Skip to main content
sharethis

ในวาระครบรอบ 1 ปีการเลิกกิจการบริษัทจีนาฯ คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสิทธิกรรมกรไทย จัดการสัมมนา "วิกฤตความมั่นคงในการทำงาน....ทางออกอยู่ที่ไหน?" เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


พรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องความมั่นคงในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับประเทศไทย จะเห็นว่าในอดีต เรื่องความมั่นคงในการทำงานจะได้รับความสนใจจากคนงานมาก บางท่านให้ความสำคัญกับความมั่นคงในการทำงาน มากกว่ารายได้และสวัสดิการ เช่น ระยะหนึ่ง คนที่อยู่ในวัยแรงงานให้ความสำคัญกับงานราชการ เพราะเชื่อว่าระบบราชการมั่นคงกว่า แม้มีโครงสร้างค่าจ้างน้อยกว่าสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่


 


การเสวนาในวันนี้จึงน่าสนใจว่า เราจะสร้างความมั่นคงในการทำงานอย่างไร ในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันด้านการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ โดยการแก้ปัญหาต้องดูหลายด้าน ด้านหนึ่งคือ ข้อกฎหมาย ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในปัจจุบันจึงจะเกิดความมั่นคงในการทำงาน คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้างและพนักงานต้องเข้ามามีส่วนร่วมสร้างให้เกิดความมั่นคงในการทำงาน รวมถึงระบบสร้างความมั่นคงที่จะทำให้มีรายได้ดูแลตัวเองมากขึ้น รวมทั้งคิดค้นระบบใหม่ๆ ตลอด


 


พรชัย อธิบายว่า กฎหมายที่มีอยู่พยายามสร้างความมั่นคงแก่ลูกจ้างโดยกำหนดว่า เมื่อจะเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย โดยในความเห็นของเขา ไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้ใช้เงินชดเชยเลี้ยงชีพไปตลอด แต่เป็นความรับผิดชอบที่นายจ้างจะต้องจ่าย เพราะพนักงานไม่มีความผิด และเพื่อให้นายจ้างยับยั้งชั่งใจไม่เลิกจ้าง


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเลิกจ้าง เงินชดเชยนั้นจ่ายสูงสุดแค่ 10 เดือน ซึ่งจะใช้ได้ 10-12 เดือนถ้าไม่มีงานอื่นมารองรับ เช่น ประกันสังคม ประกันชราภาพ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องคิดต่อว่าระบบที่มีอยู่เพียงพอไหมต่อความมั่นคงในการทำงาน


 


ปิ่นรัฐ ปานถาวร จากศูนย์ส่งเสริมสิทธิกรรมกรไทย เสนอรายงานการศึกษา เรื่อง "ผลกระทบจากสถานประกอบการปิดกิจการที่มีต่อแรงงาน: กรณีศึกษาบริษัท จีน่า ฟอร์ม บรา จำกัด"


ซึ่งพบว่า สิ่งที่อธิบายสาเหตุของการปิดกิจการได้ คือ ระบบทุนนิยม ที่ทำให้เจ้าของเคลื่อนย้ายไปผลิตในฐานการผลิตที่ทุนต่ำกว่า และเมื่อมีการแข่งขันสูง หากสถานประกอบการใดปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อแรงงานและครอบครัว


 


ส่วนแนวคิดการคุ้มครองแรงงานเมื่อถูกเลิกจ้าง มีส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) จรรยาบรรณทางการค้า กฎหมาย มาตราการ หรือนโยบายต่างๆ ของรัฐ และเครือข่ายทางสังคม เช่น ครอบครัว ชุมชน สังคมทำงานและเอ็นจีโอ ถ้าทั้งสามส่วนปฏิบัติงานสอดคล้องกันก็จะช่วยคุ้มครองแรงงานได้ดี


 


โดยรายงานการศึกษานี้ จะศึกษาสภาพชีวิตหลังปิดกิจการและสภาพชีวิตในปัจจุบันของอดีตคนงานบริษัทจีน่า ฟอร์ม บรา จำกัด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 200 คน สัมภาษณ์ 50 คน และสนทนากลุ่ม 20 คน


 


ผลการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนงานเพศหญิง อายุ 30-34 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่งงานแล้ว และมาจากภาคอีสาน


 


ด้านความช่วยเหลือระหว่างที่บริษัทประกาศปิดกิจการ คนงานไม่รู้ว่าภาครัฐและกฎหมายเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร และคิดว่านายจ้างไม่ให้ความร่วมมือ และเห็นว่าองค์การพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วยเหลือถึง 100% ทั้งนี้ สันนิษฐานว่า เนื่องจากองค์การพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้คนงานให้ความร่วมมือ


 


ปัญหาที่ประสบ หลังจากสถานประกอบการปิดกิจการ คือ ปัญหาการว่างงาน ขาดรายได้ เครียด หนี้สิน และปัญหาครอบครัว ส่วนผลกระทบต่อจิตใจนั้น การมีงานทำที่ไม่มั่นคง สถานประกอบการปิดกิจการ ทำให้คนงานเสียใจ ตกใจ สับสน ต้องปรับตัวกับการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เครียด บางคนแสดงความกังวลว่า "แก่ป่านนี้แล้วต้องตกงานอีกเหรอ...แล้วใครจะเอาคนแก่เข้าทำงาน"


