Skip to main content
sharethis

 






 


ในหน้าบันทึกของ พิทักษ์ โตนวุธ


 


เมื่อต้นปี 2540 ผมได้รับหน้าที่อันสำคัญในฐานะนักศึกษารามคำแหงคือ ได้รับความไว้วางใจ จากเพื่อนนักศึกษาให้เป็นประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยรามคำแหง


 


ในปีนั้นเอง ทางชมรมได้รับการร้องขอจากชาวบ้านในบ้านชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก โดยขอให้ช่วยเป็นที่ปรึกษาในการเรียกร้องเพื่อให้มีการเพิกถอนโรงโม่หินจำนวน 2 แห่งซึ่งก่อความรำคาญให้ชาวบ้าน


 


หารทำงานเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะมีปัญหาเรื่องบุคลากรในชมรมไม่พร้อมทำงาน แต่เมื่อรับปากไปแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป


 


การตัดสินใจนำชมรมฯ ไปผูกพันช่วยเหลือชาวบ้านนั้น เกิดขึ้นด้วยจิตสำนึกหลังจากการพิจารณาข้อมูลและสภาพพื้นที่แล้ว ถึงแม้มีปัญหาเรื่องคนทำงานก็ตาม


 


บุคคลที่นำพาคณะทำงานของชมรมลงไปดูพื้นที่คือ ว่าที่ ร.ต. นคร ติวรางกูล ครั้งแรกลงไป 3 คน มีผม คุณพร พนาวัน และคุณธีระ แก้วสว่าง รองประธานชมรมฯ ซึ่งคณะกรรมการได้ประชุมกันแล้วมอบหมายให้คุณธีระเป็นผู้รับผิดชอบการทำงาน เพราะในขณะนั้น คุณฤทธิชัย ภูตะวัน ไม่ว่าง ติดภารกิจเรื่องค่าย


 


คุณนครได้พาพวกเราไปพบกับ คุณประดับ แก่นธรรม ซึ่งเป็นสมาชิก อบต. บ้านชมภู หมู่ 3 คุณประดับได้กรุณานำคณะของเราเข้าไปดูพื้นที่โดยไปดูที่ตั้งของโรงโม่ 2 แห่ง และสถานที่ทางธรรมชาติ เช่น ถ้ำ น้ำพุ หน้าผา เป็นต้น และนำไปพบกับลุงนวน ทองจำปา เพื่อขอดูเอกสารที่ชาวบ้านได้ดำเนินการเรียกร้องไป


 


จากการสอบถามชาวบ้านได้ข้อมูลเกี่ยวกับมวลชนว่า ชาวบ้านไม่มีความไว้วางใจกัน เพราะมีข่าวว่ามีการรับเงินรับทองกัน ความเป็นเอกภาพไม่มี เพราะทางเจ้าของโรงโม่เป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นอดีต ส.ส. ผู้ใหญ่ กำนัน อบต. ถูกชาวบ้านมองว่ารับเงินจากโรงโม่หิน และชาวบ้านก็กลัวมากกว่ากล้า


 


ผมเริ่มมองเห็นเงาดำทะมึนที่ครอบงำความรู้สึกชาวบานแล้วว่าเกิดจากอะไร ?


 


เมื่อเริ่มเรียกร้องกันใหม่ๆ หลายฝ่ายประเมินว่าชาวบ้านคงชุมนุมกันไม่นานคงจะเกลี้ยกล่อมได้ง่าย เสียงเย้ยหยันมีอยู่ทั่วไป


 


"ไม้ซีกงัดไม้ซุง จะชนะได้อย่างไร?"


