Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา


 


 


 


 


เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ถือเป็นปัญหาที่หน่วงหนักและกำลังทะลักเข้ามาทั่วทุกพื้นที่ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งหมู่บ้านเกาะยะ ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหานี้ ในหลายพื้นที่มีการเสพและค้ายาเสพติดอย่างรุนแรง


 


"ตอนแรกคิดกันว่าถ้าจะให้ตำรวจจับก็ไม่ได้ผล ดังนั้นเราต้องเอากฎหมู่บ้านเข้าไปช่วยแก้ไขดีกว่า" พ่อสมยศ อุปรี นายก อบต. นาแส่ง บอกเล่าให้ฟัง ถึงกระบวนการแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในชุมชน โดยใช้กฎประชาคม จนกระทั่งได้รับความประสบความสำเร็จ กระทั่งกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานที่หลายพื้นที่นำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา


 


ทำประชาคมหมู่บ้าน


หามาตรการจัดการแก้ไขกันเองภายในชุมชน


พ่อสมยศ อุปรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง บอกเล่าให้ฟังถึงกระบวนการแก้ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดไปทั่วชุมชนว่า ในฐานะผู้ใหญ่บ้านเกาะหยวกแม่ยะ ในขณะนั้น ได้เรียกคณะกรรมการหมู่บ้านมาปรึกษาหารือกัน โดยได้ตั้งประเด็นไว้ว่าจะทำอย่างไรให้ยาเสพติดมันหายไปจากหมู่บ้าน เพื่อจะไม่ให้เด็กรุ่นหลังหรือเยาวชนจะไม่ต้องมาติดยาเสพติดอีก


 


พ่อสมยศ บอกว่าเมื่อก่อนมีแต่การป้องกันอย่างเดียว มีการเดินรณรงค์ดื่มน้ำสาบานบ้าง จัดคอนเสิร์ตบ้างมันไม่ค่อยได้ผล มันต้องปรับปรุงใหม่คิดใหม่


 


"ผมได้ยึดหลักคิดอยู่ 3 อย่าง คือหนึ่ง เราต้องไม่ทำ สอง เราไม่ให้คนอื่นทำ และสาม เห็นใครทำเรายอมไม่ได้"


 


หลังจากนั้นก็เริ่มมีการทำ"ประชาคมหมู่บ้าน" เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันหาวิธีป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว


 


"ตอนแรกคิดกันว่าถ้าจะให้ตำรวจจับก็ไม่ได้ผล ดังนั้นเราต้องเอากฎหมู่บ้านเข้าไปช่วยแก้ไขดีกว่า"


 


 


                       


ตั้งกฎสัญญาประชาคม


บอยคอตผู้ค้าผู้เสพยาในหมู่บ้าน


พ่อสมยศ ได้เรียกประชุมชาวบ้านทั้งหมด โดยได้มีการจัดทำข้อตกลง กฎหมู่บ้านร่วมกัน โดยใช้หลักสัญญาประชาคมมาใช้เป็นบทลงโทษ กรณีที่มีบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดภายในหมู่บ้าน


 


"เราจะต้องไม่ให้มีคนเสพยาติด คนค้ายาเสพติด คนขายยาเสพติด แพร่อยู่ในหมู่บ้านของเรา"เขากล่าวย้ำอย่างหนักแน่น


 


"ใช้วิธีการอย่างไรบ้าง จึงทำให้คนค้า คนเสพกลับตัวกลับใจได้"


 


"จริงๆ แล้ว ภายในหมู่บ้าน เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า มีใครบ้างเป็นคนค้ายา คนไหนเป็นคนเสพ เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ซึ่งเราก็ทำการสำรวจไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เราจะใช้วิธีการเป็นขั้นเป็นตอน โดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงมาตอบโต้พวกเขา"


 


"เราทำประชาสังคมหมู่บ้าน คนติดยาเราต้องเอามาเป็นพรรคพวก จะไม่มองข้าม มีการให้กำลังใจเขาด้วย เพราะส่วนมากจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่"


 


