Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชาวบ้าน
 
การลงประชามติรับ-ไม่รับ รัฐธรรมนูญ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์กำลังจะมาถึง หลายบทสนทนาว่าด้วย "รับ-ไม่รับ" รัฐธรรมนูญด้วยเหตุใด ดำเนินไปอย่างเข้มข้น


ขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การเลือกตั้งอันมีประชาธิปไตยเป็นหมุดหมาย หาก "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" นักวิชาการรัฐศาสตร์ สำนักจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า การลงประชามติในภาวะที่ประชากรมากมายไร้เสรีเช่นทุกวันนี้ จะไม่นำไปสู่การสร้างประชาธิปไตย


แม้ก่อนการสนทนา พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จะออกตัวกับ "สำนักข่าวชาวบ้าน" เขาพูดในฐานะในพลเมืองคนซึ่งมีความมั่นใจในจุดยืนของตัวเองมากกว่านักวิชาการ ด้วยว่าตอนนี้ความเป็นนักวิชาการน่าจะสร้างความสับสนให้กับสังคมมากกว่าความเป็นเพียงพลเมืองที่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง


ไม่ว่าคนอ่านจะเป็นใคร "สำนักข่าวชาวบ้าน" เชื่อว่าจุดยืนอันหนักแน่นของพลเมืองผู้นี้ น่าจะทำให้เราทั้งหลายได้หันกลับไปสำรวจจุดยืนของตัวเอง ต่อสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" ที่มีความหมายกว้างไกลไปกว่าหย่อนบัตรลงคะแนน


...............


การลงประชามติภายใต้กฎอัยการศึก จะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร?
"กฎอัยการศึกมีสองแบบ มันมีกฎอัยการศึกที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งประเทศประชาธิปไตยมีกฎอัยการศึกได้ กับกฎอัยการศึกในสังคมที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะบอกว่ามันสร้างประชาธิปไตยได้หรือเปล่า ต้องดูด้วยว่ากฎอัยการศึกที่เราพูดถึง เราพูดในกรอบของสังคมประชาธิปไตยหรือเปล่า"


"ถ้าเป็นกรอบของสังคมไทย ณ ปัจจุบัน มันไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะทำให้มันเนียนได้อย่างไร คน 35 จังหวัดอยู่ในกฎอัยการศึกแล้วคุณจะมาพูดถึงการลงประชามติได้อย่างไร คนไปรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มันละเอียดอ่อน เพราะประชามติครั้งนี้ไม่ใช่ประชามติของกฎหมายที่ร่างโดยรัฐบาล แต่เป็นประชามติของรัฐธรรมนูญในอนาคตซึ่งไม่ได้มีการถกเถียงอย่างเสรี"


"การร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่แฟร์ตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)เป็นคนสร้าง ก็เห็นอยู่ งบประมาณที่เอาไปใช้ก็เป็นงบประมาณฝ่ายเดียว คือฝ่ายรณรงค์ให้รับ แทรกเข้ามาจากหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งอ้างว่าไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ งบประมาณพวกนี้ที่จริงควรจะเป็นงบประมาณที่เกิดหลังรัฐธรรมนูญผ่านมากกว่าเพื่อไปรณรงค์ให้คนเข้าใจในรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่รณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่มีปัญหากับ ส.ส.ร. ในเรื่องนี้ แต่ผมว่ากฎอัยการศึกไม่มีความสมเหตุสมผล และการที่รัฐบาลออกไปรณรงค์ให้ไปลงประชามติด้วยงบประมาณของรัฐบาลโดยชี้ให้เห็นแต่ด้านดีของร่างฉบับใหม่"


