Skip to main content
sharethis

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สงสัยทีวีรัฐไม่ถ่ายทอดสดมหกรรมรวมพลัง ปชต. ฝากช่วยตีปี๊บลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ห่วงไปใช้สิทธิน้อย 17 จังหวัดได้ 1 แสนร่วมชุมนุม "ธีรภัทร์" หวั่นถ้าคนมาใช้สิทธิไม่ถึง 50% จะขาดความชอบธรรม

 

 

(ที่มาของภาพ : มติชน)

 

 

"สุรยุทธ์" นำทัพหนุน "ประชามติ"

เมื่อเวลา 07.50 น. วันที่ 13 สิงหาคม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "มหกรรมรวมพลังประชาธิปไตย พร้อมลงประชามติ" ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ และนำประชาชนทุกหมู่เหล่ากว่า 50,000 คน ใส่เสื้อสีเหลือง เดินรณรงค์จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปตามเส้นทางถนนราชดำเนินนอก สิ้นสุดที่ปะรำพิธีบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทำพิธีปักธงรวมพลังประชาธิปไตย มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ข้าราชการ นักเรียน นิสิตนักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และกลุ่มพลังมวลชนทุกหมู่เหล่าจาก 17 จังหวัดภาคกลาง รวมทั้ง กทม.เข้าร่วม ระหว่างทางมีการแจกเอกสารประชาสัมพันธ์รณรงค์กระตุ้น มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 นอกจากนี้ในส่วนของจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ทั่วประเทศ ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นพร้อมกัน

 

 

"สุรยุทธ์" อย่าหลงเชื่อผู้ไม่หวังดี

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวปราศรัยกับกลุ่มพลังมวลชนตอนหนึ่งว่า อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับการไปลงประชามติของคนไทย แต่ไม่ว่าผลของการลงประชามติจะเป็นอย่างไร ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้ที่มีสิทธิออกเสียงประชามติทุกคน อย่าหลงเชื่อผู้ไม่หวังดีที่พยายามใช้อำนาจเงินหรือความพยายามอื่นๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริต ยุติธรรม

 

 

นำปฏิญาณไม่ขายเสียง

จากนั้น นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.ท.ธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ มอบธงชาติไทย ธงปฏิญญา และธงอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย (อสพป.) ให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ เพื่อนำไปปักลงบนแท่นพิธี เสร็จแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์นำผู้เข้าร่วมพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่า "ข้าพเจ้า...(ชื่อของผู้กล่าว) ขอให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง และจะร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตย ให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมและเป็นไทยตลอดไป"

พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณีมีการปลุกกระแสหากใครรัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้ลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และหากใครรักคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ให้รับ ว่าคงไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ และการลงประชามตินั้นหากประชาชนส่วนออกมาใช้สิทธิจะเป็นประโยชน์ จะแสดงให้เห็นว่าประชาชนได้รับทราบและเข้าใจในการลงประชามติ ไม่ได้เป็นเรื่องของทางการเมือง

 

 

ไม่ห่วงใช้ "เงินบ่อน" ล้มร่างรธน.

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณกับ คมช.มาเป็นตัวเปรียบเทียบเหมาะสมหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า มองว่าเพียงอยากจะให้ประชาชนมาใช้สิทธิลงประชามติเท่านั้นเอง ไม่ได้มองในเรื่องประเด็นทางการเมือง

 

เมื่อถามว่า ได้ตรวจสอบข่าวการใช้เงินบ่อนจากต่างประเทศมาล้มร่างหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ในเรื่องนี้คงไม่สำคัญ คิดว่าประชาชนเข้าใจ เรื่องการใช้เงินก็เป็นเรื่องของผู้ที่มองการเมืองในลักษณะหนึ่ง แต่ยังอีกนานที่การเมืองของไทยจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้เงิน

 

 