ในสัญญาประชาคม ระบุไว้ว่า กรณีเป็นผู้เสพ ครั้งแรกให้มีการว่ากล่าวตักเตือน ครั้งที่ 2 นำไปฝากไว้ที่คลินิกฟ้าใส ซึ่งเป็นโครงการที่ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถานีอนามัยบ้านนาแส่ง ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานบำบัดยา ครั้งที่ 3 หากยังไม่เลิกเสพ จะมีการตัดออกจากการเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน และไม่ให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการต่างๆ ของหมู่บ้าน


 


ที่สำคัญ ต้องอาศัยครอบครัวเป็นตัวกระตุ้นสั่งสอนอบรมให้ลูกของตนได้มีสำนึกและฉุกคิด


 


"ผมจะใช้ครอบครัวของพวกเขา ให้พ่อแม่คอยบอกว่า ถ้ายังเสพหรือขายยาเสพติด หากวันใดถูกจับได้ ก็จะโดนตัดออกจากการเป็นสมาชิก ไม่มีใครช่วยเรานะ สุดท้ายจำนวนผู้เสพก็เริ่มหายไป"


 


"แล้วในกรณีผู้ขายยาบ้ามีวิธีการแบบใดหรือ!?"


 


กรณีผู้ค้าผู้ขายยาเสพติด ในสัญญาประชาคม ให้ตัดออกจากการเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้านทันที และไม่ให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น บัตรสงเคราห์ผู้มีรายได้น้อย เบี้ยยังชีพคนชรา นอกจากนั้นยังไม่ให้ยืมของสาธารณะหมู่บ้าน


 


"ยกตัวอย่าง กรณีถ้าคนที่ขายยาเสพติด หากถูกตำรวจจับได้ เราจะไม่ให้ความร่วมมือ แล้วจะตัดความเป็นสมาชิกในหมู่บ้านออก ซึ่งในชนบทนี้ การเป็นการตาย ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะทางชุมชนต้องช่วยเหลือกัน อย่างเรื่องการตาย ขนถ้วย ขนเก้าอี้ ขนโต๊ะมา เอาเต๊นท์มากาง แต่ถ้าเรารู้ว่าใครที่ขายยาเสพติดเราจะไม่ช่วยเลย อันที่สอง คือ ตัดออกจากการเป็นสมาชิกหมู่บ้าน สมมติว่าเราเก็บกันคนละ 100 บาท ในหมู่บ้านมีร้อยกว่าหลังคาก็จะได้เงินประมาณหมื่นสองหมื่นซึ่งถ้าเรารู้ว่าใครขายเราจะไม่ให้เงินตัวนี้เลย "พ่อสมยศ บอกย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจัง


 


"ตอนนั้นกลุ่มเหล่านั้นออกมาต่อต้านกันบ้างมั้ย" ผมสงสัยใคร่รู้


 


"เริ่มแรก มันก็มีบ้าง มีการออกมาต่อต้านกันบ้าง ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยก็คือคนที่เสพยา แต่ว่าคนที่เห็นดีด้วยนั้นมีมากกว่า คนในหมู่บ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ติดยา ซึ่งในตอนหลังเริ่มหันมากลับตัวกลับใจกัน ก็เริ่มมีการทยอยมาให้ความร่วมมือกัน"


 


"ใช้เวลานานมั้ย กว่าเขายอมรับ"


"ใช้เวลาตอนนั้น 3-4 เดือนแรกจะเข้มงวดบางครั้ง ถึงขั้นไม่มองหน้ามองตากันเลย" พ่อสมยศ เล่าพลางหัวเราะพลาง


 


แต่ใช่ว่าประชาคมหมู่บ้าน กฎหมู่บ้านจะปิดกั้นปิดตาย จนไม่มีทางออกให้กลุ่มผู้ค้าผู้เสพ หากยังมีข้อยกเว้น โอนอ่อนผ่อนปรนให้กลุ่มผู้ค้าและผู้เสพยาที่สามารถเลิกยา หรือเลิกพฤติกรรมค้ายาได้โดยเด็ดขาดจริง คณะกรรมการฯ จะเป็นผู้พิจารณารับรอง ถ้าผ่านมติจะได้รับคืนสิทธิต่างๆ เหมือนเดิม ซึ่งชาวบ้านทุกคนก็เห็นดีด้วย


