่ต้องการจะสร้างกลุ่มให้เก่งและเด่น แต่ต้องการสร้างประชาชนให้ฉลาด เราต้องการสร้างการเมืองให้ประชาชนฉลาดมากกว่าที่จะสร้างนักการเมืองให้ฉลาด ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับการทำงานทางการเมืองของเรา มันก็จะยังอยู่ในรูปแบบเก่า เราอยากจะเห็นประชาชนอยู่แนวหน้าในการแก้ปัญหาร่วมกัน


 


ในฐานะคนทำงานการเมืองภาคประชาชนมานาน วันหนึ่งเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา ไม่ทราบมีแนวคิดอย่างไร


มีคนถามผมตลอดว่า คุณทำงานวิชาการดีแล้ว เขียนหนังสือแล้วก็วิจารณ์ ผมตอบประเด็นเดียว คำตอบเดียว คือ เราพูดในถนนวิชาการไม่ดังเท่ากับในถนนการเมือง อย่างไรก็ตาม ก็มีคนให้ข้อเตือนเราด้วยว่า ถนนการเมืองมีแต่เสือสิงห์กระทิงแรด มีปัญหาอยู่เยอะแต่เราก็จะพยายามให้ได้ เราจึงมาเป็นกลุ่ม เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราจึงอยากฝากให้กับคนที่ทำงานภาคประชาชน


 


บางครั้งการทำงานภาคประชาชนมีเพดานที่ไม่สามารถที่จะทะลุได้  การเดินบนเส้นทางนี้ เพื่อที่จะขยับ ต่อยอดจากภาคประชาชนไปสู่การเมือง เพราะฉะนั้นวิธีคิดของกลุ่มในเรื่องการเมือง เรามองคู่ขนาน คือแนวคิดการเมืองภาคประชาชนกับแนวคิดทางการเมืองในระบบเลือกตั้ง เพราะต้องการไปแก้ให้ทั้งสองอย่างอยู่ระดับเดียวกัน แต่มันไม่ง่าย ไม่ใช่ทำได้ในวันสองวัน


 


การเข้าสู่การเมืองต้องพร้อมหลายอย่างแล้วจะสู้กับกลุ่มการเมืองเดิมได้อย่างไร


วิธีคิดของคนที่เป็น ส.ส.บางทีไม่แตกต่างจากคนทั่วไป คนทำงานการเมืองภาคประชาชนเหนือกว่าด้วยซ้ำไป เพียงแต่ไม่มีคะแนนอยู่ในมือ พรรคการเมืองกำหนด ระดับฐานคะแนนเสียงของ ส.ส.เป็น เอ บี ซี แต่ไม่ได้เอาทุนทางสังคมหรือประสบการณ์เป็นตัวหลักในการพิจารณาเข้าพรรคการเมือง


 


เมื่อพิจารณาจากคะแนนที่คุณเคยต่อสู้ในสนามเลือกตั้งมาแล้ว นั่นก็คือตัวเม็ดเงินที่จะต่อรองได้กับพรรค ดังนั้นถ้าคนที่คาดหวังมากกับพรรคการเมือง ถ้าไม่ใจเย็นหรือไม่คิดด้วยวิธีคิดของเขา จะหันหลังกลับเลย เพราะหวังอะไรไม่ได้เลย การเมืองข้างบนมันเน่า แต่มีอำนาจ


 


ดังนั้นการที่เราเข้าไป ทั้งที่รู้ว่าที่นั่นมันสกปรก เพราะเราต้องการเปลี่ยน ถึงจะเปลี่ยนวันนี้ไม่ได้ เราก็จุดประกายให้คนได้เห็นว่า ครั้งหนึ่งเราได้พูดอย่างนี้ นี่คืออุดมการณ์ของเรา เราไม่ได้หวังว่าเราจะให้ได้วันนี้ นี่คือการจุดประกายใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ต้องทำการเมืองให้สะอาดก่อน


การทำการเมืองให้สะอาดมันยาก โดยเฉพาะการเมืองที่ไม่ใช้เงินเพื่อซื้อให้คนลงคะแนน


 


