Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 ก.ค.2550 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน จัดการสัมมนา เรื่อง นโยบายการพัฒนากฎหมายและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา


 


นายเถกิง ชีรนรวนิชย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีกฎหมายที่รับผิดชอบอยู่ 9 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47 (เรื่องสภาที่ปรึกษา) พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537


 


ด้านแผนพัฒนากฎหมายของกระทรวงแรงงาน ประจำปี 2550 นั้น กระทรวงแรงงานได้จัดทำ พ.ร.บ. เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 7 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการประกอบอาชีพ พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ...


 


อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลที่แล้ว กระทรวงแรงงานได้เสนอแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ. เงินทดแทน ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น จึงมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งสิ้น 9 ฉบับ


 


สาระสำคัญของร่างที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ ครม.พิจารณา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ... เป็นกฎหมายที่กำหนดคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เดิมมีกฎกระทรวงเรื่องนี้อยู่แต่คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างที่มีนายจ้างเท่านั้น จึงกำหนดให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่ใช่การทำงานที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน แต่ให้รวมถึงจ้างทำของด้วย เพราะปัจจุบันมีการรับงานไปทำที่บ้านจำนวนมาก


 


ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ... เพื่อเป็นแม่บทในงานความปลอดภัย และให้เอกชนมีส่วนร่วมในการให้บริการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรองประเมินความเสี่ยง จัดอบรมและให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและมีกองทุนให้กู้ยืมไปแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุ


 


ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน แก้ไขกำหนดอัตราค่าจ้างให้ครอบคลุมอัตราค่าจ้างทั่วประเทศ และเพิ่มอำนาจคณะกรรมการในการกำหนดอัตราค่าจ้าง และร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม กำหนดขยายการคุ้มครองประกันสังคมให้ครอบคลุมลูกจ้างรายวันและรายชั่วโมงของส่วนราชการ เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน และลดเงินสมทบของผู้ประกอบการ


 


ทั้งนี้ กฎหมายส่วนใหญ่ ครม. รับหลักการแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีเพียง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ที่กำลังรอเข้า สนช.


 


ด้านนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านแรงงานและผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ตั้งข้อสังเกตว่า ในจำนวนร่างทั้งหมดที่กระทรวงแรงงานเสนอไม่มีร่างที่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์แม้แต่ฉบับเดียว อาจเพราะเป็นกฎหมายที่มีความขัดแย้งในเรื่องแนวคิด มาตรฐานการปรับปรุงแก้ไขระหว่างแรงงานกับราชการมากกว่าฉบับอื่น


 


สอง จำนวนกฎหมายที่กระทรวงแรงงานดูแลอยู่ที่ไม่ใช่ในแบบ พ.ร.บ. คือ คำสั่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ 47 ที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2519 หลังการยึดอำนาจ 6 ต.ค. 19 การจะแก้ไขกฎหมายที่อยู่ในรูปคำสั่งประกาศ ต้องปรับปรุงแก้ไขโดยเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. ผ่านสภานิติบัญญัติ เพราะศาลสูงตีความว่า คำสั่งคณะปฏิวัติ รัฐประหารมีสถานะเทียบเท่ากับ พ.ร.บ. กลายเป็นว่าแม้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ยังใช้คำสั่งคณะปฏิวัติอยู่ต่อไป รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ไม่แก้ไข ทั้งนี้ ประกาศฉบับ 47 เป็นเรื่องการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ที่ให้คำปรึกษาด้านนโยบายกับกระทรวงแรงงาน แต่ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานหรือฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลที่แล้วก็ไม่ใช้ที่ปรึกษานี้เท่าไหร่


 


สาม 4 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงมิถุนายน ได้ทำลายสถิติการออกร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน เรามีร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน โดย ครม. อนุมัติแล้ว 6 ฉบับ ที่ผ่านมาไม่เคยมี โดยขณะนี้ ร่างกฎหมายส่วนใหญ่อยู่ในกฤษฎีกาเพื่อนำเสนอต่อ สนช. ต่อไป ซึ่งถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญ ก่อนสิ้นปีเราจะมีสถิติกฎหมายแรงงานปรับปรุงใหม่ 6 ฉบับด้วยกัน


 


อย่างไรก็ตาม นายบัณฑิตย์ ตั้งคำถามด้วยว่า สนช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ควรจะเร่งออกกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ว่ากฎหมายจะดีเลิศเท่าไหร่ แต่กระบวนไม่ชอบธรรม ทั้งยังอยู่ภายใต้บรรยากาศการเมืองแบบนี้ซึ่งจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกส่วน เพราะฉะนั้นควรออกกฎหมายเท่าที่จำเป็นจริงๆ หรือเตรียมไว้เพื่อต้อนรับฝ่ายการเมืองจากการเลือกตั้งชุดใหม่มากกว่า


 


นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย แสดงความเห็นว่า เท่าที่ฟังมา ยังขาด พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงาน จึงขอถามความคืบหน้า เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างมาก สอง ขอวิจารณ์ว่า กฎหมายที่ส่งไป ครม. บางฉบับไม่ได้ทำประชาพิจารณ์และประชาชน ผู้ใช้แรงงานไม่มีส่วนร่วม บางฉบับแม้มีประชาพิจารณ์แต่กลุ่มไหนค้านไม่เชิญมาร่วม เช่น พ.ร.บ. ความปลอดภัยฯ ที่มีการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 3 ก.พ. มีการเชิญแต่ไตรภาคี แต่คนที่เห็นต่างไม่ถูกเชิญ ดังนั้นจึงไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ ข้อเสนอที่ผู้ใช้แรงงานเสนอไปหลายฉบับ กระทรวงแรงงานก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เช่น พ.ร.บ. ความปลอดภัย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net