 


"ที่เราทำประชาสังคมหมู่บ้าน ก็เพราะเราสงสารพวกเขา คนติดยาเราต้องเอามาเป็นพรรคพวก จะไม่มองข้าม มีการให้กำลังใจเขาด้วย เพราะส่วนมากจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่"


 


"โดนโจมตีหรือว่าโดนข่มขู่อะไรบ้างมั้ย"


"มันก็มีบ้าง เราก็ต้องเข้มแข็ง บางครั้งเราก็ไม่กลัวเท่าไร ลองสู้ดู และก็คิดว่าทำเพื่อลูกบ้าน ก็มีคณะกรรมการเห็นด้วย ไปไหนก็จะไปด้วยกัน เราไม่กล้าประมาท เป็นผู้นำหมู่บ้านต้องเข้มแข็ง ถ้าไม่เข้มแข็งมันอ่อนแอเกินไปก็ไม่ดี"


 


"ช่วงที่ลงมือแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่ได้คิดถึงเรื่องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เลยใช่มั้ย"


"ไม่ได้คิด ที่เราทำตรงนี้ คิดเพื่อจะหาวิธีช่วยเหลือลูกบ้านอย่างเดียว แต่ต่อมาทางนายอำเภอและพัฒนาชุมชนก็เห็นด้วย เข้ามาเยี่ยมเยือนสนับสนุน ก็เลยมีกำลังใจขึ้นมา


 


ในที่สุด, ผลของความตั้งใจจริงของพ่อสมยศ อุปรี ผู้ใหญ่บ้านเกาะยะ ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน พร้อมลูกบ้าน ที่ได้ร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ยาบ้าระบาดในหมู่บ้าน โดยได้ใช้แนวคิดตั้งกฎหมายสัญญาประชาคมขึ้นมา เพื่อควบคุมดูแลพฤติกรรมของกลุ่มผู้ค้าและผู้เสพยา ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกในชุมชนทั้งนั้น


 


กระทั่ง บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้ลด ละ เลิก หยุดพฤติกรรมเหล่านั้น และกลับตัวกลับใจเข้ามาอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมอย่างสันติสุข


 


"ตอนนี้คนที่เคยติดยาจะรู้เลยว่าร่างกายอ้วนท้วมสมบูรณ์ แม้แต่พ่อแม่เขายังบอกว่า เพราะว่ามันหยุดยาถึงได้อ้วนขึ้นมา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี มาเห็นในภายหลัง"


 


ซึ่งถือว่าเป็นที่แปลกและทึ่งสำหรับผู้คนและหน่วยงานอื่นๆ ที่รู้ข่าวเช่นนี้ เพราะว่าในขณะหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ในตำบลนาแส่ง ยังคงตกอยู่ในวังวนของปัญหายาเสพติดที่กำลังแพร่ระบาด พุ่งทะลักไปทั่วทุกพื้นที่อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง


 


 


 


ความภูมิใจกับการทำงานหนักเพื่อชุมชน


ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดยาเสพติดดีเด่น ระดับจังหวัด


แน่นอน กว่าจะก้าวข้ามผ่านพ้นจากปัญหายาเสพติดมาได้ พ่อสมยศ คณะกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านเกาะยะ ต้องใช้ความอดกลั้น อดทน ต่ออุปสรรคปัญหานานาที่ถาโถมเข้ามา แม้จะใช้ระยะเวลายาวนาน ทว่าผลที่ได้รับนั้นได้สร้างความเชื่อมั่นในการจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนหมู่บ้านเกาะยะเป็นอย่างดี


 


ดูได้จากโล่รางวัลที่ตั้งอยู่ตู้โชว์ในบริเวณบ้านของ พ่อสมยศ อุปรี ประมาณเกือบ 20 รางวัล เช่น รางวัลหมู่บ้านปลอดยาเสพติดดีเด่น ระดับจังหวัด รางวัลกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น ปี 2543 กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รางวัลหมู่บ้านก้าวไกลทางการเมืองดีเด่น ระดับจังหวัด เหล่านี้เป็นต้น