"หากชนะ กูให้เอาตีนเหยียบขี้มาทาหน้าเลย"


 


คำพูดเหล่านี้ ออกจากปากชาวบ้านด้วยกันเอง ซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่ยอมเรียกร้องกับพวกเรา สะท้อนมุมมองของคนชนบทชัดเจนว่า


 


"อำนาจเงินของนักการเมืองและเจ้าพ่อมักจะอยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือคนของราชการ" แต่เมื่อมองมุมกลับแล้ว คำพูดเหล่านั้นกลับเพิ่มแรงทวีคุณแก่ชาวบ้านที่ชุมนุมจนกลายเป็นพลังที่หลายคนคาดไม่ถึง


 


ในการเรียกร้อง ฝ่ายโรงโม่หินไม่ค่อยเข้ามายุ่งเท่าที่ควร จะมีแต่เฝ้าของในโรงโม่เท่านั้น ไม่มีเจ้าของออกมาเจราจากับชาวบ้าน แต่มันน่าแปลกตรงที่ฝ่ายข้าราชการ อบต. ผู้ใหญ่ กำนันบางท่านกลับเข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อให้การชุมนุมยุติลงโดยแสดงท่าที เหมือนกับเป็นเจ้าของโรงโม่เสียเอง ทำให้ชาวบ้านมองว่าข้าราชการโดนซื้อไปแล้ว มิเช่นนั้น คงไม่ออกหน้าออกตาแทนเจ้าของโรงโม่หินหรอก นี่คือจุดที่นำไปสู่การไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐแม้แต่คนเดียว  บทเรียนมันสอนมาอย่างนั้น


 


เสบียงอาหาร มีคนบริจาคอย่างล้นหลาม ฝ่ายทำอาหารต้องทำงานหนักราวกับมีโรงทานก็ไม่ปาน น้ำใจคนบ้านป่าได้ไหลมาร่วมกันในคราวนี้นี่เอง คนละไม้คนละมือช่วยกัน ใครมีอะไรก็ใส่รถอีโก้งมาให้ ข้าวสารมีมากจนต้องจำหน่ายเพื่อเอาเงินไปใช้ด้านอื่น


 


ฝ่าย รปภ. ก็ทำงานกันอย่างหนักเพื่อป้องกันเหตุร้ายและคอยอำนวยความสะดวก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ดูแลเลย


 


การชุมนุมครั้งนี้ เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ


 


เช้า - กลางวัน ชาวบ้านบางส่วนก็จะกลับบ้านไปดูแลครอบครัว แต่พอตกเย็นเหมือนมีงานสมโภชอะไรซักอย่าง ชาวบ้านต่างทยอยออกมารวมกันบริเวณที่ชุมนุมเพื่อคอยฟังข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากแกนนำ และมีการเล่นดนตรีกัน ร้องรำทำเพลงสนุกสนานเหมือนงานลาบวชทั่วไป จนมีคนพูดว่า "ไม่เหมือนม็อบ" ชาวบ้านหลายคนอดีตเคยเป็นนักร้องก็จะมาหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นร้องทุกค่ำคืน


 


ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการชุมนุมคือ ขยะ ชาวบ้านส่วนมากจะเคยชินกับการกินแล้วทิ้ง บางวันถุงพลาสติกเต็มไปหมด ตอนหลังผมประกาศทำความเข้าใจกับชาวบ้านขอให้ทิ้งขยะลงในลังกระดาษและช่วยกันรักษาความสะอาดบริเวณชุมนุมด้วย ซึ่งก็ได้ผล ทุกๆ เช้าชาวบ้านจะช่วยกันเก็บขยะไปเผากัน จนปัญหาเรื่องขยะหมดไปในการชุมนุม


 


ปฏิบัติการสกัดกั้นการชุมนุมจากฝ่ายปกครองเริ่มเข้มข้นขึ้นตามลำดับ วาทะอันลือลั่นของปลัดปกครองที่ว่า "หากผมสลายม็อบไม่ได้ ผมจะขอย้าย" เป็นถ้อยคำที่ทำให้เรารู้สึกว่าทางราชการคิดกับเราอย่างไร มีการห้ามเจ้าหน้าที่ปกครองมิให้ร่วมชุมนุม และไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มม็อบ ระยะหลังมีการข่มขู่คนแก่ที่ไปชุมนุม และหนักสุดมีการข่มขู่ว่าจะมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุม สุดท้ายมีการปล่อยข่าวว่าจะมีการปาระเบิดกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ทางแกนนำต้องตั้งด่านตรวจรถทุกคันที่เข้าออก อันนำไปสู่ข้อกล่าวหาที่ว่า "กลุ่มม็อบปิดกั้นทางสัญจรสาธารณะ"