มท.1ให้รับเงินบ่อนแต่อย่าทำตาม

นายอารีย์ วงศ์อารยะ กล่าวถึงกระแสข่าวมีการขนเงินจากบ่อนที่ จ.เชียงราย มาจ่ายให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เพียงแค่ได้ข่าวมา แต่ไม่ได้ให้ความสนใจอะไร ถือเป็นเรื่องดีที่มีผู้เอาเงินมาให้ประชาชน แต่ประชาชนต้องอย่าไปทำตาม อย่างไรก็ดี จะให้เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบว่าเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจูงใจให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้มั่นใจว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิทั่วประเทศเกิน 60% แน่นอน

 

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เหตุการณ์จะสงบลงและกลับสู่สภาวะปกติหลังจากมีการเลือกตั้ง ถ้าเป็นไปตามแนวทางสมานฉันท์ ปลายเดือนธันวาคมนี้ก็จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

 

 

แวะยื่น"จ.ม."ให้กำลังใจ"เปรม"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กลุ่มพลังประชาชนเคลื่อนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตัวแทนประมาณ 50 คน ได้แยกตัวไปมอบกระเช้าดอกไม้และจดหมายให้กำลังใจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ มี พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป เลขานุการสำนักงานประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มารับแทน พล.ร.ท.พะจุณณ์กล่าวว่า สาเหตุที่ พล.อ.เปรมไม่ออกมาเป็นเพราะไม่ได้ประสานก่อนล่วงหน้า ทำให้เกิดความขัดข้องบางอย่าง

 

 

"ป๋า" ห่วงสื่อไม่ตีปี๊บ-ใช้สิทธิน้อย

พล.ร.ท.พะจุณณ์กล่าวว่า ช่วงเช้า พล.อ.เปรมได้พยายามติดตามการถ่ายทอดสดงาน "มหกรรมรวมพลังประชาธิปไตย พร้อมใจลงประชามติ" ทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องใดถ่ายทอดสด จะมีก็เพียงช่อง 11 ถ่ายทอดสดในช่วง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิญาณตนเท่านั้น จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันประชาสัมพันธ์งานนี้มากขึ้น พล.อ.เปรมเป็นห่วงในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อยากให้ประชาชนออกมาลงประชามติกันมากๆ หลายคนชอบพูดว่า พล.อ.เปรมเข้ามายุ่งกับการเมือง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ พล.อ.เปรมเป็นห่วงบ้านเมืองมากกว่า ทำเพื่อบ้านเมืองมากกว่า

 

 

รับต่ำกว่าครึ่งมีปัญหาชอบธรรม

ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนักวิชาการเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ควรจะจัดดีเบตก่อนวันที่ 17 สิงหาคม แต่อยากให้ระบุว่าเป็นใครบ้าง โดยไม่ควรเป็นคนเดิมที่เคยดีเบตแล้วเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอยากให้คนมาใช้สิทธิมากๆ ได้ 25 ล้านคนจากผู้มีสิทธิ 45 ล้านคนก็ดี เพราะเกรงว่าหากมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แม้ส่วนใหญ่จะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตามแต่อาจมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเป็นห่วงจุดนี้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2549 ไม่ได้ระบุเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ แต่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากที่สุดเพื่อความชอบธรรม

 

 

มท.จ่าย "1แสน/จว." ระดมคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดงาน "มหกรรมรวมพลังประชาธิปไตย พร้อมใจลงประชามติ" กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0310.3/ว 2640 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก นครปฐม ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง รวม 17 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้ร่วมกิจกรรมดังกล่าว ระบุให้นำ อสพป. นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าประชาชน และกลุ่มพลังมวลชนทุกหมู่เหล่า ตามจำนวนที่กำหนด เข้าร่วมกิจกรรมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กรมการปกครองจะจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดเป็นค่าใช้จ่ายในการนำกลุ่มพลังมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมจังหวัดละ 100,000 บาท

 

 

ชาวบ้านเผยเองถูกเกณฑ์มาหัวละ 120

หนังสือพิมพ์ "โลกวันนี้" รายงานว่า ชาวบ้านรายหนึ่งจากอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านคนอื่นๆในหมู่บ้านเดินทางมาตั้งแต่ช่วงตี 3 โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องอาหารการกินทั้งหมด และจะให้ค่าเดินทางคนละ 120 บาท จ่ายกันก่อนขึ้นรถบัส ซึ่งแต่ละ อบต. จะมีคนมาประมาณ 50 คน แต่ในส่วนของจังหวัดที่เกณฑ์คนมานั้นไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไร

 

"ไม่รู้จัดงานใหญ่ๆ แบบนี้ทำไม คิดว่าไม่ค่อยคุ้มเท่าไร เสียดายเงินหลวงที่เอามาทำอย่างนี้ เขาก็แจ้งมาประมาณ 10 วันแล้วว่าจะให้ไปกรุงเทพฯกัน ที่มาก็เพราะถือว่าได้พาลูกหลานมาเที่ยวด้วย ความจริงไม่ค่อยอยากมาเท่าไร" ชาวบ้านจากอำเภอวิเศษชัยชาญระบุ

 

 

ปธ.กกต.มีเทปเสียงมัดที่บุรีรัมย์

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเอาผิดกับบุคคลที่จ่ายเงินคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้หลักฐานเป็นเทปบันทึกเสียงและภาพผู้จ่ายเงินคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ จ.บุรีรัมย์ อยู่ในมือ กกต.หมดแล้ว อีกทั้งมีพยานบุคคลมาให้ปากคำหลายปาก เชื่อว่าภายในสัปดาห์นี้จะเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินการเอาผิดผู้กระทำความผิดได้ หากพิสูจน์ได้ว่ามีการซื้อเสียงหรือหลอกลวงให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ตอนนี้พื้นที่อีสาน โดยเฉพาะ จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการกระทำผิดหนักที่สุด

 

 

ขู่เอาผิด "อปท." หลายแห่ง

ประธาน กกต.กล่าวอีกว่า กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือหยุดหาข่าว เชื่อว่าช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติจะมีผู้กระทำผิดมากขึ้น ดังนั้น จึงได้ประสานงานกับหน่วยข่าวกรอง ทหาร ตำรวจ ในทุกจังหวัดให้ช่วยกันหาข่าวและตรวจสอบเส้นทางการเงินที่นำมาจ่ายให้ชาวบ้าน ยอมรับว่า มีความกดดันพอสมควร เพราะทั่วประเทศมีการรายงานความผิดปกติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ได้รับข้อมูลอีกว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในหลายพื้นที่ที่ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มอำนาจ ได้รณรงค์และหลอกลวงชาวบ้านให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ บิดเบือนเนื้อหาร่างและเตรียมก่อความวุ่นวาย เร็วๆ นี้จะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิด สำหรับคนของรัฐหากกระทำความผิด ถือว่ามีโทษมากกว่าชาวบ้านธรรมดา อยากฝากถึงประชาชนว่า การรับเงิน ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ต้องกลัวว่าการเข้าร้องเรียน หรือเป็นพยานจะเป็นความผิด หากได้รับเงินก็ควรเข้าร้องเรียนกับ กกต.จังหวัด และสถานีตำรวจ

 

 

สอบเงินบ่อน-จ้างที่หล่มเก่า

ประธาน กกต.กล่าวถึงกระแสข่าวการนำเงินจากบ่อนกาสิโนของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาซื้อเสียงใน จ.เชียงราย ว่ากำชับให้เลขาธิการ กกต.ประสานงานกับ กกต.เชียงราย เพื่อสืบสวนข้อมูลดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ในวันที่ 14 สิงหาคม จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเงินคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในหลายอำเภอ จ.อุบลราชธานี

 

ข่าวแจ้งว่า ภายหลัง กกต.กลางได้เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการลงประชามติ หมายเลขโทร.0-2219-9452, 0-2613-7333 ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ล่าสุดมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา 14 เรื่อง ส่วนใหญ่แจ้งเบาะแสว่า มีการกระทำความผิดและจ่ายเงินคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ใน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีหัวคะแนนมาจดเลขประจำตัวบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ศูนย์ร้องเรียนได้ประสานให้ กกต.เพชรบูรณ์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว

 

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.ม่วง อ.ตระการพืชผล อ.เขื่องใน และ อ.วารินทร์ชำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ของอดีต ส.ส. มีการแอบจ่ายเงินหัวละ 200 บาท ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

ปชป.แฉคว่ำ "รธน." มัดใจอดีต "ส.ส."