 


"อันนี้ ถือว่าเป็นผลดีที่ชาวบ้านจะได้เล็งเห็นว่า ที่ผ่านมา เราทำตรงนี้แล้วอะไรต่าง ๆ เข้ามาในหมู่บ้านเรา และทางหน่วยงานราชการก็ให้ความสนใจ ยิ่งทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจกันมากขึ้น"


 


ขยายแนวคิดแก้ปัญหายาเสพติดจากหมู่บ้านไปสู่ระดับตำบล อำเภอ


ซึ่งต่อมา องค์กรปกครองท้องถิ่น จากแต่เดิมอยู่ในรูปแบบของสภาตำบลนาแส่ง ต่อมาได้ขยายปรับเปลี่ยนเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลนาแส่ง ขึ้นมาเพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหาร การจัดการ การปกครองในท้องถิ่นให้เจริญพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


 


จึงได้มีการนำแนวคิด การแก้ไขปัญหายาเสพติด ของหมู่บ้านเกาะยะ มาปรับใช้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติดในระดับตำบลขึ้นมา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยได้ขยายกิจกรรมการดำเนินงานไปทั้งตำบลนาแส่ง


 


โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกกลุ่ม เพื่อมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนที่หลงผิด โดยไม่ได้ใช้ตัวบทกฎหมาย แต่ใช้หลักการมีส่วนร่วม การใช้วัฒนธรรมประเพณี และการสร้างความเข้าใจ การปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนที่หลงผิดได้กลับตัวกลับใจโดยความสมัครใจ และเป็นไปโดยธรรมชาติ


 


กระทั่ง ต่อมา พ่อสมยศ อุปรี ผู้ใหญ่บ้านเกาะยะ แกนนำหลักในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหมู่บ้าน จนได้รับความประสบผลสำเร็จ ได้รับการเลือกตั้งเป็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแส่ง ก็ได้สานต่อและขยายแนวคิดดังกล่าว อย่างต่อเนื่องเพื่อให้โครงการ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่มีความยั่งยืนและคงทน


 


"ทุกคนจะร่วมกันพิจารณาทบทวนปัญหายาเสพติดภายในชุมชน และดูว่าระดับความรุนแรงของปัญหา เพื่อประเมินสถานการณ์ของปัญหา เพื่อวิเคราะห์ว่า ควรใช้มาตรการทางสังคมลงโทษไปกับมาตรการทางกฎหมายในสัดส่วนเท่าใด และปัญหาใดอยู่ในระดับที่ชาวบ้านจัดการกันเองได้ ส่วนใดที่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐ"


 


จากนั้น ก็จะมีการจัดประชาคมตำบล ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน ทุกหลังคาเรือนในตำบลนาแส่ง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำสัญญาประชาคมระหว่างกัน


 


เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว ก็จะมีการนำร่างข้อตกลง กฎเกณฑ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาคมแล้ว นำไปจัดพิมพ์โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งกรรมการชุดนี้ เกิดจากการคัดเลือกตัวแทนของแต่ละหมู่บ้าน ประมาณ 30-40 คน ได้ลงลายมือชื่อรับรอง แล้วแจกให้แก่ผู้นำชุมชนทุกคน


 


"ข้อตกลงประชาคมตำบล" นี้จึงเสมือนหนึ่งว่า " เป็นกฎหมายที่ออกโดยชุมชนอย่างถูกต้อง"


                       


สำรวจบัญชีรายชื่อผู้ค้าผู้เสพ


ก่อนดำเนินการตามข้อตกลงประชาคม


หลังจากนั้น ได้มีการสำรวจรวบรวมรายชื่อผู้ขาย ผู้เสพยาเสพติดในแต่ละชุมชนเพื่อขึ้นบัญชีเอาไว้ ซึ่งรายชื่อข้อมูลเหล่านี้ คนในชุมชนต่างรู้กันดีอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นชุมชนขนาดเล็กและค่อนข้างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอยู่แล้ว


 