"ในสังคมประชาธิปไตย เวลาเราพูดถึงกฎอัยการศึก เรากำลังพูดถึงลักษณะการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จซึ่งมีระยะเวลาหนึ่งที่ชัดเจน มีพื้นที่หนึ่งที่ชัดเจน มีเหตุผลหนึ่งที่ชัดเจน โดยเฉพาะมันเป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของคนในพื้นที่เหล่านั้น แต่สิ่งที่คุณเห็นในกฎอัยการศึกปัจจุบันนี้ ถ้าไม่นับภาคใต้ซึ่งมีความรุนแรงที่เกิดจากกองกำลังที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลด้วยอาวุธ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เหลือที่ไม่ใช่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และไปประกาศกฎอัยการศึก มันชี้ให้เห็นว่ากฎอัยการศึกนี้เป็นกฎที่เกี่ยวพันกับความอยู่รอดของรัฐบาล ไม่ใช่การอยู่รอดของรัฐ อย่าไปพูดถึงประชาธิปไตยในอนาคตเลย ในปัจจุบันก็ไม่มีหลักประกันถึงอนาคต"


จากการสำรวจพบว่ามีพลเมืองกว่า 25 ล้านคนในพื้นที่อัยการศึก


"นั่นคือพลเมือง 1 ใน 3 ของประเทศ แล้วเป็นคนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ที่เลือกพรรคไทยรักไทย ก็เห็นๆ กันอยู่ว่ากฎอัยการศึกคือกฎของการปิดปากคนที่ไม่ใช่พวกรัฐบาลเท่านั้นเอง คุณทำกฎอัยการศึกเพื่อจัดความสัมพันธ์ของทหารกับนักการเมืองท้องถิ่น"


"ประเด็นของผมก็คือว่า กรอบคิดที่เราควรจะพิจารณาว่ามันเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ก็คือมันเป็นเรื่องของการสร้างอาณานิคมทางจิตใจ ทางการเมือง ทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การต่อสู้ในระบบประชาธิปไตย มันมีเกมของมันอยู่ ฉะนั้นถ้าคุณเชื่อว่าคุณกำลังสู้กับเขาโดยความชอบธรรม มันไม่ได้อยู่แล้ว นี่ไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย นี่คือสังคมของการครอบงำ การกดขี่แบบอาณานิคม"


"คำจำกัดความของการปกครองแบบอาณานิคมคือการที่คนจำนวนน้อยปกครองคนจำนวนใหญ่ ฉะนั้นคนจำนวนน้อยก็จะมีวิธีคิดจำนวนมากที่จะอธิบายว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสามารถปกครองคนจำนวนมากได้ เช่น คนจำนวนมากหลงผิด คนจำนวนมากโง่ คนจำนวนมากไม่มีคุณภาพ"


"เกมนี้ที่ผมสู้ ผมไม่ได้เชื่อในลึกๆ ด้วยซ้ำว่าผมสู้ในฐานะที่เป็นคนจำนวนมาก แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นจริง แต่มันเป็นความจริงที่ต่อสู้กับเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่ให้พื้นที่คุณ ผมมองว่าตอนนี้ผมไม่ต่างจากปกากะญอ ไทยใหญ่ ม้ง เย้า ผมคือคนกลุ่มน้อยในสังคม ผมสู้เพื่อสิทธิของคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มน้อยที่มีสิทธิจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้ล้มใคร แต่ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยความสุภาพ ด้วยสิทธิที่เขาบอกว่าผมมี โดยผมใช้สิทธินี้ผ่านอิสรภาพ ไม่ใช่สิทธิผ่านความกลัว ผมไม่คิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้วัดกันที่จำนวน มันวัดกันที่จิตใจด้วยว่า ในขณะที่คุณก็รู้ตัวว่าคุณเป็นคนจำนวนน้อยที่ปกครองคนจำนวนมากแล้วคุณอ้างอิงว่าคุณจะนำไปสู่ประชาธิปไตย สิ่งที่คุณกำลังทำทั้งหมดอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเนื้อหาสาระของความเป็นประชาธิปไตยอะไรอยู่เลย"