การเมืองในระบบเลือกตั้งถ้าเราไม่สร้างฐานมาจากการเมืองภาคประชาชนให้แน่น และเข้าใจระบบเลือกตั้ง การสร้างการเมืองที่สะอาดไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นจึงอยากฝากไปยังคนที่ทำงานการเมืองภาคประชาชน ถ้าเราอยากเห็นนักการเมืองและโครงสร้างการเมืองที่สะอาด เราต้องมีคนที่ไปเล่นการเมืองมาจากปีกของเราเอง ก็มีโอกาสเกิดภาพการเมืองน้ำใสได้


 


แล้วที่บอกปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากความไม่ยุติธรรม ในขณะเดียวกัน พอจะเข้าไปสู่การเมืองเพื่อแก้ปัญหาก็พบว่ามีแต่การเล่นสกปกรกแล้วมันจะช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างไร


ผมถึงบอกว่าประชาชนต้องลุกขึ้นมาพร้อมกัน ถ้าจะให้นักการเมืองอย่างเดียว ที่ผ่านมาถึงวันนี้ เป็นไปไม่ได้เลย ผมอาสาเข้าไปอยู่พรรคมัชฌิมาธิปไตย เพื่อที่จะไปด้วยกัน แต่ถ้าคุณไม่ตาม ก็ไปไม่ได้


 


พวกเราก็หวังอยู่เหมือนกันว่า การสร้างสถาบันทางการเมืองของกลุ่มเรา ที่ไม่มีระบบทายาทหรือเป็นเครือญาติ ถ้าใครคิดจะมีทายาท เขาต้องอยู่ในลักษณะที่มีความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตระกูลนั้น เป็น ส.ส., ส.ว. ผูกขาด ไม่มีในวิธีคิดของกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า นี่คือกรอบที่เราวางไว้ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานการเมืองภาคประชาชน กระโดดเข้ามาสู่การเลือกตั้ง สามารถจะร่วมสร้างสรรค์ตรงนี้ได้


 


เราประกาศว่า เราต้องมีกฎจริยธรรม มาเล่นการเมืองไม่ใช่เพื่อกอบโกย แสวงหาฐานะ เช่น กำหนดว่าเข้ามาแล้วต้องมีบ้าน 10 ล้านบาท มันเหนือกว่าคนอื่น อย่างที่เราเห็นอยู่ นักการเมืองทุกคนมีบ้านใหญ่ ทำให้ช่องว่างเกิดขึ้น อันนี้เราศึกษามาแล้วว่าไม่ใช่ ดังนั้นกฎทางจริยธรรมต้องมีอยู่ เราจะเดินไปข้างหน้าในแนวนี้


 


ทำงานการเมืองภาคประชาชนมานาน พอจะเป็นต้นทุนทำงานการเมืองในระบบเลือกตั้งได้หรือไม่


 


ตัวอย่างในประเทศอื่นๆ ที่ผมศึก แค่อินโดนีเซียอย่างเดียว พบว่าเรายังห่างไกลที่จะก้าวไปสู่ถนนการเมืองให้สำเร็จได้จากการก่อตัวของภาคประชาชน นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ


 


หมายถึงประชาชนมีจิตสำนึกทางการเมือง ยังไม่มีปีกการเมือง พรรคการเมืองในบางประเทศจะมีการสร้างปีกจากระดับล่างมาก่อน เช่น สายสาธารณสุข สายพัฒนาชุมชน อย่างสายกฎหมาย มีคนของเขาหมดเลย คนเหล่านี้คือคนที่จะเทคะแนนให้ แต่ในพื้นที่ไม่มี


 


สอง ผมเห็นภาคการเมืองภาคประชาชนในพื้นที่รวมทั้งภาคใต้เอง ไม่มีลักษณะการสร้างการเชื่อมโยงที่ชัดเจน สมมติด้านการพัฒนาชุมชนกับกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนไม่มีการเชื่อมโยงกัน ต่างคนต่างทำตามใบสั่งที่ตัวเองได้รับ ถ้ายังเป็นอย่างนี้อีก 20 - 30 ปีข้างหน้าก็ไม่แข็งแรง ถ้ายังทำงานตามใบสั่งและอีโก้ในตัวเอง