ต่อจากนั้น ในแต่ละชุมชนจะเริ่มมีการดำเนินการบังคับใช้ข้อตกลง กฎเกณฑ์ต่างๆ ตามสัญญาประชาคม


อย่างเช่น กรณีเป็นผู้เสพ ครั้งแรกให้มีการว่ากล่าวตักเตือน ครั้งที่ 2 นำไปฝากไว้ที่คลินิกฟ้าใส ซึ่งเป็นโครงการที่ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถานีอนามัยบ้านนาแส่ง ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานบำบัดยา ครั้งที่ 3 หากยังไม่เลิกเสพ จะมีการตัดออกจากการเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน และไม่ให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการต่างๆ ของหมู่บ้าน


 


กรณีผู้ค้าผู้ขายยาเสพติด ในสัญญาประชาคม ให้ตัดออกจากการเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้านทันที และไม่ให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการต่างๆ ของหมู่บ้าน เช่น บัตรสงเคราห์ผู้มีรายได้น้อย เบี้ยยังชีพคนชรา นอกจากนั้นยังไม่ให้ยืมของสาธารณะหมู่บ้าน


 


แต่ถ้ากรณีที่สามารถเลิกเสพยาและเลิกพฤติกรรมค้ายาได้โดยเด็ดขาดจริง คณะกรรมการหมู่บ้าน จะเป็นผู้พิจารณารับรองก่อน ถ้าผ่านมติ ก็จะได้รับคืนสิทธิต่างๆ เหมือนเดิม


 


กรณีที่เป็นเยาวชน หากไม่แน่ใจในผลสอบสวน ให้เรียกผู้ปกครองมาแก้ข้อกล่าวหาและทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อหน้าคณะกรรมการหมู่บ้าน


 


"แต่เราไม่ได้ปิดกั้น หรือซ้ำเติมพวกเขาหรอกนะ เราเปิดโอกาสให้ทุกคนกลับตัวกลับใจ ดูได้จากคนในหมู่บ้าน ก่อนหน้านั้นก็เป็นคนเสพยาจนติดงอมแงม ต่อมาพอกลับตัวกลับใจ ทุกคนให้อภัย สังคมให้โอกาส กลับมาเป็นคนดี เข้าไปเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นสมาชิก อบต. มาพัฒนาหมู่บ้านเราได้ต่อไป" พ่อสมยศ บอกเล่าให้ฟัง


 


"คลินิกฟ้าใส" คือสถานบำบัดใจ


ก่อนหวนคืนสู่ครอบครัวและชุมชน


นอกจากการใช้มาตรการต้านยาเสพติด คือมีทั้งการป้องกัน การปราบปรามแล้ว ยังต้องเน้นการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเขาและชุมชน


 


"คือคนที่ติดยาเราต้องไม่ลืมเขา เขาติดยาก็ต้องให้กำลังใจ ให้โอกาสให้เขาไปรักษาที่ "คลินิกฟ้าใส" ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถานีอนามัยบ้านนาแส่ง ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา จะมีการบำบัดรักษษ ฟื้นฟูจิตใจให้พวกเขา ก่อนจะกลับอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว ชุมชนได้อย่างเชื่อมั่นและมีความสุข"


 


ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้ผู้กลับตัวกลับใจ


แน่นอนว่า หลังจากกลุ่มผู้เสพผู้ค้ายาเสพติดได้พากันกลับตัวกลับใจกันแล้ว แต่ปัญหาต่อมาก็คือ พวกเขาเหล่านั้นจะดำรงชีพอย่างไร จะทำมาหากินอะไรต่อไป ซึ่งทางโครงการได้ร่วมกันช่วยเหลือโดยการส่งเสริมด้านอาชีพให้แก่ผู้กลับตัวกลับใจ แต่ยังไม่มีงานทำ โดยมีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา โดยได้รับงบสนับสนุนจากทางอำเภอเกาะคะ อบต. นาแส่ง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเกาะคา เป็นต้น


 


 


 



 


ประสบความสำเร็จ ยาเสพติดหายไปจากชุมชน


ประกาศเป็นตำบลเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติด


กระทั่งในที่สุด มีการสรุปและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงระยะสุดท้าย พบว่า จากแต่เดิมก่อนยังไม่ได้เริ่มดำเนินการนั้น ในชุมชนได้เกิดปัญหายาเสพติด ทั้งผู้ค้าและผู้เสพเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน คนในชุมชนได้ร่วมกันขจัดปัญหายาเสพติดไปจากชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ ไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีกเลย ส่งผลทำให้ตำบลนาแส่ง ได้รับการประกาศให้เป็น "ตำบลเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติด"


 


ปัจจัยของความสำเร็จของการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนคืออะไร?


