Skip to main content
sharethis

สุเทพ วิไลเลิศ


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.)


 


 


ช่วงนี้ข่าวพรรคการเมืองกับการเลือกตั้งบานสะพรั่งเต็มสื่อไปหมด


 


พอผู้เขียนได้อ่านข่าวแอบกรอบเล็กๆ ที่ครูหยุย หรือ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ กิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายที่ส่งให้สนช.พิจารณามากมายเป็นลังๆ จนทำให้สมาชิก สนช.พิจารณากันไม่หวาดไม่ไหว รัฐบาลเองก็เร่งสร้างผลงาน แต่ละกระทรวงก็เร่งผลักดันกฎหมายของตนเอง ทำให้ผู้เขียนอดกังวลใจไม่ได้ว่า การพิจารณากฎหมายกันอย่างรีบเร่ง รวบรัด ชนิดเผือกร้อนเช่นนี้ จะทำให้เรามีกฎหมายที่ดีที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบออกมาบังคับใช้สักกี่ฉบับ


 


พูดอย่างนี้ ใช่ว่าจะไม่คำนึงถึงที่มาของสภานิติบัญญัติแห่งนี้ แต่ในภาวะที่สังคมจำนนต่อความวุ่นวายคงต้องลองมาคิดดูว่ามีหนทางอื่นใดได้อีกบ้างที่จะระงับปัญหาในบางระดับ ที่สำคัญในขณะนี้คือมีเหตุผลอันใดบ้างที่พอจะเป็นเหตุให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ ควรแก่การยุติหน้าที่ในการตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้ เพื่อมิให้เกิดปมปัญหาที่สร้างความสับสนกันอีกรอบหนึ่ง


 


ประการที่หนึ่ง โดยปกติอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้เป็นของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา การยุติการพิจารณากฎหมายของรัฐสภาในฐานะสภานิติบัญญัติเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการยุบสภาหรือสภาหมดวาระลง


 


สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภาชุดนี้ จึงดำรงสถานะองค์กรนิติบัญญัติที่แตกต่างจากภาวการณ์ปกติ เพราะในยามปกติเมื่อมีการยุบสภาหรือสภาหมดวาระลงจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเพื่อให้เกิดกระบวนการสรรหาตัวแทนของปวงชนมาทำหน้าที่ต่อไป ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่มีองค์กรนิติบัญญัติมาทำหน้าที่ออกกฎหมายใดๆ ได้


 


ดังนั้นเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้น เมื่อ 25 ตุลาคม 2550 ซึ่งผ่านพ้นมาเกือบ 30 วันแล้ว  และกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่ถึง 30 วัน จึงเท่ากับว่าถึงเวลาแล้วที่สนช.ควรยุติบทบาทในการพิจารณากฎหมาย เพื่อเปิดทางให้กับรัฐสภาที่มาตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยเป็นผู้ตรากฎหมายบังคับใช้ต่อไป


 


ประการที่สอง รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 303 ได้ระบุว่า ให้รัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับจากวันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เรื่องที่เกี่ยวข้องได้แก่เรื่อง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน สิทธิและเสรีภาพทางการศึกษา สิทธิในการได้รับบริการสาธารณะสุขและสวัสดิการจากรัฐ สิทธิในข้อมูลข่าวสาร สิทธิชุมชน ร่างกฎหมายที่สนช.กำลังพิจารณากันในขณะนี้หลายฉบับจึงทับซ้อนกับภารกิจของรัฐบาลใหม่ที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้โดยตรง เช่น ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ร่างพ.ร.บ.พัฒนาที่ดิน ร่างพ.ร.บ.น้ำ ร่างพ.ร.บ.ยา ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 3 แห่ง และร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์


 


การจัดการทรัพยากรอย่างที่ดิน น้ำ ยา ป่า เกษตร รวมถึงคลื่นความถี่ที่ถูกจัดเป็นทรัพยากรของชาตินั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงจำเป็นต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบโดยผู้แทนของประชาชน เพราะหากมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการออกกฎหมายเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของสนช.แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่และผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง อะไรจะเกิดขึ้นตามมา???


