Skip to main content
sharethis





การเมือง


 


โฆษก คมช.แนะ นปก.ยุติชุมนุมตลอดสิงหาคม


ไทยโพสต์ - พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช. กล่าวถึงกรณีที่สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ระบุว่าการจับแกนนำ นปก.เป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยลงนามเป็นภาคีว่า การดำเนินการทุกอย่างขึ้นอยู่กับกรอบของกฎหมายเป็นหลัก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว ทุกอย่างต้องเป็นปัจจัยที่ผูกพันซึ่งกันและกัน หมายความว่ากรอบกฎหมายทุกกรอบกฎหมายที่ออกมาได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว และก็ให้สิทธิที่จะประกันตัว แต่แกนนำไม่ทำเอง จึงไม่ใช่เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คนละเรื่องกันเตือนชุมนุม 12 สิงหา.ไม่เหมาะสม


 


สำหรับการประกาศชุมนุมในวันที่ 12 สิงหาคมนั้น พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นวันสำคัญของคนไทย ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมควรยุติการชุมนุมสักระยะในเดือนสำคัญนี้ ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย จึงอยากวิงวอนให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้วิจารณญาณในเรื่องนี้ให้มากด้วย


 


"การติดตามสถานการณ์การชุมนุมของศูนย์ปฏิบัติการ คมช. สถานการณ์ยังนิ่งอยู่ ถึงแม้มีความพยายามเคลื่อนไหวไปจุดสำคัญต่างๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อหน่ายในเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเชิงการเมือง แต่ให้ความสำคัญกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเมื่อประชาชนไม่ค่อยสนใจและตอบรับการชุมนุม ก็เชื่อมั่นว่าการชุมนุมในพื้นที่สนามหลวง ก็เป็นเพียงความพยายามจุดกระแสของแกนนำ ที่จะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น" พ.อ.สรรเสริญกล่าว


 


พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประจำ สนง.ตร. ทำหน้าที่รอง ผบ.ตร.มค.1 กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า กลุ่ม นปก.จะมาชุมนุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 31 ก.ค. เวลา 13.00 น. แต่คงมีจำนวนไม่มาก ประมาณ 200 คน ซึ่งหากมีการดำเนินการใดที่ผิดกฎหมาย เช่น ใช้เครื่องขยายเสียง กีดขวางการจราจร ตำรวจต้องดำเนินการตามกฎหมาย


 


พล.ต.อ.วิเชียรยังกล่าวถึงการไปชุมนุมหน้าสถานที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ว่าถ้าเดินขบวนไปชุมนุมใหญ่เราคงไม่ยอม เพราะเป็นนโยบายชัดเจนจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการ ผบ.ตร. ที่ให้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายสถานที่ เพราะอาจจะเกิดความวุ่นวายเหมือนเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หลังการจับกุมแกนนำ ทำให้สถานการณ์เบาบางลง และหวังว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ละเมิดกฎหมายอีก เพราะถ้าทำตำรวจก็ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด


 


ที่กองปราบปราม พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสนอต่อ พ.ต.อ.วิศณุ ม่วงแพรศรี รองผู้บังคับการกองปราบปราม (รอง ผบก.ป.) เพื่อขอความเห็นชอบเสนอต่อศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับนายจักรภพ หนึ่งในแกนนำ นปก. ฐานกระทำความผิดตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 21 เรื่องการดักฟังโทรศัพท์มือถือ หลังจากที่สืบสวนพบว่า นายจักรภพเป็นผู้ที่นำข้อความการสนทนาของบุคคล 3 คน มาเปิดเผยที่เวที นปก. กลางสนามหลวง เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีก 2-3 วัน เพื่อให้สำนวนรัดกุมที่สุด และจะขออนุมัติจากศาลออกหมายจับได้ภายในสัปดาห์นี้


 


การออกหมายจับครั้งนี้ สืบเนื่องจากนายจักรภพได้นำเทปบันทึกเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงสนทนาของนายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และนายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ช่วยงานประจำสำนักประธานศาลฎีกา กับข้าราชการระดับ 11 คนหนึ่งมาเปิดเผยที่สนามหลวง โดยอ้างว่าเป็นข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นข้อความที่บ่งชี้ได้ว่า พล.อ.เปรมอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อ 11 ก.ย. 2549


 


 