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดอดีต ส.ส.ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจให้มาอยู่กับกลุ่มอำนาจเก่ามากขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งเป็นการสร้างความนิยมให้ประชาชนเห็นว่า ควรสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าในการเลือกตั้งต่อไป สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัครจะอยู่กับพรรคต่อไป 100% นอกจากนี้ยังพูดคุยกับ อดีต ส.ส.พรรคที่ถูกยุบ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

 

 

"อ๋อย" ให้ไปใช้สิทธิโหวตโนมากๆ

ที่ห้อง "จี๊ด เศรษฐบุตร" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่าย 9 กันยา...ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ จัดเสวนา "แลไปข้างหน้า สังคม การเมืองไทยหลังลงประชามติ" มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 300 คน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย กล่าวในการเสวนาว่า ไม่ควรยอมรับหลักการที่คนร่างพยายามชี้นำผ่านนายกรัฐมนตรีและประธาน คมช. ดังนั้น ขอให้ทุกคนไม่ควรนอนหลับทับสิทธิ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคะแนนเสียงที่ได้มา หรืออาจทำให้ได้รับเสียงข้างมากไป

 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า กรณีมีหลายฝ่ายเกรงว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.จะนำรัฐธรรมนูญฉบับเร่งด่วนมาใช้นั้น เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงเพราะเชื่อว่า คมช.ไม่มีทางนำรัฐธรรมนูญที่เขียนให้เป็นประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมากได้ หากนำรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ประชาชนจะต้องไม่ยอมรับและอาจเกิดเป็นปัญหาในภายหลังแน่นอน

 

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สภาพการเมืองไทยหลังการลงประชามติ น่าจะอยู่ในลักษณะประชาธิปไตยค่อนใบ เพราะแม้จะเปิดโอกาสให้มีคนไทยไปลงประชามติเป็นครั้งแรก แต่ยังมีอีก 35 จังหวัดที่ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ดังนั้น เท่ากับว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีอะไรต่างจากปีรัฐธรรมนูญ 2540 นอกจากนี้กลับยังทำให้มีรัฐทหาร สามารถลงหลักปักฐานในระบอบการเมืองได้ยาวมากขึ้น ส่วนพรรคการเมืองที่เหลือจะเล่นบทประนีประนอมแบ่งอำนาจกัน เพราะไม่ต้องการขัดแย้งกับรัฐทหาร

 

 

ข้องใจผู้นำรัฐล้วนชี้นำรับร่าง

นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมคนฝ่ายรัฐที่ควรเป็นกลาง ทั้งประธาน คมช. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างๆ รวมถึง กกต.ออกมาพูดชี้นำประชาชนว่าให้ไปลงมติรับร่าง ซึ่งในความเป็นจริงเป็นสิ่งไม่ควรทำ นอกจากนี้ทีวีภาครัฐนำเสนอในลักษณะต้องการให้คนไปรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว พร้อมทั้งสร้างภาพให้คนเห็นว่ามีการซื้อเสียง แต่เท่าที่ได้เห็นหลักฐานต่างๆ เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอะไร ยังแปลกใจว่าคนที่นำมารณรงค์ผิดกฎหมาย และบางรายถูกข่มขู่ได้อย่างไร ที่น่าห่วงคือ การกระทำของ กกต.ขาดความเป็นกลางโดยสิ้นเชิง ยิ่งออกมาระบุว่า ประชาชน 70% จะรับร่างนั้น รัฐบาลก็ไม่ยืนยันว่านำตัวเลขนี้มาจากไหน หรือว่าหาตัวเลขมาโมเม ดังนั้น โพลจึงไม่น่าเชื่อถือ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่ามีการนำเงินจากบ่อนการพนันต่างประเทศ เพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องที่พูดให้เสียหาย และคงจะเป็นการสร้างภาพให้กับคนที่พูด

 

ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์มติชน และโลกวันนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net