Skip to main content
sharethis

 สัมภาษณ์ : ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 


 


 


การลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่ได้มีความหมายเพียงการผ่าน "กฎหมาย สูงสุด" ของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีอะไรซ่อนอยู่ลึกๆ ภายใต้บรรยากาศทางอำนาจที่ทั้งกดดัน บิดเบือนและชี้นำทุกทางของผู้มีอำนาจในรัฐในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทว่ากลับยังมีคนอีกกว่า 10 ล้านคนที่กล้าเดินสวนกระแสอำนาจนั้นอย่างท้าทาย


 


รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงหนึ่งในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มองผลประชามติประวัติศาสตร์ครั้งนี้อย่างไร "ประชาไท" ขอนำมาเสนอ


 


000


 


ประชาไท - ผลของการลงประชามติครั้งนี้บอกอะไรบ้าง


อรรถจักร - ผลของประชามติครั้งนี้น่าสนใจหลายอย่าง อย่างแรกคือท่ามกลางกระแสของการโปรโมตให้รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อย่างมากมาย คน 10 ล้านคนกลับเดินสวนกระแส เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆเพราะนี่คือการลุกขึ้นมาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เนื่องจากไม่คิดว่าการเคลื่อนไหวของ นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) หรือพวกผมเอง (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) จะมีอิทธิพลต่อ 10 ล้านคน


 


พวกเราคงมีอิทธิพลให้สัก 20 คน ส่วน นปก. อาจจะมีอิทธิพลอีกจำนวนหนึ่ง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด น่าจะอยู่ในกรุงเทพ ในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเชียงใหม่หลายพื้นที่ที่ผมรู้จักพบว่า ไม่มีเรื่องที่ไทยรักไทยออกไปซื้อเสียงอย่างที่โปรโมตกัน ดังนั้น ปัญหานี้ต้องมองให้ลึกกว่าที่รัฐบาลหรือ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) มองโดยบอกว่าเป็นเรื่องคนรักทักษิณ


 


ที่ชี้และคิดตรงนี้คือ เขตสีแดงทั้ง 2 พื้นที่ ได้แก่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน ที่จริงแล้ว คือพื้นที่ของพี่น้องคนจนที่ขาข้างหนึ่งอยู่ที่เศรษฐกิจภาคเกษตร ขาอีกข้างอยู่ที่ informal sector และหลังจาก 19 กันยายน 2549 ขาทั้ง 2 ข้างของเขาได้รับการกระทบกระเทือน ถ้าเราเดินถามหาบเร่แผงลอยแถวเชียงใหม่ ทุกคนบอกเลยว่า หลังจาก 19 กันยา รายได้ตก 30-50% ความอึดอัด ความคับข้องใจของพี่น้องคนจนเหล่านี้ก็แสดงออกมา เพราะเขารู้สึกว่ารัฐประหารหรือรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันจะทำให้เศรษฐกิจมันพังต่อไป


 


ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา เชื่อว่าเขาไม่ค่อยได้อ่านรัฐธรรมนูญกันหรอก แต่เขารู้สึกได้ว่าทหารอยู่ข้างหลังทำให้การเมืองมันไม่นิ่งแน่ๆ จะทำอย่างไรให้การเมืองนิ่งที่สุด แน่นอนว่าอาจจะนึกถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บ้าง หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บ้าง อย่างไรก็ตามนี่คือการต่อสู้ทางชนชั้นแบบหนึ่งสำหรับพี่น้องคนจนที่เดือดร้อน


 


คงต้องยอมรับกันว่าพี่น้องภาคกลาง ภาคตะวันออกหรือภาคใต้รวยกว่าพี่น้องในภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน ถ้ามองผลของประชามติแบบนี้โดยลืมวิธีคิดแบบมักง่ายของทหารที่บอกว่าเป็นเพราะทักษิณ ก็จะพบว่ารัฐบาลใหม่จำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องการกระจายรายได้และการดูแลพี่น้องคนจนมากขึ้น การต่อสู้ทางชนชั้นที่เริ่มต้นแบบนี้แปลว่าอะไร แปลว่าเราจะเริ่มมีความขัดแย้งทางชนชั้นสูงขึ้น