อบต. นาแส่ง ประเมินว่า น่าจะมาจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน และความต้องการที่จะกำจัดปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากชุมชนอย่างจริงจัง รวมไปถึงการได้รับความร่วมมือ ได้รับการประสานงานที่ดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐกับคนในชุมชนเป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน


 


อีกทั้ง ทาง อบต. นาแส่ง ยังพร้อมที่จะขยายแนวคิดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดดังกล่าว โดยมีการขยายเครือข่ายงานไปสู่ตำบลใกล้เคียง โดยประสานความร่วมมือระหว่าง อบต. ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน รวมทั้งประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ เช่น อำเภอเกาะคา ปปส. มวลชนสัมพันธ์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการอบรมแก่คนในชุมชนเรื่องยาเสพติด


 


ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้เสพและผู้ติดยาให้มีอาชีพและรายได้นั้น ได้กำหนดให้พัฒนากลไกการดูแลผู้เสพและผู้ติดยาหลังการบำบัด โดยการประสานความร่วมมือระหว่าง สถานีอนามัยตำบล หน่วยบริการประชาชนของตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ประสานพลัง แผ่นดินของกรมการปกครอง ให้สามารถให้การช่วยเหลือ ดูแล ผู้เสพและผู้ติดยาอย่างแท้จริง


 


นอกจากนั้น ให้นำเอาแผนงาน โครงการ แก้ปัญหาความยากจนเข้ามารองรับการช่วยเหลือผู้เสพและผู้ติดยาที่ผ่านการบำบัดแล้วให้มีอาชีพ มีงานทำ ตลอดจนมีที่ทำกินอย่างทั่วถึง ที่สำคัญ ต้องจัดให้มีเครือข่ายผู้เสพและผู้ติดยาที่เลิกได้แล้ว ได้มีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมกำลังใจและ ให้ความช่วยเหลือผู้ที่อยู่ระหว่างการบำบัดด้วย จนทำให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จและยั่งยืนจนในที่สุด ทำให้ปัญหายาเสพติดได้หมดไปจากหมู่บ้าน


 


อย่างไรก็ตาม พ่อสมยศ อุปรี นายก อบต. นาแส่ง ได้กล่าวในตอนท้ายเอาไว้ว่า การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของ ต.นาแส่ง ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ไม่มีสูตรตายตัว เพราะในขณะที่ทำงานในแต่ละพื้นที่นั้น จะต้องมีการปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ด้วย


 


"ที่ ต.นาแส่ง ประสบผลสำเร็จ บางทีอาจเป็นเพราะเป็นตำบลที่มีประชากรไม่มาก และมีความสัมพันธ์ของคนในชุมชนค่อนข้างใกล้ชิดกัน อีกทั้งที่สำเร็จได้ก็เพราะได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนที่มีจิตสำนึกยอมรับกับกติกาสังคมร่วมกัน รวมทั้งยังให้ความร่วมมือในการสืบข่าวหรือสอดส่องพฤติกรรมของผู้เข้ามาในหมู่บ้านที่เข้าข่ายน่าสงสัย ซึ่งถ้าหากเป็นชุมชนขนาดใหญ่ อาจจะควบคุมเรื่องเหล่านี้ลำบาก"


 


ทุกวันนี้ คนในแต่ละชุมชนของ ต.นาแส่ง ยังไม่ได้หยุดกิจกรรมกันเพียงเท่านี้ ยังคงเพิ่มระดับความเข้มแข็งในชุมชนของตนให้มากยิ่งขึ้น จนกล่าวได้ว่า ได้มีส่วนทำให้นำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในชุมชนได้โดยง่ายยิ่งขึ้น


