Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 ก.ค. 50 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ห้องลีลาวดี เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ สนับสนุนโดยคณะอนุกรรมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมและรณรงค์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดเวทีสาธารณะเรื่อง "รัฐธรรมนูญ 2550 สนองต่อผู้ใช้แรงงานและภาคประชาชน จริงหรือ...?"


 


 



 


เกาะติดปฏิรูปฯ เครือข่ายองค์กรแรงงาน


โดยในช่วงเช้าเป็นการสรุปภาพรวมการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง โดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาที่ฝ่ายแรงงานเสนอแก้ไข 15 ประเด็น เทียบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ดำเนินรายการโดยนางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


โดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานได้เสนอให้ยกเลิกกำหนดวุฒิการศึกษาของผู้สมัคร ส.ส. ส.ว. ยกเลิกเฉพาะ ส.ส. ส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตที่ทำงาน เพื่อให้แรงงานมีอำนาจต่อรองเพื่อให้ ส.ส. ส.ว.ในพื้นที่แก้ไขปัญหากลับไม่ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ50


 


นอกจากนี้ แรงงานยังเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อ 10,000 ชื่อเสนอกฎหมายได้ โดยไม่มีข้อจำกัดและขั้นตอนที่ยุ่งยาก เช่น ต้องใช้บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญมีการลดจำนวนเหลือ 10,000 คน แต่ยังกังวลว่าจะเข้าถึงสิทธิได้จริงไหม เนื่องจากการเข้าชื่อยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก


 


นายชาลี ลอยสูง เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ และยานยนต์ฯ กล่าวว่า แรงงานเสนอว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการรวมตัวของประชาชน ซึ่งนับว่า สำเร็จพอสมควร เพราะในมาตรา 87 ได้ระบุให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเอาไว้ อาทิ ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง และจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน


 


การส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมตัดสินใจในสถานที่ทำงาน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมและสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างเจ้าของกิจการกับพนักงาน ซึ่งไม่ปรากฎในร่าง รธน.


 


สิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและการได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ ปรากฎในมาตรา 64 แต่เขียนรายละเอียดว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐย่อมมีสิทธิเสรีภาพรวมกลุ่มได้ แต่ต้องไม่กระทบกับการบริหารราชการแผ่นดิน นี่อาจไม่เป็นประโยชน์ ทำให้ปฏิบัติให้เกิดขึ้นยาก เป็นการจำกัดเสรีภาพ เมื่อมีคำว่า "เว้นแต่" ก็เหมือนไม่ได้เขียน ต้องกำหนดให้ชัดว่าองค์กร ภาคเอกชนต้องจัดตั้งเป็นสหภาพได้เลย


 


นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารการเงินฯ กล่าวว่า การคุ้มครองการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ไม่มีการแก้ไขตามข้อเสนอนี้ ในส่วนขององค์กรอิสระและกลไกในการคุ้มครองสิทธิประชาชน ฝ่ายแรงงานเสนอให้ต้องเข้าถึงโดยง่ายและมีอำนาจดำเนินงานอย่างแท้จริง เช่น การยื่นฟ้องต่อศาล โดยในร่างรัฐธรรมนูญลดจำนวนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิฯ รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้ที่ปรึกษาสภาพัฒน์


 


การส่งเสริมคุ้มครองสร้างมาตรฐานเพื่อรองรับปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานและให้ความสำคัญกับปัญหาแรงงาน ได้มีการระบุในร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานมีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ


 


นายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า การส่งเสริมคุ้มครองกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของชาติและความเป็นธรรมแก่ประชาชน ซึ่งแรงงานอยากให้รักษาระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเอาไว้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ ส.ส.ร. ร่างให้รัฐถือ 51% ซึ่งสุ่มเสี่ยง แสดงว่าแปรรูปได้ แต่รัฐต้องถือ 51% เหมือนกรณี ปตท. ซึ่งถือ 52% ดังนั้นรับไม่ได้เพราะมีช่องโหว่


 