สดศรีเตือนพลังประชาชนรายงานนายทะเบียนกรณี ทรท.เข้าพรรค


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีอดีต ส.ส.ไทยรักไทยและสมาชิกพรรคบางส่วน ยื่นหนังสือเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน ว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพรรคพลังประชาชน โดยนำเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคว่าจะรับหรือไม่ จากนั้นพรรคพลังประชาชนต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่พรรค เพื่อมีมติรับรองการปรับเปลี่ยน เช่น จำนวนสมาชิก กรรมการบริหารพรรค ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หรือถ้าจะเปลี่ยนชื่อพรรคก็สามารถดำเนินการได้ในการประชุมใหญ่ของพรรค เมื่อได้มติก็ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง พร้อมแจ้งเรื่องบัญชีงบดุลรายรับรายจ่ายของพรรคให้ กกต.ทราบ


 


ทั้งนี้เมื่อย้ายพรรคแล้วความเป็นสมาชิกพรรคจะมีผลเมื่อไร นางสดศรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพรรคพลังประชาชนจะดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ถ้ารายงานต่อ กกต.ได้เร็ว ความเป็นสมาชิกพรรคโดยสมบูรณ์ก็เร็วตามไปด้วย ทั้งนี้ถ้าจะจัดเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในปลายปีนี้ ก็เชื่อว่าคงไม่กระทบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้ง สำหรับพรรคพลังประชาชน เดิมมีสมาชิกรวมทุกสาขาประมาณ 1 หมื่นคน และทราบว่าสาขาภาคที่เชียงใหม่ก็เลิกไปแล้ว


 


สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาการเปลี่ยนชื่อพรรครักแผ่นดินไทย เป็นพรรคไทยรวมไทย และคำย่อ นางสดศรี กล่าวว่า คาดว่าที่ประชุม กกต.จะมีมติได้ในสัปดาห์นี้ ชื่อย่อที่เสนอมาคือ พรท. โดยนำคำว่าพรรคมาใช้ย่อด้วยนั้น ถ้าที่ประชุมพิจารณาไม่ให้ใช้ ก็สามารถขอเปลี่ยนเป็นคำอื่นได้


 






คุณภาพชีวิต


 


พล.อ.สุรินทร์รุดลงพื้นที่บ้านปางแดง ตั้งคณะกก.แก้ปัญหาที่ดิน


ประชาธรรม - เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) นำโดย พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานอนุกรรมการฯ ได้นำคณะทำงานลงพื้นที่หมู่บ้านปางแดง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้าน หลังมีการร้องเรียนปัญหาจากองค์กรภาคประชาชนว่าชาวบ้านในพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุมเนื่องจากปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินหลายครั้ง


 


พล.อ.สุรินทร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่หมู่บ้านปางแดงครั้งนี้ต้องการศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็พบว่าลักษณะปัญหาเป็นการพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ซึ่งคาราคาซังมานาน อย่างไรก็ตามหลังการลงพื้นที่ครั้งนี้ต้องมีการสร้างมาตรการแก้ปัญหา ซึ่งต่อไปจากนี้ต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน ในขั้นต้นต้องมีการสำรวจแนวเขตที่ดินก่อนว่าพื้นที่ใดอยู่ในเขตป่าสงวน พื้นที่ใดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและมีจำนวนเนื้อที่เท่าไร เป็นต้น หลังจากนั้นก็ต้องสำรวจว่าชาวบ้านอาศัยอยู่ตรงส่วนไหน มีพื้นที่ทำกินตรงไหน เนื้อที่เท่าไร แล้วก็สำรวจข้อมูลพื้นฐานของชาวบ้านทั้งหมด ทั้งจำนวนประชากร การประกอบอาชีพแล้วนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำลงในแผนที่


 


"ในพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่นั้นต้องไม่อยู่ในแหล่งต้นน้ำลำธารหรือเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งจากการลงพื้นที่เท่าที่ทราบเบื้องต้นคือพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่นั้นไม่ได้เป็นแหล่งต้นน้ำ และไม่ได้เป็นเขตอุทยานฯ" พล.อ.สุรินทร์ กล่าว


 


พล.อ.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องปัญหาที่ดินนั้นไม่ต้องการให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านกับรัฐนั้นต้องขึ้นศาล แต่เมื่อกรณีปัญหาที่ดินบ้านปางแดงนั้นได้เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลไปแล้วทางหน่วยงานก็ได้เข้าไปหารือกับศาล แล้วศาลท่านก็มีคำสั่งออกมาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถที่จะเจรจาพูดคุยกันได้ จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนั้นในระยะสั้นก็ต้องเร่งหาทางไกล่เกลี่ยเพื่อที่จะเอาข้อมูลไปตอบศาลในวันที่ 10 ต.ค.นี้ก่อนว่าในพื้นที่ที่มี่มีปัญหาจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างใด


 


ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างได้ผลให้ตั้งคณะทำงานในพื้นที่ขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของชาวบ้านปางแดง โดยให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลาย ๆ ส่วน เช่น นายอำเภอ อบต. ป่าไม้ ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชาวบ้าน รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน โดยมีโจทย์ที่จะต้องยึดไว้เป็นหลักในการปฏิบัติงานก็คือ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่ได้อย่างมั่นคงและส่วนราชการอยู่ได้โดยไม่มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


 


นายคริสมันต์ เรืองโลกาภิวัตน์ แกนนำชาวบ้านปางแดง กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นการลงพื้นที่ของ พล.อ.สุรินทร์ครั้งนี้ชาวบ้านปางแดงหลายคนดีใจเพราะเชื่อว่าปัญหาอาจได้รับการคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนสิ่งที่ชาวบ้านปางแดงอยากให้มีการแก้ไขในอันดับแรกก็คือเรื่องที่ดินสำหรับอยู่อาศัย ให้ชาวบ้านสามารถที่จะอยู่ในพื้นที่ได้อย่างสงบสุขไม่ต้องถึงขนาดออกเอกสารสิทธิ์มารองรับก็ได้ ชาวบ้านขอเพียงแค่ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมอีกเท่านั้นเอง


 


"ชาวบ้านไม่ได้หวังอะไรมากมายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น เรื่องที่จะดำเนินการอะไรต่อไปนั้นก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเอาไปพูดคุยกันอีก ชาวบ้านขอเพียงแค่ต้องการอาศัยอยู่ที่นี่อย่างมั่นคง ไม่ต้องกลัวใครจะมาจับกุมอีกเท่านั้นเอง" แกนนำชาวบ้านปางแดง กล่าว


 


นางอิเลาะ ปุสุ ชาวบ้านปางแดง กล่าวว่า ตั้งแต่ครั้งแรกที่ชาวบ้านถูกจับกุมไม่มีหน่วยงานของรัฐส่วนใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เลย จะมีก็แต่ทีมทนายความและองค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้น ส่วนสิ่งที่ชาวบ้านหวังจากการลงพื้นที่ของ พล.อ.สุรินทร์ในครั้งนี้คือชาวบ้านไม่อยากให้มีการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ตรงนี้อีก เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุมชาวบ้านก็ไม่มีความรู้ที่จะไปต่อรองหรือโต้เถียงกับเขาได้


 


อนึ่ง เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส.ได้สนธิกำลังกว่า 200 นาย กระจายกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านปางแดง 48 คน เป็นชาย 36 ราย เป็นหญิง 12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง การจับกุมครั้งนั้นปรากฏว่าไม่มีหมายค้นหมายจับ และมีการตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจับกุมชาวเขาที่บ้านปางแดงครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ครั้งแรกในปี 2536 มีการจับกุมชาวบ้านปางแดงในจำนวน 29 คน ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2541 จับกุมชาวเขาที่บ้านปางแดงนอก อีกครั้งจำนวน 56 รายในข้อหาบุกรุกและแผ้วถางป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติเช่นกัน


 


ทั้งนี้ การจับกุมชาวเขาในบริเวณดังกล่าวทั้ง 3 ครั้งมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือจับกุมแบบเหวี่ยงแหในเวลาเช้ามืดขณะที่ชาวบ้านกำลังหุงหาอาหาร บางรายยังไม่ตื่น บางรายเป็นคนป่วย คนท้อง เป็นต้น เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมโดยไม่มีหมายศาล เพียงแค่บอกกับชาวบ้านว่าจะพาไปพบผู้ใหญ่บ้าน หรือไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นว่าเป็นการจับกุมโดยมิชอบ ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ


 


นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก. หรือ ส.ป.ก.4-01 หรือเขตกันออกเพื่อเตรียมการปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งที่น่าสนใจคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้กลับมิได้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ลักลอบทำไม้ในเขต อ.เชียงดาว อย่างจริงจัง โดยในปี 2541 นายอำเภอเชียงดาวตรวจพบว่ามีการบุกรุก แผ้วถางป่าพบไม้ของกลาง 600 ท่อน แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้กลับปล่อยให้กลุ่มนายทุนทำไม้ลอยนวล


 


 






ต่างประเทศ


 


อิรักยิงปืนฉลองชัยเอเชียนคัพโดนลูกหลงดับ 7


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - ชาวอิรักจำนวนมากออกจากบ้านเรือนเพื่อเฉลิมฉลอง หลังจากทีมชาติอิรักคว้าตำแหน่งชนะเลิศฟุตบอลเอเชียน คัพ ด้วยการเอาชนะซาอุดีอาระเบีย 1-0 ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา


 