 


เรื่องชนชั้นเรามีอยู่แล้ว คนจนมีอยู่ตลอดมา แต่วันนี้คนจนมีสำนึกของชนชั้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่หรือภาคประชาสังคมทั้งหมดต้องคิดเรื่องนี้มากขึ้น ชนชั้นกลางต้องเรียนรู้ ต้องรู้จักคนจน ตอนนี้เหมือนกับชนชั้นกลางในกรุงเทพคิดว่าตัวเองฉลาด เลยด่าคนอีสานผ่านเอสเอ็มเอสในโทรทัศน์


 


ลองทบทวนใหม่ได้หรือไม่ ผลของการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เราถีบพี่น้องคนจนให้ตกรถไฟการพัฒนามามากมาย ตอนนี้พี่น้อง 10 ล้านคนได้ลุกขึ้นมายืนแล้วบอกว่า "คุณต้องดูแลกันหน่อย"


 


"พื้นที่สีแดง" มีบริบททางประวัติศาสตร์เฉพาะด้วย หลายพื้นที่เป็นพื้นที่ที่เคยปฏิเสธอำนาจรัฐมาก่อนในอดีต มันส่งผลต่อการลงประชามติไม่รับด้วยหรือไม่


ภาคเหนือกับภาคอีสานแตกต่างกับทางใต้มาก ถามว่ามีสำนึกทางประวัติศาสตร์ของความเป็นอาณาจักรล้านนาหรือไม่ คงมี แต่เราอยู่กับไทยสยามมานานจนการเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์มันไม่รื้อฟื้นแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นเพราะเรื่องพี่น้องคนจนไทยมากกว่าการแสดงออกว่าเป็นพี่น้องคนจนล้านนา แต่อาจจะมีบางเขตที่โหวตไม่รับเพื่อนายกฯ คนเมือง อย่างไรก็ตามคิดว่ามีน้อย


 


ในอดีต การที่อดีตรัฐมนตรีอีสานเถูกอุ้มหรือกรณีคอมมิวนิสต์ คิดว่ายังส่งผลต่อวิธีคิดในปัจจุบันบ้างหรือไม่


กรณีนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี 2449- 2492) นายจำลอง ดาวเรือง ( มหาสารคาม 2453-2492) นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด 2452-2492) นายเตียง สิริขันธ์ (สกลนคร 2452-2495) ดร.ทองเปลว ชลภูมิ์ (สมุทรสาคร 2455-2492) ทางอีสาน อาจจะพอมีสัญญาณตรงนี้เหลืออยู่บ้าง ยังมีการพูดถึงอยู่ แต่ทางเหนือนั้นไม่มีใครเชื่อมโยงเลย จึงไม่มีผลอะไรต่อวิธีคิด บทบาท ส.ส. ภาคเหนือในช่วงนั้นก็อ่อนด้อยกว่าทางอีสานหรือ 4 รัฐมนตรีที่ถูกอุ้ม


 


แต่คิดว่าถ้าลงไปในพื้นที่ภาคอีสาน อาจจะเห็นการยึดโยงตรงนี้ อีสานเองมีทั้งกรณี 'กบฏผีบุญ' ในรัชกาลที่ 5 มีกรณี ส.ส.อีสาน และมีพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ไม่คิดว่าประเด็นเหล่านี้จะแรงเท่ากับสำนึกทางชนชั้น


 


เมื่อเกิดสัญญาณการเริ่มต้นของสำนึกทางชนชั้นแล้ว รัฐต้องทบทวนอะไรบ้าง


คมช .หรือรัฐบาลต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ไม่กร่างแน่ การไม่กร่างจะทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาน่าจะดีกว่าเดิมอีกนิดหนึ่ง คือโครงสร้างมันไม่ดี อีกสิ่งที่รัฐต้องคิดทบทวน คือบทบาทของรัฐทางด้านบริการ (Service) และการควบคุม (Control)


 


มีมรดกของทักษิณที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการเปลี่ยนรูปรัฐ ด้วยการขยาย Service ให้ชาวบ้าน และเปลี่ยนรูปรัฐด้วยการ Control จากเดิม Control ด้วยระบบราชการก็เปลี่ยนเป็นแบบเอกชนมากขึ้น เช่น เรื่อง CEO หรือให้ระบบตลาดมาเป็นกลไกมากขึ้น


