Skip to main content
sharethis




ประชาไท - มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดสัมมนา ในหัวข้อ "100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550" เนื่องในโอกาสครบรอบ 96 ปี "กบฏ ร.ศ. 130" ครบรอบ 75 ปี "ปฏิวัติ 2475" ครบรอบ 60 ปี "รัฐประหาร 2490" ครบรอบ 50 ปี " รัฐประหาร 2500"... ครบรอบ 15 ปี "พฤษภาเลือด" 2535" และครบรอบ 1 ปี "รัฐประหาร 19 กันยา 2549" ในวันที่ 15-16 ก.ย. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์



 


ช่วงเช้า วันที่ 15 ก.ย. หลังเปิดงานโดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และการฉายภาพยนตร์ "เปลี่ยนสยามเป็นไทย: นามนั้นสำคัญไฉน?" จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตโฆษกรัฐบาลชุดที่แล้ว แกนนำพรรคพลังประชาชน ร่วมอภิปรายในหัวข้อ "ประชาธิปไตยไทย-ประชาธิปไตยใคร?" โดยมี นายพิภพ อุดร อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ


 


นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงประชาธิปไตยในความคิด ซึ่งหมายถึงการปกครองที่ประชาชนสามารถกำหนดทิศทาง อนาคตของประเทศชาติ ของสังคมและตนเองได้ โดยกำหนดหลักสำคัญพื้นฐาน 3 ข้อกว้างๆ คือ 1.เรื่องสิทธิเสรีภาพ ถ้าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตโดยปราศจากการคุกคาม แม้จะมีการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 2.วิธีการใช้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศ หมายความว่าการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าต้องเป็นไปตามเจตนาของประชาชน และ 3.กลไกลการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ และเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริงในสังคมที่มีความยุ่งยากซับซ้อนภายใต้ประชาธิปไตยแบบตัวแทน


 


"ถ้าเรายึด 3 ข้อนี้ จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่า เราไม่สามารถที่จะตัดสินว่าประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหนโดยเพียงรูปแบบ หรือจุดใดจุดหนึ่ง เช่น การประเมินรัฐธรรมนูญฉบับปี้นี้และรัฐธรรมนูญฉบับปีนั้นฉบับไหนมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากันโดยลายลักษณ์อักษร" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว


 


จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2475 ว่า เกิดจากชนชั้นนำ ไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหวของมวลชนในภาพกว้าง เป็นการแย่งชิงอำนาจ กำหนดกติกา และแบ่งสรรทรัพยากร ระหว่างชนบางกลุ่ม การปกครองในช่วงนั้นไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยดังเช่นปัจจุบัน และจุดพลิกผันสำคัญอยู่ในช่วงเหตุการณ์ ตุลา 2516 - ตุลา 2519 เริ่มมีตัวแปรของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยพยายามจะดึงอำนาจมาจากราชการ จากทหาร เหตุการณ์ในครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นปฏิกิริยาของคนที่สูญเสียอำนาจ และแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถปฏิเสธประชาธิปไตย โดยเกิดความคาดหวังในสังคมว่าจะต้องมีนักการเมือง มีพรรคการเมืองมีการเลือกตั้ง เพื่อให้นักการเมืองมาจากประชาชน


 


นายอภิสิทธิ์ได้พูดถึงกลุ่มคนที่เข้ามามีอำนาจ ซึ่งเข้าใจว่าจะไม่สามารถยึดครองอำนาจได้นานไม่ว่าจะเป็น รสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ในปี 2534 หรือ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี 2549 การต่อสู้กจากกลุ่มที่ไม่ยอมใช้รูปแบบประชาธิปไตยของรัฐบาลจากการเลือกตั้งนับวันจะอยู่ได้ลำบากมากขึ้น เมื่อทุกวันนี้สังคมต้องการกลับไปสู่รูปแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง แม้ปัจจุบันฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยจะมีปัญหาจากการทำนโยบายที่ถูกใจประชาชนเพื่อมาเป็นข้อผูกพันยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และการแทรกแซงองค์กรอิสระ