 


ผลกระทบต่อสิทธิแรงงาน ทำให้คนงานต้องเดินเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ทั้งที่ควรได้โดยชอบธรรม แม้ว่าจะภูมิใจที่เรียกร้องสิทธิได้ แต่ก็เห็นว่าไม่คุ้มค่าที่ต้องไม่มีงานทำ ส่วนเงินชดเชยที่ได้นั้น พวกเขานำไปใช้หนี้


 


ผลกระทบด้านอาชีพ ประสบปัญหาว่างงาน เนื่องจากบางรายอายุมาก การศึกษาน้อย ถูกขึ้นบัญชีดำเพราะเป็นกรรมการสหภาพซึ่งถูกมองว่า หัวแข็ง ทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก ส่วนใหญ่หางานใหม่ใช้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน แต่น่าสนใจที่มีคนที่ 6 เดือนแล้วก็ยังหางานไม่ได้ถึง 3%


 


ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่มีการวางแผนการเงินมาก่อน มีหนี้เก่า ไม่มีงานทำ ทำให้นานเข้าก็มีปัญหามากขึ้น ไม่มีเงินเลี้ยงตัวเอง และชักหน้าไม่ถึงหลัง


 


การดำรงชีวิตในปัจจุบัน คนที่ทำงานในระบบ ถูกเอาเปรียบ ต้องทำงานหนัก ล่วงเวลา ทำงานควงกะและสวัสดิการไม่ดี บางแห่งมีการปิดกิจการอีก  ส่วนที่ทำงานนอกระบบ แม้สร้างรายได้ แต่ก็ไม่มีการให้ความรู้เรื่องสุขภาพจากการทำงาน ไม่มีสัญญาว่าจ้าง และไม่มีสวัสดิการให้ ส่วนที่ว่างงานก็ประกอบอาชีพอิสระ บางคนเป็นแม่ค้า ขายไก่ย่าง ส้มตำ แต่ก็ขาดทุน


 


ด้านอาชีพและการเข้าถึงสิทธิ  คนงานส่วนใหญ่ยังทำงานในโรงงาน เพราะคนรู้จักชักชวน แต่ไม่มีความมั่นคงทั้งที่ทำงานมา 7-10 เดือนแล้ว ในระยะเวลาไม่ถึงปีมีการเปลี่ยนงานถึง 4 ครั้ง เนื่องจากไกลที่พัก รายได้น้อย สภาพในการทำงานไม่ดี


 


ทั้งนี้ ปิ่นรัฐ ได้ยกตัวอย่างชีวิตจริงของคนงานที่ตกงานซึ่งตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน มีหนี้สิน 197,000 บาท ซึ่งเกิดจากการกู้เงินซื้อรถ เนื่องจากหวังว่าจะใช้เพื่อรับส่งงานสร้างรายได้ มีรายได้ 2500 บาทต่อเดือน โดยภรรยาทำงานไม่ได้เพราะตั้งครรภ์ ส่วนสามีไม่มีคนจ้างงาน ทำให้รายได้ไม่พอ กับค่าใช้จ่าย 14,000 บาทต่อเดือน ที่ต้องจ่ายเป็นค่าดูแลครรภ์ เช่าบ้าน ผ่อนรถ ค่ากิน ค่าอยู่ ส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจ ติดลบ 11,5oo บาทต่อเดือน ทั้งที่อีก 4 เดือน ลูกจะเกิด จึงมีปัญหาว่าจะทำอย่างไร


 


สำหรับข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา คนงานเรียกร้องความมั่นคงในการประกอบอาชีพเนื่องจากรายได้น้อยและค่าครองชีพสูงขึ้น เสนอให้กระทรวงแรงงานปรับปรุงกฎหมายแรงงาน จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง มีมาตรการส่งเสริมความรู้เรื่องสิทธิแรงงาน เพื่อให้รู้สิทธิตัวเอง ด้านกระทรวงพาณิชย์ ควรสนับสนุนการออกแบบตัดเย็บ และสร้างตลาดรองรับยี่ห้อสินค้า


 


นอกจาก เสนอให้นักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น ผ่านงานวิจัยและการเผยแพร่ข้อมูล ด้านกระทรวงศึกษาธิการและสถาบันการศึกษา ต้องมีหลักสูตรการพัฒนาแรงงาน และนายจ้างต้องพัฒนาคุณภาพและยี่ห้อสินค้าของตน พัฒนานโยบายการบริหารองค์กรแบบมีส่วนร่วม เพื่อปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และต้องสนับสนุนให้เกิดสหภาพแรงงาน


 


สุดท้าย คณะผู้ศึกษาเสนอให้แรงงาน ต้องมีจิตสำนึกนักสู้ เพราะไม่มีใครพิทักษ์สิทธิได้ดีเท่าตัวเราเอง สหภาพต้องเข้มแข็ง สร้างเครือข่าย จัดตั้งสหภาพมากขึ้น และเสนอให้องค์กรพัฒนาเอกชนต้องเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือแรงงานมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net