Skip to main content
sharethis

พลินี เสริมสินสิริ, ภรนภา เหมปาละ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงาน


29 พ.ค. 50 - วานนี้ (28 พฤษภาคม 2550 ) ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วย "ข้อเสนอต่อ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่...) พ.ศ...." มีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน จากภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน บริษัทเอกชน ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และมีข้อสังเกตหลายประการต่อการแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตรายครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องว่าไม่ควรรีบเร่งออก ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับนี้ออกมา ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนจะร่างฉบับภาคประชาชนขึ้นมาด้ว


นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เป็นกฎหมายที่สำคัญมากเพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม การแก้กฎหมายฉบับนี้หลังจากที่เขียนมาแล้ว 15 ปี ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่พบว่าหลักการและเหตุผลในการแก้ไขไม่สามารถสะท้อนหลักคิดที่ชัดเจนว่าปรับแก้เพื่ออะไร


ส่วนองค์ประกอบคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ปรับแก้มีสัดส่วนขององค์การสาธารณะประโยชน์เพื่อคุ้มครองสุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม 2 คน คิดเป็นร้อยละ 8.6 ที่เหลือสัดส่วนของภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนปัญหาจากผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตรายได้ ถ้าจะให้ดีที่สุดควรรื้อโครงสร้างคณะกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด และเพิ่มสัดส่วนขององค์การสาธารณะประโยชน์ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น และสุดท้ายคือการยกเลิกอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจับกุมผู้กระทำผิด โดยให้เหตุผลว่าพนักงานไม่เคยใช้อำนาจนั้น และขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลและไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ควรทบทวนว่าเหตุใดพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เคยใช้อำนาจ และปรับแก้วิธีการให้ตรงจุดจะดีกว่า นางอรพรรณกล่าว


ด้านนายอานัติ วิเศษรจนา นักวิชาการจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการแก้ไขมาตรา 43 ที่เปิดช่องให้เอกชนนำเข้าวัตถุอันตรายประเภท 4 เพื่อการวิจัยได้ เพราะปัจจุบันนี้ระบบข้อมูลของบ้านเรายังไม่ดีเพียงพอ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อสารเคมีชนิดหนึ่งเมื่อนำเข้ามาแล้วปลายทางจะไปอยู่ที่ใด เช่นเดียวกับกรณี GMOs ที่บอกว่าจะนำเข้ามาเพื่อการวิจัยแต่ในที่สุดก็สามารถแพร่กระจายไปสู่แปลงของเกษตรกรทั่วไปได้ หากผู้ปฏิบัติเห็นว่ามีความจำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการวิเคราะห์หรือวิจัย การนำเข้าจะต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น ซึ่งสามารถใช้มาตรา 44 ได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 43 แต่อย่างใด


ส่วนนางสาวนันทนา ทราบรัมย์ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า จากการศึกษาการควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายสารเคมีทางการเกษตร พบว่าในพื้นที่ทั่วแผ่นดินไทยมีสารเคมีเกลื่อนไปหมด ทั้งนี้มาจากการส่งเสริมการขายอย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งโฆษณาผ่านแผ่นป้าย ใบปลิว การสาธิต การลดแลกแจกแถม การชิงโชคเพื่อกระตุ้นการขาย การขายตรงถึงตัวเกษตรกร สร้างแรงจูงใจผ่านการไปเที่ยวต่างประเทศ และอีกมากมาย ซึ่งกลไกการดูแลใน พ.ร.บ.วัตถุอันตรายปี 2535 เดิม ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นควรต้องมีการพัฒนาหลักเกณฑ์ในการควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด สร้างกลไกที่ชัดเจนในการกำกับดูแลเรื่องนี้ อาจเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตราย แทนที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดูแลซึ่งมีภาระงานมาก ไม่มีความรู้เรื่องนี้เป็นการเฉพาะ การตรวจสอบจึงทำได้ลำบาก นอกจากนี้ควรมีกระบวนการควบคุมและกำกับดูแลทั้งระบบ ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและให้ข้อมูล รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ช่วยเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วย


นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรพัฒนาเอกชนไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างยิ่ง และจะมีการร่างฉบับประชาชนขึ้นมาอีกฉบับด้วย


นอกจากนี้แหล่งข่าวได้เปิดเผยว่าขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.... ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป ซึ่งที่ประชุมเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติส่งข้อเสนอจากสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในวันนี้ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเร็ว เพื่อให้ทันการพิจารณาดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net