 


ดังนั้น ถ้าจะให้การเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็ง ต้องลดอีโก้ลงและสร้างการเชื่อมโยง แล้วมีปีกการเมือง ที่เป็นคนของตัวเองที่มุ่งไปสู่ถนนการเลือกตั้งได้


 


หมายความว่าภาคประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคยังอ่อนแออยู่


อ่อนแอมาก


 


เพราะอะไร


เพราะบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยไม่มี ตั้งแต่เริ่มมีประชาธิปไตยในประเทศไทย ยกตัวอย่าง เราไม่สามารถสร้างกลุ่มสมาคมได้จากผู้รู้ที่จบจากต่างประเทศ เมื่อตั้งแล้วถูกกาหัวว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ที่เราขับเคลื่อนได้วันนี้คือคนที่จบการศึกษาจากกรุงเทพ


 


ส่วนกลุ่ม เช่น กลุ่ม อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานชุมชน) หรือกลุ่มลักษณะเดียวกัน ผมไม่ถือเป็นภาคประชาชนที่อิสระ เพราะคนเหล่านั้นรอรับ เป็นแขนขาที่จะสนองนโยบายรัฐ


 


ดังนั้น ในคำจำกัดความ คำว่า Civil Society ภาคประชาชนต้องเป็นอิสระ แม้จะรับเงินจากรัฐก็ไม่เป็นไร รัฐไม่สามารถสั่งได้ นั่นคือความหมายของ Civil Society หรือเอ็นจีโอ


 


ถ้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยได้เป็นรัฐบาล ก็จะให้เขามีอิสระ บนกรอบของรัฐธรรมนูญ ถ้าเติบโตจากตรงนี้ได้ คนที่นี่อาจจะเปลี่ยนวิธีคิดทางการเมืองที่ดีกว่าได้


 


ความไม่เข้มแข็งของภาคประชาชนในพื้นที่อาจมาจากความแตกแยกในสังคมมุสลิมสูงด้วยหรือไม่


ผมยอมรับเลยว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น กลายเป็นบทลงโทษจากพระเจ้าส่วนหนึ่ง เพราะในพื้นที่มีเรื่องอบายมุขและความชั่วร้ายมาก ทั้งในเรื่องการเลือกผู้นำ คนที่ไม่มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ แต่กลับได้เป็นผู้นำ ท่านศาสดามูฮำหมัด บอกไว้ชัดเจนว่า นั่นคือการรอวันหายนะ


การเมืองในระดับล่างและระดับสูง มีการซื้อเสียง แต่การซื้อเสียงในศาสนาอิสลามถือว่า ทำได้ ถ้าคนที่สู้มีอุดมการณ์ในเชิงอิสลาม เขาสามารถซื้อได้เพื่อจะรักษาไว้ซึ่งความดี แต่วันนี้เราซื้อเสียงจากกลุ่มอันธพาลบ้าง กลุ่มอิทธิพลบ้าง เพื่อก้าวสู่อำนาจ นี่คือการก้าวสู่หายนะ ไม่ใช่เพื่อสิ่งที่ดีงาม


 


เรายอมรับว่าปัญหาสามจังหวัดคือการลงโทษจากพระเจ้า ที่สังคมของเราเองแตกแยก ในเรื่องการแย่งอำนาจ เดี๋ยวนี้ในหมู่บ้านเรา เมื่อก่อนแตกแยกด้วยวิธีคิดทางศาสนา เช่น เกิดคณะเก่า คณะใหม่ แต่ทั้งสองคณะ ต่างนับถือพระเจ้า แต่วันนี้ไม่ใช่ เราแบ่งแยกกัน เราสู้กัน ยิงกัน ฆ่ากัน เพราะแย่งอำนาจตำแหน่งในทางการเมือง นี่คือมารร้ายหรือเส้นทางหลอกลวงของมารที่ไปสู่อำนาจ


 