 


 "วันนี้การดึงอำนาจคืนมาจากกลุ่มที่เราเรียกว่าอำมาตยาธิปไตยนั้นไม่ยาก เพราะมีการกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งนักการเมือง และจากต่างชาติ แต่ทำอย่างไรเราถึงจะพ้นจากคนที่อยู่ในคราบนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่ออยู่ในอำนาจแล้วลุแก่อำนาจ หรือกลายเป็นแค่การแสวงหาผลประโยชน์จากรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย" นายอภิสิทธิ์กล่าวแสดงความเห็น


 


สรุปในตอนท้าย นายอภิสิทธิ์ได้ยื่นข้อเสนอในการเดินหน้าของระบอบประชาธิปไตย ดังนี้ 1. คณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) รัฐบาล และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควรที่หยุดสิ่งที่จะผูกมัดอนาคตของประเทศหรือฝืนกับประชาธิปไตย โดยเก็บกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ไว้ ไม่ว่าใครจะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. หยุดกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่สร้างความสับสนต่อประชาชนโลก และประเด็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลผูกมัดและสร้างปัญหา ควรปล่อยให้รัฐบาลจาการเลือกตั้งที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตเข้ามาสะสาง เช่น พลังงานนิวเคลียร์ และขยายการใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม (GMO)


 


ข้อ 2.กรณีความอ่อนแอของรัฐบาลผสม นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคให้ความสำคัญกับนโยบาย และเรียกร้องให้สื่อมวลชนและประชาชนเรียกร้องต่อไปยังพรรคการเมืองให้ชัดเจนในนโยบายเพื่อเป็นแนวทางจัดตั้งรัฐบาลต่อไป 3.ปฎิวัตแล้วควรวางรากฐานสังคมการเมืองให้ดีขึ้น พรรคการเมืองต้องคิดว่าจะใช้ข้าราชการอย่างไรในการสนองต่อนโยบาย โดยไม่ใช้เป็นเครื่องมือ


 


4. สื่อมวลชน ควรเป็นสื่อของประชาชนไม่ใช่เฉพาะสื่อของรัฐบาล หากเปิดให้รัฐบาลพบปะประชาชน ควรเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านด้วย 5.การเมืองภาคประชาชนต้องได้รับการสนับสนุน ในขณะที่ให้ความสำคัญกับการเมืองตัวแทน และสุดท้าย คือการฟื้นฟูจิตสาธารณะ มองการเมืองเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่ผลประโยชน์ของบุคคลแต่ละคน


 


"ยืนยันประชาธิปไตยไม่ใช่ของชาติหนึ่งชาติใด ไม่ใช่ตะวันตก หรือตะวันออก แต่เป็นของประชาชนทุกคน ของมนุษย์ทุกคน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ ผมคิดว่า 75 ปี ของประชาธิปไตยที่เราเดิน แม้ไม่ไกลอย่างที่เราต้องการ แต่ก็ไกลเกินกว่าที่หลายคนเข้าใจ ผมคิดว่ามันยังเดินต่อไปได้ครับ" นายอภิสิทธิ์กล่าว


 


ด้าน นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ว่าเป็นวาทกรรมที่ทำให้เกิดมายาคติ ในลักษณะที่มีความเฉพาะเป็นของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยของไทยหรือของประเทศอื่นๆ ก็มีรูปแบบเดียวกัน คือเป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่งซึ่งคลี่คลายมาจากการปกครองรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอำนาจของคนในสังคม โดยยกตัวอย่างการส่งผ่านอำนาจตั้งแต่ในสังคมบุพกาล มีการรวมกลุ่ม สู่ยุคพัฒนาเทคโนโลยี และสังคมข่าวสารในปัจจุบัน


 


นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงคลี่คลายของการปกครองโดยแบ่งเป็นด้านต่างๆ คือ 1.ประชาธิปไตยต้องมีการคลี่คลายอำนาจจากคนชั้นนำไปสู่คนชั้นล่าง การเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา เกิดขึ้นโดยบทบาทของชนชั้นนำที่ส่งผลสะเทือนต่อชนชั้นล่าง และก่อให้เกิดจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทางการเมือง ข้อ 2.การปกครองประเทศแต่ละประเทศไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ข้ามจากความเป็นชาติไปสู่สังคมโลก โดยยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาติ และการการยอมรับจากนานาประเทศ


 


ข้อ 3.ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมทางตรง เช่น ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทางตรงในรูปแบบอื่นๆ 4.รูปแบบการปกครองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เปลี่ยนเป็นการยึดมั่นใจข้อเท็จจริงหรือผลประโยชน์ ในข้อนี้ นพ.สุรพงษ์ยกตัวอย่างถึงองค์กรอิสระที่ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยกล่าวว่าทุกคนมีผลประโยชน์ มีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป


 


ข้อ 5.ความต้องการของคนหมู่มากเปลี่ยนเป็นความต้องการของปัจเจกชน ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น 6.บทบาทของสื่อมวลชนจะคลี่คลาย นำไปสู่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการใช้อินเตอร์เน็ต


 


ต่อความเปลี่ยนแปลงที่มี นพ.สุรพงษ์ กล่าวแสดงความเห็นว่าเป็นภาระหนัก ที่ผู้บริหารที่จะเข้ามาจัดการกับผลประโยชน์ในสังคม โดยฝากคำพูดถึงผู้ที่โชคร้ายซึ่งจะมาทำงานในตำแหน่งนี้ว่า 1 วันในทำเนียบจะสามารถสร้างคุณูปการได้มากกว่าสิ่งที่จะทำหลังจากนั้นไปตลอดชีวิต พร้อมกล่าวว่า ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้องอาศัยการประคับประคองร่วมกัน และไม่เห็นด้วยกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของพรรคการเมือง


 


"ถ้าคุณอภิสิทธิ์ โชคร้ายได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้า ผมคิดว่าใครเป็นก็โชคร้าย คงจะได้มีโอกาสรับรู้ปัญหาที่คนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคต่างๆได้รับรู้ ยังไงก็ให้กำลังใจว่า ใครก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศต่อไป ท่านกำลังทำสิ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ ทั้งการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" นพ.สุรพงษ์ กล่าวหยอกล้อผู้ร่วมอภิปราย


 


นพ.สุรพงษ์ กล่าวเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีต่อกฎหมายสำคัญที่ สนช.และรัฐบาลตั้งใจจะออกภายในรัฐบาลชุดนี้อย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรเร่งตัดสินใจในรัฐบาลชุดนี้ รวมไปถึงกฎอัยการศึกในพื้นที่ 35 จังหวัดที่ยังไม่มีการประกาศยกเลิก ทั้งที่ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกที พร้อมฝากไปยังนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ควรออกมาแสดงพลังทางการเมืองอย่างเต็มที่โดยไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย


 


พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อประชาธิปไตยในปัจจุบันว่า มาถึงทางแยกที่จะต้องเลือกรักษาด้วยการเข้าห้องผ่าตัด หรือจะอดทนต่อไปและพยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับการเข้าสู่ปีที่ 2 หลังจากการรัฐประหารเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าที่ว่าประชาธิปไตยไม่มีทางลัดเพื่อเลื่อนระดับ แต่ต้องอดทดเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และหากต้องมีการเปลี่ยนแปลงควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คนมีส่วนร่วมมากที่สุด


 


 "วันนี้เราไม่มีเวลามากพอสำหรับการผิดพลาดอีกครั้งหรือสองครั้ง เราคงต้องพยายามเรียนรู้บทเรียนให้เร็วที่สุด แล้วแก้ไขกลับคืนใน 2-3 เดือน หรือ 2-3 ปี ข้างหน้า ด้วยจิตสาธารณะ นึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นอันดับแรก ของตนเป็นที่สอง เพื่อที่เราจะผ่านวิกฤตไปได้" นพ.สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net