 


5 มิ.ย. 2542


 


เวลาตี 4.40 นั่งรถพี่หน่องที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ปกติรถหนังสือพิมพ์จะส่งหนังสือพิมพ์ช่วงหลังเที่ยงคืน รถพี่หน่องไปส่งที่ จ.พิจิตร จุดสุดท้ายไปที่สากเหล็ก ภารกิจที่ไปคราวนี้


 



  • เช๊คจำนวนบ้านที่อยู่ในเขตอุทยาน

  • พูดคุยการเลือกตั้ง อบต.

  • ติดตามเรื่องสระน้ำถ้ำขุนตะค้าน

 


6 มิ.ย. 2542


 


ไปถึงพื้นที่เวลาประมาณใกล้เที่ยง นั่งมอเตอร์ไซด์เข้าไปหาอาจารย์ยักษ์ที่บริเวณถ้ำพระ พูดคุยเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ในอุทยานเสร็จแล้วพาอาจารย์ยักษ์ไปหนองทับเสือเอาหนอนตายยาก เลยไปบ้านพี่ดิษฐ์ พร้อมทั้งปรึกษาเรื่อง อบต. กับพี่ดิษฐ์ด้วย


 


8 มิ.ย. 2542


 


เวลา 3 ทุ่มครึ่ง นั่งรถ ปอ.2 จากสากเหล็กไปกรุงเทพฯ มีผู้ใหญ่ทุน ลุงน้อย ไปส่ง สถานการณ์บ้านชมภูขณะนี้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง


 


สังคมจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนที่จะเป็นตัวแทนชาวบ้านในการเข้าไปใช้อำนาจบริหาร


 


การพูดคุยกับพี่ทัย ลุงเสมา ลุงล้ำได้ความว่าชาวบ้านมีท่าทีดีขึ้น โดยขอความมั่นใจ เรื่องที่ดินทำกินโดยอยากให้กันเขตให้อย่างถาวร ครอบครัวละ 20 ไร่ โดยยึดเอาพื้นที่เดิมที่อยู่ทำกินเป็นหลัก ไม่ต้องจัดสรรใหม่ การคิดจำนวนครอบครัวให้คิดตามความเป็นจริง รวมคนที่แต่งงานมีลูกแล้วถึงแม้ว่าจะไม่แยกบ้าน เราเสนอไปว่าควรจะจัดสรรใหม่หมด พี่ทัย ลุงเสมาขอเวลาพูดคุยกับสมาชิกภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้จะได้คำตอบ


 


สรุป ชาวบ้านต้องการความมั่นใจเรื่องที่ดินทำกิน


 


19 มิ.ย. 2542


 


นั่งรถ ปอ. 2 จากหมอชิตไปลงสากเหล็ก นั่งรถโดยสารจากสากเหล็กไปเนินมะปราง ไปคุยกับ ส.จ. ประจักษ์ที่บ้าน ขอคำแนะนำการทำโครงการเสนอ อบจ. ท่านให้เสนอจะช่วยของบประมาณ 250000 บาท


 


23 มิ.ย. 2542


 


ช่วงเย็นไปขอโทษท่านรองไพศาล ผู้กองประกิต คุณนิวัฒน์ เพื่อทำให้การทำงานเป็นไปโดยราบรื่น มีการพูดคุยปรับความเข้าใจกันหลายเรื่อง ต่อไปนี้เราต้องทำงานให้นุ่มนวลมากขึ้น การประสานความร่วมมือเป็นสิ่งจำเป็น เราเองยังต้องปรับทิศทางอีกเยอะในการทำงาน เสร็จแล้วประชุมกลุ่มหนองหญ้าปล้อง ชี้แจงการขุดบ่อน้ำบาดาล


 


24 มิ.ย. 2542


 