"มันก็ไม่ได้จบแค่ว่า ถ้าผมแพ้ ผมจะหยุดสู้ เปล่า...ผมก็กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมาก ในสายตาของพวกเขา ผมเป็นคนกลุ่มน้อย เช่น ไม่มีคุณภาพเพียงพอ ไม่มีความเข้าใจในความเลวร้ายของระบอบทักษิณ ทั้งที่ผมเขียนไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ผมไม่ได้คิดว่าผมจะหยุดการต่อสู้ในวันที่จะลงประชามติแล้วผมแพ้ เปล่า...ผมก็สู้ในฐานะที่ผมเป็นคนกลุ่มน้อยว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่มีความชอบธรรม การทำรัฐประหารนี้ขาดความชอบธรรม มันไม่ได้มีที่มาสาระใดๆ จากประชาธิปไตยทั้งสิ้น มันเป็นกระบวนการสร้างเหตุผลในการทำให้ตัวเองอยู่รอดไปวันๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็หยุดไม่ได้ เพราะจุดตั้งต้นมันผิด พอจุดตั้งต้นผิด ก็จะเห็นความฉิบหายแบบนี้ไปเรื่อยๆ"


"สิ่งที่น่าสนใจเมื่อคิดถึงลูกหลานในรุ่นต่อไปก็คือ การบันทึกการให้เหตุผลสาธารณะของฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารและฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งบิดเบี้ยวจนถึงวันลงประชามติ มีการดึงพลังสถาบันต่างๆ จำนวนมากเพื่อมารองรับความไร้เหตุไร้ผลทางการเมืองชุดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับการโต้วาทีไปวันๆ"


"ฉะนั้น ถ้าถามว่า ผมทำอะไรได้บ้างในตอนนี้ หนึ่ง ผมไม่รับ สอง ผมชี้ให้เห็นว่า ผมไม่รับทั้งโดยตัวที่มา กระบวนการร่าง ตัวเนื้อหา และตัวกระบวนการลงประชามติเอง สาม โดยการที่ผมเข้าไปมีบทสนทนาสาธารณะเหล่านี้จะชี้ให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของเหตุผลทางการเมือง เพราะเป็นการให้เหตุผลที่ไม่ได้ทำให้เราบรรลุซึ่งอิสรภาพที่พ้นไปจากความหวาดกลัวซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากฝ่ายที่พยายามจะทำให้รับ นี่คือหน้าที่สามประการของผม"


"ผมเชื่อว่าผมเป็นชนกลุ่มน้อย ถ้าตราบใดที่คนจำนวนมากไม่กล้าลุกขึ้นสู้กับความจริง ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นยืนในกรอบการเมืองที่ปกครองด้วยความกลัวเช่นนี้ สิ่งที่ผมทำ สิ่งที่หลายคนเห็นด้วยกับผมหรือไม่เห็นด้วยกับผมที่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันก็จะไม่ได้ชนะอะไร ชนะ-แพ้ ไม่ใช่ประเด็น"


"ประเด็นอยู่ที่ว่า แม้คุณจะบอกประชาชนว่า ประชาธิปไตยคือเสียงข้างมาก หนึ่ง เสียงข้างมากนั้นมีเสรีภาพไหม มีอิสรภาพจากความกลัวไหม?