การคุ้มครองแรงงานจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งถ้ารัฐให้จะมีความมั่นคงในการทำงานอย่างสูง ซึ่งไม่ได้โดยตรง แต่ก็เห็นว่าครอบคลุมประเด็นปัญหา เรื่องการจัดระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า จะสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมตามกลไกตลาด จะเห็นว่าระบบทุนไม่ตัดเรื่องกลไกตลาดออก อย่างไรก็ตาม ก็มีการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรภาคเอกชนทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ครอบคลุมประเด็นปัญหา


 


นายสมศักดิ์ สุขยอด กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า สิทธิเสมอภาคทางการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผลักดันให้เรียนจบขั้นต่ำปริญญาตรี เพราะสถานประกอบการใช้ระดับการศึกษาเป็นมาตรการกีดกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่ดีขึ้น ไม่มีการแก้ไขในประเด็นนี้


 


ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยคำนึงถึงโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่าง หญิง-ชาย ในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงชายที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเห็นว่ายังไม่ชัดเจนนัก


(แนบเอกสารประกอบ)


 


 


เทียบข้อเสนอจากภาคประชาชน เทียบเคียงร่างรัฐธรรมนูญ 2550


 


ต่อมาในช่วงบ่าย เป็นการเสวนา เรื่องข้อเสนอในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน เทียบเคียงร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยยุพา ภูษาหัส ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (วีมูฟ) กล่าวว่า สิ่งที่เครือข่ายผู้หญิงเรียกร้อง ไม่ได้เรียกร้องเฉพาะผู้หญิง แต่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นทั้งหญิงและชาย โดยเริ่มเมื่อ พ.ค.49 และหลังรัฐประหารก็เคลื่อนไหวในเดือน ต.ค. ว่าขบวนการร่างและแนวทางของรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร หลังจากมีสภาร่างฯ ก็เสนอไป จากการเสนอครั้งแรก 24 ข้อ สุดท้าย ส.ส.ร. ได้บอกว่าหลายประเด็นมีผู้เรียร้องแล้ว เช่น ผู้ใช้แรงงาน ผู้พิการ ให้กลุ่มผู้หญิงตัดเหลือแต่ประเด็นที่คิดว่าไม่มีใครเสนอ จึงสรุปเหลือ 8 ข้อ เรื่องความรุนแรง 4 ข้อและกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง 4 ข้อ


 


ปรากฎว่าที่เสนอไป ถ้าถามว่าได้อย่างที่อยากได้ไหม ก็ไม่มีอะไรเลยที่อยากได้ แต่ถ้าบอกว่า ได้ 7 ใน8 สิ่งที่ถือว่าได้จริงๆ คือการทำให้ประเด็นปัญหาเป็นประเด็นในระดับกติกาสูงสุด ทำให้คนเริ่มมองเห็นและคิดว่าต้องมี เช่น เรื่องความรุนแรง ที่ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น รัฐมีหน้าที่เข้ามาดูแลบำบัดฟื้นฟู ทั้งคนที่โดนและคนที่ทำ ซึ่งอาจทำไปโดยถูกกระทำ หรือเจ็บป่วย ก็ต้องเอาเขาไปดูแลด้วย คดีที่เด็กถูกกระทำรุนแรง ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น ส.ส. แบบแบ่งเขต ให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องคำนึงถึงสัดส่วนความเหมาะสมและโอกาสความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงผู้ชาย


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงประชามติ ในนามขององค์กรผู้หญิงก็ไม่ลงรอยกัน มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เป็นความเห็นของใครของมัน เพราะตั้งขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวประเด็นของปัจเจกชน เราถือว่าทุกคนมีโอกาสที่จะคิด


 


ยุพา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่จะถูกใจทั้งหมด แต่ก็อย่างที่พูดว่า อะไรได้ไม่ได้ มากน้อยแค่ไหน เรายังมีเวลาที่จะคิดและตั้งคำถาม ถ้ารับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ผลจะเป็นอย่งไร ถ้ารับ จะมีรธน. ที่มีเนื้อหาที่ไม่เคยได้มาก่อน แต่หลายอย่างก็ไม่ค่อยสบายใจ กลัวๆ กล้าๆ ประชาชน จะให้สิทธิก็ดึงไว้ เป็นแบบไทยๆ ตกลงกันครึ่งๆ ตุลาการภิวัตน์ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตรวจสอบถ่วงดุล


