Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม เครือข่ายแม่น้ำพม่าประมาณ 15 คน นำโดย นายอ่อง เง เลขาธิการเครือข่ายแม่น้ำพม่า (the Burma Rivers Network) และนายจาย จาย ผู้ประสานงานสาละวินวอชต์ ชุมนุมประท้วงหน้าสถานกงสุลสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลจีนให้ควบคุมโครงการสร้างเขื่อนในพม่าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคมชาวพม่า ตลอดจนทำลายภาพลักษณ์ต่อประชาคมโลกของจีนเอง โดยมีประชาชนกว่า 50,000 คน 98 องค์กรในพม่า และ 24 องค์กรนานาชาติลงนาม (อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี หู จิ่น เทา ที่นี่)


 


ทั้งนี้ แถลงการณ์ของเครือข่ายแม่น้ำพม่า ระบุว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มี 10 บริษัทภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลจีนเข้าไปมีบทบาทในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในพม่ากว่า 20 โครงการ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตกว่า 30,000 เมกะวัตต์ และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


 


โดยเฉพาะเขื่อนท่าซางขนาด 7,100 เมกะวัตต์ ในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะกลายเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ แต่โครงการดังกล่าวดำเนินไปอย่างไม่โปร่งใส ไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีการแจ้งวัตถุประสงค์โครงการกับประชาชนในท้องถิ่น โครงการก่อสร้างหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ ที่มีความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบยาวนานนับทศวรรษจากการกดขี่อย่างเป็นระบบโดยรัฐบาลทหารพม่า


 


แถลงการณ์ดังกล่าวร่างโดย เครือข่ายแม่น้ำพม่า กล่าวถึงกฎหมายการสร้างเขื่อนที่น่ายกย่องของจีน และเตือนให้จีนปฏิบัติกับบริษัทจีนที่กำลังสร้างเขื่อนในต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานแบบเดียวกับที่รัฐบาลจีนใช้ดูแลประชาชนในประเทศของตน โดยข้อเรียกร้องของเครือข่ายยังระบุให้


 


1. มีการสร้างเขื่อนมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIAs) และผลกระทบทางสังคม (SIAs) อย่างรอบด้าน และทำให้สาธารณะเข้าถึงได้ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจความเป็นไปได้ของโครงการก่อนที่จะมีการลงนามก่อสร้างใดๆ


 


2. เให้ชุมชนได้รับทราบผลกระทบจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทุกแห่ง และต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการนี้ โดยพวกเขาต้องได้รับข้อมูลผลกระทบเขื่อน ข้อตกลงด้านการลงทุน และการเงิน บันทึกทำความเข้าใจ (MOUs) บันทึกข้อตกลง (MOAs) และข้อมูลที่นำเสนออย่างรอบด้านสำหรับทุกฝ่าย


 


"เขื่อนของจีนจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ต่อผู้คนในพม่า และจะทำลายภาพพจน์ของจีนในสายตานานาประเทศ" ออง เง (Aung Ngyeh) โฆษกของเครือข่ายแม่น้ำพม่ากล่าว


 


อย่างไรก็ตาม นายจาย จายผู้ประสานงานเปิดเผยว่ากงสุลจีนประจำ จ.เชียงใหม่ ปฏิเสธที่จะรับหนังสือที่มีถึงประธานาธิบดีหู จิ่น เทา จากนี้พวกเราคงใช้วิธีการส่งโทรสารหรืออี-เมล เพราะต้องการให้รัฐบาลจีนได้รับรู้ผลกระทบที่จะเกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 10 เผ่าที่อาศัยแม่น้ำสาละวิน และกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐคะฉิ่นที่อาศัยแม่น้ำอิระวดี


 


ในเวลาเดียวกันกับการยื่นรายชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนในพม่าของบริษัทจีน ยังมีการเผยแพร่รายงาน "ใต้ท็อปบู้ต" (Under the Boot) ของเครือข่ายเยาวชนปะหล่อง อธิบายโครงการก่อสร้างเขื่อนเชวลี (Shweli Dam) ใกล้กับชายแดนพม่า-จีน ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกที่จีนร่วมมือกับรัฐบาพทหารพม่า โดยรายงานดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นภาพนักลงทุนจีนใช้กองทัพพม่าเข้ามาปกป้องโครงการก่อสร้างเขื่อนอย่างไร

เอกสารประกอบ

อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีหู จิ่น เทา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net