ปัญหานี้มันมีสะสมมานาน แล้วในการแก้ปัญหาจะทำอย่างไร


นโยบายของพรรคมัชฌิมาธิปไตย คือ ส่งเสริมกิจกรรมด้านศีลธรรมและจริยธรรมในพื้นที่ และมีการส่งเสริมนโยบายลดอบายมุขชัดเจน นโยบายเชิงจิตนิยม เรามี เพราะพรรคมัชฌิมาธิปไตยประกาศแล้วว่า เราเดินทางสายกลาง เราต้องดุลกันระหว่างทางศีลธรรมกับทุนนิยม แล้วพื้นที่สามจังหวัดเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับนโยบายลักษณะนี้


 


ปัญหาในพื้นที่อีกส่วนหนึ่ง คือเรายอมรับว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดน เราจะอธิบายอย่างไร


ขบวนการนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราไม่สามารถจะพูดถึงปัจจุบันได้ เพราะปัจจุบันคือปลายเหตุ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงต้องรับและศึกษาว่า เวลานี้เกิดอะไรขึ้นกับคนที่นี่


 


ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลกนี้ คนจะก่อตัวต่อสู้เมื่อเขาไม่สามารถสู้บนดินได้ ผมก็ประกาศเหมือนกันว่า ถ้าผมสู้บนดินไม่ได้ ผมอาจจะอพยพไปที่อื่น เป็นเรื่องปกติของคนที่จะต่อสู้ ไม่ใช่จะอยู่ใต้กะลาครอบของใคร


 


ดังนั้น รัฐคิดจะเป็นสถาปนิกในการกำหนดคนที่นี่ตามวิธีคิดของรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ระยะเวลาของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้ากลับไปสู่ทฤษฎีของการเขียนหนังสือบทใหม่ๆ เวลานี้เป็นยุคที่สิ้นสุดของอำนาจของรัฐบาลรัฐชาติแล้ว The End of Nation State ยุคของรัฐชาติต้องสิ้นสุดแล้ว เกิดเป็น Global Village เกิดเป็นหมู่บ้านของโลก มันทำให้คนติดต่อได้ ผมสามารถจะบอกคนในพื้นที่อื่นได้ว่า ผมถูกกดขี่ข่มเหง โดยผ่านระบบสารสนเทศ หรือเว็บไซต์


 


ดังนั้นการที่รัฐบาลเอาคนนั้นคนนี้มาแล้วมาบอก รัฐบาลคิดผิด เพราะคนที่นี่สามารถสื่อสารกับคนมาเลเซียได้ โดยผ่านอินเตอร์เน็ต สื่อสารกับคนภูมิภาคอื่นได้ รัฐบาลจะปกปิดอะไรบางอย่างนั้น อย่าไปคิด นั่นคือระบบการเมืองปัจจุบัน ระบบโลกมันเปิดแล้ว


 


เพราะฉะนั้นวิธีคิดของรัฐต้องเปลี่ยน เมื่อเปลี่ยนแล้วมันก็สามารถสู่เส้นทางการแสวงหาแบบสันติวิธี โดยการใช้สูตร การเจรจาพูดคุย หรือ Dialogue (สานเสวนา) นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นในเชิงสันติวิธี กับคนที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง ซึ่งรัฐควรจะนั่งฟัง


 


ผมพูดได้อย่างหนึ่งในเรื่องประวัติศาสตร์ คนหรือกลุ่มนักวิชาการที่นี่ที่ไม่ได้อยู่ในสารบบของนักวิชาการ พร้อมที่จะดีเบตทุกพื้นที่ ในเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานีจากประวัติศาสตร์ไทย แต่ไม่ใช่ผม ดังนั้นปัญหาสามจังหวัดต้องพูดด้วยความเป็นจริง


 


