Skip to main content
sharethis


 


พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หยุดเดินรถ พร้อมหยุดงานทั่วประเทศ คัดค้านการแก้ พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยการประท้วงของพนักงาน ร.ฟ.ท. ครั้งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม จากพนักงาน ร.ฟ.ท.ในภาคใต้ นำโดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.สาขาภาคใต้บางส่วนซึ่งนัดหยุดงานและให้เหตุผลว่าลาป่วย ลากิจ ตามสิทธิของพนักงาน จนส่งผลกระทบต่อการเดินรถ 3 ขบวนในเส้นทางลงสู่ภาคใต้ คือ รถเร็ว 169 กรุงเทพฯ-ยะลา เดินรถไฟได้เพียง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รถด่วนเส้นทางกรุงเทพฯปาดังเบซาร์ เดินรถไปได้เพียง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และขบวนรถเร็ว 171 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก เดินทางได้เพียง อ.ทุ่งสง อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมาการเดินรถไฟได้หยุดลงเกือบทั่วประเทศยกเว้นสายตะวันออกซึ่งเป็นเส้นทางระยะสั้น ด้านสาเหตุการประท้วงนั้น พนักงานระบุว่าเพื่อคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.ร.ฟ.ท. ในการเปิดให้เอกชนเข้ามาวิ่งให้บริการขนส่งสินค้าโดยเสรี รวมถึงผลพวงมาจากการทำสัญญาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) และอาจหยุดการเดินรถไปอีก 1-2 วันหาการเจรจาไม่เป็นผล



 


เวลา 09.30 น. ของวันที่ 31 ต.ค. นายบัญชา คงนคร รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า ได้รับทราบเรื่องตั้งแต่คืนวันที่ 30 ต.ค. ว่าพนักงานขับรถไฟตามสถานที่ต่างๆ ได้ขอลาหยุดงาน เรื่องนี้ได้ระแคะระคายมาก่อนแล้วว่าจะมีการลาป่วยแบบผิดปกติพร้อมกัน ซึ่งการลาหยุดครั้งนี้ ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ให้ลาป่วยได้ 2 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ อย่างไรก็ตาม ทางการรถไฟจะทำความเข้าใจว่าเรื่องการปรับโครงสร้างพัฒนาปรับปรุงการโดยสารใหม่เพื่อทำให้การขนส่งบนรางได้มากขึ้น ซึ่งจุดนี้พนักงานรถจักรซึ่งมีพนักงานขับรถและช่างเครื่อง อาจจะเกรงว่าจะมีการขายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน



 


"การปรับโครงสร้างไม่ใช่การขายกิจการให้กับเอกชน แต่เป็นการให้เอกชนเข้ามาร่วมหุ้น ร่วมลงทุน เพื่อมุ่งเน้นเกี่ยวกับรางรถไฟ ให้การขนส่งให้มากขึ้น มีการขนถ่ายสินค้ามากขึ้น ไม่กระทบกระเทือนพนักงานขับรถ เพราะการจะมาเป็นพนักงานขับรถไฟได้ จะต้องเป็นช่างเครื่องมาก่อน 7 ปี ไม่ใช่ใครจะมาขับก็ได้" นายบัญชา กล่าว



 


รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวอีกว่า ต้องขอโทษประชาชนที่ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก และจะเร่งเจรจากับสหภาพ ร.ฟ.ท. เพื่อเร่งเปิดเดินรถไฟในเส้นทางต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้พนักงานขับรถไฟที่ลาหยุด และส่งผลกระทบต่อการเดินรถมีจำนวนทั้งสิ้น 172 คน จากพนักงานขับรถไฟทั้งสิ้น 1,107 คน ส่วนช่างเครื่องลาหยุดงาน 158 คน จากช่างเครื่องทั้งหมด 1,113 คน รวมหยุดคิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด


 