 


แต่ถ้าไม่รับ ก็ไม่มีใครรรู้ว่ารัฐธรรมนูญที่จะหยิบมาใช้จะเป็นฉบับไหนมาใช้ ถ้าไม่รับ ทางข้างหน้าไม่รู้จะเป็นยังไง เราจะสู้หรือเตรียมการสู้ยังไง อย่างไรก็ตาม รับหรือไม่รับยังมีตัวแปรอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน


 


สุดท้ายจะรับหรือไม่รับ สิ่งที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานหรือกลุ่มผุ้หญิงต้องไม่ลืมคือ มันไม่ได้จบลงที่วันที่ 19 ส.ค. ยังมีสิ่งที่ต้องต่อสู้อีกเยอะรัฐธรรมนูญจะรับไม่รับก็ตาม ขออย่างเดียว อย่าให้เสียเพื่อนเพราะยังต้องสามัคคีสู้กันต่อไป


 


ด้านนายสมศักดิ์ โกศัยสุข กรรมการอำนวยการสมัชชาประชาชนเพื่อการปฎิรูปการเมือง (สปป.) ซึ่งมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ยืนยันว่า เคลื่อนไหวปฏิเสธรัฐธรรมนูญ40 มานานแล้ว โดยฉันทามติของแรงงาน ไม่ว่าใครก็ตามที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 40 เป็นฉบับประชาชน เราบอกว่าไม่ใช่ เพราะการกำหนดว่า คนไม่จบปริญญาตรีแล้วเป็น ส.ส. ส.ว. ไม่ได้ เป็นการดูถูกประชาชนว่าปกครองตนเองไม่ได้ ชี้ชัดว่านี่คือเผด็จการ


 


ประเทศไทยถูกสอนโดยนักวิชาการทุกสำนัก เรื่องลัทธิรัฐธรรมนูญลิซึ่ม แต่เขาเห็นเป็นขี้เล็บของการปกครอง ไม่ต้องมีก็ได้ เดี๋ยวมันเปลี่ยนเอง การต่อสู้ของกรรมกรมาจากการต่อสู้ของเราเอง


 


ทั้งนี้ เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ50 เพิ่มขึ้นกว่าเดิม เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เด็ก สตรี คนชรา ผู้พิการได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรง ได้รับค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินอย่างเป็นธรรม ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขของรัฐ ที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน และสิทธิคนพิการ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะเป็นจริงไหมอยู่ที่การปฏิบัติของประชาชน


 


แม้ผู้ร่างมาจากการยึดอำนาจ แต่เทียบกับตัวหนังสือ ประชาชนได้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น ไม่ได้สนใจเรื่องที่มา ส.ส. ส.ว. เท่าไหร่ เพราะคิดว่ามายังไงก็ใช้ไม่ได้ เที่ยวที่แล้วก็เป็นสภาทาส การสรรหา ส.ว. ไม่เห็นด้วย แต่แบบวิชาชีพเห็นด้วย โดยถ้าแยกแบบนี้จะดีกว่าการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ40 เป็นที่อยู่ของเผด็จการทุนนิยม อยากเห็นการยึดทรัพย์ของคนโกงแผ่นดินมาเป็นของประชาชน แล้วนำมาใช้ในทางถูกต้อง จัดรัฐสวัสดิการให้ได้ทุกคน


 


ทั้งนี้ ที่รับร่างฯ เพราะคิดว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็นการยกระดับการต่อสู้ทางการเมือง น่าจะเป็นหนทางเดินหน้า


 


"ผมยังเชื่ออยู่ว่า ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น แต่เขียนออกมาแล้วชนชั้นเราเป็นอย่างไร ดีกว่าเดิมเลวกว่าเดิมแค่ไหน ต้องไปคิดเอา" นายสมศักดิ์ โกศัยสุขกล่าว


 


จอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. ซึ่งมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเสนอความเห็นในรัฐธรรมนูญมากที่สุด กว่าปี 40 หลักการใหญ่ๆ ไม่ต่างกันเลย สิ่งที่ภาคประชาชนโดยรวมเสนอคือ ต้องการสิทธิเสรีภาพ


 


ที่ได้ชัด คือ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานดีกว่าเก่า แต่สิทธิความหลากหลายทางเพศไม่ได้ ที่สำคัญที่ไม่ได้คือ สิทธิสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะหมวดสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย เท่ากับไม่ครอบคลุมคนไม่มีบัตรประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่


 


เสรีภาพสื่อ เห็นว่า พอใช้ได้ แต่จะสะดุดคือ รวมองค์กรด้านคลื่นความถี่และโทรคมนาคมเป็นองค์กรเดียวกัน จะทำให้ภาคประชาชนเข้าไปได้ยาก หลังรัฐธรรมนูญนี้ผ่านไป สถานีที่เป็นของทหารก็จะยังเป็นของทหารต่อไป ที่ไม่ได้ คือ ระบบรัฐสวัสดิการและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม "เสรีและเป็นธรรม" ขัดแย้งในตัวเองอยู่


 


ด้านสวัสดิการ แม้รัฐธรรมนูญให้คนจนรักษาฟรี แต่ก็ยังยกเว้นคนไม่มีบัตร ส่วนการศึกษา ภาคประชาชนได้เรียกร้องว่า ต้องฟรีตั้งแต่อนุบาล1 ถึงจบปริญญาตรี ฟรีทุกคน ถ้าเขียนไว้คิดว่าคนจะเลือก โดยต้องฟรีจริง ค่าเดินทาง ค่าชุด อุปกรณ์ ที่อยู่อาศัย ระบบบำนาญ ก็ไม่มีสำหรับทุกคนในประเทศไทย


 


รัฐสวัสดิการต้องมาด้วยระบบภาษีที่สร้างความเป็นธรรมทางรายได้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้ในรัฐธรรมนูญทั้งยังไม่ยอมรับต่อความหลากหลาย ซึ่งจะทำให้ปัญหาในสามจังหวัดในภาคใต้แก้ได้ยาก ต้องให้มีระบบการปกครองตนเอง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทุกภาคควรได้ใช้ภาษาของภาคนั้น ในบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนสิ่งที่ได้คือ การออกกฎหมายภาคประชาชน 5หมื่นชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้


 


อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนไม่มีบทบาทในองค์กรอิสระ ไม่มีเลย ที่เคยเสนอกันคือ กรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ต้องมีภาคประชาชน แต่ไม่มีเลย ทำนายได้เลยว่าต่อไปองค์กรอิสระจะไม่มีภาคประชาชน จะเป็นเวทีของข้าราชการอาวุโส รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการสรรหา ซึ่งเป็นฝีมือของ กมธ. คนหนึ่งซึ่งเคยมีเรื่องกับคณะกรรมการสิทธิฯ เลยเกลียด เอ็นจีโอทั้งหมด


 


ระบบวุฒิสภาเสียไป โดย ส.ว. ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหาของเจ็ดอรหันต์ อีกครึ่งหนึ่ง มาจากจังหวัด  


 


ส่วนที่ได้ในด้านสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น มาตรา 186 คือการทำข้อตกลงกับต่างประเทศ คือการเซ็นเอฟทีเอต้องขออนุญาตรัฐสภาก่อนในเรื่องของกรอบการเจรจา รัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภค จะขายได้ไม่เกิน 49% นับว่าดีแต่ยังไม่น่าพอใจเพราะในระบบรัฐสวัสดิการ สาธารณูปโภคต้องถูกที่สุด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย


 


ส.ส.ร แทนความคิดราชการเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ทุกคนโดยหลัก คนได้ประโยชน์คือ ราชการ คนเสียที่สุดคือนักการเมือง ส่วนภาคประชาชนไม่ต่างมากนัก แต่ภาคประชาชนเสียสิทธิ์เลือก ส.ว. การมีส่วนร่วมในองค์กรอิสระ