ในพื้นที่มีกลุ่มคนที่หลากหลาย เราจะให้ความสำคัญกับเขาเหล่านั้นอย่างไร


เมื่อพูดถึงความยุติธรรม ในกฎหมายอิสลามมีกำหนดอย่างชัดเจนสำหรับคนที่ไม่ใช่มุสลิมที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอิสลาม หนึ่งคุณจะอยู่หรือจะไป จะเข้ารับอิสลามหรือไม่ ถ้าเขาไม่รับคุณก็ต้องจ่ายภาษีเฉพาะ แต่ทำหน้าที่ในทางศาสนาคุณได้ตลอดอย่างมีเสรีภาพ ไม่มีอบายมุข แต่จะกินเหล้านอกบ้านไม่ได้ เพราะนั่นคือบาป ศาสนาพุทธก็ห้าม เล่นการพนัน ซื้อล็อตเตอรี่ไม่ได้ ถ้าพื้นที่นี้ถูกสั่งห้ามสิ่งอบายมุข แน่นอนศาสนาเจริญ พุทธก็เจริญ เรื่องวัตถุที่เป็นพุทธพาณิชย์ก็อาจจะไม่มีในพื้นที่ คุณก็เข้าถึงธรรมะได้จริง


 


เพราะฉะนั้นการพูดถึงยุติธรรม ไม่ได้พูดถึงเฉพาะมุสลิม เรามีสโลแกนว่า "ยุติธรรมสำหรับทุกคน" นี่คือสำคัญที่ผมอยากพูด ถึง คือนักปกครองต้องมีใจเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม


 


สมมุติในอนาคต โครงสร้างการปกครองที่นี่ถูกเปลี่ยนไป คนที่เป็นพุทธจริงไม่ต้องห่วงเลย เว้นแต่จะเป็นพุทธที่ไม่จริงเท่านั้นเอง คริสเตียนจริงไม่ต้องห่วง คนที่เป็นมุสลิมจริงไม่ต้องห่วง


 


ประเด็นเหล่านี้สำคัญที่สุดคือรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งคนไทย ไม่เคยศึกษาและไม่เคยแลกเปลี่ยน เจ้าหน้าที่มักเชิญคนที่ไม่กล้าถกเถียงในข้อเท็จจริง ไม่กล้าบอกว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ นี่คือปัญหา เวลาเจ้าหน้าที่รัฐไปในพื้นที่ ชาวบ้านไม่กล้าตอบอะไร อันนี้ต้องยอมรับ แต่ถ้าลองไปพูดคุยกับปัญญาชนที่มีความรู้ เขาก็จะอธิบายได้


 


หลังสุดผมไปที่พรรค มีคนหนึ่งเป็นนายตำรวจจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บอกว่า ผมจะไปนราธิวาส จะไปรับใช้ชาติ พร้อมกับด่าเละเลย ผมนั่งฟังก็เรียกถามว่า คุณเข้าใจปัญหาสามจังหวัดมากน้อยแค่ไหน คุณลองบอกภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ศาสนา หรืออื่นๆ เขาอธิบายได้ ในที่สุดเขาเข้าใจ เมื่อเข้าใจเขาก็มองเห็นการเจรจา เขาก็บอกว่าต้องแก้ด้วยการเจรจาไม่ได้แก้ด้วยการปราบ


 


หมายความว่าต้องสร้างความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน


นี่คือเบื้องต้นที่รัฐต้องเปิด ไม่เช่นนั้นคนจะพูดอะไรไม่ได้เลย และคนที่เป็นพุทธเองที่อยู่ในวงการข่าวบางคนก็ยอมรับว่า เรื่องบางเรื่องพูดไม่ได้ คืออะไร ถ้าพูดไม่ได้ก็แก้ไม่ได้ นี่คือข้อเท็จจริง


 


ในทางกลับกันมีการพูดว่ามุสลิมในพื้นที่เองก็ไม่ยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตน


แน่นอนต้องอธิบาย เพราะมุสลิมมีทั้งที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ แต่ต้องอธิบาย เพราะต้องยอมรับว่าความเป็นมุสลิมอยู่เหนือกว่าความเป็นรัฐชาติ มุสลิมนับถือพระเจ้าสูงสุดเหนือกว่าอำนาจของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม เขาต้องเข้าใจ ไม่เข้าใจแล้วจะอยู่ไม่ได้


 


แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องมาดูด้วยว่าทำไม่เราเป็นอย่างนั้น แต่วิธีคิดของรัฐรับไม่ได้ถ้าใช้อารมณ์กับอำนาจ คุณไม่ได้ถกเถียงกันบนพื้นฐานว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ทำไม่มุสลิมเอารูปบางรูปเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็มีคำอธิบาย วิธีคิดของรัฐคือพยายามให้รัฐซึ่งเป็นวิธีคิดของมนุษย์เหนือกว่าวิธีคิดของพระเจ้า นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหามนุษย์ย่อมไม่สิ้นสุด


 


ในเมื่อมีการเรียกร้องให้เข้าใจมุสลิม ทำไม่ไม่เรียกร้องให้มุสลิมเข้าใจรัฐบ้าง


เข้าใจรัฐ แต่รัฐยอมรับหรือไม่ว่า รัฐมีความยุติธรรมหรือเปล่า ซึ่งเราถามคนที่นี่ตลอด รัฐบาลบอกว่าคนที่นี่ระแวงรัฐ แต่รัฐไม่เคยถามว่ารัฐระแวงคนที่นี่หรือเปล่า ตัวเองระแวงแต่ตัวเองไม่ยอมรับ เช่น การระแวง ส.ส.ในสภา ว่ามีส่วนโยงใยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน นั่นคือความระแวง


 


ผมอยากบอกว่ารัฐไม่ดูแล ไม่เข้าใจตัวเอง พยายามมองคนอื่นผิด มองประชาชนที่ตัวเองปกครองผิดอยู่ตลอด ตัวเองไม่ผิด ตัวเองบริสุทธิ์อยู่ตลอด ซึ่งไม่มีรัฐใดในโลกนี้บริสุทธิ์ ยิ่งพูดถึงวิธีคิดของอิสลามยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นเราต้องการดีเบต บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนวิชาการ ไม่ใช่อารมณ์ เพื่อสร้างสันติสุข แต่วันนี้คุณก็เห็น หัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรค บอกว่าการแก้ปัญหาคือต้องส่งกำลังมาปราบอย่างเดียว นี่คือวิธีคิดของคนที่มีอำนาจ


 


สะท้อนอะไร


สะท้อนให้เห็นภาพของความเป็นรัฐไทยอย่างดี เพราะคนเหล่านั้นผ่านกระบวนการการรับใช้ของรัฐไทย


 


แล้วสำหรับคนก่อเหตุก็ต้องศึกษาว่าทำไม่เขาถึงก่อเหตุ เมื่อเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ต้องค้นหาความจริง คนระดับปัญญาชนพร้อมที่จะดีเบตตลอด เพราะคนที่นี่รับรู้ปัญหาของโลก ศึกษาศาสนา อธิบายอะไรได้ ถกถียงในข้อเท็จจริง ในการแลกเปลี่ยนอย่างสันติวิธี บนพื้นฐานของการไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้อำนาจและอาวุธ


 


กลุ่มยุติธรรมก้าวหน้ามีสมาชิกที่หลากหลายจะเป็นผลดีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร


ใช่ ไม่ได้มาจากนักการเมืองอย่างเดียว มาจากเกษตรกร นักธุรกิจก็มี ส่วนที่อยู่กับเราจะเป็นตัวช่วยในการทำงานให้พรรคในเชิงการเมือง และเป็นผลดีในการสร้างกิจกรรมภาคประชาชน


 


แต่ละคนมีศักยภาพของตัวเอง ที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่าย เช่นผมเป็นวิทยากรของวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ส่วนมากคนที่มาก่อตัวมีทุนทางสังคมค่อนข้างมากถ้าเปรียบเทียบกับนักการเมือง แต่เราไม่มีกลุ่มคะแนนจัดตั้งในมือ เพราะเราไม่เคยเล่นการเมือง เราไม่ได้จัดตั้งมาเพื่อการเลือกตั้ง


 


ถ้าอนาคตเราสร้างเครือข่ายให้เข้าใจวิธีคิดที่จะเดินไปข้างหน้า คิดว่าจะก่อตัวให้เหนียวแน่นขึ้น เพราะคนที่อยู่ภาคประชาชนจะมองการเมืองว่าสกปรก แต่การเมืองภาคประชาชนไม่ใช่นำไปสู่อำนาจ แค่ตรวจสอบอย่างเดียว ซึ่งไม่เกิดผลในแง่ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองเพื่อการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเขาถือว่าภาคประชาชนไม่ส่งผลกับคะแนนของนักการเมือง แต่นักการเมืองกลับกลัวที่สุดคือ คะแนนของภาคประชาชน