ต่อมา เวลา 12.00 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีพนักงาน ร.ฟ.ท. หยุดเดินรถ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การรถไฟ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน และไม่ต้องการให้มีการแปรรูป ร.ฟ.ท.ว่า ได้พูดคุยกับ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม แล้วว่าจะต้องมีการเตรียมตัว และมองทั้ง 2 ด้าน ส่วนแรกเป็นเรื่องของสหภาพการรถไฟ ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องดูว่า การบริหารงานในลักษณะที่ต้องมีความสมดุล และความพอดี



 


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้บริหารของ ร.ฟ.ท.ต้องทำความเข้าใจกับพนักงานให้มากขึ้น เพราะขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นเบื้องต้นเท่านั้น เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจาก ร.ฟ.ท.มีหนี้สินจำนวนมาก ดังนั้นการจะทำอะไรก็ต้องดูในทุกๆ ด้านให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งยังมีปัญหาหนี้สินและปัญหาการบริหารงาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังพยายามแก้ไขเป็นเรื่องๆ



 


ส่วนกรณีที่สหภาพเรียกร้องให้แก้ไขเนื้อหาในความตกลงเจเทปา นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงมันไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งได้ลงนามกันไปแล้วคงไม่มีผลกระทบกับ ร.ฟ.ท. สำหรับข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟนั้น ก็พูดคุยกัน และสามารถปรับแก้ได้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นเรื่องภายในที่จะดำเนินการได้หากมีข้อมูลที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข



 


ด้านนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ไปทำความเข้าใจกับสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. และพนักงาน โดยประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ คือ เรื่องการเปิดเสรี เพื่อให้เอกชนเข้ามาเดินรถไฟขนส่งสินค้า ร.ฟ.ท. จะมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นดำเนินการ รวมทั้งการให้เอกชนเข้ามาเดินรถไฟ จะมีการจ่ายค่าเช่ารางให้แก่ ร.ฟ.ท. โดยแนวทางทั้งหมดไม่ใช่การแปรรูป และไม่มีส่วนใดที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของพนักงาน ร.ฟ.ท.



 


พาณิชย์ชี้เป็นไปไม่ได้ที่ขนส่งได้รับผลกระทบจากเจเทปป้า


นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ที่จะมีผลวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้นั้น ตามภาระผูกพันของไทยและญี่ปุ่น โดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่บริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามาจัดตั้งกิจการ และให้บริการเพิ่มเติมจากข้อผูกพันเดิมตามกรอบองค์การการค้าโลกในสาขาบริการทั้งหมด 14 สาขาย่อย โดยมีเพียง 1 สาขา ที่ให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของกิจการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คือ บริการที่ปรึกษาด้านการจัดการทั่วไป ส่วนข้อผูกพันอื่นมีหุ้นส่วนได้เพียงบางส่วน



 


สำหรับการเปิดบริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ทางญี่ปุ่นจะถือหุ้นได้เพียงร้อยละ 51 เท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวอ้างว่า ภาคธุรกิจขนส่งได้รับผลกระทบจากเจเทปา อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ และขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับพนักงาน ร.ฟ.ท.อย่างเร่งด่วน



 


นายเกริกไกร กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงาน ร.ฟ.ท.ออกมาประท้วง น่าจะมาจากการที่กลัวว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างเหมือนการรถไฟของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีเจเทปา ร.ฟ.ท.ก็ต้องมีการปรับบทบาทการแข่งขันเพื่อให้บริการกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น



 


ต่างประเทศยันเจเทปป้าไม่มีเปิดเสรีด้านขนส่ง


นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยหยุดงานประท้วงการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยอ้างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นหรือเจเทปป้า ยืนยันว่า ความตกลงเจเทปป้าไม่มีการเปิดเสรีด้านการขนส่งแต่อย่างใด ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้รับสิทธิพิเศษจากฝ่ายไทยในเรื่องบริการด้านการขนส่ง แต่หากฝ่ายใดจะหยิบยกเรื่องการบริการท้งสองฝ่ายจะต้องมาเริ่มต้นหารือกัน โดยเจเทปป้ามีข้อบทเรื่องการทบทวนเรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงขอยืนยันว่าเจเทปป้าไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยแต่อย่างใด



 


อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประธานกรรมการการรถไฟจะต้องชี้แจงกับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน


 


"บัญชา คงนคร" ลาออกตำแหน่ง รก.ผู้ว่าฯ รฟท.


