Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 50 ชมรมนักศึกษาชาติพันธุ์ และชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาเรื่อง "สาละวิน สายน้ำ สายชีวิต" ขึ้น ณ อาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้งนักศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการลุ่มน้ำสาละวิน รวมประมาณ 50 คน


 


นายภูวนัย เพ็ชรแสนงาม ตัวแทนนักศึกษาจากชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า งานครั้งนี้คาดหวังให้นิสิตนักศึกษาตระหนักถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความตื่นตัวต่อสภาวะที่ไม่เป็นธรรมในสังคม สร้างความเข้าใจ ลดอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รัฐจัดให้เป็นกลุ่มชนชายขอบ และเสนอมุมมองข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนจากสื่อรัฐ และสถานการณ์ความคืบหน้าต่อการสร้างเขื่อนในสาละวินปัจจุบัน


 


ภายในงาน มีการแสดงดนตรีจากรุ่นพี่ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และฉายสารคดีเรื่อง "สาละวิน สายน้ำแห่งชาติพันธุ์" มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน วิถีชีวิตของกลุ่มชนชาติพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ไปจนถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการที่กลุ่มทหารเผด็จการในประเทศพม่าที่เข้ามาละเมิดสิทธิมนุษยชน ชนกลุ่มน้อยในเขตลุ่มน้ำ และปัญหาเรื่องการวางแผนสร้างเขื่อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ


 


ด้านวงเสวนาหัวข้อ "ความเป็นมา ชาติพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำสาละวิน" นั้น มีวิทยากร ได้แก่ เพียรพร ดีเทศน์ จากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ.ลักคณา พบร่มเย็น นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมนักศึกษาชาติพันธุ์ มช., ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ รัฐฉาน และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์จากรัฐมอญ


 


เพียงพร ดีเทศน์ กล่าวถึงสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินที่ถูกจัดเป็นคนไร้สัญชาติ ไร้สถานะความเป็นพลเมือง ซึ่งหากมีเขื่อน คนเหล่านี้ตามกฎหมายแล้วจะไม่ถูกจัดเป็น "ผู้ได้รับผลกระทบ" และจะไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยใด ๆ ได้


 


อ. ลักคณา พบร่มเย็น กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มแม่น้ำสาละวินในแง่มุมของกฎหมายว่า ปัญหาเรื่องชาวบ้านไม่มีสัญชาติเกิดจากปัญหาทางราชการไทยในยุคก่อน และขณะนี้กำลังผลักดันโดยให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. สัญชาติอยู่ แต่ก็มีปัญหาในการเสนอกฎหมายใหม่ เนื่องจากภาครัฐได้สั่งเก็บบัตรประจำตัวประชาชนสีฟ้าแล้วเปลี่ยนเป็นบัตรสีชมพูซึ่งเป็นบัตรแสดงความเป็นคนต่างด้าวเพื่อพิสูจน์ใหม่อีกรอบ


 


อ.ลักคณา เห็นว่า ประเทศไทยควรจะแก้ไขปัญหาผู้ที่มีสถานะ "ไร้รัฐ" เสียก่อน ถึงจะเริ่มการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว


 


วันดี สันติวุฒิเมธี บรรณาธิการวารสารสาละวินโพสต์ ซึ่งเข้าร่วมการเสวนา ได้ร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากเขื่อน นอกจากด้านทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังจะก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยอีกด้วย เพราะการสร้างเขื่อนจะทำให้ทางรัฐบาลทหารพม่าต้องส่งกองกำลังลงไปควบคุมพื้นที่ไว้ด้วย ทำให้เกิดการ เผาบ้านเรือน ทำร้ายคนแถวนั้น อีกทั้งยังอาจจะมีการวางกับระเบิดด้วย


 


จากนั้น ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ได้มาบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า โดยตัวแทนจากชาวไทใหญ่ ได้บอกเล่าทั้งน้ำตาเกี่ยวกับความรู้สึกสูญเสียที่ต้องอพยพจากบ้านเกิด จากครอบครัวมาอยู่ต่างถิ่น แล้วพอมาถึงก็ถูกกล่าวหาว่ามาแย่งงงาน แย่งที่อยู่ เสียสิทธิมนุษยชนทุกอย่าง รวมถึงประสบการณ์ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการปิดกั้นไม่ให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร แล้ววันหนึ่งทหารก็เข้ามารุกรานยึดเอาทรัพย์สินไปจากชาวบ้าน


 


ตัวแทนชาวบ้านจากรัฐมอญ เล่าว่า ชาวบ้านที่ไม่ได้อพยพเข้ามาก็จะไปหลบอยู่ตามป่า ซึ่งมีจำนวนไม่น่าจะต่ำกว่าแสนคน หากมีเขื่อนขึ้นจริงก็ต้องเข้ามาในไทย ทุกวันนี้สถานการณ์ในพม่าก็ลำบากอยู่แล้ว การที่ กฟผ. ร่วมลงทุนยิ่งเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับทหารพม่า เขื่อนจะกลายเป็นยุทธวิธีในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของพม่าให้รุนแรงมากขึ้น


 


หลังจากนั้น สุวิชานนท์ รัตนวิมล เล่นดนตรีในบทเพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ลุ่มน้ำสาละวินในเพลง "สาละวิน" และเพลง "อูปิตูรี" ซึ่งพูดถึงวีรบุรุษของรัฐกะเรนนี รัฐที่มีแม่น่ำสาละวินไหลผ่าน "อูปิตูรี" เป็นผู้รวบรวมชาวกะเรนนี ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า เรียกร้องการปกครองตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net