Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 30 ก.ค. 50 วานนี้ (29 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ รร.รัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ได้มีการเปิดตัว "คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.)" และการเสวนาหัวข้อ "ปัญหาประชาธิปไตยในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนักวิชาการที่เปิดตัวประกอบด้วย ผศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.วสันต์ ลิมป์เฉลิม มหาวิทยาลัยราชภัฎ ธนบุรี และ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


โดยทั้งหมดเรียกร้องให้ปฏิเสธรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่อต้านเผด็จการ และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิดและความขัดแย้งกับประชาชน


 


สำหรับนักวิชาการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับ คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.) สามารถติดต่อได้ที่ worapolp@hotmail.com


 


ในช่วงเสวนา รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้อภิปรายในหัวข้อ "ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475" โดยกล่าวว่า การรัฐประหารของกองทัพ ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองในลักษณะอำนาจนิยม ปัญหาหลักก็คือ กองทัพไทยมักจะอ้างว่า ตนเองมีเอกสิทธิ์ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองแต่เพียงผู้เดียว และคิดว่าฝ่ายทหารจะรักชาติบ้านเมืองมากยิ่งกว่าพลเรือน ดังนั้น จึงได้ก่อการยึดอำนาจ ทำลายประชาธิปไตย และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเพื่อร่างใหม่ตามใจชอบอยู่เสมอ จึงปรากฏว่า ในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ฝ่ายทหารจึงก่อการยึดอำนาจถึง 9 ครั้ง และแทบทุกครั้งจะต้องมีการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา จึงทำให้ประเทศไทยขณะนี้ มีรัฐธรรมนูญที่ถูกประกาศใช้มากที่สุดในโลก คือ ถ้านับฉบับ พ.ศ.2550 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการร่างขณะนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 และก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า นี่จะเป็นฉบับสุดท้าย โดยไม่มีการล้มเลิกแล้วร่างใหม่อีก สถิติเช่นนี้ ถือเป็นสถิติอัปยศสำหรับระบอบประชาธิปไตยไทย


 


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประเทศไทยได้เปลี่ยนโฉมเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตยมาแล้ว 75 ปี จึงถึงเวลาที่จะต้องรำลึกการอภิวัฒน์เช่นนั้น ด้วยความตรึงตราใจ และประชาชนไทยก็ยังคงจะต้องมีภารกิจต่อไป ในการต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยในสังคมไทย ได้เป็นจริง สุธาชัยกล่าว


 


ขณะที่ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อภิปรายในหัวข้อ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย 2551" โดยเขาเห็นว่า สิ่งที่การลงประชามติวันที่ 19 สิงหาคม (ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะผ่านหรือไม่) และการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2550 หรือต้นปี 2551 จะผลิตขึ้นคือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย 2551 ซึ่งมีลักษณะประการต่าง ๆ อันเป็นเนื้อหาสาระที่แท้จริงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยที่


 


ระบอบการเมืองทั้งชุดยังคงเป็นระบอบอำนาจนิยม ที่อำนาจที่แท้จริงในการกำหนดทิศทางชะตาบ้านเมืองอยู่ในมือของอำมาตยาธิปไตย โดยใช้การเลือกตั้ง รัฐสภา และรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นเปลือกนอกคลุมให้ดูดีคล้าย "ประชาธิปไตย"


 


พรรคการเมืองมีขนาดเล็ก อ่อนแอ แตกแยก ไร้อำนาจ ไร้วินัย ไม่สามารถบังคับกำกับสมาชิกพรรคให้อยู่ในแนวทางนโยบายใหญ่ของพรรคได้


 


พรรคการเมืองขนาดเล็กและอ่อนแอนำไปสู่รัฐสภาที่ประกอบด้วยนักการเมืองมุ้งใหญ่เล็กมากมาย เกี่ยงแย่งชิงกัน โดยแต่ละคนมีอำนาจต่อรองอย่างมากกับคณะผู้บริหารพรรคและรัฐบาล เกิดปัญหา สส.ขายตัว ขายเสียงกัน ลงคะแนนฝืนมติพรรค


 


รัฐสภาจะถูกครอบงำด้วยวุฒิสภาที่สมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจร่วมกับผู้แทนราษฎรในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และการอยู่รอดของรัฐบาล


 


นายกรัฐมนตรีจะมีสถานะที่อ่อนแอ ไร้อำนาจที่แท้จริง ต้องยอมตามข้อเรียกร้องแรงกดดันจากสมาชิกสภาอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะพะวงอยู่กับความขัดแย้งและการแบ่งปันผลประโยชน์ภายในรัฐบาล รวมทั้งการต่อรองและการเปิดอภิปรายซ้ำซากในสภา ไม่อยู่ในสถานะที่จะริเริ่มและดำเนินนโยบายใด ๆ ได้อย่างจริงจัง


 


ทั้งรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรียังถูกกดดันและลิดรอนอำนาจด้วยองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่มิได้มาจากกระบวนการที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง แต่เป็นองค์กรที่แต่งตั้งเข้ามาโดยกระบวนการที่ถูกแทรกแซงโดยอำมาตยาธิปไตย


 


พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้ให้อำนาจเด็ดขาดและกว้างขวางแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) ซึ่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นโดยตำแหน่ง ทำให้เป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง เป็นเงาค้ำที่คุกคามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา


 


โดย รศ.ดร.พิชิต สรุปว่าระบอบเลือกตั้ง 2551 จึงเป็น "ประชาธิปไตย" แต่เปลือก ส่วนเนื้อในเป็นอำมาตยาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net