ไปส่ง EMS ให้นกและหาพี่เชิด แต่พี่เชิดติดประชุมที่ อ.เนินมะปราง สภาพทุกอย่างยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น เราอยากให้หน่วยราชการปราศจากการคอร์รัปชั่น ช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วหน้า วันนี้มีประชาชนมาใช้บริการที่อำเภอน้อย ที่ศาลมีการเลี้ยงเจ้าเลี้ยงผี มองเข้าไปเห็น สจ. ประจักษ์ร่วมงานอยู่ด้วย


 


1 ก.ค. 2542


 


ประชุมบอร์ดช่วงเช้า ไปหาพี่ณัฐพลสอบถามเรื่องโรงโม่ ความคืบหน้า "อัยการสั่งไม่ฟ้อง"


 


ไปหาป่าไม้เขต ลูกน้องไม่ให้พบ พบพี่ชำนาญขอกล้าไม้ 500 กล้าเอาวันที่ 15 ไปหาพี่ต้อย คุยเรื่องพันธุ์ปลา นัดรับวันที่ 8 ก.ค. เอารถไปที่เขื่อนนเรศวรกลับเย็นไปเนินสูงช่วยหาเสียง


 


2 ก.ค. 2542


 


เช้าไปยื่นหนังสือขอชุดกีฬาจาก สวป. พี่เชิดแทนธานีและไปยื่นขอสนับสนุนการจัดตั้งโรงสีชุมชนกับ สจ.ประจักษ์ ทรัพย์สิน


 


ไปสากเหล็ก ขึ้นรถ 99 ปอ.2 ไปกรุงเทพฯ แวะบ้านพี่แก้วยังไม่มีใครกลับจากทำงาน แวะไปดูผลสอบในรามฯ ผ่าน 1 ตก 3


 


8 ก.ค. 2542


 


ประชุมกลุ่มเนินคล้อ เรื่องเลี้ยงปลาที่บ้านเนินคล้อ บ้านผู้ใหญ่ตา เที่ยงไธสง


 



  • ทิศทางกลุ่ม

  • ปัญหาการทำงาน

  • แจ้งการประชุมร่วมของ ตชด.

  • ชี้แจงเรื่องพันธุ์ปลา

 


18 ก.ค. 2542


 


15.00 น. ดูการอ่านคะแนนผลการเลือกตั้งที่เนินคล้อ ดูผลการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. ชมพู


 


2 ม.ค. 2543


 


เริ่มต้นปีใหม่ของเราดูจะเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราชักชวนชาวบ้านทำ วันนี้นัดประชุมคณะกรรมการเครือข่ายทุกกลุ่มที่ถ้ำขุนตะค้าน ขอให้ทุกกลุ่มเลือกตั้งกรรมการขึ้นใหม่และคัดเลือกคนที่จะเป็นคณะกรรมการเครือข่ายคนใหม่โดยมีประธาน 1 คน


 


4 ม.ค. 2543


 


วันนี้ "ครบรอบของการชุมนุมประท้วงโรงโม่หิน" เช้ามีการทำบุญตักบาตรที่วัดชมภู สจ. ประจักษ์ มาหาที่วัด พูดคุยกันระยะหนึ่งก็กลับไป


 


การประชุมเริ่มขึ้นเวลาประมาณ 4 โมงเช้า ทุกกลุ่มมาพร้อมกัน จัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายชุดใหม่ มีพ่อแวะเป็นประธาน ลุงน้อยเป็นผู้ประสานงาน ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งกองทุนกลางขึ้นมา


 


กิจกรรมที่จะทำปีนี้


 



  • โรงสีชุมชน

  • ทำนารวม

  • ร้านค้าชุมชน

  • ปลูกผักปลอดสารพิษ

  • ศูนย์การเรียนรู้

 


22 ม.ค. 2543


 


รับงานจาก อจย.


