Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 16 ก.ค.2550 ในวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องห้องประชุม ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ, เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ "การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน  2475 ประชาธิปไตยและอนาคตสังคมไทย: ประชาธิปไตย, อุดมการชนชั้นนำไทย, ระบอบอำมาตยาธิปไตย และรัฐธรรมนูญไทย"


 


โดยเสวนาในครั้งนี้ มีวิทยากรคือ นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ, อาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์,อาจารย์เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนาวานิช จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มช.,อาจารย์สมชาย  ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มช. และ นายสมศักดิ์ โยอินชัย จากกลุ่มผู้นำเกษตรท้องถิ่นและพัฒนา นำเดินรายการโดย นายทรงศักดิ์ ปัญญา โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟัง ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และบุคคลที่สนใจ เป็นจำนวนมาก


 


วงเสวนาเริ่มเปิดประเด็นโดย นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จากเหตุการณ์การเมืองช่วงยุคทักษิณมาจนถึงหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยา นั้นได้ทำให้เราได้เห็นว่า มีสื่อแท้ มีสื่อเทียม สื่อไหนมีผลประโยชน์ทับซ้อน สื่อไหนเป็นธุรกิจ มีเนติบริกร ก็มีรัฐศาสตร์บริการ และมองว่ารัฐประหารนั้นมีวิถีทางในการสืบทอดอำนาจเสมอ ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม


 


ด้าน อาจารย์เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนาวานิช ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงทัศนะต่อสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" ว่ามันเกิดจากอะไร โดยได้โยงถึงแนวคิด วาทกรรมอาณานิคม กับ ความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์ชนชั้นนำในสังคมไทย โดยวาทกรรมอารานิคมในที่นี้หมายถึงแนวความคิดที่ว่าคนที่จุดศูนย์กลางควรมีอำนาจเหนือคนชายขอบ เพราะคนที่ศูนย์กลางนั้นมีอารยธรรมและมีการศึกษามากกว่า โดยโยงให้เข้ากับความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นนำไทย คือ ระบอบกษัตริย์ไว้ว่า กษัตริย์เป็นดั่งพระโพธิสัตว์ เป็นชนชั้นนำที่เจริญ มีอารยะ มีศีลธรรมจะทำให้ประชาชนที่ป่าเถื่อนล้าหลังพ้นจากกิเลสตัณหา


 


"ซึ่งชนชั้นนำไทยนั้น นอกจากระบอบกษัตริย์แล้ว ยังมีอีกกลุ่มคือข้าราชการชั้นสูง ในสมัยหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการ ได้สร้างอีกวาทกรรมหนึ่งขึ้นมาว่า ชาวบ้านและขุนนาง ซึ่งก็คือข้าราชการนั่นเอง ก็เป็นมหาบุรุษที่เสียสละเพื่อชาติเช่นกัน และมหาบุรุษเหล่านี้ควรจะเป็นผู้นำ เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่เจริญพัฒนา มีคุณธรรม ขณะที่ประชาชนไม่เหมาะจะมาปกครองเพราะพวกเขาล้วนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น"


 


อาจารย์เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า วาทกรรมครอบงำตรงนี้ มันถูกผลิตขึ้นมาจากการที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐไทยสมัยใหม่ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมผสมกับแบบพอยังชีพ ชาวไร่ชาวนานอกจากจะผลิตพืชผลเป็นสินค้าแล้วยังต้องเก็บไว้กินเอง พ่อค้าข้าวรายใหญ่ก็มักจะเป็นคนจีน พวกเหมืองแร่ดีบุกนั้นก็เป็นสัมปทานต่างชาติ ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มเจ้าและขุนนางใหม่ขึ้นจากตรงนี้ โดยกลุ่มชนชั้นนำไทยก็ได้อาศัยวาทกรรมอาณานิคม กับความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้น มาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการที่จะเข้ามากุมอำนาจ และก็ช่วยกำหนดนโยบายของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง


 


ขณะที่ อาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงเรื่องอุดมการณ์ของชนชั้นนำไทย ว่า ไม่ทราบว่าชนชั้นนำไทยนั้นเคยมีอุดมการณ์กันจริง ๆ หรือเปล่า มันอาจจะเป็นเพียงสิ่งที่แอบอ้างในการที่จะใช้ครองอำนาจอยู่ก็ได้


 


อาจารย์สายชล ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์การปกครองในช่วงสมัยของ จอมพล ป.นั้น มีอุดมการณ์ชาตินิยมในการที่จะทำให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียว และเป็นมหาอำนาจในแหลมทอง นอกจากนี้จอมพล ป.ยังได้ดำรงแนวความคิดชาตินิยม ซึ่งจะแยกตัวจากกษัตริย์นิยม โดยมี "ปัญญาชน บริกร" สองคนเป็นผู้คอยธำรงรักษาแนวความคิดนี้ไว้คือ หลวงวิจิตรวาทการ กับพระยาอนุมานราชธนโดยหลวงวิจิตรฯ นั้นพยายามจะเขียนประวัติศาสตร์อ้างอิงว่า จะเป็นชนชาติใดก็ล้วนแล้วแต่เป็นเชื้อไทย ส่วนพระยาอนุมานราชธนได้ต่อสู้กับราชาชาตินิยมแบบเก่า โดยได้เขียนงานที่กล่าวถึงระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์, การปกครองโดยได้รับอุปถัมภ์จากพระพุทธศาสนาเพื่อให้มีศีลธรรม และเน้นการเข้าไปพัฒนาชนบท


 


"หลังจากจอมพล ป. เสียอำนาจ ทำให้แนวคิด 3 อย่างของไทยเสียไป คือ แนวความคิดสังคมนิยม, กษัตริย์นิยม และ เสรีนิยม โดยเสรีนิยมนั้นเกิดจากชนชั้นกลางในสมัย 2490 แต่ได้ถูกกดทับไว้โดยจารีตนิยม ที่คิดว่าแนวคิดเสรีนิยมนั้นทำให้เกิดความวุ่นวายไม่สงบสุข ขณะที่แนวคิดสังคมนิยมนั้นถูกตอบโต้โดย แนวคิดระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์และการปกครองในแบบของไทย ระบอบการปกครองของไทยทำให้เราเชื่อว่าสังคมที่แบ่งชนชั้นไม่ใช่เรื่องที่เลวทราม เพราะ ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบการใช้อำนาจใด ๆ เพราะเขามาแก้ปัญหาบ้านเมือง พวกเขานับถือพุทธฯ มีศีลธรรม และมีสถาบันพระมหากษัตริย์สนับสนุน ในที่นี้เป็นเพราะแนวคิดชนชั้นของไทยนั้น ถูกแบ่งโดยการศึกษา และการศึกษาก็แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน คนที่มีการศึกษาน้อยกว่าหรือก็คือชาวบ้านไม่ควรไปยุ่ง ไปก้าวก่าย หน้าที่ของคนที่มีการศึกษามากกว่าในสมัยนั้น ซึ่งก็คือ ข้าราชการ..."


 


อาจารย์สายชล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ความคิดเรื่อง "ที่ต่ำ ที่สูง" จากระบอบอุปถัมภ์ ยังช่วยตอกย้ำความเชื่อตรงนี้ในแง่ที่ว่า คนในที่สูงจะเป็นคนมีศีลธรรม จะคอยอุปถัมภ์ค้ำจุนช่วยเหลือคนในที่ต่ำ และคนในที่ต่ำเองก็ควรจะกตัญญูกตเวทีต่อคนในที่สูง คนในที่สูงนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดผู้นำแบบไทย ซึ่งจะต้องดูเหมือนทำเพื่อส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตัว


 