 


เพราะฉะนั้นถ้าภาคประชาชนคิดแบบนี้ ไม่มีโอกาสที่จะเอาความคิดของตัวเองไปสร้างระบบการเมืองที่ดีได้ แต่ถ้าการเมืองภาคประชาชนที่มีตัวแทนของตัวเองทำงานการเมืองในระบบเลือกตั้งและมีคะแนนด้วย นั่นจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้


 


ได้อธิบายกับเครือข่ายแล้วหรือยัง


ยัง เพราะเรามีเวลาสั้น เราก่อตัวเพื่อการเลือกตั้งมาประมาณ 4 - 5 เดือน ซึ่งยังไม่ก่อให้เกิดพลังได้ ภาคประชาชนแต่ละกลุ่มในพื้นที่มีหลากหลาย มีคนของตัวเอง ยังชี้วัดไม่ได้ว่า ประชาชนเข้มแข็งขนาดไหน แม้กลุ่มนั้นมีความคิดแบบการเมืองภาคประชาชน แต่เชื่อว่ายังไม่เกิดพลังพอที่จะใช้ต่อรองได้


 


แล้วจะอธิบายกับเขาอย่างไร


สิ่งที่ผมคิดหลังจากนี้คือ มีการเขียนหนังสือเผยแพร่วิธีคิดของเรา เราเข้าไปแล้วเจออะไรบ้าง บอกเล่าเรื่องของเรา เมื่อเราเข้าสู่พรรคการเมือง


 


วางอนาคตของกลุ่มอย่างไร ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ประสบสำเร็จ


การเกาะกลุ่ม จริงๆ คือคนที่ทำงานเป็นเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) มาก่อน แม้ไม่ได้ประกาศว่าเป็นเอ็นจีโอขนาดใหญ่  แต่เรามีกิจกรรมของเรามาตลอด ถ้าไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง เราก็กลับมาทำงานภาคประชาชน ซึ่งกำลังรอ 2 - 3 โครงการที่จะทำอยู่ แต่ถ้าเราสามารถเข้าสู่ถนนการเมืองได้ก็จะทำให้การผลักดันโครงการดีขึ้น ถ้าล้มเหลวเราก็ขับเคลื่อนของเราต่อ เพราะเราวางการเมืองแบบไม่จำเป็นต้องเข้าหาประชาชนช่วงเลือกตั้งเท่านั้น นั่นไม่ใช่กลุ่มของเรา


 


ผมได้เตรียมโครงการรณรงค์ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ โครงการฟื้นการปลูกนาข้าวใหม่ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคนที่นี่ลืมทำนา แล้วไปซื้อข้าว และการสร้างศักยภาพเด็กระดับ ประถม 3 ถึงประถม 6 ในเรื่องการติวเข้ม


 


การวางรากฐานในอนาคตคือ


สำหรับคนรุ่นใหม่นั้น อยากเห็นน้องๆ ในมหาวิยาลัยที่มีแนวคิดทางการเมือง ได้มีโอกาสมาคิด ร่วมสร้างการเมืองที่สะอาด แล้วต่อยอดไปสู่ระบบการเมืองเพื่อการเลือกตั้ง เพราะเราเห็นตัวอย่างมาในหลายประเทศที่นำสูตรนี้มาใช้ ซึ่งเราศึกษามาพอสมควร


 


ผมทำงานกับนักศึกษามาก่อน ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่เชื่อมกับนักศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นพรรคการเมืองในอินโดนีเซีย  คือ "พรรคเกอ อาดีลัน เซอเญอะเตอรอ" เขาใช้ฐานที่เป็นอดีตนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นตัวศูนย์กลางในทางการเมือง แล้วสร้างคนในระดับล่างๆ ให้เป็นคนที่มีความเป็นมืออาชีพ มีอาชีพดีๆ แล้วประกาศตัวว่า เป็นการเมืองที่เป็นความหวังใหม่ เป็นการเมืองที่สะอาด คนพวกนี้มีการศึกษาสูงแต่รับใช้ประชาชน เช่น นูรฮายาดี รองประธานสภาของอินโดนีเซียคนปัจจุบัน