คุณอ้างว่าเดิมเสียงข้างมากนั้นซื้อเสียง ถามว่าเสียงข้างมากในปัจจุบันนั้นตกอยู่ภายใต้ความกลัวหรือเปล่า เพราะคุณใช้เหตุผลแบบความจริงครึ่งเดียวตลอดเวลา ของเหล่านี้มันก็เห็นกันอยู่ คุณไม่กล้าลุกขึ้นสู้ คุณก็จำเอาไว้ละกัน ถ้าคุณกลัว คุณก็อยู่แบบกลัวๆ ต่อไป ไม่แปลกหรอกครับ มนุษย์เรามีเหตุผลร้อยแปดพร้อมที่จะให้ความหมายกับชีวิตของตัวเอง ผมมีความหมายในชีวิตของผมชุดหนึ่ง อาจจะไม่เหมือนของคนอื่น ผมไม่เชื่อว่าผมจะเป็นผู้นำทางสังคมด้วย ผมไม่มีต้นทุนอะไรจะเสีย ผมมีแต่ความเชื่อของผม ผมมีอุดมการณ์ของผม แล้วผมคิดว่าสังคมซึ่งไม่มีความเข้าใจ และผู้มีอำนาจรัฐที่ไม่มีความเข้าใจว่าความแตกต่างกับความแตกแยกมันไม่เหมือนกัน คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าสังคมประชาธิปไตยมันจะอยู่กันอย่างไร คนเหล่านี้ไม่มีความอดทน รัฐบาลทักษิณมีปัญหา มีความเลวร้ายจำนวนมาก แต่ถ้าคุณไม่แก้ ไม่สู้ภายใต้เกมของประชาธิปไตย คุณก็จะเจอสิ่งเหล่านี้เรื่อยๆ แล้วคุณก็ทำได้แค่หลับตาไปเรื่อยๆ แล้วก็เชื่อว่าสักวันเราจะหลุดรอดไปจากสิ่งเหล่านี้ มันไม่หลุดหรอกครับ"


บางคนบอกว่าจะไม่รับรัฐธรรมนูญด้วยการไปลงประชามติว่าไม่รับ ขณะที่บางคนบอกว่าจะไม่รับโดยการไม่ไปลงประชามติ
"ผมไปลงประชามติว่าไม่รับ แต่มันยังมีความกำกวมอยู่ เพราะว่าโดยส่วนตัวผม ผมคิดว่าผมจะไม่รับ แต่ถ้าผมเขียนลงบนบัตรว่าผมเอา (รธน.)ฉบับ 2540 เหมือนที่คิดเอาไว้ก่อนจะมีกฎหมายเรื่องการทำประชามติออกมา บัตรของผมก็จะไม่มีความหมายในทางกฏหมาย เพราะมันกลายเป็นแค่บัตรเสีย แม้ว่ามันจะมีความหมายทางการเมือง"


"เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อหลายวันก่อนผมได้มีโอกาสไปขึ้นเวทีเสวนากับนิสิต และผมได้เรียนรู้เพิ่มจากนิสิตที่เรียนเศรษฐศาสตร์ เขาสอนผมว่า ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น อย่างน้อยมีอีกสองวิธีในการตัดสินใจ(รับ-ไม่รับร่างฯ) ท่ามกลางสถานการณ์ที่เราได้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียว ประการแรกคือเป็นการตัดสินใจเชิงรับ ในแง่ที่ว่า เมื่อเรามีข้อมูลข่าวสารด้านเดียว เพราะการรณรงค์ให้ไปลงประชามตินั้นแฝงไปด้วยการจูงใจให้รับ เพราะแจกแต่เอกสารข้อดีของร่าง 2550 เราก็จะต้องตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ว่า ถ้ารับจะได้อะไร ไม่รับจะได้อะไร ซึ่งสำหรับผม การไม่รับจะทำให้สังคมมีเหตุมีผลมากขึ้น เพราะมีเวลาอีก 30 วันในการร่วมกันคิดและกดดัน คมช.ให้นำเอารัฐธรรมนูญที่มีข้อตกลงร่วมกันมากที่สุดในการนำมาปรับใช้ ซึ่ง ส.ส.ร.เองก็ยังยืนยันว่าตนเองนั้นร่างบนฐาน 2540 อยู่แล้ว ดังนั้น ส่วนที่ยังไม่ดีตอนนี้ก็ยังมีเวลาแก้อีก 30 วัน"


"ประการที่สองคือตัดสินใจเชิงรุก หมายความว่าเราไม่พอใจสินค้าที่บังคับขายเช่นนี้ เราต้องไปแจ้งให้ คมช. ในฐานะผู้อำนวยการผลิต เพราะไปตั้งพวกนี้เข้ามาร่างนั้นทำสัญญาประชาคม ว่าจะต้องนำสินค้าอื่นๆ ที่อยู่หลังร้านมาให้เราดู ไม่ใช่มัดมือชกกันอย่างนี้ คือตัดสินใจไปบอกผู้ผลิตว่าเราซื้อสินค้านี้ไม่ลง และถ้าคนไม่ค่อยออกไปซื้อ สินค้าชิ้นนี้มันก็ขายได้ไม่มาก ผู้ผลิตก็เสียชื่อเปล่าๆ"