 


ทั้งนี้ แม้จะมีทั้งคนที่รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใน กป.อพช. แต่สุดท้ายเห็นตรงกันว่า ไม่รับ เพราะ หนึ่งมองว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองและสังคมอย่างแท้จริง สอง เป็นรัฐธรรมนูญที่เอาอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชนไปให้ข้าราชการหรือกลุ่มคนของรัฐกลุ่มหนึ่ง เท่ากับไม่ไว้ประชาชน เสริมอำนาจส่วนราชการ


 


และไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่าน แต่ พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายใน จะทำให้ร่างนี้ไม่มีความหมาย เพราะ ผอ. รมน. มีอำนวยการทุกอย่าง เหมือนประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศตลอดกาล นอกจากนี้ ทราบมาว่า กระทรวงมหาดไทย กำลังสร้างระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ขึ้นตรงกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจมากเทียบกับ อปท. ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ขอให้ระวังกฎที่จะแทรกเข้ามา ไม่ว่ารับหรือไม่รับ


 


อย่างไรก็ตาม แม้อาทิตย์ที่แล้ว อาจดูตรงข้ามกันกับ สปป. ที่ประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเขา คิดว่ามองไม่ต่างกัน เป็นน้ำครึ่งแก้ว ที่ กป.อพช. บอกว่า ขาดไปครึ่งแก้ว แต่ สปป. บอกว่า ได้มาครึ่งแก้วแล้ว เดี๋ยวเติมให้เต็ม พูดง่ายๆทั้งนี้ มีคนที่ไม่เห็นด้วยตั้งคำถามว่าถ้าไม่รับรองรัฐธรรมนูญอะไรจะเกิดขึ้น กป.อพช. ได้เสนอว่า ต้องเอาส่วนดีในรัฐธรรมนูญ50 ไปใส่ในรัฐธรรมนูญ40 นั่นคือ ไม่ว่ารับหรือไม่รับ สุดท้ายต้องร่วมกันสู้


 


เตือนเสียงรับร่าง รธน. มากจะแก้ไขยาก


กรณีที่หลายคนกลัวว่าไม่รับร่าง แล้วจะเจอสิ่งน่ากลัว แต่ถ้าเขาเห็นว่า ถ้ารับเป็นส่วนใหญ่ เช่น ถ้า 99%ของภาคประชาชนรับ จะแก้ยากที่สุดในชีวิต เพราะพอจะแก้ ก็จะบอกว่า คนเห็นด้วยกับร่างนี้เยอะไม่ต้องแก้


 


ส่วนหากเสียงไม่รับมาก ก็จะเป็นการแสดงว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดีพอต้องปรับปรุง อย่ากลัวว่า เขาจะเอารัฐธรรมนูญที่แย่มากๆ มาใช้ ถ้ายิ่งแย่ พลังประชาชนจะเรียกร้องให้แก้มากขึ้น การไม่รับส่งสัญญาณหลายอย่างที่เป็นเรื่องดี ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และบอกว่าเชื่อในระบอบประชาธิปไตย


 


ในความเห็นผม ตัดสินว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่าส่งสัญญาณที่ดีกว่าการรับ อย่างไรก็ตาม เคารพสิทธิของทุกคน ถ้าจะรับขอให้รับบนเหตุผลของตัวเองว่ารับแล้วจะดีหรือไม่ดี โดยหลังจากนี้ เรียกร้องต่อให้เคลื่อนไหวต่อไปด้วยกันทุกเครือข่าย และอย่าเดินหน้าด้วยความกลัว


 


ข่าวประกอบจากประชาไท


สมานฉันท์แรงงานไทย "ฟรีโหวต" ไม่ฟันธงรับ-ไม่รับร่าง รธน., ประชาไท, 24 ก.ค. 2550


แรงงานหลายกลุ่มประกาศไม่รับร่างรธน.50, ประชาไท, 23 ก.ค. 2550

เอกสารประกอบ

เอกสารประกอบเปรียบข้อเสนอของแรงงานกับร่างรัฐธรรมนูญ 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net