Skip to main content
sharethis



 


สมชาย หอมลออ


เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)


ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)



 


 


 


สำหรับวงการสิทธิมนุษยชนและผู้ที่สนใจปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงนี้ คงจะไม่ข่าวใดที่ช็อควงการไปมากกว่าข่าวที่โฆษกของกองทัพภาคที่ 4 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า กองทัพภาคที่ 4 ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้บุคคลจำนวน 384 คนเข้าไป หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น


 


คนทั้ง 384 คนนั้นก็คือผู้ที่ทางฝ่ายทหารสงสัยว่าจะเป็นแนวร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดในคดีอาญาได้ หรือเห็นว่าไม่ใช่ตัวการสำคัญ ทางการน่าจะเอาชนะจิตใจให้คนเหล่านั้นกลับตัวกลับใจได้   จึงใช้การปฏิบัติการตาม "แผนพิทักษ์แดนใต้" ตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวไว้ 7 วัน  เมื่อครบตามอำนาจกฎอัยการศึก แล้วก็ควบคุมต่ออีก 30 วันตามอำนาจของ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548   แต่หลังจากครบกำหนด 37 วันแล้ว แทนที่คนเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้าน พวกเขากลับถูกพาออกนอกพื้นที่สามจังหวัดไป "ฝึกอบรมอาชีพ" ต่อไปอีก 4 เดือน ตามค่ายทหารและศูนย์ฝึกในที่ต่างๆ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร เป็นต้น หลายคนอาจไปด้วยความสมัครใจ หลายคนไปด้วยความจำใจ และหลายคนรู้สึกว่าตนถูกบังคับขู่เข็นให้ไปถูกฝึกอบรมอาชีพ


 


กำหนด 4 เดือนในการ "ฝึกอบรมอาชีพ" กำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้  คนเหล่านั้นก็คงหวังว่าจะได้กลับไปอยู่กับลูกกับเมียเสียที หลังจากที่จากทางบ้านมาห้าเดือนเศษ   แต่ข่าวที่ท่านโฆษกแถลงออกมา อาจทำให้ความหวังของพวกเขาดับวูบลง และไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสไปอยู่กับลูกกับเมียได้เมื่อใด และหากพ้นจากการ "ฝึกอบรมอาชีพ" แล้วจะไปอยู่ที่ไหน  จะทำมาหากินอย่างไร


 


เมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีข่าวว่า ทางกองทัพ ได้ร่วมกับบริษัทจัดหางานสองสามแห่ง จะส่งผู้ที่ได้รับการฝึกอาชีพแล้วไปทำงานในต่างประเทศแถบตะวันออกกลาง ข่าวการส่งไปทำงานในต่างประเทศนั้น ดูจะเหมาะเจาะกับข่าวการห้ามไม่ให้บุคคลเหล่านั้นเข้าไปหรืออยู่อาศัยในพื้นที่สามสี่จังหวัดภาคใต้เสียจริงๆ


 


คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูทั้ง 384 คนนั้นเกิดที่สามจังหวัดภาคใต้  โตที่นั่น มีลูกมีเมีย มีครอบครัวและทำมาหากินอยู่ที่นั่น  การออกคำสั่งโดยท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ให้พวกเขากลับเข้าไปที่นั่น ไม่ให้อยู่อาศัยที่นั่น ไม่ให้ทำมาหากินที่นั่น นับว่าเป็นมาตรการที่รุนแรงอย่างยิ่ง และเป็นมาตรการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่ทราบว่าเป็นนโยบสยของท่านนายกรัฐมนตรี หรือท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงหรือไม่


 


ที่เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ คำสั่งดังกล่าวฝ่ายทหารได้อ้างว่าได้ออกมาตั้งแต่วันที่ 22 กรกรฎาคม 2550 แต่ผู้ที่ถูกห้าม และครอบครัว ไม่เคยได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวเลยแต่อย่างใด  พวกเขามาทราบเอาเมื่อกลางเดือนนี้ที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลจังหวัดระนอง และศาลจังหวัดชุมพร เมื่อทางฝ่ายทหารได้นำมาแสดงต่อศาลในคดีที่ภรรยาของผู้ถูก "ฝึกอบรมอาชีพ" ยื่นคำร้องขอบารมีศาลเป็นที่พึง ขอให้ศาลไต่สวนว่าการเอาตัวลูกผัวของพวกเธอไป "ฝึกอบรมอาชีพ" นั้น เป็นการควบคุมตัวพวกเขาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