มันมีการจับการเลือกตั้งเป็นตัวประกันอยู่ เราจะชิงตัวประกันนั้นกลับคืนมาอย่างไร?
"ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงสามประการว่า หนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน การเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ข้อกฎหมายไม่ได้เขียนว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง สอง การมีการเลือกตั้งที่ล่าช้าไปนั้น ในแง่ดีคือมันเป็นการทำให้คนทุกฝ่ายต้องมาคิดร่วมกันก่อนว่า จะเลือกตั้งบนกติกาอะไร เพราะกติกาที่ถูกร่างอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้ทำให้คนที่จะเป็นผู้แทนราษฎรมีอำนาจ และสาม การชี้ย้อนหลังไปให้เห็นตั้งแต่ที่มาของการต่อสู้ในการไม่รับการรัฐประหารแล้วว่า ทุกคนยืนยันตั้งแต่แรกแล้วว่าให้นำ 2540 กลับมาใช้และให้มีการเลือกตั้งในทันที ที่ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าตั้งแต่แรกก็คือคณะรัฐประหาร อันนี้เห็นๆ กันอยู่ตั้งแต่แรก และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ล่าช้า มันก็คือกระบวนการหนึ่งซึ่งทำให้การเลือกตั้งล่าช้า ในขณะที่คนที่ต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่แรกต้องการให้มีการเลือกตั้งนานแล้ว"


"ย้ำว่า การลงประชามติไม่รับต่างหากที่จะทำให้กระบวนการพิจารณายืดออกไปอีก 30 วัน ทำให้การพิจารณามีเหตุมีผลขึ้น และทำให้คมช.ออกมาประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แก้ไขเพิ่มเติมด้วยแรงกดดันทางสังคม เหมือนกับที่ ส.ส.ร.ยอมรับมาโดยตลอดว่าสิ่งที่ตนทำก็คือการเอา 2540 เป็นฐาน"


อนาคตแบบไหนที่เรากำลังจะมีร่วมกัน?
"เราไม่มีอนาคตร่วมกันอย่างเท่าเทียมอยู่แล้ว มันจะเป็นการครอบงำของคนจำนวนน้อยที่มีต่อคนจำนวนมากไปเรื่อยๆ ทุกสังคมก็มีแนวโน้มของการทำแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า แนวโน้มของการต่อรองยังมีมากกว่านี้เท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าในสังคมประชาธิปไตยก็จะมีนายทุนจำนวนน้อยพยายามปกครองคนจำนวนมากภายใต้กรอบของประชาธิปไตย แต่ภายใต้กรอบนั้น การต่อรองมีสูงกว่านี้ ขณะที่ในประเทศของเรา หนึ่งในสามของประชากรของประเทศตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แล้วคุณจะมาเรียกร้องอะไรกับประชาธิปไตยในอนาคต ปัจจุบันยังไม่มีเลย แล้วในอนาคตมันยังมีกฎหมายจำนวนมากที่ลิดรอนเสรีภาพของคนภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็คิดดูนะครับ"


"สิ่งที่คุณกำลังจะออกไปลงประชามติมันคือประกาศคณะรัฐประหารฉบับรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญ เพราะรากของรัฐธรรมนูญต้องมาจากตัวแทนของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มาจากทางนั้น สิ่งที่ถูกร่างมาทั้งหมดมันคือประกาศคณะรัฐประหารฉบับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีที่ทางให้กับกฏหมายอื่นๆ ที่รัฐสามารถลิดรอนเสรีภาพกับประชาชน และปกครองด้วยความกลัวต่อไป ก็เห็นๆ กันอยู่"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net