วันเดียวกัน นายบัญชา คงนคร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการฯ  โดยให้เหตุผลว่า จะไปสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท.จึงมติแต่งตั้ง นายนคร จันทศร รองผู้ว่าการรฟท. ดำรงตำแหน่งรักษาการ ผู้ว่าการ รฟท. แทน  นายบัญชา คงนคร   โดยมีผลตั้งแต่วันนี้


 



 


แถลงการณ์ สร.รฟท.


สำหรับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาห กิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้มีการออกแถลงการณ์ต่อต้านการขายรัฐวิสาหกิจรถไฟ ฉบับที่ 1 โดยแถลงการณ์ระบุว่า การที่สหภาพพนักงานรถไฟทั่วประเทศประท้วงนั้น เนื่องจากผู้บริหารการรถไฟฟ้าฯ บอร์ดการรถไฟฯไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของการรถไฟ สร้างความเสียหาย เสียผลประโยชน์หลาย หมื่นล้านบาทในหลายกรณี เช่น


 


1.พยายามต่อสัญญาให้กับบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนาจำกัด แทนที่จะเปิดให้มีการประกวดราคาอย่างเสรี


2.ไม่ดำเนินการกับนักการเมือง จ. บุรีรัมย์ ที่ออกโฉนดทับที่ดินการรถไฟ ที่บริเวณเขากระโดง


3.มีการต่อสัญญาให้บริษัทก่อ สร้างแอร์พอร์ตลิงค์ ทำให้การรถไฟฯต้องเสียผลประโยชน์นับ 1,000 ล้านบาท แทนที่จะได้ รับค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท กลับต้องเสียดอกเบี้ยวันละ 3 ล้านบาท


4.บอร์ดการรถไฟฯได้ ต่อสัญญาจ้าง CFO ที่ไม่มีคุณสมบัติในการดำเนินการแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า


5.รัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การรถไฟ ในการชดให้การ รถไฟฟ้าที่ระบุว่าต้องเก็บค่าบริการในราคาต่ำ เป็นเหตุทำให้การรถไฟฟ้าต้องขาดทุนต่อเนื่องกว่า 23,000 ล้านบาท และรัฐบาลเองก็ไม่มีการชดเชนทำให้การรถไฟฯต้องแบกภาระดอกเบี้ยทั้งหมด


6.ผู้บริหารรถไฟฯ บอร์ดการรถไฟ ได้เสนอแก้กฎหมายหลายฉบับให้ครม.เห็นชอบโดยไม่ได้ทำความตกลงกับสหภาพแรงงาน ตามที่มีข้อตกลงและไม่ได้ทำ มาตรฐานสภาพการจ้าง



 


นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในฐานะรองประธาน สร.รฟท.กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ สร.รฟท.ได้นำเสนอต่อบอร์ดการรถไฟฯ นายสรรญเสริญ วงศ์ชอุ่ม รมช.คมนาคม และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการการแก้ไข และนี่ก็คือสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้พนักงานรถไฟฯทั่วประเทศประท้วงเพื่อ ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทั้งหมด และเรียกร้องให้มีการดำเนินการจัดการกับผู้บริหารการ รถไฟฯที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ ซึ่งอาจจะต้องมีการหยุดการเดินรถเพื่อ ประท้วงต่อไปอีก 1-2 วันหรือจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากกระทรวงคมนาคม



 


"เราต้องกราบขอโทษพี่น้องด้วยในเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบบ้าง แต่เรามีเป้าประสงค์ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยเร็วปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้จะเสียหายกันไปใหญ่ จะเป็นการนำ ทรัพย์สินของการรถไฟฯไปขายให้กับนายทุนเอกชนหาผลประโยชน์ และปล่อยให้นักการเมือง ผู้บริหาร เข้ามาโกงกินกัน และคิดว่าถ้าเร่งแก้ปัญหานี้ได้เราจะได้ประโยชน์อย่าง ยั่งยืนแน่นอน"นายสาวิทย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net