 


ได้สอบถามเจ้าหน้าที่หลายคน แม้แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ ที่ทำงานในพื้นที่ ที่ควรจะต้องรู้ว่าใครบ้างที่ถูกห้าม เพราะตนเองมีหน้าที่ดูแลพื้นที่อยู่ ก็ไม่ทราบว่ามีสั่งดังกล่าว


 


หลักกฎหมายของการปกครองในระบอบประชาธิไตยนั้น ถือว่า "ประชาชนมีเสรีภาพที่จำทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ เว้นแต่ที่มีกฏหมายห้ามไว้ไม่ให้ทำ หรือกำหนดไว้ว่าต้องทำ"


แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่นั้น "เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำอะไรได้เลย ยกเว้นแต่ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ให้ทำได้เท่านั้น"


 


ดังนั้นจึงต้องให้ศาลไต่สวนว่า การเอาคนหลายร้อยคนไปฝึกอาชีพในค่ายทหาร  ออกไปไหนไม่ได้ แม้แต่จะขอไปรวมญาติในงานฮารีรายอ ซึ่งพี่น้องมุสลิมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งก็ไม่ได้รับอนุญาตจากทหารที่เฝ้าอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจที่ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


 


เรื่องที่น่าห่วงใยก็คือ การดำเนินการต่างๆที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่โปร่งใส และไม่ยึดหลักนิติธรรมที่ถือเอากฏหมายเป็นที่ตั้งนั้น จะให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีความเชื่อถือในกองทัพได้อย่างไร  กองทัพจะเอาชนะจิตใจของคนเหล่านั้นได้ดังที่ตั้งใจไว้หรือ?


 


อย่าลืมว่า เราได้ทำให้ผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้สูญเสียความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจไปนานแล้ว ขณะนี้กำลังจะทำให้พวกเขาสูญเสียความไว้วางใจที่มีต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอีกหน่วยงานหนึ่งหรือ?


 


ยิ่งไปกว่านั้น การจะส่งคนเหล่านี้ไปทำงานต่างประเทศ ก็ขอให้ไปด้วยความสมัครใจจริงๆ อย่างน้อยก็ต้องให้พวกเขาได้กลับไปอยู่กับลูกกับเมียสักพักหนึ่งก่อน เพื่อให้ปราศจากข้อสงสัยว่าที่คนเหล่านั้นจะไปทำงานต่างประเทศด้วยความสมัครใจ ไปด้วยความยินดี


 


ข้อสำคัญจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจน โปร่งใสว่าบุคคลที่จะต้องพลัดพรากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานต่างแดนเหล่านั้น ไม่ไปตกระกำลำบาก หรือตกเป็นเหยื่อที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทจัดหางาน หรือนายจ้าง


 


การกวาดจับคนมาเป็นร้อยๆ  แล้วเอาตัวไปคุมขังไว้ 37 วัน     เอาไป "ฝึกอบรมอาชีพ" อีก 4 เดือน   แล้วเอาตัวส่งไปตกระกำลำบากทำงานในต่างประเทศ  หากไม่ชัดเจน ว่าเป็นไปด้วยความเต็มใจ โปร่งใสหรือไม่แล้ว ก็อาจเป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์  ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดอันหนึ่ง


 


งานนี้รัฐบาลไทยและกองทัพมีโอกาสที่จะตกเป็นจำเลยของนานาประเทศได้โดยไม่ยากเลย  ชื่อเสียงของประเทศและกองทัพ จะถูกทำลายย่อยยับโดยกลุ่มบุคคลที่เจตนาดีแต่ประสงค์ร้ายที่แอบแฝงอยู่ในกองทัพ ในบริษัทจัดหางาน และหน่วยงานรัฐด้านสิทธิมนุษยชน


 


จึงใคร่ขอวิงวอนให้กรมพระธรรมนูญ กรุณาช่วยสอดส่องและให้คำแนะนำท่านแม่ทัพ นายกองทั้งหลายให้เข้าใจกฎหมาย ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ใช่รู้แต่เรื่องการใช้อำนาจและอาวุธเท่านั้น


 


 


...................................................


ที่มา : www.oknation.net/blog/humanrights/2007/10/27/entry-1


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net