โดยชาวอิรักจำนวนมากฉลองชัยด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า เสียงปืนดังอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ตำรวจกรุงแบกแดด และเมืองคุต เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากลูกหลงกระสุนที่สาดขึ้นฟ้าจำนวนนับไม่ถ้วนแล้วอย่างน้อย 7 คน บาดเจ็บอีกไม่น้อยกว่า 50 คน อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานเหตุร้ายรุนแรงเหมือนเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีผู้เสียชีวิตขณะฉลองชัยการเข้ารอบชิงชนะเลิศกว่า 50 คน จากเหตุมือระเบิดฆ่าตัวตายขับรถบรรทุกระเบิดเข้าโจมตี


 


ทางการอิรักออกมาตรการห้ามยวดยานทุกชนิดออกสู่ท้องถนนอย่างเด็ดขาดในช่วงเวลาการแข่งขัน และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทุกหน่วยเตรียมพร้อมเต็มกำลัง พลจัตวากัสซิม มุสซาวี โฆษกกองกำลังอิรัก เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สังหารผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย 1 คน และถอดชนวนระเบิดรถยนต์สกัดเหตุร้าย หลังจบการแข่งขันไม่นานนัก ในเขตไซดิยา ทางตะวันตกของกรุงแบกแดด


 


 


อ็อกซแฟม เผยอิรักเผชิญภาวะอดอยาก โรคระบาด วิกฤตมนุษยธรรม


ผู้จัดการออนไลน์ - (30 ก.ค.) องค์กรการกุศลอ็อกซแฟมในอังกฤษ รายงานว่า อิรักกำลังเผชิญกับภาวะอดอยากและโรคระบาด ในขณะที่เหตุรุนแรงหลายครั้งยิ่งทำให้อิรักประสบกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมมากขึ้น


 


รายงานระบุว่า เด็กร้อยละ 28 ในอิรักขาดแคลนอาหาร ชาวอิรักร้อยละ 15 ไม่มีอาหารประทังชีวิต และร้อยละ 70 ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2546


 


นายเจเรมี ฮอบส์ ผู้อำนวยการอ็อกซแฟม กล่าวว่า การสู้รบและสถานการณ์ที่เปราะบางในอิรักยิ่งทำให้การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถูกจำกัดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่ออิรักมานานหลายปี ยิ่งทำให้ชาวอิรักต้องทนทุกข์ทรมานกันมากขึ้น


 


 


22 ตัวประกันโสมลุ้นชะตากรรมตอลิบันยืดเส้นตายสุดท้าย


เว็บไซต์ไทยโพสต์ - สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 ก.ค.) ว่า โฆษกของกลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถานแจ้งว่า กลุ่มตนยังไม่ได้ฆ่าตัวประกันชาวเกาหลีใต้ 22 รายตามที่ขู่ไว้ หลังผ่านพ้นเส้นตายเวลาเที่ยงหรือตรงกับ 14.30 น.ของไทยให้รัฐบาลอัฟกันปล่อยตัวนักโทษตอลิบันที่ถูกคุมขังอยู่


 


"เป็นเพราะคำขอร้องของคณะเจรจาของรัฐบาลอัฟกัน ตอลิบันจึงได้ขยายเส้นตายไปเป็นเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น" การี มุฮัมมัด ยูซุฟ โฆษกตอลิบันเผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์จากสถานที่ที่ไม่เปิดเผย


 


ก่อนหน้านี้ในวันอาทิตย์ ตอลิบันบอกว่าพวกตนจะไม่เจรจากับทางการอีกแล้ว ภายหลังตัวแทนเจรจาของรัฐบาลยืนยันให้พวกตนปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข และเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งขู่ว่ารัฐบาลอาจใช้กำลังช่วยเหลือตัวประกันหากการเจรจาล้มเหลว โฆษกของกลุ่มนี้ยังได้ประกาศ "เส้นตายครั้งสุดท้าย" เที่ยงวันจันทร์ว่าจะเริ่มฆ่าอาสาสมัครคริสเตียนที่เหลือ ซึ่งเป็นผู้หญิงถึง 18 ราย หากรัฐบาลไม่ปล่อยตัวนักโทษที่พวกตนให้รายชื่อไป


 


การลักพาตัวชาวเกาหลีใต้ซึ่งเป็นการลักพาตัวชาวต่างชาติกลุ่มใหญที่สุดนับแต่ระบอบตอลิบันถูกกองกำลังสหรัฐและพันธมิตรโค่นเมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหนึ่งวันภายหลังนักรบตอลิบันลักพาตัวเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ชาวเยอรมัน 2 รายพร้อมเพื่อนร่วมงานชาวอัฟกัน 5 รายในจังหวัดวอร์ดัก โดยตัวประกันชาวเยอรมัน 1 รายพบเป็นศพถูกยิงทิ้ง ส่วนคนที่เหลือยังถูกตอลิบันคุมตัวไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net