 


การเปลี่ยนรูปรัฐแบบนี้ย้อนกลับไม่ได้แล้ว ต้องรับมรดกอันนี้ไว้ รัฐบาลใหม่ต้องรับ ต้องตระหนักว่าต้องทำให้การเปลี่ยนรูปรัฐเป็นเรื่องของรัฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องของทักษิณหรือเรื่องของอภิสิทธิ์ อย่าดัดจริตมาพูดว่าเราทำดีกว่าทักษิณ เพราะว่าเราให้ฟรีตลอด อย่าไปหาเสียงบนเรื่องที่มันไม่จริง เพราะอย่างน้อยคุณปฏิเสธมรดกของทักษิณเรื่องการเปลี่ยนรูปรัฐไม่ได้ ดังนั้นต้องขยายและเปลี่ยนรูปรัฐให้มีผลดีต่อประชาชนมากขึ้น


 


ความเคลื่อนไหวหลังจากนี้จะไปปรากฏในรูปแบบไหนต่อไป


ตอนนี้พี่น้องคนจนที่โหวตไม่รับ คงจะรอดูก่อนว่า รัฐหรือรัฐธรรมนูญใหม่หรือพรรคการเมืองใหม่จะทำอะไรกับเขา จะเปลี่ยนบทบาทการ Service และ Control เขาแบบไหน


 


ส่วนกลุ่มคนที่เคลื่อนไหว คิดว่าไม่มีพลังเท่าไหร่ อาจเพราะยังเร็วเกิน  อย่างกลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊กหรือกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร ตอนนี้ไม่รู้เขาคิดอะไร


 


ส่วนทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สิ่งที่คิดกันคือ จะจับตารัฐว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร พ.ร.บ.ความมั่นคงเป็นอย่างไร จะทำงานตรงนี้ต่อไป แต่ขอย้ำอีกทีว่า ไม่คิดว่ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีอิทธิพลมากมายในการไปขยับ 10 ล้านเสียง


 


ถ้าให้เอาบริบทของอดีตขมวดกับสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วมองไปข้างหน้ายาวๆ เพื่อประเมินบทสรุปสุดท้าย คิดว่าเป็นอย่างไร


ถ้ารัฐบาลผสม กลุ่มทหารและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเมืองในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ฉลาด และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดี หลังจากมีรัฐบาลใหม่ สิ่งที่ต้องทำคือจำเป็นจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านให้สูงและเป็นจริงมากขึ้น เช่น ถ้าเรื่องชาวบ้านส่งไปถึงวุฒิสภา วุฒิสภาต้องรับทำทันทีเพื่อลดความขัดแย้งทางชนชั้นให้ลดลงไปเรื่อยๆ นี่คือภาพที่หวัง คือหวังว่าเขาน่าจะคิดเป็น เพียงแต่คาดหวังไม่มากนัก เพราะที่ผ่านมาเขาก็ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่


 


ส่วนถ้าหากเขาไม่คิดอะไร รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งน่าจะมีช่วงฮันนีมูนแค่ 5-6 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนจับตามอง หลังจากนั้นความขัดแย้งต่างๆ จะประทุจนกระทั่งรัฐบาลที่อ่อนแอหรือรัฐบาลผสมทำอะไรไม่ได้ และการประทุจนทำอะไรไม่ได้จะนำไปสู่อะไรยังคาดการณ์ไม่ออก เช่นอาจเกิดความขัดแย้งผสมผสานกัน กลุ่มชาวบ้านอาจลุกฮือ หรืออาจมีความขัดแย้งในกลุ่มทหารเอง และมันก็มีโอกาสมีรัฐประหารเกิดขึ้น


 


ดังนั้นหลังเลือกตั้งแล้ว 6 เดือนต่อไป ถ้าไม่อยากให้ทหารมามีอำนาจ ต้องค่อยๆ ตีทหารออกไป ผลักดันตีตูดให้เข้ากรมกอง ต้องจับตามองมากขึ้น และร่วมกันเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพมากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net