 



  • เช็คว่าเงินเข้าบัญชีมาเท่าไหร่ จากกรุงเทพฯ

  • รายชื่อผู้โอนเงินเข้าบัญชีจากเก๋

  • ทำบัญชี

  • ผลิตภัณฑ์ที่พร้อมขายได้

  • เครื่องแพ๊ค (สุญญากาศ) + ถุงเปล่า

 


25 ม.ค. 2543


 


วันนี้ออกจากสำนักงานบางนาไปบ้านที่มีนบุรี โทรหาผู้การ คุยกันเรื่องส่งคนไปทำงานประเทศอิสราเอล เป็นงานในฟาร์ม ระยะเวลา 2 ปี


 


ถามถึงเงินปลูกป่า 100000 บาท ผู้การบอกว่าโอนไปให้แล้ววันนี้ 50000 บาท โดยแบ่งกันข้างใน เราแย้งไปว่าการตกลงแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อนไม่มีใครตกลงด้วย นอกจากมีข้อตกลงว่าแบ่งพื้นที่กันดูแลเท่านั้น ผู้การบอกว่าจ่าโยเป็นคนบอก


 


29 ม.ค. 2543


 


ประชุมที่บ้านประธานแวะ สนใจวาระที่จะคุย


 


·         เงินปลูกป่า


·         การตั้งบริษัท ชุมชนชมภู จำกัด


·         รายชื่อผู้ไปร่วมงานธรรมยาตราที่ จ.กาญจนบุรี


·         สระเก็บน้ำขุนตะค้าน


·         พิพิธภัณฑ์ บ้านชมภู


·         หนอนตายอยาก


 


3 ก.พ. 2543


 


อยู่ที่สำนักงานอาจารย์ยักษ์ โทรหาพี่แก้ว ผู้การ คุยกับผู้การ


 



  • ขอให้ช่วยเรื่องรถขนหนอนตายอยาก ผู้การให้โทรเช็ควันพรุ่งนี้

  • ขอรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งคนไปทำงานอิสราเอล ผู้การนัดให้โทรคุยกับผู้รับผิดชอบ

  • ถามเรื่องพิพิธภัณฑ์ ผู้การขอให้ชาวบ้านเป็นคนริเริ่มทำ

  • ถามเรื่องเงินปลูกป่า ผู้การบอกว่าโอนให้ทำหมดแล้ว

  • ข้างในโอนให้บัญชีวัดอาจารย์ชาญ

  • ข้างนอกโอนให้ตามบัญชี

  • ขอเบอร์โทรคุณดวงมาลย์

 


4 มี.ค. 2543


 


คุยกับลุงธรรม


 



  • รับเงินวันที่ 1 มี.ค. 2543 ไปรับโอนจากบัญชีธนาคารวังทอง

  • ไม่เคยเซ็นรับเงิน

  • ครั้งแรก จ่าโยบอกให้ลุงธรรมโทรบอกผู้การว่าได้รับเงินแล้ว

 


17 เม.ย. 2543


 


ประชุมกลุ่มอนุรักษ์ ต.วังยาง บ้านผู้ใหญ่แสวง แสงรัตน์ เรื่อง


 



  • การจัดกิจกรรมทำนาไร้สารพิษ

  • ทิศทางของการทำงาน

 


20 เม.ย. 2543


 


ประชุมเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู (คอลภ.) บ้านเนินคล้อ วาระการประชุม


 



  • ทำนาไร้สารพิษ

  • โรงสี

  • ปลูกป่า 72 ไร่

  • ปัญหาดินสระขุนตะค้าน

  • ปรึกษาปัญหากลุ่ม

 


12 พ.ค. 2543


 


เช่ารถพี่น้องไปติดต่อปลัด อบต. ท่าเยี่ยม เชิญไปร่วมงานอบรมที่ไทรดงยั้ง ไป ต.ดินทอง ดูแปลงสาธิต ติดต่อเกษตรกรมาร่วมประชุมอบรมที่บ้านชมภู วันที่ 20 พ.ค. ให้พี่น้องไปรับ


 


27 ต.ค. 2543


 


ประชุมปรึกษาปัญหาของนางแอ๊ด ที่บ้าน อบต. สม ใจคง เวลาประมาณ 1 ทุ่ม


 


29 ม.ค. 2544


 


