Skip to main content
sharethis

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์
ที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งสโมสรนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่


            และแล้วฝันร้ายที่ผมเคยกลัวมานานก็เกิดขึ้นจริง  เมื่อคณะรัฐมนตรี (เฉพาะกาล) มีมติเห็นชอบให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....  และนี่คือสิ่งที่ผองเพื่อนนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายคนกำลังกลัว


            จะไม่ให้กลัวได้อย่างไร  เมื่อเนื้อความข้างในมันแทบจะเรียกได้ว่า  เป็นการเอากฎอัยการศึก กับพระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปกติมีข้อจำกัดในการประกาศใช้ในตัวของมัน  ถึงใครจะคิดประกาศใช้ซี้ซั้ว  ก็อาจโดนชาวบ้านก่นด่าได้


            และที่สำคัญ  ร่าง พ.ร.บ.นี้ระบุว่า ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)  ทั้งๆ ที่ตอนนี้หลายคนรวมทั้งตัวผมเคยทำนายชะตาประเทศไทยไว้ว่า  รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้เรากำลังจะได้รัฐบาลเป็ดง่อยอันเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งต้องอยู่ในวงจรการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างพรรค  หาความมั่นคงในตัวเองยังไม่ได้เลย แถมยังจะเป็นได้แค่ผู้รับลูกระบบราชการอีก  การให้อำนาจเต็มเปี่ยมกับนายกรัฐมนตรีที่ง่อยๆ ในระบบนี้  จึงมีภาวะเสี่ยงที่จะใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มได้ (รวมถึงผลประโยชน์ของตนเอง)


            และจากเดิมที่ กอ.รมน.ทำงานโดยไม่มีกฎหมายรับรองชัดเจน  คราวนี้ กอ.รมน.กฎหมายรองรับการทำงานกับจังหวัดชายแดนภาคใต้    อาจจะใช้ กอ.รมน.ได้โดยมี กอ.รมน.ภาคและ กอ.รมน.จังหวัดด้วย  ซึ่งน่าแปลกใจมากว่า  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้พยายามชี้ให้เห็นว่า การยัดเยียดความรุนแรงลงไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว  ยังสร้างความเกลียดชังกัน สร้างความหวาดระแวงต่อกันมากขึ้นด้วย  และผู้ก่อความไม่สงบก็จะมีความชอบธรรมในการแบ่งแยกดินแดนมากขึ้นด้วย  ทั้งหมดนี้รัฐบาลไม่ได้ทำความเข้าใจเลยหรืออย่างไร


            น่าเสียดายอย่างมากที่ในวันนี้ ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้เรามีรัฐมนตรีว่าการกระทวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   กับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเดียวกัน  เป็นคนที่มาจากภาคประชาชนแท้ๆ เป็นคนที่ทำงานในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์มานาน  แต่ในวันนี้นอกจากไม่มีท่าทีคัดค้านและยังสนับสนุน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐชาติมากกว่าที่จะเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์  เป็นการทำให้รัฐชาติมีความศักดิ์สิทธิยิ่งขึ้น


            ดูเหมือนเรากำลังจะประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐชาติให้มั่นคง ทั้งๆ ที่ความมั่นคงของคนในรัฐชาติยังหาความมั่นคงไม่ได้


            ไหนๆ ก็พูดถึงความมั่นคงของมนุษย์แล้ว  ผมจึงขออ้างอิงแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์(Human Security) ซึ่งท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่เคารพของผม เคยนำเสนอไว้เมื่อ5ปีที่แล้ว  ซึ่งวันนี้ผมเองก็ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรกับท่านไพบูลย์ของผมกันแน่ เมื่อ5ปีที่แล้ว ท่านไพบูลย์เคยพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์ไว้ 5 ด้านดังนี้


              1.ความมั่นคงทางสุขภาพ ได้แก่ ความไม่เป็นโรคร้ายแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยถึงขั้นที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพหรือการดำเนินชีวิตตามปกติ เป็นต้น


               2.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คือ มีช่องทางเลี้ยงชีพหรือมีรายได้เพียงพอแก่ความจำเป็นพื้นฐานของตนเองและครอบครัวอันประกอบด้วยปัจจัย 4 เป็นอย่างน้อย โดยไม่มีหนี้สินที่เป็นภาระเกินกำลังส่งคืน รวมทั้งมีหลักประกันความมั่นคงของรายได้ไดในอนาคตตามสมควร


               3.ความมั่นคงทางสังคม ซึ่งรวมถึงความมั่นคงของครอบครัวและชุมชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม เป็นต้น



               4.ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ได้แก่ การมีสิทธิเสรีภาพเพียงพอ ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความยุติธรรมเสมอภาคในสังคม ประเทศชาติมีความปลอดภัยจากการรุกรานหรือการทำให้แตกสลาย เป็นต้น


               5.ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอย่างต่อเนื่องต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต โดยไม่เกิดการเสื่อมโทรมจนเป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อความมั่นคงด้านอื่นๆ


            โปรดสังเกตข้อ 4 ดีๆ นะครับแล้วจะเข้าใจ...


            ผมจึงอยากเห็นรัฐบาลเฉพาะกาลชุดนี้ ได้มีโอกาสสร้างผลงานสักครั้งหนึ่ง(เพราะที่ผ่านมาถือว่าสอบไม่ผ่าน) โดยการมุ่งหน้าส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์อย่างจริงจังเสียที แทนที่จะมุ่งสร้างรัฐชาติให้ศักดิ์สิทธิจนอาจนำไปสู่การทำลายมนุษยชาติอย่างเลือดเย็น   อย่ามองปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นเพียงเรื่องปากท้อง  แต่มันคือความมั่นคงในชีวิต ซึ่งถ้าหากมองอย่างเป็นองค์รวม เราจะเข้าใจว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ประชาชนในประเทศมีความมั่นคงในชีวิต


            และนอกเหนือจากความมั่นคงในเรื่องปากท้องแล้ว  การมีประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพทางความคิด มีความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างสันติ มันก็คือดัชนีชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง


            ซึ่งเป็นความมั่นคงที่ไม่อาจสร้างได้ด้วยปืนหรือรถถัง...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net