Skip to main content
sharethis





 


ประชาไท - กลุ่มค้านท่อก๊าซเลี้ยงน้ำชาหาเงินช่วยผู้ถูกคดี แฉหลังมีโรงแยกก๊าซไทย - มาเลย์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพียบ วัวตายเป็นสิบเหตุดื่มนำใกล้โรงแยกก๊าซ พบซากโลมาขาว - เต่าทะเล แกนนำเผยเหตุร่วมเป็นกรรมการไตรภาคี เพราะขาดข้อมูลฝ่ายรัฐ ปัญหาชาวบ้านไม่ถูกแก้ ยืนยันจะคัดค้านต่อไป


เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 ที่ลานภายในหมู่บ้านสะกอม ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เครือข่ายคัดค้านท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้จัดงานเลี้ยงน้ำชาเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 และใช้ในการจัดกรรมของเครือข่าย โดยมีผู้มาร่วมงานอย่างคับคั่ง


นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ แกนนำเครือข่ายฯ ในฐานะกรรมการไตรภาคีโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ที่โรงแรมรัชมังคลพาวิเลี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตนจะนำปัญหาวัวของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้บริเวณใกล้โรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะ เป็นโรคและตายไปหลายสิบตัว เนื่องจากกินหญ้าและดื่มน้ำบริเวณใกล้โรงแยกก๊าซฯ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีฯ ในวันดังกล่าว เพื่อต้องการชี้ให้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างโรงแยกก๊าซดังกล่าว แต่จะไม่เรียกร้องค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น


"เราจะขอให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าน้ำเสีย อากาศเสีย กลิ่นเหม็น หากปัญหาดังกล่าวเกิดจากโรงแยกก๊าซ ก็จะขอให้บริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเข้าไปแก้ไข หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะขอให้ยกเลิกโครงการไปเลย" นายเจะปิกล่าว


นายเจะปิ เปิดเผยอีกว่า สำหรับอาการของวัวชาวบ้านที่พบนั้น ในช่วงแรกๆ ประมาณกลางปี 2549 หลังจากที่มีน้ำเสียเกิดขึ้นในพื้นที่พรุโต๊ะเปาะละห์ ที่อยู่ใกล้โรงแยกก๊าซ วัวมีอาการถ่ายไม่ออก ต่อมาเมื่อวัวกินหญ้าบริเวณดังกล่าว ก็มีอาการคางทูม ท้องเสียและตายไปเป็นสิบตัว จนกระทั่งปัจจุบันอาการดังกล่าวก็ยังมีอยู่


นายเจะปิ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ ตนจะนำกรณีที่ชาวบ้านปากบาง ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พบซากปลาโลมาขาวและเต่าทะเลขนาดใหญ่ ขึ้นมาตายที่ชายหาดในหมู่บ้าน เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมาด้วย เพื่อต้องการให้เห็นว่านี่คือผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ที่เกิดขึ้น ซึ่งจุดที่พบซากดังกล่าวอยู่ห่างจากโรงแยกก๊าซประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร


นายเจะปิ เป็นเผยด้วยว่า เป็นที่น่าเสียดายว่าทั้งซากปลาโลมาขาวและเต่าทะเล ซึ่งชาวพบในช่วงเวลาห่างกันเพียง 3 - 4 วัน และอยู่ห่างประมาณ 400 เมตร นั้น มีลักษณะขึ้นอืดแล้ว เพราะชาวบ้านไม่ได้แจ้งให้ทราบมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งเมื่อพวกตนจะไปฝังกลบเพื่อนำกระดูกมาเก็บไว้ ก็ถูกคลื่นใหญ่ซัดลงไปในทะเลอีกครั้ง จึงไม่เหลือซากไว้ให้เลย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบแต่อย่างใด


"ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่จำความได้ ไม่เคยมีข่าวว่ามีปลาโลมาขาวและเต่าทะเลขึ้นมาตายอย่างนี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าช่วงนั้นอาจเกิดจากปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนอุณหภูมิ หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุไปชนกับเรือประมง แต่ช่วงนั้นเป็นหน้ามรสุม ทะเลมีคลื่นแรง ไม่มีเรือประมงออกทะเล" นายเจะปิ กล่าว


นายเจะปิ เปิดเผยว่า สำหรับปลาโลมาขาวที่พบบริเวณปากแม่น้ำสะกอมนั้น มีอยู่ฝูงหนึ่งจำนวน 4 -5 ตัว แต่หลังจากพบซากปลาโลมาดังกล่าว ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา มีชาวบ้านพบบริเวณหน้าหาดลานหอยเสียบ เหลือเพียง 2 ตัวเท่านั้น ส่วนเต่าทะเลนั้นไม่เคยพบเลย แต่ในอดีตคนเฒ่าคนแกบอกว่า บริเวณดังกล่าวเคยมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ด้วย


นายเจะปิ เปิดเผยต่อว่า ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ตนจะนำเข้าที่ประชุม ได้แก่ปัญหามลพิษทางอากาศและกลิ่นในบริเวณใกล้โรงแยกก๊าซด้วย เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ไปกรีดยางหรือทำการเกษตรแถวนั้นมีอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น


นายเจะปิ เปิดด้วยว่า เหตุที่ตนเข้าไปเป็นกรรมการไตรภาคีโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ด้วยนั้นเนื่องจากว่า เป็นมติประชาคมหมู่บ้านที่เลือกตนเข้าไปเป็นกรรมการไตรภาคี ทั้งๆ ที่คัดค้านโครงการมาตลอด ขณะเดียวกันทางเครือข่ายก็ต้องการให้เป็นด้วยเพื่อจะได้รับทราบการดำเนินงานของฝ่ายรัฐและบริษัทที่ดำเนินโครงการ ส่วนตนเองก็สามารถหยิบยกปัญหาของชาวบ้านให้สังคมได้รับทราบและมีการแก้ไขด้วย แต่ยืนยันว่ายังคัดค้านโครงการอยู่ตลอด


"ตนได้เป็นกรรมการไตรภาคีมาตั้งแต่ปี 2549 มีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งแรกตนได้นำเรื่องปัญหาน้ำเสียในที่ประชุมพิจารณาในสมัยที่มีนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งที่ประชุมได้ให้บริษัท แอร์เซฟ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการตรวจสอบปัญหาสิ่งแวดล้อมขณะนั้น เข้าไปตรวจพิสูจน์ แต่จนวันนี้ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับคำตอบ" นายเจะปิ กล่าว


นายเจะปิ กล่าวอีกว่า หากปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่รับการแก้ไขอีก ก็คงจะลาออก เพราะเข้าไปแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ก็กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเจ้าของโครงการ ครั้นจะให้ทางเจ้าของโครงการหรือฝ่ายมาสนใจปัญหาชาวบ้านนั้น ไม่มีทางเพราะเขาไมสนใจเลย ขนาดนำปัญหาไปเสนอให้ทราบเขาก็ยังไม่อยากสนใจเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net