ไปมอบตัวที่ สภอ.เนินมะปราง พร้อมกับแกนนำหลายคน เอารถพี่น้องไป


 


30 ม.ค. 2544


 


ไป สภอ. เนินมะปรางโดยรถตู้ แล้วไปหาอัยการที่จังหวัด ชาวบ้านไป 2 คันรถ มีรถพี่น้อง 1 คัน รถลุงธรรม 1 คัน


 


รายชื่อผู้มอบตัว 14 คน


 



  1. นายแวะ  สนใจ

  2. นายการุณ  อารุอินทร์

  3. นายเชาว์  เย็นฉ่ำ

  4. นายสมหวัง   เตื่อยชาวนา

  5. นายละ  มาภู

  6. นายวีระ  โพธิชัย

  7. นายสมศรี  มาชาวป่า

  8. นายธีระพงษ์  สุขหมอน

  9. นายโม  คำคูณ

  10. นายอาบ  ล่าพเยาว์

  11. นายประเสริฐ  เยือกอ่อน

  12. นายวอง  จอมอุ

  13. นายยอด  ชมหมี

  14. นายพิทักษ์  โดนวุธ

 


อัยการจังหวัดพบปะพูดคุย นายอำเภอมาพูดคุยหน้าห้องอัยการศาลแขวง กลับกรุงเทพฯ เวลา 14.30 น.


 


4 เม.ย. 2544


 


ไปยื่นหนังสือให้นายอำเภอ 2 เรื่อง คือเรื่องขอทราบรายละเอียดขั้นตอนวิธีการในการถอดถอนผู้ใหญ่ และขอให้ตั้งพี่เชาว์และเราเป็นคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินโรงโม่หินร่วมกับลุงหวัง


 


วันนี้มีการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มี ส.ส. จุติ และ ยิ่งพันธ์ มาหาเสียง มี ส.ว. บุญยืน มาเลี้ยงอาหารขอบคุณผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เสร็จแล้วก็ไปโรงพัก


 


5 เม.ย. 2544


 


ประชุมเรื่องเงิน SIF ตอน 5 โมงเย็นกว่าๆ ที่บ้านพ่อแวะ มีพี่ไพฑูรย์ หมอเบญจวรรณ สาคร หนุ่ย ตา พ่อแวะ จี๋ วีระ ลุงน้อย


 


6 เม.ย. 2544


 


ประชุมแผนแม่บทชุมชน จ.พิษณุโลก


 


สำนักงานสาธารณะสุข จ.พิษณุโลก ของบประมาณ 66 หมู่บ้าน 826540 บาท


 



  • เนินมะปราง 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน

  • ชาติตระการ 1 ตำบล 9 หมู่บ้าน

  • บางระกำ 2 ตำบล 9 หมู่บ้าน

  • พรหมพิราม 1 ตำบล 9 หมู่บ้าน

  • วังทอง 1 ตำบล 12 หมู่บ้าน

  • วัดโบสถ์ 1 ตำบล 13 หมู่บ้าน

  • นครไทย 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน

  • เมือง 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน

 


2 พ.ค.


 


ไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้สอบพยานเพิ่มเติมคดีที่อัยการสั่งฟ้อง 9 คน ยื่นกับอธิบดีอัยการเขต 6 นายสนอง สุวรรณฤทธิ์


 


ไปหาผู้กำกับประเสริฐ กาฬรัตน์ แต่ไม่พบ ได้แต่เบอร์โทรมา


 


ไปหาพี่เป้ที่ศาลภาค 6 คุยเรื่องคดีความเคลื่อนไหว ขอให้หาที่ฝึกงานให้และขอให้ช่วยประสานงานจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ขากลับแวะซื้อของโลตัสและที่ตลาดวังทอง


 


ไปพบรองฯ พรเทพ ติดตามเรื่องที่ไม่มีคำตอบคือ


 



  • การรื้อย้ายของโรงโม่

  • คดีจวนผู้ว่า

  • เรื่องผู้ใหญ่

 


3 พ.ค. 2544


 


