Skip to main content
sharethis

 


 


พลันสิ้นเสียงประกาศผลกวีนิพนธ์ 8 เล่ม เข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลซีไรต์ประจำ พ.ศ.2550 ก็เริ่มมีวงวิพากษ์พร้อมกับคำถามและความสงสัยกันไปต่างๆ นานา ว่าทำไมรุ่นใหม่ตบเท้าพาเหรดกันเข้ารอบ ในขณะที่กวีมือรางวัล รุ่นเก่ารุ่นใหญ่ ไฉนตกรอบอย่างน่ากังขา!?


 


ตามที่เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ "ซีไรต์" ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อหนังสือ และกวีนิพนธ์ 8 เล่ม เข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลซีไรต์ประจำ พ.ศ.2550 จากทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดจำนวน 76 เล่ม


 


โดยกวีนิพนธ์ทั้ง 8 เล่ม ได้แก่ 1.เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก โดยศิริวร แก้วกาญจน์ จากสำนักพิมพ์แสงเงา 2.ที่ที่เรายืนอยู่ โดยอังคาร จันพาทิพย์ จากไชน์พับลิชชิ่ง 3.ปลายทางของเขาทั้งหลาย โดยกฤช เหลือละมัย จากสำนักพิมพ์แพรว 4.แมงมุมมอง โดยพรชัย แสนยะมูล จากสำนักพิมพ์ไม้ยมก 5.ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์ โดยอุเทน มหามิตร (หนังสือทำมือ) 6.ลงเรือมาเมื่อวาน โดยศิริวร แก้วกาญจน์ จากสำนักพิมพ์ผจญภัย 7.โลกในดวงตาข้าพเจ้า โดยมนตรี ศรียงค์ จากสำนักพิมพ์สามัญชน 8.หมู่บ้านในแสงเงา โดยโกสินทร์ ขาวงาม จากเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีนี้ มีบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ถึง 2 เล่มคือ "เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก" และ "ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์" มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ที่อย่างมากจะผ่านเข้ารอบเพียง 1 เล่มเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลการตัดสินจะทราบประมาณเดือนสิงหาคม และมีพิธีพระราชทานรางวัลซีไรต์ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย นายอดุล จันทรศักดิ์ ประธานกรรมการคัดเลือก กรรมการ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา, นายพินิจ นิลรัตน์, นายพิเชฐ แสงทอง, นายวชิระ ทองเข้ม, ผศ.ดร.สายวรุณ น้อยนิมิตร และ รศ.อวยพร พานิช


 


พลันมีการประกาศผลผู้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีนี้ ก็เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตกันไปต่างๆ นานาว่า งานส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดปัจเจกบุคคล และไม่ค่อยมีบทกวีที่สะท้อนภาพรวมของสังคมที่กำลังเข้มข้น ส่งเข้าประกวดมากนัก ซึ่งอาจทำให้หลายคนขัดอกขัดใจ เพราะมองว่าหน้าที่ของกวี คือ การสะท้อนสังคม


 


ทั้งนี้ นายอดุล จันทรศักดิ์ ประธานกรรมการคัดเลือกฯ บอกว่า เป็นการตีกรอบมากเกินไป เพราะแม้จะไม่แสดงความเห็นทางสังคมและการเมืองแบบตีแสกหน้า แต่ในความเป็นปัจเจกนั้นก็แฝงข้อคิดของชีวิตอยู่ร่ำไป


 


อีกประการหนึ่ง อดุลเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านการเมืองยังสดใหม่อยู่ ทำให้กวีสร้างสรรค์งานเพื่อรวมเล่มไม่ทัน


 


"จริงๆ แล้ว ช่วงนี้การเคลื่อนไหวของสังคมแรงมาก ไม่ว่าทั้งคุณทักษิณจะกลับมาได้หรือเปล่า พล.อ.สพรั่ง เป็นวีรบุรุษหรือไม่ คตส.จะทำอะไร แต่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังมีนาคมทั้งนั้น ซึ่งหมดเขตส่งงานแล้ว ทำได้อย่างมากก็หลังเหตุการณ์ 19 กันยายน สัก 3 เดือน"