"...ที่บางคนสูญเสียอำนาจไปเพราะ คนเหล่านั้นละเมิดศีลธรรมผู้นำแบบไทย ใช้ความเป็นผู้นำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ส่วนรวม"


 


อาจารย์สายชล ได้กล่าวย้ำเอาไว้ในตอนท้ายว่า ในสังคมการเมืองไทย ผู้นำแบบไทยไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


ด้าน อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงประเด็นบทบาทของรัฐธรรมนูญในการเมืองไทยไว้ว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญประเทศไทยถูกทำให้เป็นฐานการวิวาทะทางการเมือง และ เป็นปัจจัยให้ความชอบธรรมทางการเมืองเท่านั้น


 


"ระบบการเลือกตั้งนั้นเป็นสถาบันทางการเมืองตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา การเลือกตั้งขาดไม่ได้ เป็นเหมือนการให้ความชอบธรรมหลังจากการยึดอำนาจรัฐประหาร…แต่อย่างไรก็ตามสังคมเราถูกทำให้มองว่า เสียงของประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์ ถูกชักจูงหลอกลวงได้ง่ายทำให้เสียงของประชาชนดูมีความชอบธรรมน้อยลง แม้แต่ชนชั้นกลางปัญญาชนบางกลุ่มยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งด้วยซ้ำ"


 


อาจารย์สมชาย กล่าวถึงพรรคการเมืองไทย เอาไว้ว่า พรรคการเมืองช่วงปี พ.ศ. 2500-2520 นั้นเป็นเหมือนหางเครื่องที่มีทหารเป็นนักร้องนำ หลังปี พ.ศ. 2520 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ออกไปจากพื้นที่ นักการเมืองก็ได้รับบทบาทเด่นชัดขึ้น แต่บทบาทที่เล่นกลับถูกทำให้เห็นว่าเป็นบทไม่ดี อย่างเช่นการโกงกิน เลยทำให้กลายเป็นภาพลักษณ์ทางลบ


 


"นอกจากนี้ พรรคการเมืองแทบจะไม่มีบทบาทสำคัญมากนัก ในแง่การขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคม ตั้งแต่การไม่ร่วมต่อต้านรัฐประหาร เว้นอยู่กรณีที่พรรคถูกยุบเท่านั้น แต่อย่างในช่วงปี 2535 ที่ยอมออกมานั้นเพราะรอมวลชนจนรู้สึกว่าปลอดภัยที่จะออกมา แต่พอถูกปราบปรามกลับหนีเป็นคนแรก รวมไปถึงการไม่สนใจปัญหาของประชาชน อย่างเช่นล่าสุดเขื่อนปากมูล ที่รอมาเกือบยี่สิบปีผ่านรัฐบาลมาไม่รู้กี่สมัย ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จนชาวบ้านบอกว่าจะกลับไปเปิดเขื่อนปากมูนเอง"


 


ในส่วนประเด็นเรื่อง "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" นั้น อาจารย์สมชายได้ให้ความเห็นว่า ระบบราชการจะผันผวนไปตามกระแสของการเมือง แต่เดิมทหารจะมีบทบาทสูงทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ต่อมาจึงเริ่มลดบทบาทลงไปจากกระแสจากตะวันตก แต่ในปัจจุบัน ตุลาการจะทำการคัดเลือกชนชั้นนำเข้ามามีบทบาทในองค์กรอิสระ ควบคุมสังคมไทยผ่านร่างกฎหมาย เข้าไปในโครงสร้างบริหารแผ่นดิน และในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้เองก็ได้คาดว่า จะเปิดโอกาสให้มีการสืบทอดอำนาจสภาร่างรัฐธรรมนูญ


 


"ถึงเป็น ส.ส. ส.ว.ไม่ได้ ก็จะไปอยู่ในองค์กรอิสระ เพื่อความเป็น "ผู้ทรงคุณวุฒิ" ดูเป็นผู้นำแบบไทยที่มีศีลธรรม ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับความเป็นนักการเมืองให้ต้องแปดเปื้อนด้วย"