 


ผู้เขียนไม่อยากเห็น สนช. ถูกครหาได้ว่าเป็นพวกชอบทำเกิน ไม่มีหลักการ ขาดความรอบคอบมากไปกว่านี้


 


ประการที่สาม ร่างกฎหมายที่อยู่ในวาระการพิจารณาของสนช.ขณะนี้นอกจากจะมีมากมายเป็นลังแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นร่างกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างสูง  อาทิ ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ร่างพ.ร.บ.พัฒนาที่ดิน ร่างพ.ร.บ.น้ำ ร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน ร่างพ.ร.บ.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ร่างพ.ร.บ.ค้าปลีก ร่างพ.ร.บ.ยา และร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งร่างกฎหมายหลายฉบับมีการกำหนดสาระว่าต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองอยู่ หากกระบวนการพิจารณากฎหมายที่สำคัญเช่นนี้ มีระยะเวลาในการพิจารณาอย่างจำกัด ย่นย่อ อันจะทำให้กระบวนการเป็นไปอย่างเร่งรีบ และก่อให้เกิดความบกพร่องขึ้นได้ในท้ายที่สุด


 


หากมีการบังคับใช้จะกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติโดยตรง รวมถึงสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีพึงได้ตามรัฐธรรมนูญต้องถูกจำกัดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ครั้นถึงเวลาจะมาเที่ยวโทษสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งนี้ก็คงไม่ได้อะไรขึ้นมา เป็นได้แค่เพียงตราบาปซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องสูญเสียไป


 


ประการที่สี่ กระบวนการพิจารณากฎหมายของสนช.ขณะนี้บีบรัดเพียงใด มีตัวอย่างอาทิการประชุมสนช.ครั้งที่ 64 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 มีกฎหมายรอพิจารณา 30 ฉบับ หรือครั้งที่ 65 ในวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีร่างกฎหมายอยู่ในวาระการพิจารณาถึง 42 ฉบับ ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำหนดให้มีการประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ส่วนสมาชิกสนช.ที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายแต่ละฉบับ ก็ต้องเพิ่มรอบประชุมอีกสัปดาห์ละ 2-3 วัน อีกทั้งยังปรากฏว่ามีสนช.บางท่านเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายนับสิบฉบับ ทำให้การประชุมของสนช.แต่ละครั้งเพื่อพิจารณารับหลักการร่างกฎหมายมีผู้ลงคะแนนเสียงรับรองน้อยมาก ไม่ถึงหนึ่งในสี่ขององค์ประชุมด้วยซ้ำ


 


ยกตัวอย่างเช่น ร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2550 มีผู้รับรองร่างกฎหมายดังกล่าว 44 เสียง ทั้งที่สมาชิก สนช.มีถึง 242 ท่าน อีกทั้งการพิจารณาใช้ระยะเวลาไม่ถึงยี่สิบนาที


 


ประชาชนที่ติดตามอยู่รวมถึงสนช.หลายท่านที่เพิ่งมีโอกาสเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเองก็อาจตั้งข้อสงสัยว่า คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการระดับหมื่นล้านแสนล้าน ทำไมถึงถึงผ่านการพิจารณาง่ายดายขนาดนี้ เนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาดคลื่นความถี่จากหน่วยงานของรัฐ อย่างกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ รวมถึงเอกชนผู้ได้รับสัมปทานรายใหญ่กลับไม่ได้ถูกหยิบยกมาพิจารณา ทำให้กรรมาธิการวิสามัญที่ถูกแต่งตั้งขึ้นพิจารณากฎหมายฉบับนี้ปรากฏรายชื่อของบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการวิทยุโทรทัศน์หลายราย


 


เนื้อความที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นอาจมีเพียงเท่านี้  แต่ก็น่าจะพอเป็นเหตุเป็นผลสนับสนุนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยุติบทบาทในการพิจารณากฎหมายได้บ้าง เหลือก็แต่เพียงสมาชิกสนช.แต่ละท่านจะได้พิจารณาเพิ่มเติมให้รอบคอบ หวังเพียงว่าในอนาคตประชาชนอาจได้ระลึกคุณในสิ่งที่ท่านได้กระทำมาแล้วกว่าหนึ่งปี.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net