ไปแจ้งเกิดลูกใบหงส์ที่อำเภอ พบนายอำเภอย้ำเรื่องสอบที่ดินโรงโม่หิน พบปลัดยงยุทธคุยกันเรื่องป้าเลาขอให้เร่งรัดให้หน่อย เสร็จแล้วไปพบนางสาวศิริพร วรรณวิจิตร ที่ดินอำเภอซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการการตรวจสอบที่ดินโรงโม่ แต่ปรากฏว่าไม่อยู่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล


 


ไปถามเรื่องคดีเก่ากับ พ.ต.ท. สุพล โดยขอให้รื้อฟื้นขึ้นมา กรณีพ่อแวะพี่ธีระแจ้งความ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ อินทร์ยิ้ม ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งตำรวจบอกว่าเป็นการแจ้งไว้เป็นหลักฐานหมดอายุความไปแล้ว เราติงว่าถือว่าเป็นการกล่าวโทษในอายุความแล้วตำรวจต้องดำเนินการและอีก 2 เรื่องที่หายไปจากแฟ้ม


 


พ.ต.ท.สุพล ดูท่าทางไม่พอใจพูดว่าขอให้ไปร้องเรียนกันเอาเอง เราโต้เถียงอยู่พักหนึ่ง พ.ต.ท. สุพลบอกว่า "ผมจะทำตามอำนาจหน้าที่ของผม จะปรึกษาอัยการดูก่อน" เสร็จแล้วเราไปแจ้งความกับลุงน้อยให้ตำรวจดำเนินคดีกับโรงโม่ 2 โรง และป่าไม้จังหวัด กรณีไม่ปฏิบัติตามประกาศของจังหวัด ซึ่งเลยระยะเวลามาพอสมควรแล้ว พ.ต.ท. พรชัย เป็นร้อยเวร แต่บอกมอบให้ ส.ต.ต.จรัญ ทิมัน และขอให้เรานำคำสั่งจังหวัดไปมอบให้ด้วย


 


ตกเย็นพี่สุเมธมาหาสั่งซื้อสมุนไพร


 


6 พ.ค. 2544


 


ประชุมคณะทำงานแผนแม่บทชุมชนจังหวัด


 


10 พ.ค. 2544


 


เซ็นสัญญาเงิน SIF ที่ศาลาวัด


 


12 พ.ค. 2544


 


ไปมุงกระเบื้องศูนย์หนองหญ้าปล้อง นัดพบทนายสุพจน์ ยศเมฆ (ทนาย SIF) คุยเรื่องคดี


 


13 พ.ค. 2544


 


ประชุมคณะทำงานแผนแม่บทชุมชนจังหวัด


 


17 พ.ค. 2544


 


ประชุมเรื่องที่ดินโรงโม่


 



  1. ปลัดยงยุทธ

  2. นายวิฑูรย์ จเร

  3. นายณรงค์ฤทธิ์

  4. นางสาวศิริพร วรรณวิจิตร ที่ดินอำเภอ ปลัดดุษฎีไม่อยู่ไปกับนายอำเภอเรื่องอุทกภัย

 


ฝ่ายอนุรักษ์


 



  1. นายหวัง

  2. นายแวะ

  3. นายสม

  4. นายวีระ

  5. นายนวน

  6. นายวอง

  7. หลวงพี่เกื้อ

  8. ลุงไทย ภูสงกา

 


 


................................


 


ที่มา :


พิทักษ์ไว้บนแผ่นดิน , ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง


 


 


 


 


วันที่ 17 พ.ค. 2544 เวลาประมาณ 17.00 น. มีคนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยาน ยนต์ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม.ประกบยิง นายพิทักษ์ โตนวุธ แกนนำนักอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู ผู้นำชาวบ้านต่อต้านโรงโม่หิน ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับบ้านพร้อมกับ นายแวะ สมใจ ที่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่นายพิทักษ์เป็นแกนนำในการประท้วงโรงโม่หิน ใน ต.ชมพูมาตั้งแต่ปี 2539 และการเป็นผู้นำในการขับไล่ผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net