 


ในตอนท้าย อาจารย์สมชายได้กล่าวถึงเรื่องของสถาบันกษัตริย์ไว้ว่า ในการเมืองสมัยใหม่นั้น จะถูกทำให้อยู่ในสถานะของผู้นำทางความรู้ใหม่ ๆ สถาปนาความรู้ใหม่ ๆของสังคมไทย เพื่อทำให้คนไทยผู้โง่เขลาได้มีความรู้มากขึ้น ไม่เชื่อไปดูว่า บิดาแห่งวิชานั่น วิชานี่ มีใครกันบ้าง


 


ในขณะที่ นายสมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทนจากกลุ่มผู้แทนเกษตรท้องถิ่นและพัฒนา ก็ได้มาพูดถึงเรื่อง การเมืองกับชาวบ้าน ว่าจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้คนในไร่ในสวนเข้าใจการเมืองมากขึ้น รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว มีสำนึกทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะคราวนี้ที่ชาวบ้านได้เรียนรู้จากการถูกฉีกรัฐธรรมนูญ


 


"รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้พี่น้องชาวบ้านได้เรียนรู้รัฐธรรมนูญมากขึ้น เรื่องเกี่ยวกับ น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม ก็อ้างรัฐธรรมนูญได้ คือพวกเราใช้นำมาคุ้มครองชีวิตพวกเราได้"


 


ในส่วนของการร่างและการลงประชามติของรัฐธรรมนูญของปี 2550 นายสมศักดิ์ก็แสดงความเห็นไว้ว่าบอกว่าให้ชาวบ้านไปลงมติ...ทุกหมู่บ้านก็เกิดทัศนะ เหมือนถูกเขากำชับว่าเป็นหน้าที่ของคุณที่จะไปลงมติ ไม่ต้องว่าอะไร วิจารณ์อะไร


 


ในแง่การรับรู้ของชาวบ้านที่มีต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้ นายสมศักดิ์ก็กล่าวว่า ในส่วนของหมู่บ้านนั้นมีแต่ กกต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนที่ไปประชุมบ่อยเท่านั้นที่จะรู้เรื่อง สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ กระบวนการในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ลงไปสู่พื้นที่ชาวบ้านอย่างแท้จริง รู้กันแต่ผู้นำในหมู่บ้าน


 


นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเมืองไทยจนถึงปัจจุบันไว้ว่า เราไม่เคยพูดกันในระดับความขัดแย้งว่าเป็นอย่างไร คนที่เห็นต่าง อย่างไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เอารัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นผู้ร้าย ซึ่งจริง ๆ เราควรจะหาหนทางเรียนรู้ท่ามกลางความขัดแย้ง


 


"ที่ผ่านมา เรามีแต่ถูกชนชั้นนำชี้ว่า เราควรจะยืนอยู่ตรงจุดไหน จึงควรให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมตัดสินใจกำหนดจุดยืน ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ทุกวันนี้ มีการช่วงชิงพื้นที่ทางชนบทอย่างมหาศาล จะทำอย่างไรให้เรื่องราวเข้าไปสู่ในพื้นที่ได้ ซึ่งวันนี้ก็ได้ไปเยอะ ผมก็จะนำไปเล่าให้กับพี่น้องในพื้นที่"


 


ตัวแทนจากกลุ่มผู้แทนเกษตรท้องถิ่นและพัฒนา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายโดยเปรียบเทียบการเมืองเป็นเหมือนผลไม้เอาไว้ว่า "ลูกการเมือง มันอาจดูเน่า ๆ เป็นผลไม้ที่มีหนอนกินไปครึ่งผล เหลือกินได้อีกครึ่งใบ แต่สักวันหนึ่ง เราจะทำให้มันกินได้เต็มผล"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net