 


เราศึกษาจากหลายที่เพื่อมาปรับกับการทำงานทางการเมืองในที่สว่าง เรามีต้นแบบให้เห็นที่สามารถนำสู่การเมืองระบบรัฐสภาได้ แล้วสร้างพลังของตัวเองขึ้นมา


 


แล้วระหว่างการเมืองในเชิงอำนาจของเขากับภาคประชาชนมีการเชื่อมต่ออย่างไร


แน่นอน เช่น กลุ่มเกษตร เป็นคนของเขา องค์กรการการกุศลก็คนของเขา ขณะเดียวกันเขาสร้างคนที่มีศักยภาพที่จะเข้าสู่การเมืองในระบบเลือกตั้งจากกลุ่มต่างด้วย เชื่อมโยงกันหมด เวลาหาเสียงเลือกตั้งกลุ่มต่างๆ แม้ไม่ได้แขวนเสื้อพรรค แต่พวกนี้จะลงคะแนนให้


 


ที่ถามเพราะการเมืองไทยถูกวิจารณ์มากว่า การเมืองระดับบนกับภาคประชาชนระดับล่างไม่เชื่อมกัน ปัญหาของชาวบ้านจึงไม่ถูกนำไปแก้ไข


ถูกต้อง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือข้างบน ไม่ใช่ก่อเกิดมาจากภาคประชาชน แต่มาจากนักการเมืองที่มาจากเครือญาติ และแน่นอนที่สุดระบบเครือญาติทำให้ประชาชนกลายเป็นทาส ไม่สร้างประชาชนให้ฉลาด พอฉลาดมีแววที่จะเป็นผู้นำก็สามารถเข้าสู่การเมืองได้ แต่เขาไม่ทำ เขาสร้างลูกของเขาเอง เป็นการผู้ขาด ดังนั้นจึงไม่เชื่อมกัน


 


เรื่องที่อยากฝากไว้มีอะไรบ้าง


การเลือกตั้งครั้งนี้พื้นที่สามจังหวัดคนจะตื่นตัว เพราะบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยถูกกดมาเป็นเวลา 2 - 3 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีคนลงสมัครมากที่สุด มีตัวแทนของพรรคการเมืองเล็กๆ ที่เราไม่เคยได้ยิน แสดงว่าคนที่นี่หิวโหยกับการแสดงออกทางการเมือง แต่น่าเสียดายผู้เกี่ยวข้องบางฝ่าย ไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ ประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนของพรรคคือการสร้างสรรค์บรรยากาศประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงจะแก้ปัญหาสามจังหวัดได้


 


 


.............................................................


 


รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคมัชฌิมาธิปไตย


 


ยะลา ได้แก่


พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม หัวกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า


นายชาลี เร็งมา นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง


นายอับดุลเลาะ ดามาอูเซ็ง ครูสอนศาสนาอิสลาม


 


ปัตตานี เขต 1


นายฉัตรไชย เจ๊ะปอ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักไทย


ร.อ.ครอแม ลิงอกือจิ


 


เขต 2


นายยูซุป ดอเลาะ นักจัดรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันในชายแดนใต้


นายอิบรอฮีม ยานยา นักวิชาการอิสระ อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)


 


นราธิวาส เขต 1


นางพรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้สังกัดกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า


นายไฟศาล ตอยิบ ลูกชายนายอูมา ตอยิบ อดีต ส.ว.นราธิวาส เจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในพื้นที่


นายเริ่ม หนูสวัสดิ์ ข้าราชการบำนาญ ไม่ได้สังกัดกลุ่มยุติธรรมก้าวหน้า


 


เขต 2


นายเสรี หมัดอุ อดีตแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง


นายอับดุลอายิ เจะอูเซ็ง อดีตแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเช่นกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net