 


ส่วนที่มีบางคนสงสัยว่า การที่ซีไรต์ปีนี้ มีบทกวีที่คนอ่านไม่ต้องปีนบันไดอ่านให้เมื่อยเข้ารอบอยู่หลายเล่ม เกิดจากความตั้งใจของกรรมการที่ว่า อยากให้ซีไรต์เข้าถึงคนส่วนใหญ่ของสังคมหรือเปล่านั้น


 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา บอกว่า"ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่รู้นะ แต่คิดว่ากรรมการพยายาม และกรรมการเองก็เป็นรุ่นใหม่ ความเห็นนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ไม่กล้าฟันธง"


 


ส่วนข้อสงสัยที่ว่าซีไรต์หวังขยายกลุ่มคนอ่านหรือไม่นั้น นายพินิจ นิลรัตน์ กรรมการรอบคัดเลือกอีกคนหนึ่ง ก็ออกมากล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะซีไรต์ให้ความสำคัญกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเอาใจประชาชนในวงกว้าง


 


ขณะที่ นายพิเชษ แสงทอง กรรมการรอบคัดเลือกอีกคน กล่าวว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นเสมือนการปลดแอกให้กับกวี หลังจากที่ผูกขาดกับความขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์มาแสนนาน


 


"งานหลายเล่มที่เข้ารอบ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลดกวีออกจากหอคอยขอบฟ้า และอัญเชิญลงมาจากหิ้ง เพราะจะสื่อให้เห็นว่าเราสามารถเขียนกวีได้ โดยไม่จำเป็นต้องเกร็งและกลัว หลายคนจะรู้สึกว่ากวีมันต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ คนที่เขียนกวีต้องเป็นกวีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ก็เลยมีความเกร็งและกลัวที่จะเสพที่จะสร้าง ถึงกับมีคำพูดว่า ถ้ากวีเดินผ่านมา นักเขียนจะต้องลุกขึ้นโค้งคำนับ วิธีคิดแบบนี้ยิ่งทำให้สังคมและคนทั่วไปถอยห่างจากกวีมากขึ้น"


 


อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงสะท้อนหลังการประกาศบทกวี เข้ารอบ 8 เล่มสุดท้าย "รางวัลซีไรต์" ปีนี้ ว่า กวีหน้าใหม่ บางคนเพิ่งพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พาเหรดกันเข้ารอบ ขณะที่ กวีที่มีผลงานต่อเนื่องยาวนาน ได้รับการยอมรับในวงการอย่างกว้างขวาง กวาดมาหลายสถาบัน กลับร่วงตกรอบ อย่างน่ากังขา...จนเกิดคำถามตามมาว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน และ กรรมการคัดเลือกชุดนี้ มีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด คงต้องตอบคำถามคนในแวดวงกวีและประชาชนได้


 


ล่าสุด หลังจากที่ทราบผลการประกาศเข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลซีไรต์ประจำ พ.ศ.2550 รวมทั้งทราบข่าวคำให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการรอบตัดสินที่ได้แสดงทัศนะที่บอกว่า การเข้ารอบของ 8 กวีรุ่นใหม่ นี้จะช่วยปลดกวีออกจากหอคอยขอบฟ้าและอัญเชิญลงมาจากหิ้ง นั้น ได้สร้างความไม่พอใจต่อบรรดากวีนักเขียนหลายกลุ่มที่มุ่งมั่นทำงานกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และออกมาแสดงความรู้สึกเคลือบแคลงกังขาต่อทัศนะคติของกรรมการชุดดังกล่าว ว่าได้มีอคติต่อความเป็นกวีรุ่นก่อน ซึ่งอาจจะส่งผลสะเทือนต่อสถาบันกวีในเมืองไทยนี้หรือไม่


 


 


.............................


ที่มาและเรียบเรียง


มติชนรายวัน (10 ก.ค.50)


คอลัมน์: แวดวงรอบกรุง นสพ.ไทยรัฐ (12 ก.ค.50)


คอลัมน์บันเทิง-วรรณกรรม มติชนรายวัน (14 ก.ค.50)


 


 



 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net