 


จากชุมชนที่เต็มไปด้วยปัญหา กลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานระดับจังหวัด ระดับประเทศ


ทุกวันนี้ แม้ว่าแต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้านในเขตพื้นที่ของ ต.นาแส่ง จะประสบความสำเร็จในเรื่องขจัดปัญหายาเสพติดออกไปจากชุมชนได้แล้ว แต่ชาวบ้านในตำบลนาแส่ง ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ ยังมีการพัฒนาชุมชนไปอีกระดับหนึ่ง ก็คือ มีการปลุกจิตสำนึก ส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนที่ น่าสนใจอย่างมาก เช่น โครงการจุดสาธิตการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อส่งเสริมอาชีพและลดรายจ่ายในครัวเรือน โครงการเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นโครงการที่จะส่งเสริมการเลี้ยงปลาแก่ราษฎรในพื้นที่


 


เกษตรกรส่วนใหญ่นอกจากประกอบอาชีพทำนาทำสวนแล้วยังมีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อมีตั้งแต่รายละ 1-2 ตัว ไปจนถึงรายละ 50-80 ตัว จากที่เคยเป็นรายได้เสริมกลายเป็นรายได้หลักเป็นกอบเป็นกำ ปีหนึ่งมีเงินเข้าบ้านนับแสนบาท นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง


 


รวมไปถึงโครงการทำไร่นาสวนผสมภายในหมู่บ้าน ซึ่งต่อมาได้ทำให้หมู่บ้านเกาะยะ กลายเป็นหมู่บ้านที่ทำไร่นาสวนผสมเป็นผลสำเร็จ และกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ


 


ทุกวันนี้ มีชุมชน หน่วยงานอื่นๆ ทั้งจากต่างจังหวัด เช่น แพร่ น่าน สุโขทัย เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ ฯลฯ เข้ามาศึกษาดูงานในเรื่องแนวคิด กระบวนการ วิธีการแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน รวมไปถึงการทำการเกษตรแบบพอเพียง ซึ่ง พ่อสมยศ เป็นหนึ่งของผู้พลิกฟื้นผืนดินมาทำไร่นาสวนผสม จนประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลเกษตรกรทำไร่นาสวนผสมดีเด่นของจังหวัด


 


ปัจจุบัน ในตำบลนาแส่ง มีการรวมกลุ่มกันอย่างแข็งขัน ทั้งกลุ่มอาชีพ เกษตรทฤษฎีใหม่ กลุ่มเกษตรผสมผสาน กลุ่มผู้เลี้ยงไก่เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา กลุ่มเกษตรยังชีพ นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งกลุ่มธนาคารหมู่บ้านตามแนวทางพระราชดำริ โดยมีการลงทุนคนละ 10 บาทต่อหุ้น และถือหุ้น 5 หุ้นขึ้นไป ตอนนี้มีหุ้นรวมทั้งหมดในกลุ่มธนาคารหมู่บ้าน จำนวน 121,000 บาท


 


นับว่า เป็นอีกชุมชนหนึ่ง ที่ก่อนหน้านั้นเคยประสบกับปัญหายาเสพติด ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงและรุนแรง เป็นปัญหาที่อาจสามารถทำลายทั้งชีวิตผู้คน ทำลายชุมชนให้ล่มสลายลงได้ แต่ชุมชนบ้านเกาะยะ และชุมชนต่างๆ ใน ต.นาแส่ง ก็สามารถรวมตัวกันขึ้น และหาทางออกร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง กลับมาฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชน และหันมาส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน อันเป็นหนทางเพื่อความอยู่รอดของชุมชนโดยคนในชุมชนอย่างแท้จริง.


 


ข้อมูลประกอบ


"ชีวิตพอเพียง" รวมนวัตกรรมการสร้างสุขภาพ สนง.ปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) ก.สาธารณสุข


ต.ค.2549


 


.......................................


อ่านย้อนหลัง


รายงาน : เรียนรู้พลังชุมชนนาแส่ง กับการก้าวพ้นปัญหายาเสพติด (1)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net